ออกแบบราวกันตกอย่างไร? ให้ปลอดภัยทั้งบ้าน
เขียนบทความโดย RISC | 2 ปีที่แล้ว
แก้ไขล่าสุด : 2 ปีที่แล้ว
รู้หรือไม่ อุบัติเหตุ “การพลัดตกหกล้ม” ในบ้าน เป็นหนึ่งในอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นติดอันดับต้นๆ ในเมืองไทย โดยเฉพาะกับเด็กและผู้สูงอายุ ซึ่งสาเหตุมาจากจุดเล็กๆ ที่อาจจะรู้ว่าสำคัญ แต่อาจจะไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไรให้ปลอดภัย นั่นก็คือ “ราวกันตก” นั่นเอง
“ราวกันตก” นับว่าเป็นส่วนสำคัญของการลดอุบัติเหตุภายในอาคารลงได้ ซึ่งการออกแบบราวกันตกให้ปลอดภัยให้กับ "คนทั้งบ้าน" เราต้องเข้าใจถึงพฤติกรรมและสาเหตุของการพลัดตกกันก่อน
งั้นเรามาเริ่มที่ “วัยเด็ก”...
จากข้อมูลสถิติในไทย เกี่ยวกับอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินและอุบัติเหตุของเด็ก อายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 15 ปี ในปี พ.ศ. 2555 พบว่ามีเด็กพลัดตกหกล้ม มากเป็นอันดับ 2 รองจากการเจ็บป่วยฉุกเฉินและประสบอุบัติเหตุยานยนต์ เช่นเดียวกับสถิติจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ที่พบว่า มีเด็กเกิดอุบัติเหตุจากการพลัดตกหกล้มมากเป็นอันดับ 2 เหมือนกัน
เรามาดูในส่วนของงานวิจัยกันบ้าง โดยของ Dr. John F Culvenor ประเทศออสเตรเลีย พบว่าในปี 1992-1993 มีเด็กได้รับบาดเจ็บจากการพลัดตกจากที่สูงถึง 6,642 คน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นเด็กอายุน้อยกว่า 4 ปีถึงร้อยละ 33 ของการบาดเจ็บทั้งหมด โดยสาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นจากการตกจากเครื่องกั้นหรือราวกันตกที่สูงไม่เกิน 90 เซนติเมตรเท่านั้น! หรือไม่ก็เป็นการมุดลอดตามช่องของซี่ราวกันตก ที่มีความกว้างมาก จนเด็กสามารถมุดลอดได้ ซึ่งช่องว่างระหว่างราวระเบียงนั้นกลับกลายเป็นจุดที่ดึงดูดให้เด็กเข้าไปเล่น เนื่องจากมีขนาดที่เหมาะต่อการสอดแขน ขา หรือศีรษะเข้าไป บวกกับพฤติกรรมของเด็กที่ชอบปีนราวกันตกหรือที่กั้นกันตก จึงทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
แล้วทำไมเด็กถึงมีความเสี่ยงที่สุด? สาเหตุหลักๆ มาจาก...
