RISC

"คาร์บอนไดออกไซต์" จากการหายใจของเราส่งผลกระทบต่อภาวะโลกร้อน?

เขียนบทความโดย RISC | 1 ปีที่แล้ว

แก้ไขล่าสุด : 1 ปีที่แล้ว

10316 viewer

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO₂) สุทธิเป็นศูนย์ในปี พ.ศ. 2593 ปัจจุบัน การใช้พลังงานหมุนเวียนแทนเชื้อเพลิงจากฟอสซิล การลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากภาคอุตสาหกรรม การปลูกป่าเพื่อเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอน รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีในการดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ จึงได้รับความสนใจอย่างมาก แต่...ที่ว่ามาทั้งหมดนี้ เป็นวิธีการที่ใช้ในภาคการผลิตในอุตสาหกรรมเท่านั้น​

แล้วคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการหายใจของเราล่ะ?​

แน่นอนว่า คงไม่มีใครคิดว่า คาร์บอนไดออกไซด์ที่มาจากการหายใจของเราในทุกๆ วันจะมีผลต่อโลก ซึ่งจริงๆ แล้ว ร่างกายของมนุษย์เราก็ผลิตคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศไม่ต่างจากแหล่งผลิตอื่นๆ เลย โดยเราจะหายใจเข้านำออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายในปริมาณ 20.9% และคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณ 0.03% (ที่เหลือจะเป็นไนโตรเจนและก๊าซอื่นๆ) และใช้ออกซิเจนในกระบวนการการเผาผลาญอาหารที่เราทานเข้าไป รวมทั้งการทำกิจกรรมต่างๆ และเมื่อเราหายใจออก ก็จะนำออกซิเจนกลับออกมาในปริมาณ 16% และคาร์บอนไดออกไซด์ก็จะถูกปล่อยออกมาด้วยเช่นกันถึง 4%​

ถึงตรงนี้ หลายคนคงเริ่มสงสัย ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์แค่นี้จะส่งผลอะไรได้ขนาดนั้น​

จากข้อมูลพบว่า คนเราหายใจออกปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ยวันละ 0.58 – 1.04 กิโลกรัม/วัน เลยทีเดียว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกิจกรรมที่ทำด้วย โดยการทำกิจกรรมที่ใช้พลังงานเยอะ เช่น วิ่ง ออกกำลังกาย ก็จะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมามากกว่าการนั่ง หรือการนอนหลับถึง 8 เท่า และเมื่อเทียบกับปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยจากกิจกรรมของมนุษย์ทั้งหมดในประเทศไทย จะพบว่า ปี พ.ศ.2565 มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศประมาณ 247.7 ล้านตัน ขณะที่ประชากรของประเทศไทยทั้งหมดหายใจปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศประมาณ 27.7 ล้านตัน/ปี หรือคิดเป็น 11.2% ของการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในประเทศ นั่นแสดงให้เห็นว่าปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์จากการหายใจของมนุษย์ส่งผลกระทบต่อภาวะโลกร้อนเช่นเดียวกัน และหากเรามองที่อาคารที่อยู่อาศัย 1 อาคาร ที่มีผู้อยู่อาศัยประมาณ 500 - 700 คน จะเห็นได้ว่า ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ไม่ต่างจากภาคขนส่งและภาคอุตสาหกรรมเลยทีเดียว​

ในห้องพักที่เราอาศัยอยู่ ขณะหายใจออกมาจะเกิดการสะสมของคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจากงานวิจัยพบว่า การนอนหลับของผู้อาศัย 2 คน เป็นเวลา 8 ชั่วโมง โดยปราศจากระบบระบายอากาศ ทำให้ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มสูงขึ้นประมาณ 1,600 ppm และในกรณีทำงาน หรือทำกิจกรรมทั่วไปในห้องที่ไม่มีการระบายอากาศ จะส่งผลให้ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มสูงขึ้นกว่า 4,000 ppm ได้โดยง่าย ซึ่งปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ภายในอาคารที่สูงเกิน 950 ppm จะเริ่มส่งผลเสียต่อร่างกาย รวมถึงกระบวนการที่สมองใช้ในการรับข้อมูลและตัดสินใจ และจะมีผลต่อสุขภาพอย่างชัดเจนเมื่อมีปริมาณ 2,000 ppm ขึ้นไป ทำให้ระบบระบายอากาศของอาคารเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่การจะนำคาร์บอนไดออกไซด์จากการหายใจออกไปทิ้งภายนอกอาคารโดยตรง ก็ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมด้วยเช่นกัน แม้ว่าปัจจุบันปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ยในบรรยากาศจะอยู่ที่ 424.17 ppm (บันทึกข้อมูลวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ.2566) ก็ตาม แต่ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี​

