RISC

“ห้องสมุดมนุษย์” เมื่อเรื่องราวของมนุษย์เป็นเหมือน “หนังสือ”

เขียนบทความโดย RISC | 2 ปีที่แล้ว

แก้ไขล่าสุด : 2 ปีที่แล้ว

2106 viewer

“อย่าตัดสินหนังสือจากหน้าปกของมัน (Don’t judge a book by its cover.)” สำนวนนี้เชื่อว่าอาจจะคุ้นหูใครหลายคนมาบ้าง ซึ่งสำนวนนี้เป็นการบ่งบอกให้คนเรารู้จักที่จะเข้าใจคนอื่นมากกว่าที่จะตัดสินคนจากภายนอก

แต่คนเราทุกคน ทุกสายอาชีพ ทุกชนชาติ ทุกภาษา ต่างก็มีเรื่องราวมากมายเกิดขึ้นในชีวิต ผ่านสภาพแวดล้อม ครอบครัว สังคม วัฒนธรรมของแต่ละประเทศที่ไม่เหมือนกัน หล่อหลอมให้เราเป็นเราในทุกวันนี้ ซึ่งคงจะยากที่จะมีคนเข้าใจตัวเราถึงแก่นแท้ ​

แล้วถ้ามีใครสักคนมาฟังเรื่องราวของคนเราราวกับอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง โดยที่ไม่ตัดสินจากภายนอกที่เห็นล่ะ จะเป็นอย่างไร? ​

“ห้องสมุดมนุษย์ (Human Library)” เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมห้องสมุดที่เริ่มครั้งแรกในปี ค.ศ. 2000 ที่เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก โดยเป็นห้องสมุดที่เรา “อ่าน” มนุษย์ เสมือนการอ่านหนังสือที่เป็นเล่มจริงๆ โดยในห้องสมุดมนุษย์นี้ จะมีบรรณารักษ์เป็นผู้รวมรวมหรือเชิญอาสาสมัครที่มีพื้นเพ เชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม รวมไปถึงอาชีพที่หลากหลายมาเล่าเรื่องราวชีวิตของพวกเขาให้ฟัง ไม่ว่าจะเป็นคนไร้บ้าน ผู้อพยพ นักวิจัย นักการเมือง อาจารย์มหาวิทยาลัย คุณแม่เลี้ยงเดี่ยว ผู้มีความท้าทายทางกายภาพ ผู้พิพากษา พนักงานรักษาความปลอดภัย โสเภณี รวมไปถึงผู้ป่วยที่เป็นโรคต่างๆ เช่น มะเร็ง โรคพิษสุราเรื้อรัง ผู้มีภาวะออทิสซึม ไบโพลาร์ หรือแม้แต่ผู้ที่มีภาวะป่วยทางจิตจากเหตุการณ์รุนแรง (Post-Traumatic Stress Disorder)

การ “อ่าน” มนุษย์ ในห้องสมุดนี้ จะเริ่มจากการจองเลือกหมวดหมู่ “มนุษย์” ที่เราสนใจ และอ่านจากการรับฟังมนุษย์ที่เราเลือก โดยสามารถพูดคุยในระยะเวลาประมาณ 30-45 นาที ในบริเวณที่ปลอดภัยที่ทางบรรณารักษ์จัดหาให้ โดยสามารถพูดคุยเกี่ยวกับชีวิต หรือทัศนคติ ซึ่งจุดมุ่งหมายของการทำแบบนี้ก็เพื่อให้มนุษย์เข้าใจถึงความแตกต่างของกันและกัน ลดความขัดแย้ง ลดอคติ และเกิดความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกันมากขึ้น ท่ามกลางความแตกต่างระหว่างสังคม ศาสนา และวัฒนธรรม โดยสามารถหยิบยกประเด็นต่างๆ เพื่อการอภิปรายได้อย่างอิสระ ปราศจากการตีตราหรือความขัดแย้ง

ปัจจุบันห้องสมุดมนุษย์มีอยู่ถึง 6 ทวีป และ 85 ประเทศทั่วโลก ซึ่งหนึ่งในนั้นอยู่ในประเทศไทย ที่สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตนครราชสีมา (RMUTI) ในนาม “เครือข่ายห้องสมุดมนุษย์ในห้องสมุดมนุษย์ในประเทศไทย (Thailand Human Library Network : THLN)” โดยใช้บริการผ่านการแจ้งบรรณารักษ์ เพื่อขอ “ยืม” และ “คืน” หนังสือ ซึ่งแต่ละบุคคลจะมีหัวข้อการสนทนาที่แตกต่างกันออกไป รวมถึงยังสามารถเรียนรู้ทักษะต่างๆ ได้จากบุคคลนั้นๆ เหมือนกับการอ่านหนังสือเพื่อเรียนรู้ด้วยตัวเอง มีวัตถุประสงค์หลักๆ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ แนวคิด และประสบการณ์สำหรับผู้ที่สนใจ

เราจะเห็นว่า “ห้องสมุดมนุษย์” อยู่ในหนึ่งองค์ประกอบของสุขภาวะในพระราชบัญญัติสุขภาพทั้ง 4 องค์ประกอบ ในเรื่องการสร้าง “สุขภาวะทางสังคม (Social Well-being)” ผ่านการ “อ่าน” มนุษย์ จากการรับฟังและสร้างความเข้าใจ ก่อให้เกิดการเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน โดยไม่ตัดสินเพียงแต่ภายนอก เหมือนกับสำนวนที่กล่าวว่า “อย่าตัดสินหนังสือจากหน้าปกของมัน (Don’t judge a book by its cover.)”

เนื้อหาโดย คุณ จิราภา หอบรรลือกิจ นักวิจัยและการสื่อสาร RISC

อ้างอิงข้อมูลจาก ​
https://humanlibrary.org/ ​
https://www.salika.co/2019/10/03/human-library-menneskebiblioteket/ ​
http://www.thapra.lib.su.ac.th/m-talk/attachments/article/94/Human_library.pdf ​

แนะนำสำหรับคุณ