สูงวัยเพิ่ม เสี่ยงสมองเสื่อม ชะลอได้
เขียนบทความโดย RISC | 3 ปีที่แล้ว
แก้ไขล่าสุด : 2 ปีที่แล้ว
องค์การสหประชาชาติ ได้คาดการณ์ว่า ในปี พ.ศ.2544-2643 จะเป็นศตวรรษแห่งผู้สูงอายุ หรือมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 10% ของประชากรรวมทั่วโลก
สำหรับประเทศไทย สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้มีการคาดการณ์ว่าประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุตั้งแต่ปี 2548 โดยมีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 10.4% จากประชากรทั้งประเทศ และจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ในช่วงปี 2567-2568 หรือในอีก 2 ปีข้างนี้นี้เอง นอกจากนี้ยังมีการประเมินจากธนาคารโลกอีกว่า ประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมสูงอายุเต็มที่ หรืออยู่ในระดับสูงสุดภายในปี 2583 คือมีคนอายุ 65 ปีขึ้นไปถึง 17 ล้านคน หรือ 1 ใน 4 หรือ 25% ของประชากรทั้งประเทศ
เพื่อความเข้าใจที่ตรงกันในการแบ่งระดับสังคมผู้สูงอายุ มีเกณฑ์วัดหรือแบ่งระดับกันอย่างไร มาลองดูกัน...
1. ระดับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging society) คือ สังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 10% ของประชากรทั้งประเทศ หรือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปีมากกว่า 7% ของประชากรทั้งประเทศ
2. ระดับสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged society) คือ สังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ หรือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปี มากกว่า 14% ของประชากรทั้งประเทศ
3. ระดับสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ (Super-aged society) คือ สังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ
จากเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ดีขึ้น มีการตรวจแนวโน้มการเป็นโรคต่างๆ ได้ล่วงหน้า (Preventive) และยังมีแนวทางในการดูแลสุขภาพกายที่ถูกหลักมากกว่าสมัยก่อน ส่งผลให้คนในยุคนี้มีอายุยืนขึ้น นับว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่ความเสื่อมถอยของร่างกายก็คงดำเนินไปตามอายุที่มากขึ้นเช่นกัน เกิดการเพิ่มขึ้นของโรคสมองเสื่อม ซึ่งจากข้อมูล WHO พบว่า ปัจจุบันทั่วโลกมีผู้ป่วยสมองเสื่อมกว่า 55 ล้านคน โดยในปี ค.ศ.2030 จะเพิ่มถึง 78 ล้านคน และปี ค.ศ.2050 เพิ่มเป็น 139 ล้านคน นับเป็นแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
การมีสมองที่ดีนั้นเกิดจากยีน 20% แต่พฤติกรรมและสิ่งแวดล้อมมีผลมากถึง 80% เลยทีเดียว วันนี้เราจะมาทำความเข้าใจความเสื่อมของสมองและแนวทางชะลอและลดแนวโน้ม ด้วยกิจกรรมตลอดช่วงอายุของเราและคนใกล้ตัวกัน รวมไปถึงการสร้างสภาพแวดล้อมที่ช่วยลดแนวโน้มการเสื่อมของสมอง ซึ่งทำได้โดย...