- สรีระของเด็ก สภาพร่างกายของเด็กยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ ร่างกายจึงยังไม่สมดุล ประกอบกับพัฒนาการตามวัย ซึ่งเป็นช่วงวัยที่อยากรู้อยากเห็น ชอบสำรวจ สัมผัสจับต้องสิ่งต่างๆ ซึ่งอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
- ความประมาท เลินเล่อ หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ของบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ที่ดูแลเด็ก
- สิ่งแวดล้อม ทั้งด้านกายภาพและด้านสังคม เป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุในเด็กได้
เมื่อเรารู้แล้วว่าสาเหตุมากจากอะไร เราก็สามารถใช้การออกแบบมาช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้มากยิ่งขึ้น โดยคำนึงถึงพฤติกรรมการอยากเรียนรู้ตามวัยของเด็กที่อาจจะก่อให้เกิดอุบัติเหตุ รวมถึงคำนึงถึงสถานการณ์ที่เด็กต้องอยู่แบบลำพังด้วย ซึ่งการออกแบบได้กำหนดเอาไว้ ดังนี้
- ความสูงราวกันตก
ความสูงของราวกันตกกำหนดจากพื้นถึงขอบราวบน ต้องไม่น้อยกว่า 120 เซนติเมตร ซึ่งเป็นความสูงที่ผู้ใหญ่ยืนพิงก็ไม่พลัดตก เพราะเป็นความสูงที่มากกว่าระดับกึ่งกลางตัวของคนทั่วไป
- ระยะห่างซี่
กำหนดให้ระยะห่างของซี่ในทุกช่อง (ช่องแนวตั้งและแนวนอน) ต้องไม่เกิน 9 เซนติเมตร เนื่องจากเป็น ระยะที่เด็กเล็กไม่สามารถมุดลอด โดยเอาหัว เท้า ขา และลำตัวสอดเข้าไปได้
- รูปแบบราวกันตก
รูปแบบของราวกันตกต้องออกแบบรายละเอียดโดยคิดถึงพฤติกรรมของทุกคน โดยเฉพาะเด็กที่อยู่วัยการเรียนรู้ การออกแบบจึงต้องสามารถลดโอกาสการปีนป่าย ด้วยการใช้ราวกันตกแบบซี่ หรือถ้าเป็นแบบลูกกรงก็ต้องเป็นแนวตั้ง ส่วนซี่ราวแนวนอน ให้มีแค่คานยึดซี่ราวกันตกได้เท่านั้น (ไม่มีโครงสร้างแนวนอน หรือไม่มีช่องรูที่มีขนาดวางเท้าได้)
- การลดความเสี่ยงปีนป่าย
ห้ามวางของใกล้ราวกันตก ที่ทำให้สามารถปีนป่ายได้ เช่น ตู้แอร์ (คอมเพรสเซอร์) ที่วางไว้บริเวณระเบียง รวมทั้งเฟอร์นิเจอร์ ที่นั่ง หรือกระถางต้นไม้ เป็นต้น
- ความคงทนแข็งแรง
ราวกันตกต้องติดตั้งแข็งแรงมากเพียงพอต่อการรับน้ำหนักการพิง การยึดตัว การประคองตัว เพื่อเป็นส่วนสำคัญในการช่วยยึดเกาะ หากราวกันตกเป็นกระจก ควรเลือกชนิดกระจกลามิเนต (Laminate Glaze) เมื่อถูกกระแทกจนแตก แผ่นฟิล์มจะยึดมิให้กระจกหลุดออกมา สามารถป้องกันการทะลุทะลวงจากการแตกได้
ต่อมาเรามาดูในส่วนของ “ผู้สูงอายุ” กัน...
