Iconic
เขียนบทความโดย RISC | 4 ปีที่แล้ว
แก้ไขล่าสุด : 2 ปีที่แล้ว
ไอคอน (Icon) เป็นคำที่นิยมเรียกทับศัพท์ โดยรากศัพท์ของ Icon มาจากภาษากรีก แปลว่า รูปภาพ (image) ความชอบ (likeness) และการอุปไมย (Similitude) Icon สามารถใช้แทนในความหมายต่างๆได้เช่นในทางศาสนา Icon หมายถึงรูปบูชา ทางด้านคอมพิวเตอร์เป็นสิ่งแทนเครื่องหมายต่างๆเช่นเครื่องหมายเอกสาร (document) นอกจากนี้ Icon ยังใช้แทนเป็นเชิงสัญลักษณ์ของบุคคลผู้ที่มีอิทธิพลต่อทัศนคติของคนจำนวนมาก อาทิเช่น มหาตมะ คานธี เป็นผู้ต่อสู้ด้วยระบบอหิงสาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์เป็นต้น
ไอคอนกับงานสถาปัตยกรรม หรือจะเรียกว่า สถาปัตยกรรมสัญลักษณ์ (Iconic Architecture) เป็นรูปแบบของการสร้างสรรค์ในมุมมองที่โดดเด่นจากสถานที่โดยงานสถาปัตยกรรม โดยงาน Iconic Architecture นี้ไม่เพียงแต่มีความพิเศษทางด้านรูปลักษณ์จากงานสถาปัตยกรรมทั่วไป แต่ยังเป็นการสร้างปรากฏการณ์ของการมีอยู่ของสถานที่และวิถีชีวิตของผู้คนในบริบทนั้นๆ โดย ชาร์ลส์ เจ็งส์ (Charles Jencks) ได้กล่าวว่า Iconic Architecture นั้นได้ให้มิติของรูปลักษณ์และยังแทรกด้วยปรัชญาในเชิงสัญลักษณ์ไว้ด้วย เหมือนกับงานภาพเขียน Byzantine painting of Jesus หากเราพิจารณาลงในบริบทของเมือง Iconic Architecture มักจะมีเอกลักษณ์โดดเด่นออกมาจากเมืองด้วยลักษณะรูปทรงที่พิเศษ หรือความสูงที่ต่างจากบริบทโดยรอบ ตัวอย่างเช่น Gherkin tower ซึ่งใช้เทคโนโลยีสุดโต่ง กับรูปทรงอาคารที่มีเอกลักษณ์ที่แปลกแยกออกจากบริบทของเมืองอย่างชัดเจน
Jencks ยังกล่าวอีกว่า Iconic Architecture ที่มีความโดดเด่นจะสร้างมูลค่าอย่างไม่สามารถประเมินค่าได้เลย เนื่องจากรูปลักษณ์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวนี้ที่มีความแตกต่างจากบริบทโดยรอบ จะสร้างประสบการณ์ใหม่และความประทับใจต่อผู้คนที่ได้พบเห็น เปรียบเสมือน landmark ของพื้นที่นั้นๆ อาทิเช่น The Sydney Opera House ประเทศออสเตรเลีย ที่มีรูปทรงสวยงามโดดเด่น หรือ The Eiffel Tower ประเทศฝรั่งเศส ที่สร้างโดยเทคโนโลยีสูงสุดของโครงสร้างเหล็กในเวลานั้น ซึ่งทั้งสองงานสถาปัตยกรรมนี้ถือได้ว่าเป็น Iconic Architecture ที่เปรียบเสมือน Landmark ที่นักท่องเที่ยวต้องไปเยี่ยมชมเพราะถือเป็นสัญลักษณ์ของเมืองนั้นๆ
สถาปัตยกรรมสัญลักษณ์ (Iconic Architecture) เป็นการออกแบบผสมผสานระหว่างพื้นที่และรูปแบบสถาปัตยกรรมในเชิงบวก นอกจากการสร้างมุมมองที่โดดเด่นของสถานที่แล้วงานสถาปัตยกรรมสัญลักษณ์สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงเข้ามาในวิถีชีวิตของมนุษย์ได้ Iconic Architecture จึงไม่เพียงแต่อยู่เหนือสถาปัตยกรรมพื้นฐาน แต่ยังมีความสัมพันธ์ระหว่างสถานที่และความเป็นมนุษย์ ตัวอย่างสถาปัตยกรรมสัญลักษณ์ที่สร้างสรรค์ภาพลักษณ์อันโดดเด่น ที่สามารถเปลี่ยนเมืองเล็กๆที่ไม่มีใครรู้จักกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลกขึ้นมานั่นก็คือ Guggenheim Museum ซึ่งออกแบบโดย Frank Gehry โดยรัฐบาลสเปนตั้งใจเป็นอย่างยิ่งที่จะใช้ชื่อ Bibao เป็นเมืองท่องเที่ยวโดยใช้สถาปัตยกรรมสมัยใหม่เป็นตัวดึงดูด และสามารถสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวมหาศาล (Klaus Reichold, 1999)
ลักษณะเฉพาะของการสร้างรูปแบบสัญลักษณ์ในงานสถาปัตยกรรม
