Fitwel Standard มาตรฐานอาคาร เพื่อสุขภาวะที่ดีของผู้ใช้อาคาร
เขียนบทความโดย RISC | 2 ปีที่แล้ว
แก้ไขล่าสุด : 2 ปีที่แล้ว
ปัจจุบันเราใช้ชีวิตภายในอาคารกว่าร้อยละ 90 สภาพแวดล้อมภายในอาคาร จึงส่งผลโดยตรงต่อการใช้ชีวิตประจำวันของเรา ทั้งสุขภาพกาย และใจ บวกกับกระแสที่คนเราหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น จึงเกิดมาตรฐานอาคารที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพกาย และใจของคนในอาคาร เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมสุขภาวะที่ดี
ซึ่งมาตรฐานเหล่านั้นก็มีมากมาย ไม่ว่าจะเป็น WELL Building Standard โดย International WELL Building Institute (IWBI) สหรัฐอเมริกา, มาตรฐานอาคารเป็นสุข หรือ The SOOK Building Standard โดย สถาบันอาคารเขียวไทย และอีกมาตรฐานที่น่าสนใจก็คือ “Fitwel” มาตรฐานรับรองอาคาร เพื่อสุขภาวะที่ดีของผู้ใช้อาคาร
มาตรฐานอาคาร Fitwel ก่อตั้งขึ้นเมื่อ ปี ค.ศ.2016 จุดประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ทุกอาคาร ทุกพื้นที่ สามารถสร้างเสริมสุขภาพ และสุขภาพวะที่ดีได้ โดย Fitwel ประกอบไปด้วยมาตรฐานด้านการออกแบบ และการบริหารจัดการอาคาร ที่สร้างขึ้นมาจากข้อมูลงานวิจัย และแนวทางปฏิบัติที่มีมาตรฐานสากล
การสร้างมาตรฐาน Fitwel มีการทดสอบ โดยนำมาตรฐานไปทดลองใช้กับอาคารในสหรัฐอเมริกาหลากหลายประเภท ทั้งอาคารใหม่ และเก่า โดย U.S. Centers for Disease Control (CDC) and Prevention กรมควบคุมโรค สหรัฐอเมริกา และ U.S. General Services Administration (GSA) สำนักบริหารงานบริการทั่วไปสหรัฐอเมริกา ซึ่งผลการทดสอบ คือ มาตรฐาน Fitwel สามารถสร้างพื้นที่ที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพ สำหรับหลายอาคาร หลายขนาด หลายอายุ และหลายพื้นที่
มาตรฐาน Fitwel ใช้เวลาพัฒนากว่า 5 ปี โดยทาง CDC และ GSA ซึ่งอ้างอิงจากข้อมูลงานวิจัยกว่า 5,600 ชิ้น และกลยุทธที่มีประสิทธิภาพที่สุดมากกว่า 70 การศึกษา จนพัฒนาออกมาเป็นมาตรฐานที่ Fitwel ที่ประกอบไปด้วย 7 หมวดหมู่หลักในการส่งเสริมสุขภาวะที่ดี ได้แก่
1. Impacts Surrounding Community Health การส่งเสริมสุขภาพแก่ชุมชนโดยรอบ: การออกแบบที่ส่งเสริมสุขภาพให้กับผู้ใช้งานอาคาร และยังขยายผลไปยังผู้ที่อยู่อาศัยโดยรอบอีกด้วย อย่างเช่น การมีพื้นที่สีเขียวสาธารณะในโครงการที่เปิดให้ชุมชนสามารถใช้งานได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เป็นการใส่ใจกับสุขภาพคนในชุมชนโดยรอบให้ได้รับประโยชน์จากพื้นที่ของเรา
2. Reduces Morbidity and Absenteeism การลดการเจ็บป่วย และการลางานจากปัญหาสุขภาพ: การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี เช่น มีฝุ่น อากาศชื้น แสงไม่สว่างเพียงพอ ไม่มีพื้นที่สีเขียว มีแต่ผนังปูน ส่งผลให้เกิดการเจ็บป่วยทางกาย และจิตใจไม่สดชื่น ดังนั้นจึงต้องสร้างสภาพแวดล้อมสุขภาพดี ที่ช่วยลดการเจ็บป่วยได้ เช่น สร้างคุณภาพอากาศในอาคารที่ดี การออกแบบที่ใช้แสงธรรมชาติในพื้นที่ การเพิ่มต้นไม้หรือพื้นที่สีเขียว มีจุดบริการน้ำดื่มที่มีคุณภาพอย่างเพียงพอ มีพื้นที่ส่งเสริมการเดิน การออกกำลังกาย
