RISC

Carbon Pricing คืออะไร แล้วทำไมคาร์บอนไดออกไซด์ถึงต้องมีราคา?

เขียนบทความโดย RISC | 3 ปีที่แล้ว

แก้ไขล่าสุด : 2 ปีที่แล้ว

12471 viewer

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หลายคนอาจเคยได้ยินคำว่า “Carbon Pricing” กันมาบ้าง แต่...รู้มั้ยว่ามันคืออะไร?

ในปี 2021 ตลาดใบอนุญาตคาร์บอนทั่วโลกมีมูลค่าสูงถึง 851 พันล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตขึ้น 164% เมื่อเทียบจากปีก่อน โดยราคาคาร์บอนในตลาดต่างๆ มีราคาระหว่าง 1 - 142 เหรียญสหรัฐต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (ข้อมูลเมื่อ 1 ตุลาคม 2021


แล้วอะไรล่ะ? ที่ทำให้คาร์บอนไดออกไซด์มีราคาและเป็นตลาดที่คาดว่าจะมีมูลค่าสูงขึ้นเรื่อยๆ อีกด้วย

ต้องยอมรับว่า กิจกรรมการผลิตสินค้าและการบริโภคของเราในปัจจุบัน มักมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจก สาเหตุของการเกิดภาวะโลกรวน (Climate Change) นับเป็นผลกระทบภายนอกเชิงลบ (Negative Externality) เพราะคนที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกลับต้องมารับผลที่เกิดขึ้น เมื่อไม่มีการคำนึงถึงผลกระทบภายนอก จึงทำให้ผู้ผลิตตัดสินใจผลิตมากกว่าที่จำเป็น และผูับริโภคก็ซื้อของมากกว่าที่จำเป็นต้องใช้เช่นกัน ทำให้เกิดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศมากขึ้น และส่งผลต่อโลกโดยตรง

ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ต้นทุนการผลิตและราคาที่ผู้บริโภคจ่ายไป ไม่ได้รวมต้นทุนจากผลกระทบภายนอกในราคาซื้อขาย หากคิดผลกระทบภายนอกเข้าในไปต้นทุนส่งผลให้ต้นทุนและราคาเพิ่มขึ้น ผู้ผลิตและผู้บริโภคอาจตัดสินใจผลิตและบริโภคน้อยลง ซึ่งก็จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้

แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์โดยการผลักต้นทุนของผลกระทบภายนอกให้เข้าสู่กระบวนการตัดสินใจของผู้ผลิต (Internalization of Externality) โดยสร้างกลไกราคาให้กับสิ่งที่ไม่มีราคาอย่างก๊าซเรือนกระจกหรือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Pricing) เพื่อช่วยบังคับผู้ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ต้องรับผิดชอบต่อปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ตัวเองปล่อยออกมา และเมื่อต้นทุนสูงขึ้น ก็อาจส่งผลให้ตัดสินใจปรับลดปริมาณการผลิตลง​

กลไกราคานี้ทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกกลายเป็นสิ่งที่มีต้นทุนต้องจ่าย ไม่ใช่สิ่งที่จะปล่อยได้ฟรีๆ อีกต่อไป ซึ่งกลไกราคาสามารถแบ่งได้เป็น 2 แนวทาง คือ

แนวทางแรก “ภาษีคาร์บอน” (Carbon Tax) เป็นไปตามหลักการผู้ปล่อยมลพิษเป็นผู้จ่าย (polluter pays principle) กำหนดให้ผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต้องจ่ายค่าปล่อย โดยรัฐบาลสามารถกำหนดเป็นอัตราภาษีต่อปริมาณการปล่อยคาร์บอนที่เกิดขึ้น

แนวทางที่สอง “ระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก” (Emission Trading Scheme: ETS) ซึ่งรัฐอาจกำหนดเพดานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Cap) และจัดสรรสิทธิ์ในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในรูปของใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Allowance) แก่ผู้ผลิต ถ้าผู้ผลิตรายใดปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำกว่าจำนวนในใบอนุญาต ก็สามารถนำใบอนญาตที่เหลือไปขายต่อได้ หรือถ้าผู้ผลิตรายใดปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเกินโควต้าที่ได้รับ ก็ต้องซื้อใบอนุญาตต่อจากผู้ผลิตรายอื่น เกิดการซื้อขายขึ้น (Trade) เป็นระบบจำกัดปริมาณแล้วแลกเปลี่ยน (Cap-And-Trade) ถ้ามีการจำกัดปริมาณการปล่อยก๊าซน้อยหรือมีความต้องการซื้อใบอนุญาตสูง ราคาใบอนุญาตก็จะสูงขึ้นตามหลักอุปสงค์อุปทานนั่นเอง

ความแตกต่างที่สำคัญของภาษีคาร์บอนและระบบ ETS คือ ภาษีคาร์บอนไม่สามารถควบคุมปริมาณการปล่อยคาร์บอนได้ เพราะหากผู้ผลิตเต็มใจที่จะจ่ายภาษีคาร์บอนมากเท่าใด ก็สามารถผลิตได้ตามที่ต้องการเท่านั้น ในขณะที่ระบบ ETS รัฐเป็นผู้กำหนดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในภาพรวมที่อนุญาตให้ปล่อยได้ จึงสามารถควบคุมปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศได้

