ออกแบบบ้านอย่างไร? ให้สัตว์เลี้ยงรู้สึกสบาย ปลอดภัย ห่างไกลโรค
เขียนบทความโดย RISC | 2 ปีที่แล้ว
แก้ไขล่าสุด : 2 ปีที่แล้ว
ทั้งเชื้อโรคและโรคร้ายกำลังเป็นสิ่งที่ใครหลายคนวิตกกังวล ซึ่งไม่เพียงแค่คน แต่รู้หรือไม่? ว่าเหล่าสัตว์เลี้ยงแสนรักของเราก็มีความเสี่ยงไม่แพ้กัน
โดยองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (World Organisation for Animal Health: OIE) ได้รวบรวมและเปิดเผยข้อมูลในช่วงการระบาดของ COVID-19 เกี่ยวกับการติดเชื้อไวรัสในสัตว์อย่างต่อเนื่องว่า มีการติดเชื้อในสัตว์จำนวนทั้งสิ้น 675 ราย จากสัตว์ทั้งหมด 23 สายพันธุ์ (อ้างอิงรายงานเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2565) ซึ่งสัตว์เลี้ยงประเภทสุนัขและแมวที่มีความใกล้ชิดกับคนเป็นอย่างมาก ถูกรวมอยู่ในกลุ่มที่พบเชื้อนี้ด้วยเช่นกัน
จากรายงานพบหลักฐานความเชื่อมโยงระหว่างปัจจัยของการติดเชื้อที่สัมพันธ์กับความใกล้ชิดระหว่างคนกับสัตว์ ทั้งในกรณีของการพบการติดเชื้อในสัตว์ที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ หรือกรณีสัตว์ที่ติดเชื้อมีความเกี่ยวข้องกับสาเหตุของการติดเชื้อในคน จนนำไปสู่ข้อสังเกตที่มีความเป็นไปได้ว่า อาจมีการแพร่เชื้อจากสัตว์สู่คนหรือคนสู่สัตว์ รวมไปถึงปัจจัยร่วมทางด้านสภาพแวดล้อมหรือที่อยู่อาศัย ก็อาจเป็นสาเหตุของการติดเชื้อได้เหมือนกัน นำมาซึ่งข้อแนะนำในการปฏิบัติกรณีที่พบการติดเชื้อในสัตว์จะต้องมีการกักตัวเช่นเดียวกับมนุษย์ ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยจากโรคระบาด ผู้ที่มีสัตว์เลี้ยงจึงต้องดูแลสุขภาพทั้งคนและสัตว์เลี้ยงไปพร้อมๆ กัน
สำหรับในบ้านเรา พบรายงานการติดเชื้อในสุนัขและแมว โดยเป็นการติดเชื้อในสุนัข 2 ราย ในเขตจังหวัดกรุงเทพมหานคร แมว 1 ราย ในเขตจังหวัดสมุทรปราการ และแมวอีก 1 ราย ในเขตจังหวัดนนทบุรี รวมทั้งสิ้น 4 ราย (อ้างอิงรายงานจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2565) ซึ่งทุกรายได้รับการรักษา กักตัวตามกำหนด และไม่ได้รับรายงานการเสียชีวิตแต่อย่างใด
นอกจากเรื่องโรคระบาดต่างๆ แล้ว 1) การตรวจสุขภาพสัตว์เลี้ยงเป็นประจำ 2) การได้รับวัคซีนครบถ้วนตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ 3) การส่งเสริมให้สัตว์เลี้ยงได้รับการออกกำลังกายอย่างเพียงพอ 4) การป้องกันหรือชะลอความเสี่ยงของโรคตามสายพันธุ์ 5) การดูแลรักษาความสะอาดอย่างถูกต้องไม่เป็นพิษต่อสัตว์เลี้ยง และ 6) การจัดสรรสภาพแวดล้อมให้ถูกสุขลักษณะ ล้วนเป็นเรื่องที่เจ้าของสัตว์เลี้ยงควรทำ เพื่อความปลอดภัย ห่างไกลจากโรค และได้รับสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) ที่ตอบโจทย์ความต้องการขั้นพื้นฐานของสัตว์ ทั้งในด้านความสุขกายและสบายใจ
จริงอยู่ที่อันตรายหรือโรคภัยต่างๆ ที่เกิดจากปัจจัยภายนอกเป็นสิ่งที่เราควบคุมได้ยาก แต่การจัดสภาพแวดล้อมภายในบ้านนั้น เราสามารถควบคุมและทำได้โดยใช้การออกแบบที่ยึดหลักเกณฑ์ ได้แก่ 1) การออกแบบเพื่อความสบายของสัตว์เลี้ยง (Pet Comfort) 2) การจัดการพื้นที่ใช้สอย (Functions Management) และ 3) การเลือกวัสดุที่เหมาะสม (Materials Selection) ซึ่งในบทความนี้เราจะพูดถึงการออกแบบให้สัตว์เลี้ยงของเรารู้สึกสบายกันก่อน
การออกแบบเพื่อความสบายของสัตว์เลี้ยง (Pet Comfort) จะแบ่งการสร้างความสบายออกเป็น 4 ด้าน นั่นก็คือ...
