มารู้จักฉนวนใยไม้คาร์บอนต่ำกัน
เขียนบทความโดย RISC | 1 ปีที่แล้ว
แก้ไขล่าสุด : 1 ปีที่แล้ว
Net Zero Emission 2050 เป้าหมายใหญ่ของโลกที่จะลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่ากับศูนย์ภายในปี 2050 ที่ทุกวงการกำลังวางเป้าเพื่อไปให้ถึงจุดนั้น โดยเฉพาะวงการอุตสาหกรรมการก่อสร้าง
อย่างที่เราทราบกันดีว่า อุตสาหกรรมการก่อสร้างนั้นเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับต้นๆ ซึ่งตัวการสำคัญก็คือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ Embodied Carbon และ Operation Carbon โดย Embodied Carbon นั้นเป็น Key สำคัญที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายนี้ โดยเฉพาะอาคารที่กำลังจะสร้างขึ้นใหม่ จำเป็นต้องมีทิศทางการออกแบบและก่อสร้างให้ Embodied Carbon ต่ำที่สุด
แล้วทำไมเราถึงควรพุ่งเป้าไปที่การลด Embodied Carbon?
Embodied Carbon คือ คาร์บอนที่มาจากวัสดุก่อสร้าง ซึ่งถือว่าเป็นต้นน้ำของการก่อสร้าง หากเราตั้งต้นสร้างอาคารด้วยวัสดุที่มีคาร์บอนต่ำแล้ว ก็ถือได้ว่าประสบความสำเร็จไปได้ครึ่งหนึ่งแล้วนั่นเอง
ในปัจจุบันมีผู้ประกอบการหลายรายได้พยายามพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและนวัตกรรมวัสดุก่อสร้างใหม่ๆ ให้มีการปลดปล่อยคาร์บอนที่ลดลง หรือที่เรียกว่า วัสดุคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Material) ออกมาให้เป็นทางเลือกในการใช้งานมากขึ้น สำหรับวัสดุก่อสร้างทางเลือกที่น่าสนใจ ที่จะหยิบยกมาพูดถึงกันในวันนี้คือ “ฉนวนใยไม้คาร์บอนต่ำ”
“ฉนวนใยไม้คาร์บอนต่ำ” เป็นฉนวนที่ทำมาจากเส้นใยไม้ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเป็นแผ่นใยไม้ฉนวนชั้นเดียวที่มีความหนาสูงสุด 240 มม. จากส่วนผสมเพียง 2 ชนิด คือ เส้นใยไม้สนที่ได้มาจากป่าปลูกยั่งยืน (Forest Stewardship Council, FSC) ในภูมิภาค และเกลือแอมโมเนียมที่ใช้เป็นสารหน่วงไฟ และเป็นวัสดุที่ได้มาจากธรรมชาติทั้งหมด ทำให้สามารถย่อยสลายได้ ซึ่งฉนวนใยไม้คาร์บอนต่ำนี้ได้ใบรับรองจาก Natureplus© ว่าเป็นระบบฉนวนที่ปลอดภัยทางชีวภาพของยุโรป นอกจากนี้ยังผ่านเกณฑ์วัสดุคาร์บอนต่ำมี EPD Certificated (Environmental Product Declaration, EPD) อีกด้วย ผลิตภัณฑ์ฉนวนใยไม้นี้สามารถนำไปใช้ได้กับทุกๆ ส่วนของอาคาร สามารถพิจารณาค่าคุณสมบัติ และเลือกใช้งาน Application ตามความเหมาะของ Function ที่ต้องการใช้งานได้เลย
แล้วทำไมฉนวนใยไม้ถึงมีคาร์บอนต่ำกว่าฉนวนประเภทอื่นๆ ?
เพราะว่าฉนวนนี้ทำมาจากใยไม้ล้วนๆ ซึ่งเป็นวัสดุธรรมชาติ สามารถย่อยสลายได้ ใช้ไม้จากป่าปลูกยั่งยืน ทำให้เมื่อคำนวณค่า Embodied Carbon ตั้งแต่วัตถุดิบตั้งต้น กระบวนการผลิต ไปจนสิ้นวัฏจักรชีวิต Life Cycle แล้วนั้น มีการปลดปล่อยค่าคาร์บอนที่ต่ำมากๆ เมื่อเทียบกับฉนวนที่ใช้กันทั่วไปที่มาจากปิโตรเลียม และไม่สามารถย่อยสลายได้ เช่น ฉนวนโฟมพอลิยูรีเทน(Polyurethane Foam) ฉนวนโฟมพอลิสไตรีน (Polystyrene Foam) หรือแม้แต่ฉนวนใยแก้ว (Fiberglass)
จะเห็นได้ว่าทิศทางการก่อสร้างนั้นมีแนวโน้มที่เปลี่ยนแปลงไป นอกจากจะมีเทรนด์การเปลี่ยนจากการใช้โครงสร้างคอนกรีต (Concrete) มาเป็นโครงสร้างไม้ (Timber Construction) แล้ว เทรนด์การใช้วัสดุธรรมชาติ อย่างเช่น ไม้ จะสามารถพัฒนานวัตกรรมวัสดุนำไปใช้ในอาคารส่วนต่างๆ และกระบวนการก่อสร้างได้มากน้อยเพียงใด เพื่อเป้าหมายการลดการปลดปล่อยคาร์บอนให้เป็นศูนย์ในปี 2050 ที่เริ่มใกล้เข้ามาทุกที และตามที่ MQDC ได้ตั้งเป้า “Nature Positive & Carbon Negative 2050: สร้างผลเชิงบวกต่อธรรมชาติและปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นลบ” เพื่อสร้างสมดุลอย่างยั่งยืนได้จริง
สนใจ “ฉนวนใยไม้คาร์บอนต่ำ” สามารถติดตามข้อมูลต่อได้ที่ https://gutex.co.uk/product-range/product-properties/recyclability/
เนื้อหาโดย คุณ ทิพทับทิม สรรเพชุดาศิลป์ สถาปนิกวิจัยอาวุโส, Sustainable Building Materials, RISC
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.carboncure.com/concrete-corner/what-is-embodied-carbon/