Knowledge - RISC

Timber Construction เทรนด์การก่อสร้าง เพื่อเป้าหมาย Net Zero Emission 2050

เขียนบทความโดย RISC | 1 ปีที่แล้ว

แก้ไขล่าสุด : 1 ปีที่แล้ว

2399 viewer

จากความมุ่งมั่นที่ RISC ตั้งเป้าหมายผลักดัน MQDC ให้เป็น “Nature Positive & Carbon Negative 2050” มาลองดูกันว่าทำไมเราถึงต้องคิดเรื่องนี้? มีที่มาที่ไปเป็นอย่างไร? และนักวิจัยของเราดำเนินการกันยังไง?​

ในปี 2050 ทั้งสหภาพยุโรป (EU) องค์กรสหประชาชาติ หน่วยงานต่างๆ และรัฐบาลประเทศชั้นนำทั่วโลก ต่างตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่า “โลกของเราจะปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่ากับศูนย์ หรือ Net Zero Emission 2050” เพื่อหยุดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภาวะโลกรวน (Climate Change) ซึ่งทุกแวดวงจะต้องปฏิวัติทั้งระบบในการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จนเหลือศูนย์ ไม่เว้นแม้แต่วงการอุตสาหกรรมก่อสร้าง​

แล้ววงการอุตสาหกรรมก่อสร้างมีทิศทางในการปรับตัวอย่างไรบ้าง?



ต้องยอมรับว่า อุตสาหกรรมก่อสร้างเป็นอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 39% ของการปลดปล่อยทั้งหมด ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือ...​

- 28% มาจาก Operation Carbon คือ คาร์บอนที่เกิดจากช่วงการใช้พลังงานในอาคาร เช่น การใช้น้ำ ใช้ไฟฟ้า ซึ่งด้วยองค์ความรู้และเทคโนโลยีในปัจจุบัน สามารถทำให้การปลดปล่อยคาร์บอนลดลงเท่ากับศูนย์ได้ไม่ยาก ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบอาคารให้ประหยัดพลังงาน หรือการใช้พลังงานทดแทน​
- 11% มาจาก Embodied Carbon คือ คาร์บอนที่มาจากวัสดุก่อสร้างและช่วงการก่อสร้างอาคาร ซึ่งเป็นส่วนที่ลดได้ยากกว่า เพราะต้องมีการปรับเปลี่ยนตั้งแต่ต้นน้ำ นั่นก็คือ ทรัพยากรที่ใช้ผลิตวัสดุก่อสร้างไปจนถึงเทคโนโลยีและกระบวนการก่อสร้างทั้งหมด​

เมื่อเห็นแบบนี้แล้ว หลายคนคงสงสัยว่าแบบนี้การตั้งเป้าหมายในการลด Embodied Carbon จะเกิดขึ้นได้อย่างไร?​

“Timber Construction” หรือ การก่อสร้างอาคารโดยใช้ไม้เป็นโครงสร้าง ถูกวางให้เป็นเป้าหมายในการลด Embodied Carbon โดยจะเข้ามาแทนที่โครงสร้างแบบคอนกรีต ซึ่งปัจจุบันเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่ไกลเกินจริงอีกต่อไปแล้ว เพราะเริ่มมีอาคารสูงที่เปลี่ยนมาใช้โครงสร้างอาคารที่ทำมาจากไม้เพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะประเทศแถบยุโรป เพื่อทดแทนการใช้คอนกรีตที่เป็นตัวการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตั้งแต่กระบวนการระเบิดภูเขามาผลิตเป็นปูนซีเมนต์ อีกทั้งยังเป็นทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป เมื่อเทียบกับการต้นไม้ที่เป็นทรัพยากรที่สามารถปลูกทดแทนขึ้นมาใหม่ได้ และช่วงชีวิตของการเจริญเติบโตต้นไม้ยังช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ให้โลกไว้อีกด้วย และนี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ Timber Construction อาจกลายเป็นเทรนด์การก่อสร้างอาคารใหม่ที่เป็นความหวังของมวลมนุษชาติ​