1. การจัดอุณหภูมิและความชื้นที่เหมาะสม หรือ Thermal Comfort: จำง่ายๆ หากเรารู้สึกสบาย สัตว์เลี้ยงก็สบายด้วยเช่นกัน โดยช่วงอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ที่สัตว์เลี้ยงรู้สึกสบาย จะอยู่ที่ 20-29 °C และ 30-70% RH (สำหรับสุนัขและแมว) ในขณะที่ช่วงอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ที่มนุษย์รู้สึกสบาย จะอยู่ที่ 22-27 °C และ 20-75% RH นอกจากนี้ เรื่องของลักษณะพิเศษตามสายพันธุ์ เราก็ต้องไม่มองข้าม อย่างเช่น สัตว์เลี้ยงตัวนี้มีต้นกำเนิดสายพันธุ์มาจากที่ใด, ควรอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบใด หรือสามารถทนความร้อนของอากาศในบ้านเราได้ดีมากน้อยแค่ไหน ซึ่งทั้งหมดที่ว่ามานี้ เราต้องใส่ใจไม่ละเลย อย่าปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่อับ อากาศไม่ถ่ายเทนานจนเกินไป โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เราไม่อยู่บ้าน รวมทั้งอย่าให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในพื้นที่กลางแดดเป็นเวลานาน เพื่อป้องกันการเกิดอันตรายจากโรคลมแดด (Heat stroke) เพราะอาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้
2. ความสบายทางสายตา หรือ Visual Comfort: พฤติกรรมของสุนัขและแมวอาจแตกต่างกัน บ้างต้องการออกไปวิ่งเล่น บ้างต้องการอยู่แต่ภายในบ้าน แต่ไม่ว่าจะชอบแบบไหน สิ่งหนึ่งที่เราต้องให้ความสำคัญคือ การได้รับแสงธรรมชาติที่พอเหมาะ และไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในพื้นที่จำกัดที่ไม่สามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ภายนอก ดังนั้น เราควรจัดพื้นที่นั่งเล่นหรือมุมโปรดของสัตว์เลี้ยงให้อยู่ใกล้หน้าต่าง หรือช่องเปิดที่ได้รับแสงธรรมชาติ แต่ก็ควรหลีกเลี่ยงแสงแดดโดยตรงและแสงจ้าที่แยงตา ทั้งนี้ก็เพื่อให้สัตว์เลี้ยงของเราได้รับความสว่างที่พอเหมาะและความสบายทางสายตา สร้างความรู้สึกโปร่งโล่ง สามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ ผู้คน หรือสิ่งมีชีวิตต่างๆ ภายนอก ซึ่งเป็นผลดีต่อสุขภาพทางกาย และลดความเครียดของสัตว์เลี้ยง อีกทั้งยังช่วยลดการสะสมความชื้น เชื้อรา และฆ่าเชื้อโรคได้อีกด้วย