ผู้สูงอายุก็นับเป็นกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดอุบัติเหตุมากเช่นกัน เนื่องจากความเสื่อมถอยของสภาพร่างกาย การเคลื่อนไหว สายตาที่อาจทำให้เกิดการมองไม่ชัดเจน ซึ่งนอกจาก ”ราวกันตก” ที่ต้องให้ความสำคัญแล้ว “ราวจับ” ก็นับว่าเป็นอีกส่วนที่ต้องให้ความสำคัญไปพร้อมๆ กัน โดยการออกแบบราวจับจะต้องมีทั้ง 2 ระดับ สำหรับผู้ใหญ่ (ผู้สูงอายุ) และเด็ก ดังนี้
- ราวจับต้องมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 30-45 มิลลิเมตร
- ราวจับต้องมีความสูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 0.70–0.90 เมตร
- ราวจับต้องต่อเนื่องกันตลอด และติดตั้ง 2 ข้างของทางเดินและบันได
- วัสดุราวจับผิวเรียบ ทำความสะอาดได้ง่าย
- ราวจับตรงบันได ควรเลยจากขั้นสุดท้ายไปอีกอย่างน้อย 30 เซนติเมตร เพื่อมีระยะจับได้ต่อเนื่อง และช่วยพยุงตัวได้ดีขึ้น
- ราวจับด้านที่อยู่ติดผนังให้มีระยะห่างจากผนังไม่น้อยกว่า 5 เซนติเมตร
- วัสดุราวจับควรเป็นสแตนเลส หรือไม้กลมเกลี้ยง โดยสามารถจับได้สบายมือ (ไม่เย็นหรือร้อนตามสภาพอากาศ)
- วัสดุราวจับมีความมั่นคงแข็งแรง
การออกแบบราวกันตก นอกจากจะทำสำหรับเด็กและผู้สูงอายุแล้ว เรายังให้ความสำคัญกับ “สัตว์เลี้ยง” อีกด้วย
นั่นก็เพราะปัจจุบัน “สัตว์เลี้ยง” ก็เปรียบเหมือนคนในครอบครัวเหมือนกัน ดังนั้น การออกแบบให้เกิดความปลอดภัย ต้องรองรับความเสี่ยงของน้องหมา น้องแมว และสัตว์ชนิดอื่นๆ ในบ้านของเราด้วย ซึ่งจากงานวิจัยพบว่า หัวของแมวมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางอยู่ที่ 6-7 เซนติเมตร การกำหนดราวกันตกที่รองรับเลี้ยงสัตว์ไว้ จึงทำได้ดังนี้
- ระยะห่างของซี่
กำหนดระยะห่างของซี่ในทุกช่อง (ช่องแนวตั้งและแนวนอนขอบล่างของราวกันตก) ให้ออกแบบระยะห่างค่อนข้างถี่ และมีระยะห่างช่องว่างซี่ลูกกรงไม่เกิน 5 เซนติเมตร เนื่องจากเป็นระยะที่แคบที่สุดที่สัตว์เลี้ยงจะสามารถมุดลอด หรือตะแคงตัวออกมาได้
- รูปแบบราวกันตก
ราวกันตกหรือส่วนประกอบอาคารที่ไม่ต้องการให้สัตว์เลี้ยงเดินผ่าน หรือหลุดลอดออกไปได้ ควรเป็นรูปแบบทึบ หรือหากต้องการให้มีการระบายอากาศได้ ราวกันตกแบบซี่ลูกกรงต้องเป็นแนวตั้ง ไม่มีสิ่งที่สำหรับปีนป่ายได้
จากข้อมูลทั้งหมดจะเห็นว่า ไม่ว่าคนหรือสัตว์เลี้ยง เราก็ไม่ควรมองข้ามเรื่องความปลอดภัยของราวกันตก ซึ่งทีมวิจัย RISC ได้สร้างและกำหนดเป็น “มาตรฐานการออกแบบและพัฒนาที่อยู่อาศัย” เพื่อให้ทุกชีวิตสามารถอยู่ร่วมกันในบ้านได้อย่างปลอดภัย และมีความสุขร่วมกันอย่างอิสระ รวมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง
เนื้อหาโดย ดร.สฤกกา พงษ์สุวรรณ VP, Head of Happiness Science Hub & Innovation for Dissemination, RISC และ คุณ สริธร อมรจารุชิต AVP, Research Integration & Design Solutions for Well-Being, RISC
อ้างอิงข้อมูลจาก
อนุชา เศรษฐเสถียร, 2557
ศูนย์ข้อมูลข่าวสาร ด้านการแพทย์ฉุกเฉินไทย, 2557
ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก รพ.รามาธิบดี “การประชุมเวทีประชาชนเพื่อความปลอดภัยในเด็ก” คณะแพทยศาสตร์สามสถาบัน (จุฬา-รามา-ศิริราช) ร่วมกับวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย และสำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (มิถุนายน, 2554.)
สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์, 2551; อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์, 2550; Morrongiello, Ondejko & Littlejohn, 2004
Tollin and Koka, 2009