จากตัวอย่างที่กล่าวมาแล้วของรูปแบบของ Iconic Architecture ไม่ว่าในเรื่อง ของความมีเอกลักษณ์เฉพาะ ภาพลักษณ์ความโดดเด่น ขนาด ความสูงของงานสถาปัตยกรรม ในบริบทต่างๆนั้นสามารถแบ่งลักษณะเฉพาะของ Iconic Architecture ได้ดังนี้
• รูปภาพ (Image) ความโดดเด่นของงานสถาปัตยกรรมจากสภาพแวดล้อม โดยผลของการมีอยู่ของ Iconic Architecture ต้องสร้างผลกระทบด้านบวกต่อการรับรู้ของผู้คนในสถานที่นั้นๆ ตัวอย่างอาคาร Guggenheim Museum ถือเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนถึงการเปลี่ยนแปลงภาพของบริบทนั้นอย่างสุดโต่งของสถานที่นั้น หรือตัวอย่างอาคาร Dancing house กรุงปราก ที่ออกแบบโดย Frank Gehry โดยออกแบบอาคารโดยเน้นการใช้กรอบอาคารกระจกด้านนอกที่เป็นวัสดุสมัยใหม่ ออกแบบรูปทรงแทนแนวคิดของการเต้นรำ โดยเป็น Iconic Architecture ที่ออกแบบเข้าไปแทรกในกลุ่มอาคารประวัติศาสตร์ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่และบริบทนี้โดยงาน Iconic Architecture อย่างเห็นได้ชัดเจน
• ความทันสมัย (Modernity) เป็นความสัมพันธ์เรื่องของงานสถาปัตยกรรมกับเวลา ซึ่งสามารถเป็นตัวแทนบอกเรื่องราวในการพัฒนาสำหรับแนวคิดในอนาคตได้ การแสดงออกด้วยความใหม่สุดของเทคโนโลยี วัสดุ โครงสร้างหรือรูปแบบงานสถาปัตยกรรม ซึ่งสามารถบอกถึงวิวัฒนาการของโลกและสามารถแสดงออกมาให้เกิดการรับรู้แบบใหม่ให้กับผู้คนได้ เช่น The Eiffel Tower ซึ่งเป็นการแสดงนวัตกรรมด้านโครงสร้างในเวลานั้น หรือ the Reichstag Building ในกรุงเบอร์ลิน ที่ออกแบบโดย Sir Norman Foster โดยการสร้างโดมกระจกขนาดใหญ่บนส่วนสูงสุดของอาคารประวัติศาสตร์ ซึ่งสามารถมองวิวของเมืองได้ 360
• วัฒนธรรม (Culture) Iconic Architecture ซึ่งเป็นตัวแทนของเมืองนั้นๆ ต้องสามารถสร้างความเชื่อมโยงระหว่างผู้คนกับงานสถาปัตยกรรมได้ Iconic Architecture ที่สามารถเป็นตัวแทนของวัฒนธรรม สังคมและประวัติศาสตร์ของเมือง ที่สร้างคุณค่าให้กับเมืองตัวอย่างอาคาร The Azadi Square ในอิหร่าน นั้นแสดงให้เห็นถึงแก่นของของวัฒนธรรมตั้งแต่อดีต จิตวิญญาณ การปลดปล่อย โดยอาคารนี้สะท้อนถึงความเจริญก้าวหน้าตั้งแต่อดีตต่อไปถึงความหวังของอนาคต
Iconic Architecture ถือเป็นจุดปลายทางหนึ่งในการเดินทางของผู้คนเพื่อได้ประสบการณ์ใหม่ ในการเรียนรู้ความแปลกและแตกต่าง เทคโนโลยี หรือแนวคิดที่มุ่งสู่อนาคต แต่ยังมีการสอดแทรกเรื่องราวของเมือง ผู้คน ชุมชน ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ของบริบทเมืองนั้นๆแฝงอยู่ในการเล่าเรื่องของแนวคิดของ Iconic Architecture นั้นๆ เมื่อย้อนกลับมาที่กรุงเทพฯ Iconic Architecture ที่สามารถมองเห็นได้ส่วนมากจะเป็นเชิงวัฒนธรรม เช่น วัดพระศรีรัตนศาสดาราม แต่สถาปัตยกรรมเชิงสัญลักษณ์ ที่สามารถบอกถึงการเปลี่ยนแปลงวิวัฒนาการของเมือง เทคโนโลยีสมัยใหม่ ยังไม่มีสถาปัตยกรรมใดที่เห็นได้ชัด แต่คงอีกไม่นานอาจจะมีนวัตกรรมเชิงสถาปัตยกรรมเกิดขึ้นในกรุงเทพฯที่สามารถเรียกได้ว่าเป็น Iconic Architecture หรือ Landmark ของกรุงเทพฯได้
เอกสารอ้างอิง:
http://prachatai.com/journal/2010/07/30358
ชุติมา ขจรณรงค์วณิช (2553). แนวทางการออกแบบสถาปัตยกรรมสัญลักษณ์สำหรับกรุงเทพฯ. วิทยานิพนธ์
สถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิต, คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง,
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
Story by ดร.จิตพัต ฉอเรืองวิวัฒน์ (ฝ่ายวิจัยและพัฒนา กลุ่มบริษัทดีที)