Knowledge - RISC

"ถุงผ้า" รักษ์โลกจริงเหรอ?

เขียนบทความโดย RISC | 1 ปีที่แล้ว

แก้ไขล่าสุด : 1 ปีที่แล้ว

1187 viewer

ยังจำได้มั้ย? จากปัญหาขยะพลาสติกล้น ส่งผลให้ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการรณรงค์หันมาใช้ถุงผ้าแทนการใช้ถุงพลาสติกกันอย่างจริงจัง​

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2563 ห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อในประเทศไทยได้ประกาศ “งดแจกถุงพลาสติก“ ตามนโยบายขอความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อลดปัญหาขยะจากถุงพลาสติก แต่ยังแจกให้เฉพาะสินค้าประเภทอุ่นร้อนเท่านั้น มาจนถึงปัจจุบัน อยากให้ทุกคนลองหันมองไปรอบๆ บ้าน เชื่อแน่ว่าบ้านทุกหลังจะต้องมีถุงผ้าสวยๆ ไว้ใช้ใส่ของแทนถุงพลาสติก ไม่ว่าจะซื้อมาเอง ได้รับแจกเป็นของสมนาคุณ หรือพวกของชำร่วยตามงานต่างๆ เพราะคาดหวังว่าจะมีประโยชน์กับผู้ใช้และส่งเสริมนโยบายลดการใช้พลาสติก ทำให้หลายคนๆ มีถุงผ้าไว้ในครอบครองอย่างน้อย 4-5 ใบ หรือบางคนมีมากกว่านั้น และยังมีแนวโน้มที่จะมีถุงผ้าเพิ่มมากขึ้นอีกเรื่อยๆ เช่นกัน​

คำถามคือ ถุงผ้าที่เรามีแต่ละถุง เราได้เอามาใช้ซ้ำๆ จนคุ้มค่าแล้วหรือยัง?

แน่นอนว่าข้อดีของการใช้ถุงผ้านั้นมีมากมาย เพราะว่าสามารถใช้ซ้ำได้หลายครั้งกว่าถุงพลาสติก และช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกที่จะไหลลงสู่ท้องทะเล รวมทั้งยังย่อยสลายได้เร็วกว่าถุงพลาสติกที่ต้องใช้เวลาย่อยนานมากกว่า 450 ปี  ไม่ตกค้างจนเป็นปัญหาในสิ่งแวดล้อม แต่ในขณะเดียวกัน กระบวนการผลิตของถุงผ้านั้น ก็ใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากมายเช่นกัน ตั้งแต่การเตรียมพื้นที่ปลูกฝ้าย การใช้น้ำและสารเคมี การเก็บเกี่ยว แปรรูป ส่งผลิต ซึ่งในแต่ละกระบวนการก็ปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาเช่นกัน ซึ่งถ้าเราอยากใช้ถุงผ้าให้คุ้มค่ากับกระบวนการผลิต เราจะต้องใช้ซ้ำมากกว่า 7,000 ครั้งเลยทีเดียว​

ถ้าอย่างนั้นหลายคนอาจจะสงสัยว่า ถ้าเปลี่ยนมาใช้ถุงผ้าแล้วยังไม่ดีต่อสิ่งแวดล้อมอีก...แล้วควรใช้ถุงอะไร?​

คำตอบก็คือ "ถุงอะไรก็ได้ที่เรานำกลับมาใช้ซ้ำๆ อย่างคุ้มค่า" เพราะไม่ว่าจะเป็นถุงพลาสติก ถุงผ้า หรือแม้แต่ถุงกระดาษ หากใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งไป ก็ถือว่าไม่ดีต่อโลกของเราทั้งสิ้น เพราะทุกๆ วัสดุมีต้นทุนของการใช้ทรัพยากรกันทั้งนั้น หากคุณเป็นคนนึงใช้ที่ใช้ถุงผ้าอยู่ คุณมาถูกทางแล้ว และขอให้ใช้ถุงผ้าที่มีอยู่ต่อไป ด้วยการนำกลับมาใช้ซ้ำให้คุ้มค่า ไม่รับถุงใบใหม่มาเพิ่ม และเมื่อใดหากคุณได้รับถุงพลาสติกมาบ้างบางครั้ง ก็ขอให้นำถุงพลาสติกเหล่านั้นมาใช้ซ้ำๆ ให้มากที่สุด หรือแยกขยะพลาสติกที่ใช้แล้วส่งไปรีไซเคิล เพื่อให้พลาสติกเหล่านั้นสามารถกลับไปทำประโยชน์ได้ไม่ไปเป็นภาระในหลุมฝังกลบอีกต่อไป​

เนื้อหาโดย คุณ ทิพทับทิม สรรเพชุดาศิลป์ สถาปนิกวิจัยอาวุโส, Sustainable Building Materials, RISC​

อ้างอิงข้อมูลจาก​
https://www.thesustain.space/bitesize/go-green-%e0%b9%84%e0%b8%9b%e0%b8%81%e0%b8%b1%e0%b8%9a%e0%b8%96%e0%b8%b8%e0%b8%87%e0%b8%9e%e0%b8%a5%e0%b8%b2%e0%b8%aa%e0%b8%95%e0%b8%b4%e0%b8%81%e0%b8%8a%e0%b8%b5%e0%b8%a7%e0%b8%a0%e0%b8%b2%e0%b8%9e/​

รับข่าวสาร

ลงทะเบียนเพื่อรับข่าวสารกับเรา

© 2024 Magnolia Quality Development Corporation Limited - A DTGO Company
ผลลัพธ์
การยืนยัน
การยืนยัน