ในด้านของราคา ภาษีคาร์บอนเป็นการควบคุมด้านราคา (Price Based) จึงไม่ส่งผลต่อความผันผวนของราคาคาร์บอนและราคาสินค้า แต่ขณะที่ระบบ ETS อาจมีความผันผวนของราคาตามความต้องการใช้ใบอนุญาต หากความต้องการสูง ราคาใบอนุญาตก็จะสูงขึ้นและอาจส่งผลต่อต้นทุนและราคาสินค้าได้

ในปี 2021 ที่ผ่านมา มีการใช้มาตรการราคาคาร์บอน (Carbon Pricing Instruments) กว่า 64 มาตรการในประเทศทั่วโลก ครอบคลุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 21.5% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายปีของโลก เป็นการเพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 15% เมื่อปี 2020 แต่ราคาคาร์บอนในตลาดส่วนใหญ่ยังคงมีค่าต่ำกว่า 40-80 เหรียญสหรัฐต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (USD/tCO2e)

หัวใจสำคัญอยู่ตรงนี้ คือ “ระดับราคา 40 - 80 USD/tCO2e ในปี 2020 ถือเป็นระดับที่คาดการณ์เอาไว้ว่า จะทำให้โลกบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส” ซึ่งราคาคาร์บอนส่วนใหญ่ยังต่ำกว่าค่าที่ควรจะเป็นนี้ เป้าหมายระดับราคาถัดไปที่จะทำให้โลกบรรลุเป้าหมาย 2 องศาเซลเซียสคือ 80 - 120 USD/tCO2e ในปี 2030

มาตรการราคาคาร์บอนที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย เป็นความพยายามของหลายๆ ประเทศทั่วโลก ที่ต้องการจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) อีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยรักษาโลกของเราเอาไว้นั่นเอง

เนื้อหาโดย คุณ วรพร ปุณยกนก วิศวกรวิจัยอาวุโส RISC

อ้างอิงข้อมูลจาก
Global Carbon Accounts in 2021. https://www.i4ce.org/download/global-carbon-account-in-2021/#:~:text=As%20of%20October%201st%2C%202021%2C%20explicit%20carbon%20prices%20range%20from,USD%2010%20(EUR%208). ​
พงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์. ลดโลกร้อน ด้วยกลไกราคา http://www.dsdw2016.dsdw.go.th/doc_pr/ndc_2560-2561/PDF/8459sc/8459%E0%B8%9E%E0%B8%87%E0%B8%A9%E0%B9%8C%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%A0%E0%B8%B2%20%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%9A%E0%B8%B9%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B9%8C.pdf ​
ชยันต์ ตันติวัสดาการ และคมศักดิ์ สว่างไสว. การกําหนดราคาคาร์บอน (Carbon Pricing) https://progreenecon.files.wordpress.com/2017/12/policy-brief-carbon-pricing.pdf ​
The World Bank. 2021. State and trends of carbon pricing 2021 https://openknowledge.worldbank.org/bitstream/handle/10986/35620/9781464817281.pdf ​

แนะนำสำหรับคุณ

การประเมินพื้นที่ด้วย GIS ส่งเสริมสุขภาวะที่ดี
Resilience

การประเมินพื้นที่ด้วย GIS ส่งเสริมสุขภาวะที่ดี

การเตรียมพร้อมกรณีฉุกเฉิน เตรียมตัวอย่างไรให้รอด พร้อมตั้งรับภัยพิบัติ
Resilience

การเตรียมพร้อมกรณีฉุกเฉิน เตรียมตัวอย่างไรให้รอด พร้อมตั้งรับภัยพิบัติ

แผ่นดินไหวไม่ได้เกิดครั้งแรก แต่ทำไมรอบนี้เสียหายเยอะ?
Resilience

แผ่นดินไหวไม่ได้เกิดครั้งแรก แต่ทำไมรอบนี้เสียหายเยอะ?

Resilience “Shock & Stress” Framework เครื่องมือที่จะทำให้เราพร้อมรับมือกับภัยพิบัติ
Resilience

Resilience “Shock & Stress” Framework เครื่องมือที่จะทำให้เราพร้อมรับมือกับภัยพิบัติ

มาตรฐานการออกแบบอาคาร เพื่อความปลอดภัยกรณีเกิดแผ่นดินไหว
Resilience

มาตรฐานการออกแบบอาคาร เพื่อความปลอดภัยกรณีเกิดแผ่นดินไหว

หมดฝนแล้ว ปีนี้จะหนาวมั้ย?
Resilience

หมดฝนแล้ว ปีนี้จะหนาวมั้ย?

เอลนีโญและลานีญาส่งผลกับประเทศไทยอย่างไร
Resilience

เอลนีโญและลานีญาส่งผลกับประเทศไทยอย่างไร

มาส่องต่างประเทศใช้ "เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ" รับมือกับน้ำท่วมกัน
Resilience

มาส่องต่างประเทศใช้ "เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ" รับมือกับน้ำท่วมกัน

"โอโซน" มิตรร้ายกับภาวะโลกร้อน
Resilience

"โอโซน" มิตรร้ายกับภาวะโลกร้อน

อากาศร้อนแบบนี้ระวังเสี่ยง Heatstroke
Resilience

อากาศร้อนแบบนี้ระวังเสี่ยง Heatstroke