RISC

ท่ามกลางปัญหามากมายของเมือง Urban Resilience คืออะไรและจะช่วยเมืองได้อย่างไร

เขียนบทความโดย RISC | 4 ปีที่แล้ว

แก้ไขล่าสุด : 2 ปีที่แล้ว

7613 viewer

 

ปัญหาต่าง ๆ ที่รุมเร้าเมืองของเราในทุก ๆ วัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาฝุ่น PM2.5 ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ภัยพิบัติต่าง ๆ เช่น น้ำท่วม น้ำแล้ง ไฟไหม้ป่า ฯลฯ ทำให้แนวคิด Urban Resilience ได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ บทความนี้มุ่งนำเสนอคำอธิบายของคำว่า Urban Resilience

 

บทความภาษาไทยที่เกี่ยวกับ Urban Resilience แปลคำนี้ไว้หลายรูปแบบ เช่น เมืองที่รับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้[i] เมืองยืดหยุ่น[ii] เมืองพลวัต[iii] เมืองพร้อมรับมือ[iv] เป็นต้น

 

เมื่อพิจาณาถึงรากศัพท์ คำว่า Resilience ในภาษาอังกฤษนั้นมาจากภาษาละติน resilio ที่แปลว่า "กระเด้งกลับ" (to bounce back) สะท้อนให้เห็นการรบกวนหรือการเผชิญปัญหา โดยอาจเปรียบกับการที่ลูกบอลตกกระทบพื้น จากนั้นลูกบอลกระเด้งกลับขึ้นมา เปรียบได้กับการรับมือและฟื้นตัว

 

ในอดีตคำว่า Resilience ถูกใช้ในบางสาขาวิชาโดยเฉพาะจิตวิทยาและนิเวศวิทยา การศึกษา Resilience ในด้านจิตวิทยาเน้นศึกษาคนหรือครอบครัวที่ประสบความยากลำบากหรืออยู่ในสถานการณ์เปราะบาง ตัวอย่างงานวิชาการในอดีตเช่นงานของ Antonovsky ศึกษาผู้ใหญ่ที่รอดชีวิตจากค่ายกักกันในปีพ.ศ. 2514 (ค.ศ. 1971) สำหรับนิเวศวิทยา Resilience ถูกนำมาใช้ประเมินอัตราการกลับเข้าสู่สมดุลหลังจากระบบถูกรบกวน[v][vi]

 

สำหรับสาขาวิชาการวางแผนเมือง (urban planning) โครงการ 100 Resilient Cities ซึ่งสนับสนุนโดยมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ในปีพ.ศ. 2559 (ค.ศ. 2016) ได้อธิบาย Urban Resilience ว่าคือความสามารถของบุคคล ชุมชน องค์กร ธุรกิจหรือระบบภายในเมืองที่จะอยู่รอด ปรับตัวและเติบโตได้ไม่ว่าจะเผชิญกับปัญหาเรื้อรังหรือปัญหาเฉียบพลัน[vii]

 

สังเกตได้ว่าแนวคิด Resilience เกี่ยวข้องอยู่กับ 2 ประเด็นหลักคือเกิดเหตุการณ์รบกวนหรือปัญหา และการรับมือต่อเหตุการณ์รบกวนนั้น

 

ตัวปัญหาอาจแบ่งได้ตามลักษณะการเกิดตามช่วงเวลา ซึ่งแบ่งได้เป็นปัญหาที่มีมานาน (chronic stress) หรือปัญหาที่เกิดขึ้นฉับพลัน (acute shock) ตามคำอธิบายของมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์

 

สำหรับการรับมือกับปัญหา อาจจำแนกตามช่วงเวลาได้เป็นการเตรียมตัวก่อนเกิดเหตุการณ์ การจัดการขณะที่เหตุการณ์รบกวนนั้นกำลังเกิดขึ้น และการฟื้นฟูภายหลังเหตุการณ์รบกวนนั้นผ่านไปแล้ว ระบบที่มีความ Resilience จะสามารถ 1. อยู่รอด (survive) 2. ปรับตัว (adapt) และ 3. เติบโต (grow) ได้

 

ในบทความนี้ขอแปล Resilience ด้วยคำว่าความพร้อมรับมือ และ Urban Resilience ก็คือเมืองพร้อมรับมือ เนื่องจากคำว่าพร้อมรับมือ สื่อให้เห็นถึงการเตรียมตัวก่อนเกิดปัญหา และมีความหมายรวม"ตัวปัญหา"เข้าไปด้วย เนื่องจากเพราะคาดว่าจะมีปัญหาจึงต้องเตรียมพร้อมรับมือ ต่างจากคำว่าพลวัต หรือยืดหยุ่น ซึ่งหากไม่มีบริบทอาจทำให้นึกภาพถึงการเกิดปัญหาหรือการรบกวนได้ยาก

 

ความพร้อมรับมือหรือ Resilience นี้แตกต่างจากความยั่งยืนหรือ Sustainability โดยความยั่งยืนมีสมมติฐานว่าความสมดุลระหว่างสรรพสิ่งนั้นเป็นไปได้ ในขณะที่ความพร้อมรับมือนั้นคิดว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดได้ตลอดเวลา งานวิจัยของฝั่งความยั่งยืนจึงเน้นที่การศึกษาปริมาณการปล่อยคาร์บอน การใช้ทรัพยากรมากเกินไป ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ในขณะที่งานวิจัยด้านความพร้อมรับมือจะเน้นที่การจัดการภัยพิบัติ ผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง[viii]

