สถาปัตยกรรมระดับโลก (World Class Architecture)
เขียนบทความโดย RISC | 4 ปีที่แล้ว
แก้ไขล่าสุด : 2 ปีที่แล้ว
อะไรคือสถาปัตยกรรมระดับโลก?
ความเป็นเลิศในแง่มุมทางสถาปัตยกรรม อาจถูกจำกัดความได้หลากหลายตามมุมมองและประสบการณ์ของคนที่แตกต่างกัน ซึ่งอาจหมายถึงสิ่งมหัศจรรย์ของโลกที่เอาชนะกฎแห่งธรรมชาติได้ อาจเป็นสถาปัตยกรรมที่ออกแบบโดยบุคคลที่มีชื่อเสียง มีรูปทรงสวยงามโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ มีนวัตกรรมหรือแนวคิดในการออกแบบอันชาญฉลาด หรืออาจเพราะความประทับใจส่วนบุคคล
แต่การจะยกย่องให้สถาปัตยกรรมใดเป็นผลงานระดับโลก มักต้องเกิดจากข้อตกลงร่วมกันบางประการ หรือได้รับการยอมรับจากกลุ่มคนซึ่งเป็นตัวแทนสาขาวิชาชีพที่เกี่ยวข้องหรือสถาบันที่น่าเชื่อถือ ดังเช่นการประกวดหรือการมอบรางวัล
การประกวดหรือการมอบรางวัล ด้วยเกณฑ์การตัดสินหรือมติจากการลงคะแนนเสียงให้กับผลงานการออกแบบทางสถาปัตยกรรม มีมากมายตั้งแต่ระดับประเทศ ระดับภูมิภาค จนถึงระดับสากล ตัวอย่างรางวัลที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ เช่น
• ระดับประเทศ: รางวัลผลงานสถาปัตยกรรมดีเด่น (Gold Medal Awards) รางวัลสถาปัตยกรรมที่สมควรเผยแพร่ (Citation Awards) และรางวัลสถาปัตยกรรมสีเขียวดีเด่น (ASA Green Awards) โดย สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชินูปถัมภ์
• ระดับภูมิภาค: รางวัล บีซีไอท๊อปเทน อวอร์ด (BCI Asia Top Ten Awards) รางวัล ฟิวเจอร์อาร์ค ไพรซ์ (FuturArc Prize) และรางวัล ฟิวเจอร์อาร์ค กรีน ลีดเดอร์ชิพส์ อวอร์ด (FuturArc Green Leadership Award) โดย กลุ่มบริษัทบีซีไอ (BCI Group of Companies)
• ระดับสากล: รางวัลอาคารแห่งปี (World Building of the Year) และรางวัลโครงการในอนาคตแห่งปี (Future Project of the Year) จากงานเทศกาลสถาปัตยกรรมโลก (World Architecture Festival)
จากตัวอย่างรางวัลข้างต้น จะเห็นแนวโน้มของการให้ความสำคัญกับความ “เขียว” มากขึ้นในทุกระดับ ซึ่งมิได้มุ่งเน้นเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่หมายรวมถึงผลกระทบองค์รวมของการใช้ทรัพยากรตั้งแต่การออกแบบ การก่อสร้าง และการใช้งานอาคาร ที่ส่งผลต่อสภาพแวดล้อม คุณภาพชีวิต และสังคมเป็นที่ตั้ง ดังจะเห็นได้จากการเปรียบเทียบเกณฑ์การตัดสินและตัวอย่างผลงาน ดังนี้
สำหรับงานเทศกาลสถาปัตยกรรมโลก (World Architecture Festival) นับว่าเป็นรายการสำคัญที่มีผู้คนให้ความสนใจเข้าร่วมส่งผลงานมากกว่า 50 ประเทศ และได้รับเกียรติจากสถาปนิกชั้นนำเข้าร่วมตัดสินผลงานกว่า 75 ท่าน จากทั่วทุกมุมโลก เกณฑ์การตัดสินยังไม่มีการเผยแพร่อย่างเป็นทางการ ส่วนการให้รางวัลมี 2 ประเภทหลัก คือ อาคารที่สร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว และโครงการในอนาคต แบ่งตามสาขาวิชา ได้แก่ ศูนย์ชุมชน (Civic and community) อาคารด้านวัฒนธรรม (Culture) นิทรรศการ (Display) สุขภาพ (Health) สถานพักผ่อน (Holiday and Leisure) ที่อยู่อาศัย (Residential) ภูมิสถาปัตยกรรมและการวางผัง (Landscape and Masterplanning) สำนักงาน (Office) ศูนย์การค้า (Commercial) สถานศึกษา (Education) อาคารทางศาสนา (Religion) สนามกีฬา (Sport) โครงสร้างพื้นฐานและการขนส่ง (Infrastructure and Transport) เป็นต้น
