RISC

"คาร์บอนไดออกไซต์" จากการหายใจของเราส่งผลกระทบต่อภาวะโลกร้อน?

เขียนบทความโดย RISC | 1 ปีที่แล้ว

แก้ไขล่าสุด : 1 ปีที่แล้ว

10293 viewer

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO₂) สุทธิเป็นศูนย์ในปี พ.ศ. 2593 ปัจจุบัน การใช้พลังงานหมุนเวียนแทนเชื้อเพลิงจากฟอสซิล การลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากภาคอุตสาหกรรม การปลูกป่าเพื่อเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอน รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีในการดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ จึงได้รับความสนใจอย่างมาก แต่...ที่ว่ามาทั้งหมดนี้ เป็นวิธีการที่ใช้ในภาคการผลิตในอุตสาหกรรมเท่านั้น​

แล้วคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการหายใจของเราล่ะ?​

แน่นอนว่า คงไม่มีใครคิดว่า คาร์บอนไดออกไซด์ที่มาจากการหายใจของเราในทุกๆ วันจะมีผลต่อโลก ซึ่งจริงๆ แล้ว ร่างกายของมนุษย์เราก็ผลิตคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศไม่ต่างจากแหล่งผลิตอื่นๆ เลย โดยเราจะหายใจเข้านำออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายในปริมาณ 20.9% และคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณ 0.03% (ที่เหลือจะเป็นไนโตรเจนและก๊าซอื่นๆ) และใช้ออกซิเจนในกระบวนการการเผาผลาญอาหารที่เราทานเข้าไป รวมทั้งการทำกิจกรรมต่างๆ และเมื่อเราหายใจออก ก็จะนำออกซิเจนกลับออกมาในปริมาณ 16% และคาร์บอนไดออกไซด์ก็จะถูกปล่อยออกมาด้วยเช่นกันถึง 4%​

ถึงตรงนี้ หลายคนคงเริ่มสงสัย ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์แค่นี้จะส่งผลอะไรได้ขนาดนั้น​

จากข้อมูลพบว่า คนเราหายใจออกปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ยวันละ 0.58 – 1.04 กิโลกรัม/วัน เลยทีเดียว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกิจกรรมที่ทำด้วย โดยการทำกิจกรรมที่ใช้พลังงานเยอะ เช่น วิ่ง ออกกำลังกาย ก็จะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมามากกว่าการนั่ง หรือการนอนหลับถึง 8 เท่า และเมื่อเทียบกับปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยจากกิจกรรมของมนุษย์ทั้งหมดในประเทศไทย จะพบว่า ปี พ.ศ.2565 มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศประมาณ 247.7 ล้านตัน ขณะที่ประชากรของประเทศไทยทั้งหมดหายใจปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศประมาณ 27.7 ล้านตัน/ปี หรือคิดเป็น 11.2% ของการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในประเทศ นั่นแสดงให้เห็นว่าปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์จากการหายใจของมนุษย์ส่งผลกระทบต่อภาวะโลกร้อนเช่นเดียวกัน และหากเรามองที่อาคารที่อยู่อาศัย 1 อาคาร ที่มีผู้อยู่อาศัยประมาณ 500 - 700 คน จะเห็นได้ว่า ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ไม่ต่างจากภาคขนส่งและภาคอุตสาหกรรมเลยทีเดียว​

ในห้องพักที่เราอาศัยอยู่ ขณะหายใจออกมาจะเกิดการสะสมของคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจากงานวิจัยพบว่า การนอนหลับของผู้อาศัย 2 คน เป็นเวลา 8 ชั่วโมง โดยปราศจากระบบระบายอากาศ ทำให้ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มสูงขึ้นประมาณ 1,600 ppm และในกรณีทำงาน หรือทำกิจกรรมทั่วไปในห้องที่ไม่มีการระบายอากาศ จะส่งผลให้ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มสูงขึ้นกว่า 4,000 ppm ได้โดยง่าย ซึ่งปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ภายในอาคารที่สูงเกิน 950 ppm จะเริ่มส่งผลเสียต่อร่างกาย รวมถึงกระบวนการที่สมองใช้ในการรับข้อมูลและตัดสินใจ และจะมีผลต่อสุขภาพอย่างชัดเจนเมื่อมีปริมาณ 2,000 ppm ขึ้นไป ทำให้ระบบระบายอากาศของอาคารเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่การจะนำคาร์บอนไดออกไซด์จากการหายใจออกไปทิ้งภายนอกอาคารโดยตรง ก็ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมด้วยเช่นกัน แม้ว่าปัจจุบันปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ยในบรรยากาศจะอยู่ที่ 424.17 ppm (บันทึกข้อมูลวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ.2566) ก็ตาม แต่ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี​

แล้วจะดีกว่าไหม? ถ้าหากเรามีเทคโนโลยีหรือผลิตภัณฑ์ที่ช่วยดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ภายในอาคาร ที่ถือว่าเป็นต้นทาง ซึ่งสามารถทำได้ง่ายกว่าการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีอยู่ในบรรยากาศ นอกจากจะช่วยในเรื่องสุขภาวะของผู้ใช้อาคารแล้ว ยังเป็นส่วนเล็กๆ ที่จะช่วยโลกใบนี้ได้ด้วยเหมือนเดียวกัน​

เนื้อหาโดย คุณ สุพรรณภางค์ รักษาวงค์ นักวิจัยวัสดุ Sustainable Building Material และ คุณ ณพล เกียรติก้องมณี สถาปนิกวิจัยอาวุโส และผู้เชี่ยวชาญระดับ TREES-A, Building Technology, Intelligent Systems, Innovative Solutions, RISC​

อ้างอิงข้อมูลจาก​
https://www.researchgate.net/post/How-much-will-be-the-human-breathing-CO2-emission-factor​
https://www.researchgate.net/figure/Health-effects-of-carbon-dioxide-exposure-36-45_fig4_343930613​
https://ourworldindata.org/transport​
https://iopscience.iop.org/article/10.1088/1757-899X/603/5/052100/meta​
https://www.engineeringtoolbox.com/pollution-concentration-rooms-d_692.html​