10 จุดอ่อนของบ้าน ทำร่างพัง จิตป่วยไม่รู้ตัว (2)
เขียนบทความโดย RISC | 3 ปีที่แล้ว
แก้ไขล่าสุด : 2 ปีที่แล้ว
จริงๆ แล้วสาเหตุก็มาจากการปิดบ้าน ไม่เปิดประตูหน้าต่างให้ลมพัดผ่าน เพราะมัวแต่กลัวฝุ่น แมลง หรือกังวลความรู้สึกไม่ส่วนตัวมากเกินไป ทำให้การไหลเวียนของอากาศในบ้านไม่มี จนเป็นที่สะสมของความชื้น
การไหลเวียนของอากาศที่ดีจะช่วยพัดพาความชื้นภายในอาคาร รวมถึงหยดน้ำที่เกิดจากการควบแน่นในส่วนต่างๆ ของผนังหรือเฟอร์นิเจอร์ให้ระเหยไปได้ เมื่อลดความชื้นได้ ก็จะช่วยลดแนวโน้มการเกิดเชื้อราได้นั่นเอง นอกจากนี้ สารเคมีที่ติดมากับเฟอร์นิเจอร์ สีทาภายในบ้าน สารเคลือบผิว รวมถึงของใช้และของตกแต่ง ก็จะถูกหมุนเวียนออกไปด้วย ลดความเข้มข้นของสารเคมีให้เจือจางลง ลดผลกระทบต่อสุขภาพได้ในระยะยาว เพราะหากเกิดการสะสมสารเคมีมากๆ อาจทำให้เกิดอาการแสบตาและคัดจมูกได้
8. ปลั๊กไฟใกล้ที่นอนทำลายสมอง
เรื่องการวางตำแหน่งติดตั้งปลั๊กไฟ มีผลต่อสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetic Field: EMF) หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า มีงานวิจัยระดับสากลที่เชื่อถือได้ ระบุเอาไว้ว่าคลื่นดังกล่าวมีผลต่อสุขภาพและการทำงานของสมอง
สนามแม่เหล็กไฟฟ้านั้น สามารถเกิดขึ้นได้ 2 ลักษณะ คือ
- เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ได้แก่ สนามแม่เหล็กโลก คลื่นรังสีจากแสงอาทิตย์ คลื่นฟ้าผ่า คลื่นรังสีแกมมา
- เกิดขึ้นจากการสร้างของมนุษย์ แบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ สนามแม่เหล็กไฟฟ้าที่จงใจสร้างให้เกิดขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์ และเกิดขึ้นเองจากการใช้งานอุปกรณ์
การออกแบบจึงต้องมีการกำหนดระยะการติดตั้งปลั๊กไฟตามระยะที่คลื่นมีอิทธิพลต่อสมอง โดยติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าต่อไปนี้ให้ห่างจากจุดที่เราต้องการพักผ่อนหรือหัวนอนไม่น้อยกว่าระยะที่กำหนด ดังนี้
0.15 ม. – เครื่องเล่นเพลง, จอคอมพิวเตอร์, ตู้เย็น
0.30 ม. – พัดลม เครื่องปรับอากาศ คอมพิวเตอร์ เครื่องชงกาแฟ เครื่องอบผ้า เครื่องเป่าผม
0.60 ม. – โทรทัศน์ ไฟส่องสว่าง เตาไฟฟ้า เครื่องดูดควัน เครื่องซักผ้า เตาอบ เครื่องปิ้งขนมปัง เครื่องปั่นอาหาร เครื่องโกนหนวดไฟฟ้า
1.20 ม. – โทรศัพท์ไร้สาย โทรศัพท์มือถือ แทปแล็ต เครื่องส่งสัญญานอินเตอร์เน็ต เตาไมโครเวฟ เครื่องล้างจาน
9. ปิดบ้านมืด เสี่ยงซึมเศร้า
บางคนชอบที่จะปิดบ้านมืดๆ เพื่อสร้างบรรยากาศหรือสร้างสมาธิในการทำงาน แต่...ความจริงแล้ว ผลลัพธ์อาจจะตรงกันข้ามด้วยซ้ำ
การปิดบ้านมืดไม่ให้แสงธรรมชาติส่องเข้ามาบ้างนั้น เกิดผลเสียมากมาย อาจจะทำให้รู้สึกซึมลง ไม่กระปรี้กระเปร่า คิดอะไรไม่ออก นอนหลับกลางคืนไม่ดี เนื่องจากแสงธรรมชาติที่มีช่วงคลื่นแสงสีฟ้า (Blue light) เมื่อมีสัดส่วนที่เหมาะสมจะสามารถบำบัดโรคซึมเศร้าหรืออารมณ์ผันแปรตามฤดูกาล (Seasonal Affective Disorder (SAD)