และสำหรับปี พ.ศ. 2557 นี้ การจัดงานเทศกาลสถาปัตยกรรมโลกพร้อมด้วยการประกาศผลรางวัลสถาปัตยกรรมแห่งปีได้เสร็จสิ้นลงแล้วเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งรางวัลที่โดดเด่นที่สุดในงาน คือ อาคารแห่งปี ได้แก่ผลงาน The Chapel ออกแบบโดย a21studio จากประเทศเวียดนาม
The Chapel ถูกออกแบบให้ตอบสนองความต้องการของคนในชุมชนย่านชานเมืองโฮจิมินห์ เป็นศูนย์กลางเพื่อการพบปะสังสรรค์และจัดงานสำคัญต่างๆ มีการนำโครงเหล็กและแผ่นเหล็กจากอาคารเก่าของเจ้าของโครงการกลับมาใช้ใหม่เป็นโครงสร้างหลักและเปลือกอาคาร ทำให้ลดระยะเวลาและงบประมาณในการก่อสร้างลงได้ โครงสร้างเหล็กรูปต้นไม้ช่วยให้อาคารดูโปร่งโล่ง และด้วยสีสันของม่านที่หลากหลายช่วยเพิ่มความสดใสมีชีวิตชีวาให้กับบรรยากาศภายในอาคาร
และอีกหนึ่งรางวัลคือ โครงการในอนาคตแห่งปี ได้แก่ผลงาน Art Gallery of Greater Victoria ออกแบบโดย 5468796 Architecture + number TEN architectural group จากประเทศแคนาดา
Art Gallery of Greater Victoria คือแนวคิดการปรับปรุงอาคารเก่าสำหรับเป็นห้องแสดงงานศิลปะในอนาคต มีความต้องการให้ความเป็นเมืองได้ถูกสอดแทรกเข้ามาในพื้นที่ซึ่งเป็นย่านชานเมือง โดยยังคงไว้ซึ่งลักษณะพื้นถิ่น และเก็บรักษาต้นไม้เดิมไว้ ปรับปรุงส่วนผนังให้เป็นกระจกใสโดยรอบเพื่อดึงความสนใจจากผู้คนทุกทิศทาง สร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างภายนอกกับภายใน หลังคาประดับด้วยไม้ซี่เล็กๆที่ช่วยบังแดดให้กับผลงานศิลปะ แต่ยอมให้แสงสว่างสะท้อนลอดเข้ามายังภายในได้ สร้างบรรยากาศคล้ายการเดินใต้ร่มไม้ในพื้นที่ป่าที่หาชมได้ยากและแตกต่างจากอาคารอื่นในย่านนั้น
จากเกณฑ์การตัดสินและตัวอย่างผลงานสถาปัตยกรรมที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลข้างต้น จะเห็นได้ว่ามีการให้ความสำคัญต่อบริบททางด้านคน สังคม และทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี สภาพสังคมที่เหมาะสม ระบบนิเวศที่ยั่งยืน และลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต หมายความได้ว่า สถาปัตยกรรมระดับโลกอาจไม่จำเป็นต้องเป็นอาคารใหญ่โต หรูหราอลังการ ประดับประดาฟุ่มเฟือย หรืออยู่เหนือธรรมชาติแต่อย่างใด แม้เป็นเพียงอาคารเล็กๆ เรียบง่าย หากแฝงไว้ซึ่งความคิด ความใส่ใจ ใช้ประโยชน์จากสิ่งรอบข้างอย่างคุ้มค่า และสามารถตอบโจทย์ความต้องการของคนและสังคมได้อย่างตรงประเด็น สิ่งก่อสร้างนั้นจักสามารถเป็นสถาปัตยกรรมที่ผู้ออกแบบควรภาคภูมิใจไม่แพ้สุดยอดผลงานระดับโลกใดใด
สริธร อมรจารุชิต (Saritorn Amornjaruchit)
ฝ่ายวิจัยและพัฒนา
บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์คอร์ปอเรชั่น จำกัด (กลุ่มบริษัท ดีที)