พลังงานไฮโดรเจน อีกทางเลือกพลังงานแห่งอนาคต
เขียนบทความโดย RISC | 2 ปีที่แล้ว
แก้ไขล่าสุด : 2 ปีที่แล้ว
ท่ามกลางกระแสพลังงานสะอาดที่ถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าวันนึงจะมาเป็นพลังงานแห่งอนาคต ที่สามารถมาทดแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอีกตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก แต่...พลังงานที่ว่าต่างก็มีข้อจำกัด เรามาลองทำความเข้าใจกัน
พลังงานสะอาดที่เราคุ้นเคยกัน เช่น "พลังงานแสงอาทิตย์" นั้นก็มีข้อจำกัดในเรื่องความสามารถในการผลิต ที่ทำได้เฉพาะพื้นที่ที่มีความเข้มแสงอาทิตย์เพียงพอ และผลิตได้เฉพาะในช่วงเวลากลางวัน ส่วน "พลังงานลม" นั้นก็มีข้อจำกัด เช่น ต้นทุนสูง ต้องใช้พื้นที่เยอะ พื้นที่มีความเร็วลมพอเหมาะกับชนิดของกังหันลม สภาวะอากาศต้องอำนวย ส่งผลกระทบต่อทัศนียภาพ และบางครั้งอาจก่อให้เกิดเสียงรบกวนจากใบพัด ดังนั้น การจะใช้พลังงานสะอาดจึงต้องพึ่งพิงแหล่งผลิตไฟฟ้าให้มีความหลากหลายรูปแบบประกอบ เพื่อเสริมกัน
“พลังงานไฮโดรเจน” ถูกพูดถึงอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และเป็นอีกหนึ่งพลังงานทดแทนที่ถูกจับตามอง เนื่องจากมีข้อดีหลายข้อที่แตกต่างจากพลังงานหมุนเวียนประเภทอื่น โดยพลังงานไฮโดรเจนเกิดจากการนำก๊าซไฮโดรเจนมาใช้เป็นเชื้อเพลิง มีความสามารถใช้งานได้เทียบเท่าพลังงานจากน้ำมัน อย่างไรก็ดี สาเหตุที่พลังงานไฮโดรเจนยังไม่แพร่หลายนั้นเป็นเพราะการผลิตไฮโดรเจนยังมีต้นทุนที่สูงอยู่ และมีความซับซ้อนกว่าธุรกิจการกลั่นน้ำมันที่มีอยู่ รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับไฮโดรเจนยังมีอยู่น้อยมาก จึงไม่สะดวกแก่การใช้งานสำหรับบุคคลทั่วไป
นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่เป็นตัวชี้ขาดว่าพลังงานไฮโดรเจนนั้นสะอาดจริงขนาดไหน ก็ขึ้นอยู่กับกระบวนการผลิตก๊าซไฮโดรเจน ซึ่งในปัจจุบันก๊าซไฮโดรเจนที่ผลิตส่วนใหญ่ยังคงเป็นไฮโดรเจนสีเทา (Grey Hydrogen) เนื่องจากถูกผลิตจากก๊าซธรรมชาติ และมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต จึงยังไม่ใช่พลังงานสะอาดที่แท้จริง ในขณะที่ไฮโดรเจนสีน้ำเงิน (Blue Hydrogen) ผลิตโดยใช้ก๊าซธรรมชาติเช่นกัน แต่มีกระบวนการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทำให้ไฮโดรเจนสีฟ้านั้นสะอาดกว่าไฮโดรเจนสีเทา ส่วนการผลิตก๊าซไฮโดรเจนโดยไม่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลหรือเรียกว่าไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen) นั้นผลิตโดยกระบวนการแยกน้ำด้วยไฟฟ้า (Electrolysis) โดยใช้พลังงานไฟฟ้ามาแยกโมเลกุลของน้ำออกเป็นไฮโดรเจนและออกซิเจน ดังนั้น ในการผลิตไฮโดรเจนสีเขียว จึงต้องอาศัยไฟฟ้าที่มาจากแหล่งพลังงานสะอาดคาร์บอนต่ำ เช่น พลังงานลมหรือพลังงานแสงอาทิตย์
พลังงานไฮโดรเจนสีเขียวยังมีข้อโดดเด่นด้านความหนาแน่นพลังงานสูงสุดเมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงอื่นๆ แต่ยังมีอุปสรรคด้านต้นทุนการผลิต การขนส่ง และโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการกระจายไฮโดรเจน อย่างไรก็ดี เมื่อเวลาผ่านไปเชื่อได้ว่าต้นทุนการผลิตจะปรับตัวลดลง เนื่องจากการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) และเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น ถึงตอนนั้นก็คงสมกับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของพลังงานสะอาดแห่งอนาคต
เนื้อหาโดย คุณ วรพร ปุณยกนก วิศวกรวิจัยอาวุโส RISC
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.pwc.com/th/en/pwc-thailand-blogs/blog-20210907.html
https://www.greennetworkthailand.com/%E0%B9%84%E0%B8%AE%E0%B9%82%E0%B8%94%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A7-green-hydrogen/