Ancoli-Israel S, 2003 พบว่า แสงธรรมชาติในตอนเช้าช่วยชะลออาการกระวนกระวายในผู้ป่วยที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer) สอดคล้องกับงานวิจัยของ Mishima K,1994 พบว่า แสงในช่วงเช้าสามารถบำบัดอาการนอนไม่หลับของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม (Dementia) ในผู้สูงอายุ (Anne-Marie Gagné, 2011) การที่เราได้สัมผัสแสงธรรมชาติ นอกจากจะช่วยกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวในการทำงาน รวมทั้งมีผลดีต่อการผ่อนคลายความเครียดและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานแล้ว ยังช่วยปรับสมดุลให้ร่างกายสามารถนอนหลับตอนกลางคืนได้ดีขึ้นอีกด้วย
ยังมีงานวิจัยที่ระบุอีกว่า หากระหว่างวันไม่ได้รับแสงธรรมชาติ หรือแสง daylight (ประมาณ 5000-6500 K) จะส่งผลให้วัฏจักรนาฬิกาชีวภาพช้าลง 1.1 ชั่วโมงในทุกๆ 24 ชั่วโมง อันเนื่องมาจากการหลั่งฮอร์โมนเมลาโทนินผิดเวลา ทำให้นอนหลับยากขึ้น นอกจากนี้ “แสงสีฟ้าจากหน้าจอโทรศัพท์” ก็เป็นอีกหนึ่งตัวการที่จะไปยับยั้ง หรือชะลอการหลั่งของฮอร์โมนเมลาโทนินอีกด้วย
10. หันบ้านผิดทิศ ร้อนทั้งปีทั้งชาติ
ส่วนใหญ่คนเราจะรู้สึกสบาย หรือที่เรียกว่า “สภาวะน่าสบาย” เมื่ออุณหภูมิอากาศอยู่ที่ 22-27 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศอยู่ที่ 20-75% RH แต่สภาพอากาศในบ้านเราอย่างที่รู้กัน ไม่ได้อยู่ในช่วงอุณหภูมิดังกล่าว การออกแบบบ้านให้ถูกทิศเพื่อหลบแดด รับลม จึงเป็นทางออกที่จะช่วยให้บ้านเย็นสบายขึ้นได้
สิ่งแรกที่เราต้องดูคือ “ลมประจำ” พัดมาจากทางทิศไหน? ซึ่งปกติจะมีทิศทางที่ลมพัดประจำอยู่ 2 ช่วงของปี คือ
- ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – กันยายน ลมประจำอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้และทิศใต้
- ช่วงเดือนตุลาคม – มกราคม ลมประจำอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือและทิศเหนือ
นอกจากทิศลมประจำแล้ว สภาพภูมิประเทศที่บ้านเราตั้งอยู่ก็มีผล อย่างเช่น ติดภูเขา แม่น้ำ หรืออาคารสูงรึเปล่า? เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นตัวแปรที่ทำให้ทิศทางของลมเปลี่ยนไป
ต่อมามาดูเรื่องแสงแดด เพราะการขึ้น-ลงของดวงอาทิตย์มีผลต่อความร้อนโดยตรง แต่ละวันแสงแดดตอนเช้าเริ่มจากทางทิศตะวันออก อ้อมเอียงไปทางทิศใต้ (หรือเหนือ) และเอียงต่ำทางทิศตะวันตกในตอนเย็น
- แดดอ้อมไปทางทิศเหนือ ช่วงเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม (4 เดือน)
- แดดอ้อมไปทางทิศใต้ ช่วงเดือนมกราคม – เมษายน และเดือนกันยายน – ธันวาคม (8 เดือน)
การเอียงทำมุมกับอาคารนี้เองที่มีผลต่อการถ่ายเทความร้อนเข้าสู่ตัวบ้าน หากเราเข้าใจจะสามารถหันทิศทางอาคารในทิศที่โดนแดดน้อยได้ หรือการบังแดดในทิศที่ได้รับอิทธิพลจากแสงแดดโดยตรง
การวางอาคารนั้น ต้องให้ห้องที่ใช้ประจำหันไปทางทิศเหนือและมีพื้นที่ต่อเนื่องไปทางทิศใต้ เพราะทิศเหนือเป็นทิศที่มีแสงสว่างตามธรรมชาติ โดยไม่มีแสงแดดเข้ามาตลอดทั้งวัน ทำให้เวลากลางวันมีแสงสว่างโดยไม่ต้องเปิดไฟ และยังเป็นการเปิดรับแสงธรรมชาติ สามารถลดแนวโน้มภาวะเครียด ซึมเศร้า ให้คนในบ้านได้อีกด้วย นอกจากนั้นยังช่วยรับลมประจำจากทั้ง 2 ทิศทาง โดยช่วงฤดูหนาวจะมีลมประจำทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนช่วงฤดูร้อนจะมีลมประจำทางทิศตะวันตกเฉียงใต้
อ่านตอนก่อนหน้าได้ที่ https://risc.in.th/th/knowledge/10-issues-in-your-home-that-could-harm-your-physical-or-mental-well-being-1
ติดตาม Facebook Page ของเราได้ที่ RISC Well-Being: https://www.facebook.com/riscwellbeing/