 

การพัฒนาและการใช้ชีวิตจึงต้องคำนึงถึงทั้งความพร้อมรับมือและความยั่งยืน ความพร้อมรับมือจะช่วยให้ระบบฟื้นตัวจากเหตุการณ์รบกวนซึ่งอาจถูกป้องกันไม่ให้เกิดหรือเกิดโดยมีผลกระทบลดลงโดยการเลือกใช้มาตรการที่เหมาะสม และมาตรการที่เหมาะสมจำเป็นต้องคำจึงถึงความยั่งยืนเพื่อลดแนวโน้มการสร้างปัญหาต่อ ๆ ไป[ix] เมืองที่พร้อมรับมือและมุ่งสร้างความยั่งยืนจึงจะเป็นเมืองที่อยู่รอดในอนาคตอย่างแท้จริง

 



[i] พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์. (2559). เมืองที่รับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้ โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์. https://www.matichon.co.th/columnists/news_191562

 

[ii] City Cracker. (2563). URBAN RESILIENCE เมืองยืดหยุ่นคืออะไร ทำไมเมืองถึงต้องยืดหยุ่น. https://citycracker.co/city-environment/what-is-urban-resilience/

 

[iii] Urban Futures & Policy. (2562). https://www.facebook.com/UrbanFutures.tu/posts/2263873930360335

 

[iv]  สุนิสา ปั้นวิสัย. (2561). สรุปเนื้อหาการประชุมทางวิชาการหรือการหารือความร่วมมือกับต่างประเทศ http://iad.bangkok.go.th/sites/default/files/2_%20Summarize%20the%20content%20of%20the%20conference%2C%20or%20discuss%20international%20cooperation%20on%20the%20web..pdf

 

[v] Martin-Breen, P. Anderies, JM. (2011) 'Resilience: A Literature Review' Bellagio Initiative, Brighton:IDS https://opendocs.ids.ac.uk/opendocs/handle/20.500.12413/3692

 

[vi] Resilience and sustainability. Nat Sustain 2, 249 (2019). https://doi.org/10.1038/s41893-019-0284-4

 

[viii] Lew, A.A., Ng, P.T., Ni, C., Wu, T. (2015).

Community sustainability and resilience: similarities, differences and indicators.

https://doi.org/10.1080/14616688.2015.1122664

 

[ix] Sustainability Degress. (2014). Sustainability vs. Resilience: Why Bouncing Back is the Way of the Future. https://www.sustainabilitydegrees.com/blog/sustainability-vs-resilience-why-bouncing-back-is-the-way-of-the-future/

 

แนะนำสำหรับคุณ

การประเมินพื้นที่ด้วย GIS ส่งเสริมสุขภาวะที่ดี
Resilience

การประเมินพื้นที่ด้วย GIS ส่งเสริมสุขภาวะที่ดี

การเตรียมพร้อมกรณีฉุกเฉิน เตรียมตัวอย่างไรให้รอด พร้อมตั้งรับภัยพิบัติ
Resilience

การเตรียมพร้อมกรณีฉุกเฉิน เตรียมตัวอย่างไรให้รอด พร้อมตั้งรับภัยพิบัติ

แผ่นดินไหวไม่ได้เกิดครั้งแรก แต่ทำไมรอบนี้เสียหายเยอะ?
Resilience

แผ่นดินไหวไม่ได้เกิดครั้งแรก แต่ทำไมรอบนี้เสียหายเยอะ?

Resilience “Shock & Stress” Framework เครื่องมือที่จะทำให้เราพร้อมรับมือกับภัยพิบัติ
Resilience

Resilience “Shock & Stress” Framework เครื่องมือที่จะทำให้เราพร้อมรับมือกับภัยพิบัติ

มาตรฐานการออกแบบอาคาร เพื่อความปลอดภัยกรณีเกิดแผ่นดินไหว
Resilience

มาตรฐานการออกแบบอาคาร เพื่อความปลอดภัยกรณีเกิดแผ่นดินไหว

หมดฝนแล้ว ปีนี้จะหนาวมั้ย?
Resilience

หมดฝนแล้ว ปีนี้จะหนาวมั้ย?

เอลนีโญและลานีญาส่งผลกับประเทศไทยอย่างไร
Resilience

เอลนีโญและลานีญาส่งผลกับประเทศไทยอย่างไร

มาส่องต่างประเทศใช้ "เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ" รับมือกับน้ำท่วมกัน
Resilience

มาส่องต่างประเทศใช้ "เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ" รับมือกับน้ำท่วมกัน

"โอโซน" มิตรร้ายกับภาวะโลกร้อน
Resilience

"โอโซน" มิตรร้ายกับภาวะโลกร้อน

อากาศร้อนแบบนี้ระวังเสี่ยง Heatstroke
Resilience

อากาศร้อนแบบนี้ระวังเสี่ยง Heatstroke