ท่ามกลางปัญหามากมายของเมือง Urban Resilience คืออะไรและจะช่วยเมืองได้อย่างไร
Created By RISC | 3 years ago
Last modified date : 1 year ago
ปัญหาต่าง ๆ ที่รุมเร้าเมืองของเราในทุก ๆ วัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาฝุ่น PM2.5 ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ภัยพิบัติต่าง ๆ เช่น น้ำท่วม น้ำแล้ง ไฟไหม้ป่า ฯลฯ ทำให้แนวคิด Urban Resilience ได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ บทความนี้มุ่งนำเสนอคำอธิบายของคำว่า Urban Resilience
บทความภาษาไทยที่เกี่ยวกับ Urban Resilience แปลคำนี้ไว้หลายรูปแบบ เช่น เมืองที่รับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้[i] เมืองยืดหยุ่น[ii] เมืองพลวัต[iii] เมืองพร้อมรับมือ[iv] เป็นต้น
เมื่อพิจาณาถึงรากศัพท์ คำว่า Resilience ในภาษาอังกฤษนั้นมาจากภาษาละติน resilio ที่แปลว่า "กระเด้งกลับ" (to bounce back) สะท้อนให้เห็นการรบกวนหรือการเผชิญปัญหา โดยอาจเปรียบกับการที่ลูกบอลตกกระทบพื้น จากนั้นลูกบอลกระเด้งกลับขึ้นมา เปรียบได้กับการรับมือและฟื้นตัว
ในอดีตคำว่า Resilience ถูกใช้ในบางสาขาวิชาโดยเฉพาะจิตวิทยาและนิเวศวิทยา การศึกษา Resilience ในด้านจิตวิทยาเน้นศึกษาคนหรือครอบครัวที่ประสบความยากลำบากหรืออยู่ในสถานการณ์เปราะบาง ตัวอย่างงานวิชาการในอดีตเช่นงานของ Antonovsky ศึกษาผู้ใหญ่ที่รอดชีวิตจากค่ายกักกันในปีพ.ศ. 2514 (ค.ศ. 1971) สำหรับนิเวศวิทยา Resilience ถูกนำมาใช้ประเมินอัตราการกลับเข้าสู่สมดุลหลังจากระบบถูกรบกวน[v][vi]
สำหรับสาขาวิชาการวางแผนเมือง (urban planning) โครงการ 100 Resilient Cities ซึ่งสนับสนุนโดยมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ในปีพ.ศ. 2559 (ค.ศ. 2016) ได้อธิบาย Urban Resilience ว่าคือความสามารถของบุคคล ชุมชน องค์กร ธุรกิจหรือระบบภายในเมืองที่จะอยู่รอด ปรับตัวและเติบโตได้ไม่ว่าจะเผชิญกับปัญหาเรื้อรังหรือปัญหาเฉียบพลัน[vii]
สังเกตได้ว่าแนวคิด Resilience เกี่ยวข้องอยู่กับ 2 ประเด็นหลักคือเกิดเหตุการณ์รบกวนหรือปัญหา และการรับมือต่อเหตุการณ์รบกวนนั้น
ตัวปัญหาอาจแบ่งได้ตามลักษณะการเกิดตามช่วงเวลา ซึ่งแบ่งได้เป็นปัญหาที่มีมานาน (chronic stress) หรือปัญหาที่เกิดขึ้นฉับพลัน (acute shock) ตามคำอธิบายของมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์
สำหรับการรับมือกับปัญหา อาจจำแนกตามช่วงเวลาได้เป็นการเตรียมตัวก่อนเกิดเหตุการณ์ การจัดการขณะที่เหตุการณ์รบกวนนั้นกำลังเกิดขึ้น และการฟื้นฟูภายหลังเหตุการณ์รบกวนนั้นผ่านไปแล้ว ระบบที่มีความ Resilience จะสามารถ 1. อยู่รอด (survive) 2. ปรับตัว (adapt) และ 3. เติบโต (grow) ได้
ในบทความนี้ขอแปล Resilience ด้วยคำว่าความพร้อมรับมือ และ Urban Resilience ก็คือเมืองพร้อมรับมือ เนื่องจากคำว่าพร้อมรับมือ สื่อให้เห็นถึงการเตรียมตัวก่อนเกิดปัญหา และมีความหมายรวม"ตัวปัญหา"เข้าไปด้วย เนื่องจากเพราะคาดว่าจะมีปัญหาจึงต้องเตรียมพร้อมรับมือ ต่างจากคำว่าพลวัต หรือยืดหยุ่น ซึ่งหากไม่มีบริบทอาจทำให้นึกภาพถึงการเกิดปัญหาหรือการรบกวนได้ยาก
