Knowledge - RISC

Carbon Pricing คืออะไร แล้วทำไมคาร์บอนไดออกไซด์ถึงต้องมีราคา?

เขียนบทความโดย RISC | 2 ปีที่แล้ว

แก้ไขล่าสุด : 1 ปีที่แล้ว

10318 viewer

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หลายคนอาจเคยได้ยินคำว่า “Carbon Pricing” กันมาบ้าง แต่...รู้มั้ยว่ามันคืออะไร?

ในปี 2021 ตลาดใบอนุญาตคาร์บอนทั่วโลกมีมูลค่าสูงถึง 851 พันล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตขึ้น 164% เมื่อเทียบจากปีก่อน โดยราคาคาร์บอนในตลาดต่างๆ มีราคาระหว่าง 1 - 142 เหรียญสหรัฐต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (ข้อมูลเมื่อ 1 ตุลาคม 2021


แล้วอะไรล่ะ? ที่ทำให้คาร์บอนไดออกไซด์มีราคาและเป็นตลาดที่คาดว่าจะมีมูลค่าสูงขึ้นเรื่อยๆ อีกด้วย

ต้องยอมรับว่า กิจกรรมการผลิตสินค้าและการบริโภคของเราในปัจจุบัน มักมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจก สาเหตุของการเกิดภาวะโลกรวน (Climate Change) นับเป็นผลกระทบภายนอกเชิงลบ (Negative Externality) เพราะคนที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกลับต้องมารับผลที่เกิดขึ้น เมื่อไม่มีการคำนึงถึงผลกระทบภายนอก จึงทำให้ผู้ผลิตตัดสินใจผลิตมากกว่าที่จำเป็น และผูับริโภคก็ซื้อของมากกว่าที่จำเป็นต้องใช้เช่นกัน ทำให้เกิดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศมากขึ้น และส่งผลต่อโลกโดยตรง

ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ต้นทุนการผลิตและราคาที่ผู้บริโภคจ่ายไป ไม่ได้รวมต้นทุนจากผลกระทบภายนอกในราคาซื้อขาย หากคิดผลกระทบภายนอกเข้าในไปต้นทุนส่งผลให้ต้นทุนและราคาเพิ่มขึ้น ผู้ผลิตและผู้บริโภคอาจตัดสินใจผลิตและบริโภคน้อยลง ซึ่งก็จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้

แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์โดยการผลักต้นทุนของผลกระทบภายนอกให้เข้าสู่กระบวนการตัดสินใจของผู้ผลิต (Internalization of Externality) โดยสร้างกลไกราคาให้กับสิ่งที่ไม่มีราคาอย่างก๊าซเรือนกระจกหรือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Pricing) เพื่อช่วยบังคับผู้ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ต้องรับผิดชอบต่อปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ตัวเองปล่อยออกมา และเมื่อต้นทุนสูงขึ้น ก็อาจส่งผลให้ตัดสินใจปรับลดปริมาณการผลิตลง​

กลไกราคานี้ทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกกลายเป็นสิ่งที่มีต้นทุนต้องจ่าย ไม่ใช่สิ่งที่จะปล่อยได้ฟรีๆ อีกต่อไป ซึ่งกลไกราคาสามารถแบ่งได้เป็น 2 แนวทาง คือ

แนวทางแรก “ภาษีคาร์บอน” (Carbon Tax) เป็นไปตามหลักการผู้ปล่อยมลพิษเป็นผู้จ่าย (polluter pays principle) กำหนดให้ผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต้องจ่ายค่าปล่อย โดยรัฐบาลสามารถกำหนดเป็นอัตราภาษีต่อปริมาณการปล่อยคาร์บอนที่เกิดขึ้น

แนวทางที่สอง “ระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก” (Emission Trading Scheme: ETS) ซึ่งรัฐอาจกำหนดเพดานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Cap) และจัดสรรสิทธิ์ในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในรูปของใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Allowance) แก่ผู้ผลิต ถ้าผู้ผลิตรายใดปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำกว่าจำนวนในใบอนุญาต ก็สามารถนำใบอนญาตที่เหลือไปขายต่อได้ หรือถ้าผู้ผลิตรายใดปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเกินโควต้าที่ได้รับ ก็ต้องซื้อใบอนุญาตต่อจากผู้ผลิตรายอื่น เกิดการซื้อขายขึ้น (Trade) เป็นระบบจำกัดปริมาณแล้วแลกเปลี่ยน (Cap-And-Trade) ถ้ามีการจำกัดปริมาณการปล่อยก๊าซน้อยหรือมีความต้องการซื้อใบอนุญาตสูง ราคาใบอนุญาตก็จะสูงขึ้นตามหลักอุปสงค์อุปทานนั่นเอง