3. Supports Social Equity for Vulnerable Populations การสนับสนุนความเท่าเทียมทางสังคมสำหรับประชาชนกลุ่มเปราะบาง: สนับสนุนเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาสทางสังคม ให้สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างเท่าเทียม เช่น การออกแบบพื้นที่ให้เข้าได้ถึงได้สำหรับทุกคน (Universal Accessibility) มีสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสุขภาพในพื้นที่สำหรับทุกคน เป็นต้น
4. Instills Feelings of Well-Being การสร้างสุขภาวะที่ดี: สร้างสภาพแวดล้อมที่สะอาดปลอดภัย ผ่อนคลาย มีพื้นที่สีเขียว เข้าถึงธรรมชาติได้ง่ายสำหรับคนทุกกลุ่ม สามารถพบปะ ทำกิจกรรมทางสังคมร่วมกันได้อย่างเท่าเทียม จะช่วยสร้างเสริมสุขภาวะที่ดีให้กับทุกคนได้ เมื่อมาใช้งานในพื้นที่
5. Enhances Access to Healthy Foods ส่งเสริมการเข้าถึงอาหารสุขภาพ: อาหารถือเป็นพื้นฐานด้านสุขภาพที่สำคัญปัจจัยหนึ่ง การออกแบบพื้นที่จึงต้องส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมการบริโภคที่ดี เช่น เข้าถึงอาหารสุขภาพได้สะดวก และหลากหลาย สร้างแรงจูงใจให้บริโภคอาหารสุขภาพ ด้วยอาหารสุขภาพราคาพิเศษ เป็นต้น
6. Promotes Occupant Safety การส่งเสริมความปลอดภัยในพื้นที่: การออกแบบพื้นที่ที่ลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ เช่น การป้องกันการเกิดอุบัติเหตุบริเวณทางเดินเท้า ทางจักรยานในพื้นที่ รวมทั้งการออกแบบบันไดที่ปลอดภัย การรองรับเหตุการณ์ฉุกเฉิน เช่น การมีอุปกรณ์กระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ (AED)
7. Increases Physical Activity การส่งเสริมกิจกรรมที่ช่วยเพิ่มกายบริหารระหว่างวัน: ใน 1 วันคนเราใช้เวลานั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ส่งผลให้เกิดอาการ Office Syndrome และโรคอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นจึงต้องมีการสนับสนุนการเดินเท้า การขึ้นลงบันได แทนการใช้ลิฟท์โดยสาร มีพื้นที่ออกกำลังกายอย่างเพียงพอ และส่งเสริมสุขภาพที่ดีผ่านการขยับร่างกายระหว่างวัน
ซึ่ง Fitwel มีการให้คะแนนที่คำนวน algorithm แบบพิเศษ โดยจะได้คะแนนมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับผลกระทบเชิงบวกที่สามารถสร้างได้ และตามหลักฐานที่ชัดเจนถึงประสิทธิภาพของกลยุทธ์นั้นๆ โดย Fitwel มีระดับการรับรองผ่านการให้ดาว ที่แบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่
1 ดาว สำหรับอาคารที่ผ่านการรับรอง 90-104 คะแนน
2 ดาว สำหรับอาคารที่ผ่านการรับรอง 105-124 คะแนน
