RISC

ส่องนวัตกรรมช่วยบรรเทาภัยน้ำท่วม

เขียนบทความโดย RISC | 2 ปีที่แล้ว

แก้ไขล่าสุด : 2 ปีที่แล้ว

3286 viewer

สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาภาคกลางตอนล่าง และหลายจังหวัดทางภาคอีสานของไทย ได้ส่งผลกระทบกับผู้คนเป็นจำนวนมาก ทำให้การใช้ชีวิตเป็นไปอย่างยากลำบาก ซึ่งอย่างที่เราทราบกันว่า ภัยน้ำท่วมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำอยู่แล้วในบ้านเรา แต่จะดีกว่ามั้ย?...หากมีการเตรียมพร้อมรับมือนำนวัตกรรมเข้ามาแก้ปัญหา อย่างน้อยก็อาจจะลดความรุนแรงของสถานการณ์ให้เบาบางลงได้บ้าง

งั้นวันนี้เรามาดูนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการช่วยบรรเทาภัยน้ำท่วม หรือไอเดียที่สามารถเป็นแนวทางในการพัฒนานวัตกรรมให้ดียิ่งขึ้นในอนาคต

มาเริ่มที่นวัตกรรมเรื่องปากท้องกันก่อน อย่าง...“Emergency Food” หรือ "อาหารในสภาวะฉุกเฉิน" เป็นอาหารมีส่วนผสมที่ให้พลังงาน โปรตีน คาร์โบไฮเดรต วิตามิน เกลือแร่ หรือมีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน สามารถเก็บรักษาได้ง่าย รับประทานได้ง่าย และพกติดตัวได้ง่าย สามารถใช้เป็นอาหารในสถานการณ์ฉุกเฉินได้ เช่น การประสบอุทกภัย หรือแม้แต่การหลงป่า

อันต่อมาเป็นเรื่องของน้ำสะอาด เพราะถือเป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตเช่นกัน ถ้าพื้นที่ไม่มีระบบน้ำประปา หรือการช่วยเหลือเข้าถึงได้ยาก เครื่องมือช่วยผลิตน้ำสะอาดให้บริโภคก็ถือเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งปัจจุบันมีการพัฒนาเครื่องผลิตน้ำสะอาดหลายเทคโนโลยี อย่างเช่น “เครื่องกรองน้ำดื่มสะอาดขนาดพกพา” ที่อยู่ในกระเป๋าสะพายหลังและสามารถผลิตไฟฟ้าได้ด้วย หรือจะเป็น “เครื่องผลิตน้ำสะอาดเคลื่อนที่” ที่เป็นระบบกรองน้ำแบบติดตั้งบนจักรยาน รถ หรือเรือ เพื่อนำเข้ายังพื้นที่ประสบภัยพิบัติ ถูกพัฒนาโดยอาจารย์และนักวิจัยจากภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หรือจะเป็น “Life Straw” ที่เป็นเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ที่เป็นหลอดขนาดเล็ก พกพาได้สะดวก และใช้ดูดน้ำเพื่อดื่มได้เลย

สิ่งขับถ่ายจากร่างกายมนุษย์ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ควรให้ความสำคัญ เพราะอาจก่อให้เกิดปัญหาด้านกลิ่นและอาจเป็นแหล่งแพร่พันธุ์เชื้อก่อโรคได้ ซึ่งที่ผ่านมามีการพัฒนา “สุขาแบบเคลื่อนย้ายได้” หรือ "Portable toilets" โดยเป็นสุขาที่สามารถนั่งขับถ่ายได้ ขนย้ายสะดวก และมีวัสดุเก็บของเสีย ก่อนนำไปจัดการในภายหลัง

ต่อมาเป็น “Life Box” หรือ "กล่องที่สามารถสร้างที่อยู่ฉุกเฉิน" ได้ โดยภายในจะบรรจุด้วยวัสดุ Polyethylene ที่สามารถพองตัวภายในเวลา 1 นาที เป็นที่อยู่ขนาดเล็กสำหรับ 4 คน นอกจากนี้ยังสามารถบรรจุกล่องใส่อาหาร น้ำ หรือสิ่งของจำเป็นในเวลาฉุกเฉินได้ด้วย Life box ถูกพัฒนาให้เหมาะสมกับการใช้งานได้ 3 แบบ คือ แบบ Air เหมาะกับพื้นที่ที่สามารถเข้าช่วยเหลือได้เฉพาะทางอากาศ แบบ Land เหมาะกับพื้นที่ที่เข้าช่วยเหลือได้ทางถนน และแบบ Water ที่เหมาะกับพื้นที่ที่ประสบปัญหาอุทกภัย

ปิดท้ายที่แนวกั้นน้ำ โดยปกติเรามักจะนึกถึงกระสอบทรายกัน แต่ในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ "แนวป้องกันน้ำท่วม" หรือ “Flood projection barrier” ซึ่งติดตั้งง่าย เก็บได้สะดวก น้ำหนักเบา และนำมาใช้ซ้ำได้ สามารถช่วยป้องกันน้ำเข้าพื้นที่ที่มีระดับน้ำไม่สูงมาก มีแบบใช้กันพื้นที่ที่เป็นแนวยาว หรือปิดกั้นเฉพาะบริเวณช่องประตู

หลายๆ นวัตกรรมที่ยกตัวอย่างมา เราสามารถนำมาใช้กับหลายๆ พื้นที่ในบ้านเราได้ ซึ่งจะช่วยบรรเทาความยากลำบากของผู้คนไปได้มาก และที่สำคัญยังสามารถนำไปพัฒนาเพื่อสร้างเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อรับมือได้ในอนาคต

เนื้อหาโดย คุณ ธนวัฒน์ จินจารักษ์ นักวิจัยอาวุโส ความหลากหลายทางชีวภาพ RISC

อ้างอิงข้อมูลจาก ​
https://www.design1st.com/5-innovative-flood-prevention-products-replace-sandbags/ ​
https://aquobex.com/products-list/floodguard-screw-in-barrier/ ​
https://www.design1st.com/5-innovative-flood-prevention-products-replace-sandbags/ ​
https://www.tuvie.com/d-r-toilet-system-disaster-relief-flat-pack-toilet-system-by-rahim-bhimani/ ​
https://inhabitat.com/life-box-an-air-droppable-pop-up-recovery-shelter-for-victims-of-natural-disasters/water-life-box/ ​
https://www.eng.ku.ac.th/news/?p=1257 ​
https://www3.rdi.ku.ac.th/?p=32600 ​
https://lifestraw.com/