ยกตัวอย่าง อาคาร Port plus เป็นอาคารสูงโครงสร้างไม้ อาคารแรกของประเทศญี่ปุ่น ที่สร้างโดย Obayashi ที่เพิ่งแล้วเสร็จเมื่อปี 2022 ที่ผ่านมา โดยอาคารนี้มีการบูรณาการองค์ความรู้และเทคโนโลยีการก่อสร้างที่ทันสมัย ทำให้โครงสร้างสามารถทนไฟได้ 3 ชั่วโมง มีการทำ Simulation คำนวณเปรียบเทียบ Embodied Carbon ของอาคารโครงสร้างไม้ เทียบกับโครงสร้างเหล็กและคอนกรีต จะเห็นได้ว่าอาคารโครงสร้างไม้ สามารถลด Embodied Carbon ลงได้สูงสุด ซึ่งอาคาร Port plus นี้นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีการก่อสร้างในทวีปเอเชียเลยก็ว่าได้​



แล้วอนาคต Timber Construction ในประเทศไทย จะสามารถเกิดขึ้นได้หรือไม่​

จริงๆ แล้วหากมองย้อนไปในอดีต บ้านเรือนไทยสมัยก่อนก็ทำมาจากไม้ทั้งหลัง แต่ด้วยเทคโนโลยีการก่อสร้างเปลี่ยนไป จึงทำให้องค์ความรู้เรื่องช่างไม้เลือนหายไปด้วย การก่อสร้างอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กจึงถูกเข้ามาแทนที่ ซึ่งไม่แน่ว่าในอนาคตเราอาจจะเริ่มเห็นอาคารสูงโครงสร้างไม้เกิดขึ้นในประเทศไทยมากขึ้นกว่านี้ แต่เบื้องต้นอาจจะต้องใช้ระยะเวลา เพราะมีหลายๆ ปัจจัยที่ยังไม่สามารถมาเปลี่ยนแปลงวิถีการก่อสร้างด้วยคอนกรีตได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความพร้อมของเทคโนโลยี องค์ความรู้ ฝีมือแรงงาน ราคาค่าก่อสร้าง กฎหมายอาคารเรื่องการกันไฟ แหล่งที่มาของไม้ป่าปลูกในประเทศ รวมไปถึงการทำให้อาคารโครงสร้างไม้สามารถทนทานต่อสภาพอากาศร้อนชื้น รังสี UV และปลวก ศัตรูตัวร้ายของไม้​

ในปัจจุบัน ก็เริ่มมีบางอาคารเริ่มนำเทคโนโลยีการก่อสร้างด้วยไม้มาใช้ในการพัฒนาโครงการ ที่พอจะมีตัวอย่างให้เห็น นั่นก็คือ อาคาร Clubhouse ของโครงการ Mulberry Grove The Forestias by MQDC ซึ่งอาคารนี้เป็นหัวใจของโครงการ มีการออกแบบให้มีหลังคาโค้งทำมาจากไม้ (Arched Timber Structure) โดยใช้คานไม้โครงสร้าง Glulam ทั้งหมด 56 คานถักทอเป็นหลังคาที่สร้างร่มเงา กันแดด และฝนให้กับอาคารนี้ ถึงแม้ว่าจะยังไม่ใช่อาคารสูง แต่ก็นับเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงวงการก่อสร้าง ที่สอดคล้องกับเป้าหมาย “Nature Positive & Carbon Negative 2050” ของ MQDC เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการกู้วิกฤติโลก ส่งเสริมทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน สร้างผลเชิงบวกต่อธรรมชาติและลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นค่าติดลบภายในปีค.ศ. 2050 และก็ไม่แน่ว่าในอนาคตเราอาจจะได้เห็น Timber Construction อาคารหลังใหม่ๆ เกิดขึ้นตามมาอีกแน่นอน​


เนื้อหาโดย คุณ ทิพทับทิม สรรเพชุดาศิลป์ สถาปนิกวิจัยอาวุโส, Sustainable Building Materials, RISC​

อ้างอิงข้อมูลจาก ​
https://www.eesc.europa.eu/en/news-media/news/timber-construction-can-help-reduce-co2-emissions​
https://www.oyproject.com/​
https://worldgbc.org/​
https://mqdc.com/our-business/discover-project/mulberrygrove/forestias​

รับข่าวสาร

ลงทะเบียนเพื่อรับข่าวสารกับเรา

© 2024 Magnolia Quality Development Corporation Limited - A DTGO Company
ผลลัพธ์
การยืนยัน
การยืนยัน