- การลดความเครียด: ทำได้ตั้งแต่คุณแม่ยังท้อง เพราะความเครียดมีผลต่อการเจริญเติบโตทุกส่วน รวมถึงสมองของเด็กในท้องโดยตรง
- การพัฒนาสมองตั้งแต่เด็ก: การเรียนรู้ที่หลากหลาย การเคลื่อนไหวไปพร้อมกับการเรียนรู้ จะทำให้สมองเติบโตได้ดี เมื่อเกิดภาวะสมองเสื่อมในอนาคต ก็จะยังมีเนื้อสมองส่วนที่เหลือทำงานต่อได้มากขึ้น
- การออกกำลังกาย: ควรให้ผู้สูงอายุออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง จากงานวิจัยพบว่า การออกกำลังกาย 1 ปี จะสามารถเพิ่มเซลล์สมอง 2 ลบ.มม.ในส่วนฮิปโปแคมปัส ซึ่งที่มีผลต่อความจำโดยตรง
- การทำสมาธิ: จะส่งผลให้เกิดความเครียดได้ยากขึ้น มีภาวะอารมณ์คงที่ และยังช่วยเนื้อสมองส่วนหน้า หรือส่วนฮิปโปแคมปัสเพิ่มขึ้นได้อีกด้วย
- การอยู่กับธรรมชาติ: ธรรมชาติจะช่วยลดความเครียด และช่วยให้การทำงานของสมองดีขึ้น ด้วยการสัมผัสพื้นที่ที่เปิดโล่ง อย่างสนามหญ้าหรือลานกว้างๆ ที่มีไม้ยืนต้นให้ร่มเงา 40-60% แต่ถ้ามีแหล่งน้ำก็ยิ่งช่วยได้ดีขึ้นไปอีก
นอกจากนั้น การเลือกทำเลที่อยู่อาศัยก็มีผลต่อการเกิดหรือชะลอสมองเสื่อมได้อีกด้วย จากข้อมูลวารสารการแพทย์แคนาดา ที่ได้มีการติดตามข้อมูลสุขภาพของชาวแคนาดา อายุตั้งแต่ 20-85 ปี ในรัฐออนแทรีโอ จำนวน 2 ล้านคน ระหว่างปี พ.ศ.2544-2555 พบว่า ผู้ที่อาศัยอยู่ใกล้ถนนสายหลักที่มีการจราจรหนาแน่น มีความเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมได้มากกว่าผู้ที่อาศัยอยู่ห่างออกไป และยังพบอีกว่า ผู้ที่อาศัยอยู่ใกล้ย่านการจราจรพลุกพล่านในระยะ 50 เมตร มีโอกาสที่จะป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมเพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบกับผู้ที่อาศัยอยู่ห่างออกไปมากกว่า 300 เมตร
จากข้อมูลที่กล่าวมาเราคงเห็นแล้ว ว่าเราทุกคนสามารถปรับสภาพแวดล้อม ปรับพฤติกรรมของตัวเราเอง คนใกล้ตัว และผู้สูงอายุในครอบครัวได้ไม่ยาก โดยสามารถทำได้ตั้งแต่วันนี้ เพื่อที่เราจะมีสมองที่ดีและอยู่ด้วยกันได้อย่างยาวนาน
เนื้อหาโดย ดร.สฤกกา พงษ์สุวรรณ ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัย RISC
อ้างอิงข้อมูลจาก
- Roberto Cabeza, Marilyn Albert, Sylvie Belleville, Fergus I. M. Craik, Audrey Duarte, Cheryl L. Grady, Ulman Lindenberger, Lars Nyberg, Denise C. Park, Patricia A. Reuter-Lorenz, Michael D. Rugg, Jason Steffener & M. Natasha Rajah. Maintenance, reserve and compensation: the cognitive neuroscience of healthy ageing. 2018
- Sonia J. Lupien, Bruce S. McEwen, Megan R. Gunnar & Christine Heim. Effects of stress throughout the lifespan on the brain, behavior and cognition. 2009.
- Kirk I. Erickson, Michelle W. Voss, Ruchika Shaurya Prakash, and Arthur F. Kramer. Exercise training increases size of hippocampus and improves memory. 2011.
- Marc G. Berman, John Jonides, Stephen Kaplan. The Cognitive Benefits of Interacting With Nature. 2008.
- Eileen Luders,1 Arthur W. Toga,1,* Natasha Lepore,1 and Christian Gaser2. The underlying anatomical correlates of long-term meditation: Larger hippocampal and frontal volumes of gray matter. 2009.
- https://www.pptvhd36.com/