Photocatalytic Coating นวัตกรรมเคลือบผิววัสดุ เปลี่ยนมลพิษให้ดีต่อลมหายใจ
เขียนบทความโดย RISC | 2 สัปดาห์ที่แล้ว
แก้ไขล่าสุด : 2 สัปดาห์ที่แล้ว
ปัญหา PM2.5 เป็นอีกปัญหาที่แม้สถานการณ์จะดูเบาบางลงในบางเวลา แต่ปัญหานี้จะยังคงอยู่กับเราต่อไปเรื่อยๆ แล้วเราจะรับมือกับสถานการณ์นี้ได้อย่างไร?
ฝุ่น PM 2.5 เป็นฝุ่นละอองในอากาศที่มีขนาดอนุภาคไม่เกิน 2.5 ไมครอน เล็กกว่าขนาดเส้นผมของคนเราถึง 30 เท่า สามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านทางระบบทางเดินหายใจและเข้าสู่กระแสเลือดได้ ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองตา จมูก และคอ ทำให้หายใจลำบากหรือเจ็บหน้าอก และหากได้รับอย่างต่อเนื่อง อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
นอกจากนี้สำนักงานวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศ (IARC) จัดให้มลพิษทางอากาศ (Outdoor Air Pollution) และฝุ่น PM2.5 อยู่ในกลุ่ม 1 (Carcinogenic to Humans) หรือก็คือสารที่มีหลักฐานเพียงพอว่าเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ และยังพบอีกว่าเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคมะเร็งปอด
โดยปกติ เราจะป้องกันตัวเองจาก PM2.5 จากการสวมหน้ากาก N95 หรือใช้เครื่องฟอกอากาศที่มีไส้กรอง HEPA (H10 – H14) ซึ่งสามารถกรองอนุภาคที่มีขนาดเล็กกว่า 0.3 ไมครอนได้ตั้งแต่ 85% - 99.995%
แต่รู้หรือไม่ ว่ามีวัสดุอาคารบางชนิดที่ช่วงลดฝุ่นได้ด้วยเหมือนกัน
Photocatalytic coating หรือการเคลือบผิววัสดุด้วยสารเคลือบที่มีคุณสมบัติในการเร่งปฏิกิริยาเมื่อได้รับแสง ซึ่งมักใช้ไทเทเนียมไดออกไซด์ (TiO2) เป็นองค์ประกอบหลัก เมื่อไทเทเนียมไดออกไซด์ได้รับแสงอาทิตย์ก็จะเกิดปฏิกิริยาเคมี ทำให้เกิดการถ่ายโอนอิเล็กตรอนบริเวณพื้นผิววัสดุ ทำให้เกิดไฮดรอกซิลเรดิคัล (OH·) และซุปเปอร์ออกไซด์แอนไอออนเรดิคัล (O2-·) ซึ่งสามารถสลายมลพิษทางอากาศ ทั้งฝุ่นละออง แก๊ส แบคทีเรีย ไวรัส และเชื้อราบนพื้นผิว เปลี่ยนเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และน้ำ (H2O) ซึ่งปลอดภัยต่อสุขภาพ และจากงานวิจัยพบว่า ไทเทเนียมไดออกไซด์สามารถย่อยสลายคาร์บอนในฝุ่น PM2.5 ได้ถึง 92% พร้อมทั้งปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าวิธีนี้สามารถลดผลกระทบอันตรายจาก PM2.5 ได้จริง
ปัจจุบันสารเคลือบ Photocatalyst ถูกนำมาประยุกต์ใช้กับวัสดุก่อสร้างหลายชนิด เช่น กระจก หลังคา หรือผสมลงในสีทาบ้าน ไม่เพียงแค่ช่วยทำความสะอาดพื้นผิวตัวเอง ลดการสะสมของฝุ่นและมลพิษในอากาศ ยับยั้งการเติบโตของเชื้อโรคและเชื้อราแล้ว ยังช่วยลดอุณหภูมิของอาคารได้อีกด้วย ทำให้เป็นการลดการใช้พลังงานของอาคารได้อีกทางหนึ่ง
เนื้อหาโดย คุณ สุพรรณภางค์ รักษาวงค์ นักวิจัยวัสดุ Sustainable Building Material
อ้างอิงข้อมูลจาก
IARC Monographs. Outdoor Air Quality Volume 109
ดร.พิบูลย์ จินาวัฒน์. วัสดุก่อสร้างโฟโต้คะตาลิสท์. การประชุมวิชาการระดบชาติ “สถาปัตย์กระบวนทัศน์” พ.ศ.2558
Misawa K, Sekine Y, Kusukubo Y, Sohara K. Photocatalytic degradation of atmospheric fine particulate matter (PM2.5) collected on TiO2 supporting quartz fibre filter. Environ Technol. 2020 Apr;41(10):1266-1274.