ความแตกต่างที่สำคัญของภาษีคาร์บอนและระบบ ETS คือ ภาษีคาร์บอนไม่สามารถควบคุมปริมาณการปล่อยคาร์บอนได้ เพราะหากผู้ผลิตเต็มใจที่จะจ่ายภาษีคาร์บอนมากเท่าใด ก็สามารถผลิตได้ตามที่ต้องการเท่านั้น ในขณะที่ระบบ ETS รัฐเป็นผู้กำหนดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในภาพรวมที่อนุญาตให้ปล่อยได้ จึงสามารถควบคุมปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศได้

ในด้านของราคา ภาษีคาร์บอนเป็นการควบคุมด้านราคา (Price Based) จึงไม่ส่งผลต่อความผันผวนของราคาคาร์บอนและราคาสินค้า แต่ขณะที่ระบบ ETS อาจมีความผันผวนของราคาตามความต้องการใช้ใบอนุญาต หากความต้องการสูง ราคาใบอนุญาตก็จะสูงขึ้นและอาจส่งผลต่อต้นทุนและราคาสินค้าได้

ในปี 2021 ที่ผ่านมา มีการใช้มาตรการราคาคาร์บอน (Carbon Pricing Instruments) กว่า 64 มาตรการในประเทศทั่วโลก ครอบคลุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 21.5% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายปีของโลก เป็นการเพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 15% เมื่อปี 2020 แต่ราคาคาร์บอนในตลาดส่วนใหญ่ยังคงมีค่าต่ำกว่า 40-80 เหรียญสหรัฐต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (USD/tCO2e)

หัวใจสำคัญอยู่ตรงนี้ คือ “ระดับราคา 40 - 80 USD/tCO2e ในปี 2020 ถือเป็นระดับที่คาดการณ์เอาไว้ว่า จะทำให้โลกบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส” ซึ่งราคาคาร์บอนส่วนใหญ่ยังต่ำกว่าค่าที่ควรจะเป็นนี้ เป้าหมายระดับราคาถัดไปที่จะทำให้โลกบรรลุเป้าหมาย 2 องศาเซลเซียสคือ 80 - 120 USD/tCO2e ในปี 2030

มาตรการราคาคาร์บอนที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย เป็นความพยายามของหลายๆ ประเทศทั่วโลก ที่ต้องการจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) อีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยรักษาโลกของเราเอาไว้นั่นเอง

เนื้อหาโดย คุณ วรพร ปุณยกนก วิศวกรวิจัยอาวุโส RISC

อ้างอิงข้อมูลจาก
Global Carbon Accounts in 2021. https://www.i4ce.org/download/global-carbon-account-in-2021/#:~:text=As%20of%20October%201st%2C%202021%2C%20explicit%20carbon%20prices%20range%20from,USD%2010%20(EUR%208). ​
พงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์. ลดโลกร้อน ด้วยกลไกราคา http://www.dsdw2016.dsdw.go.th/doc_pr/ndc_2560-2561/PDF/8459sc/8459%E0%B8%9E%E0%B8%87%E0%B8%A9%E0%B9%8C%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%A0%E0%B8%B2%20%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%9A%E0%B8%B9%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B9%8C.pdf ​
ชยันต์ ตันติวัสดาการ และคมศักดิ์ สว่างไสว. การกําหนดราคาคาร์บอน (Carbon Pricing) https://progreenecon.files.wordpress.com/2017/12/policy-brief-carbon-pricing.pdf ​
The World Bank. 2021. State and trends of carbon pricing 2021 https://openknowledge.worldbank.org/bitstream/handle/10986/35620/9781464817281.pdf ​

© 2024 Magnolia Quality Development Corporation Limited - A DTGO Company
ผลลัพธ์
การยืนยัน
การยืนยัน