ความพร้อมรับมือหรือ Resilience นี้แตกต่างจากความยั่งยืนหรือ Sustainability โดยความยั่งยืนมีสมมติฐานว่าความสมดุลระหว่างสรรพสิ่งนั้นเป็นไปได้ ในขณะที่ความพร้อมรับมือนั้นคิดว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดได้ตลอดเวลา งานวิจัยของฝั่งความยั่งยืนจึงเน้นที่การศึกษาปริมาณการปล่อยคาร์บอน การใช้ทรัพยากรมากเกินไป ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ในขณะที่งานวิจัยด้านความพร้อมรับมือจะเน้นที่การจัดการภัยพิบัติ ผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง[viii]
การพัฒนาและการใช้ชีวิตจึงต้องคำนึงถึงทั้งความพร้อมรับมือและความยั่งยืน ความพร้อมรับมือจะช่วยให้ระบบฟื้นตัวจากเหตุการณ์รบกวนซึ่งอาจถูกป้องกันไม่ให้เกิดหรือเกิดโดยมีผลกระทบลดลงโดยการเลือกใช้มาตรการที่เหมาะสม และมาตรการที่เหมาะสมจำเป็นต้องคำจึงถึงความยั่งยืนเพื่อลดแนวโน้มการสร้างปัญหาต่อ ๆ ไป[ix] เมืองที่พร้อมรับมือและมุ่งสร้างความยั่งยืนจึงจะเป็นเมืองที่อยู่รอดในอนาคตอย่างแท้จริง
[i] พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์. (2559). เมืองที่รับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้ โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์. https://www.matichon.co.th/columnists/news_191562
[ii] City Cracker. (2563). URBAN RESILIENCE เมืองยืดหยุ่นคืออะไร ทำไมเมืองถึงต้องยืดหยุ่น. https://citycracker.co/city-environment/what-is-urban-resilience/
[iii] Urban Futures & Policy. (2562). https://www.facebook.com/UrbanFutures.tu/posts/2263873930360335
[iv] สุนิสา ปั้นวิสัย. (2561). สรุปเนื้อหาการประชุมทางวิชาการหรือการหารือความร่วมมือกับต่างประเทศ http://iad.bangkok.go.th/sites/default/files/2_%20Summarize%20the%20content%20of%20the%20conference%2C%20or%20discuss%20international%20cooperation%20on%20the%20web..pdf
[v] Martin-Breen, P. Anderies, JM. (2011) 'Resilience: A Literature Review' Bellagio Initiative, Brighton:IDS https://opendocs.ids.ac.uk/opendocs/handle/20.500.12413/3692
[vi] Resilience and sustainability. Nat Sustain 2, 249 (2019). https://doi.org/10.1038/s41893-019-0284-4
[vii] The Rockefeller Foundation. (2016). Resilience in action. (Press release) https://www.c40.org/press_releases/press-release-c40-100-resilient-cities-announce-partnership-to-jointly-advance-climate-change-and-resilience-efforts-in-member-cities#:~:text=Urban%20Resilience%20is%20the%20capacity,and%20acute%20shocks%20they%20experience.
[viii] Lew, A.A., Ng, P.T., Ni, C., Wu, T. (2015).
Community sustainability and resilience: similarities, differences and indicators.
https://doi.org/10.1080/14616688.2015.1122664
[ix] Sustainability Degress. (2014). Sustainability vs. Resilience: Why Bouncing Back is the Way of the Future. https://www.sustainabilitydegrees.com/blog/sustainability-vs-resilience-why-bouncing-back-is-the-way-of-the-future/