3 ดาว สำหรับอาคารที่ผ่านการรับรอง 125-144 คะแนน
Fitwel นั้นเป็นมาตรฐานที่มีความยืดหยุ่นสูงมาก เนื่องจากไม่มีข้อบังคับใดๆ เลย มีแต่ข้อทำคะแนน ทำให้ผู้สนใจรับรองอาคาร สามารถเลือกทำคะแนนในข้อที่โครงการสามารถทำได้สูง โดยไม่ต้องกังวลว่าจะมีข้อไหนที่ไม่สามารถทำได้ ซึ่งการไม่มีข้อบังคับเป็นจุดแตกต่างที่สำคัญสำหรับ Fitwel เมื่อเทียบกับมาตรฐานอาคารอื่นๆที่มีข้อบังคับ และข้อทำคะแนน
นอกจากนี้ Fitwel ยังรองรับอาคารหลากหลายประเภท ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 7 ประเภท ได้แก่
1. Senior Housing Scorecard (SH)
2. Multi-Tenant Base Building (MTBB)
3. Multi-Tenant Whole Building Scorecard (MTWB)
4. Single Tenant Building Scorecard (ST)
5. Commercial Interior Space Scorecard (CI)
6. Retail Scorecard (RT)
7. Multifamily Residential Building Scorecard (MFR)
ซึ่งนอกจากการรับรองอาคารแล้ว ตอนนี้ Fitwel ยังมีการรับรองพื้นที่ Site ด้วยเช่นกัน ได้แก่
1. Community Scorecard (CM)
2. Commercial and Industrial Site Scorecard (C&I)
และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทาง Fitwel จึงได้สร้าง Fitwel Viral Response Module (VRM) คำแนะนำการดูแลอาคารโดยผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพและผู้นำในอุตสาหกรรม เพื่อเป็นมาตรฐานสากลสำหรับการการสร้างความปลอดภัยจากโรคติดเชื้อ รวมทั้งสุขภาวะที่ดีในอาคาร ซึ่งเป็นคำแนะนำที่มาจากงานวิจัยที่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจน และผ่านการรับรองโดยบุคคลที่สามในการลดการแพร่เชื้อไวรัสในอาคาร เช่น การควบคุมคุณภาพอากาศภายในอาคาร การควบคุมความชื้น การกรองอากาศ การเพิ่มการระบายอากาศที่เพียงพอเพื่อลดการติดเชื้อทางอากาศ การควบคุมคุณภาพน้ำให้ดีปลอดภัยจากเรียลีเจียนเนลโลสิส (Legionellosis) การทำความสะอาดพื้นที่และพื้นผิวสัมผัสบ่อยภายในอาคารให้สะอาด ปราศจากเชื้อโรค เชื้อไวรัส การสื่อสารเพื่อให้ความรู้ การป้องกันสุขภาพจากโรคติดเชื้อ การวางแผนอาคารเพื่อรองรับการระบาดของโรคติดเชื้อ
หากผู้ใดสนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรฐาน Fitwel สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ www.fitwel.org
เนื้อหาโดย คุณ เพชรรินทร์ พงษ์เพ็ชรกูล สถาปนิกวิจัยอาวุโส / ผู้เชี่ยวชาญระดับ LEED AP BD+C, WELL AP, Fitwel Ambassador, TREES-A NC, RISC
อ้างอิงข้อมูลจาก
Fitwel: https://www.fitwel.org/solutions , Fitwel Viral Response Module (VRM): https://www.fitwel.org/viral-response-module
Introduction WELL V2: https://v2.wellcertified.com/en/wellv2/overview
เกณฑ์มาตรฐานอาคารเป็นสุข The SOOK Building Standard: https://tgbi.or.th/news-activities/annoucement/2021/08/24/1426/