แล้วจะดีกว่าไหม? ถ้าหากเรามีเทคโนโลยีหรือผลิตภัณฑ์ที่ช่วยดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ภายในอาคาร ที่ถือว่าเป็นต้นทาง ซึ่งสามารถทำได้ง่ายกว่าการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีอยู่ในบรรยากาศ นอกจากจะช่วยในเรื่องสุขภาวะของผู้ใช้อาคารแล้ว ยังเป็นส่วนเล็กๆ ที่จะช่วยโลกใบนี้ได้ด้วยเหมือนเดียวกัน​

เนื้อหาโดย คุณ สุพรรณภางค์ รักษาวงค์ นักวิจัยวัสดุ Sustainable Building Material และ คุณ ณพล เกียรติก้องมณี สถาปนิกวิจัยอาวุโส และผู้เชี่ยวชาญระดับ TREES-A, Building Technology, Intelligent Systems, Innovative Solutions, RISC​

อ้างอิงข้อมูลจาก​
https://www.researchgate.net/post/How-much-will-be-the-human-breathing-CO2-emission-factor​
https://www.researchgate.net/figure/Health-effects-of-carbon-dioxide-exposure-36-45_fig4_343930613​
https://ourworldindata.org/transport​
https://iopscience.iop.org/article/10.1088/1757-899X/603/5/052100/meta​
https://www.engineeringtoolbox.com/pollution-concentration-rooms-d_692.html​

แนะนำสำหรับคุณ

การเตรียมพร้อมกรณีฉุกเฉิน เตรียมตัวอย่างไรให้รอด พร้อมตั้งรับภัยพิบัติ
Resilience

การเตรียมพร้อมกรณีฉุกเฉิน เตรียมตัวอย่างไรให้รอด พร้อมตั้งรับภัยพิบัติ

แผ่นดินไหวไม่ได้เกิดครั้งแรก แต่ทำไมรอบนี้เสียหายเยอะ?
Resilience

แผ่นดินไหวไม่ได้เกิดครั้งแรก แต่ทำไมรอบนี้เสียหายเยอะ?

Resilience “Shock & Stress” Framework เครื่องมือที่จะทำให้เราพร้อมรับมือกับภัยพิบัติ
Resilience

Resilience “Shock & Stress” Framework เครื่องมือที่จะทำให้เราพร้อมรับมือกับภัยพิบัติ

มาตรฐานการออกแบบอาคาร เพื่อความปลอดภัยกรณีเกิดแผ่นดินไหว
Resilience

มาตรฐานการออกแบบอาคาร เพื่อความปลอดภัยกรณีเกิดแผ่นดินไหว

หมดฝนแล้ว ปีนี้จะหนาวมั้ย?
Resilience

หมดฝนแล้ว ปีนี้จะหนาวมั้ย?

เอลนีโญและลานีญาส่งผลกับประเทศไทยอย่างไร
Resilience

เอลนีโญและลานีญาส่งผลกับประเทศไทยอย่างไร

มาส่องต่างประเทศใช้ "เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ" รับมือกับน้ำท่วมกัน
Resilience

มาส่องต่างประเทศใช้ "เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ" รับมือกับน้ำท่วมกัน

"โอโซน" มิตรร้ายกับภาวะโลกร้อน
Resilience

"โอโซน" มิตรร้ายกับภาวะโลกร้อน

อากาศร้อนแบบนี้ระวังเสี่ยง Heatstroke
Resilience

อากาศร้อนแบบนี้ระวังเสี่ยง Heatstroke

GIS ช่วยเราคาดการณ์และป้องกันน้ำท่วมได้อย่างไร?
Resilience

GIS ช่วยเราคาดการณ์และป้องกันน้ำท่วมได้อย่างไร?