ทำไม "แสงแดด" ถึงสำคัญต่อเรา?
เขียนบทความโดย RISC | 2 เดือนที่แล้ว
แก้ไขล่าสุด : 2 เดือนที่แล้ว
อย่างที่เรารู้กัน “แสงแดด” มีความสำคัญต่อต้นไม้เป็นอย่างมาก และเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการการผลิตอาหารจากการสังเคราะห์แสงนั่นเอง แน่นอนว่าถ้าต้นไม้ไม่ได้รับแสงแดด มันจะมีชีวิตอยู่ต่อไปไม่ได้ และเฉาตายไปในท้ายที่สุด
ส่วนมนุษย์นั้น การขาดแสงแดดแม้จะไม่อันตรายต่อชีวิตอย่างต้นไม้ แต่เราก็อาจจะเฉาได้เหมือนกัน เพราะอะไรนั้น? เราจะมาหาคำตอบกัน
โดยปกติ มนุษย์เราจะนอนตอนกลางคืนแล้วตื่นขึ้นมาในตอนเช้าของทุกวัน เพราะภายในร่างกายของเรานั้น มีฮอร์โมนตัวหนึ่งที่ชื่อว่า เมลาโทนิน (Melatonin) ซึ่งมีหน้าที่สำคัญในการควบคุมวงจรการนอนหลับของเรา ควบคุมให้เราได้นอน ร่างกายได้พักผ่อนในเวลากลางคืน และตื่นเช้าขึ้นมาอย่างสดใส โดยใช้แสงเป็นตัวแปรสำคัญในกระบวนการนี้ วิธีการก็คือ ช่วงเวลากลางคืนร่างกายจะหลั่งเมลาโทนินออกมามากขึ้นเรื่อยๆ จากต่อมไพเนียล (Pineal Gland) เมื่อร่างกายมีฮอร์โมนตัวนี้มากขึ้น ร่างกายของเราก็จะรู้สึกง่วงนอนมากขึ้น แต่เมื่อพระอาทิตย์เริ่มขึ้นช่วงเวลาเช้าตรู่ ร่างกายได้รับแสงแดด ฮอร์โมนเมลาโทนินก็จะลดต่ำลง ทำให้เราตื่นตัว และพร้อมทำกิจกรรมต่างๆ ตลอดทั้งวัน
จากกระบวนการร่างกายที่เล่ามาเรียกว่า "นาฬิกาชีวภาพ (Circadian Rhythm)" ซึ่งเป็นการทำงานของร่างกายตามเวลาชีวภาพโดยจะสอดคล้องกับช่วงเวลากลางวัน - กลางคืนพอดิบพอดี ซึ่งนอกจากจะมีเมลาโทนินเป็นสมาชิกแล้ว ยังมีฮอร์โมนอื่นๆ อีกที่ทำงานตามเวลาที่ร่างกายรับรู้ เช่น ระดับคอร์ติซอลที่จะค่อยๆ เพิ่มขึ้นตลอดทั้งวัน ช่วยให้ร่างกายสามารถตื่นตัวได้ตลอดวัน, ฮอร์โมนเซโรโทนิน ที่ช่วยควบคุมเรื่องของอารมณ์ หรือกระบวนการย่อยอาหารที่เหมือนจะรู้ดีว่า เวลาไหนเป็นเวลาที่เราต้องรับประทานอาหารแล้ว
ถ้าเราไม่ได้เจอแสงแดดเป็นเวลานานๆ จะเกิดอะไรขึ้น?
ผลกระทบหลักคือ ร่างกายก็จะมีการทำงานที่ผิดเพี้ยนไป เพราะไม่มีแสงแดดค่อยช่วยให้ร่างกายรับรู้เวลาที่ถูกต้อง หรือก็คือ เมลาโทนินที่ควรจะหลั่งตอนกลางคืนก็จะไม่หลั่ง คอร์ติซอลตอนกลางวันก็จะไม่มา ถึงเวลาที่ต้องนอนเราก็จะไม่ง่วง แล้วตอนกลางวันเราก็จะกลับง่วงซึมตลอดเวลาแทน นอกจากนี้ระบบย่อยอาหาร ระบบขับถ่ายก็จะรวนไปหมด ทำให้การทำงานของระบบร่างกายไม่สอดคล้องกับช่วงเวลาของวัน เช่น รู้สึกหิวมากในช่วงกลางดึก หรือไม่หิวเลยในเวลากลางวัน ทำให้เป็นต้นตอของปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย
นอกจากผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อร่างกายแล้ว ด้านจิตใจเองก็มีผลกระทบด้วยเหมือนกัน โดยประเทศแถบยุโรปจะมีช่วงเวลากลางคืนยาวนานกว่าช่วงกลางวันในช่วงฤดูหนาวนั้น ทำให้มีอาการซึมเศร้าที่เรียกว่า Seasonal Affective Disorder (SAD) หรือซึมเศร้าตามฤดูกาล ซึ่งมีต้นเหตุมาจากการไม่ได้รับแสงแดดในช่วงเวลากลางวันนั่นเอง แถมยังอยู่ในอากาศที่เย็นตลอดเวลา ทำให้ระดับเซโรโทนินลดลง รู้สึกซึมเศร้า และหงุดหงิดได้ง่ายขึ้น
นี่แหละ!! ความสำคัญของแสงแดดที่ผู้คนมักจะมองข้าม หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ให้ทุกคนหาเวลาไปโดนแสงแดดบ้าง สร้างความตื่นตัว และช่วยให้เรามีแรงทำกิจกรรมตลอดทั้งวัน
เนื้อหาโดย คุณ ณัฐภัทร ตันจริยภรณ์ นักวิจัยอาวุโส ปฏิบัติการเชื่อมต่อสมองกับคอมพิวเตอร์ RISC
อ้างอิงข้อมูลจาก
1. The Impact of Sleep and Circadian Disturbance on Hormones and Metabolism
2. Circadian Rhythms and Hormonal Homeostasis: Pathophysiological Implications
3. Circadian rhythm disruption and mental health
4. The Impact of Sleep and Circadian Disturbance on Hormones and Metabolism