3. คุณภาพอากาศที่ดี หรือ Air Quality: ทั้งเราและสัตว์เลี้ยงต่างก็ต้องการอากาศที่ดีไว้หายใจ การจัดพื้นที่อยู่อาศัยของสัตว์เลี้ยงให้มีการระบายอากาศธรรมชาติที่เพียงพอ จะสามารถช่วยลดปัญหากลิ่นสะสม ความอับชื้น และเชื้อราได้เป็นอย่างดี โดยใช้การเปิดประตูหน้าต่างเพื่อให้อากาศจากภายนอกไหลเวียนเข้ามาภายในบ้าน หรือให้สัตว์เลี้ยงออกไปสัมผัสอากาศภายนอกบ้านก็ได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมและดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะอาจเกิดอันตรายจากการปีนป่าย หรืออุบัติเหตุต่างๆ ส่วนกรณีที่สัตว์เลี้ยงต้องอยู่ตามลำพังในขณะที่เราไม่อยู่บ้าน ก็ควรจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกให้สัตว์เลี้ยงสามารถอยู่ได้ด้วยตนเอง อย่างเช่น ประตูพิเศษเฉพาะสำหรับสัตว์เลี้ยงที่เชื่อมออกสู่ภายนอกบ้าน ที่สามารถเข้าออกได้โดยไม่ต้องรอเจ้าของเปิดให้ หรือระบบเติมอากาศบริสุทธิ์จากภายนอกโดยที่ไม่ต้องเปิดหน้าต่างหรือประตูทิ้งไว้ เพื่อระบายอากาศเสียออก ลดการสะสมกลิ่นและความชื้น ซึ่งอาจเป็นแหล่งเชื้อโรคต่างๆ ที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพทั้งตัวเราและสัตว์เลี้ยงได้
4. ลดเสียงรบกวน หรือ Acoustic Quality: การเห่าหรือการหอนของสุนัข เป็นการรบกวนเพื่อนบ้านข้างเคียงที่นำไปสู่การทะเลาะเบาะแว้งในภายหลัง ซึ่งสาเหตุที่เกิดขึ้นมาจากสัตว์เลี้ยงของเราได้รับสิ่งเร้า หรือเสียงรบกวนจากภายนอก ดังนั้น จึงควรออกแบบการป้องกันเสียงรบกวน เช่น การเลือกผนังกันเสียง ประตูกันเสียง ปิดช่องว่างหรือส่วนที่เสียงอาจลอดผ่านได้ระหว่างห้อง หรือแม้แต่การติดตั้งฉนวนดูดซับเสียง เพื่อลดการได้รับเสียงรบกวนจากภายนอก รวมถึงลดเสียงรบกวนจากสัตว์เลี้ยงของเราเองด้วย
เราคงเห็นกันแล้วว่า การออกแบบสภาพแวดล้อมภายในบ้านจะช่วยให้สัตว์เลี้ยงของเรารู้สึกสบาย ปลอดภัย และยังมีสุขภาพที่ดีขึ้นได้ ซึ่งในตอนต่อไป เราจะมาดูหลักเกณฑ์การออกแบบ ทั้งเรื่องของการจัดการพื้นที่ใช้สอยอย่างลงตัวมีคุณภาพ และการเลือกวัสดุที่เหมาะสมต่อสัตว์เลี้ยง อย่าลืมติดตามกันนะ!!
เนื้อหาโดย คุณ สริธร อมรจารุชิต ผู้ช่วยผู้อำนวยการ RISC
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.oie.int/en/what-we-offer/emergency-and-resilience/covid-19/#ui-id-3
https://www.oie.int/app/uploads/2022/05/sars-cov-2-situation-report-12.pdf
https://www.oie.int/app/uploads/2022/05/sars-cov-2-situation-report-12.pdf
https://www.facebook.com/riscwellbeing/photos/pcb.2901063900156774/2901026033493894/?type=3&eid=ARAM8gNgfxDqQTz9LVFYaAewHk32BKebVDU5x451oeGu5FHgTkXWE8Yk9ONNsWsolYqMvyYAy2iYkpDp
National Research Council (US). Guide for the Care and Use of Laboratory Animals. 8th edition. Washington (DC): National Academies Press (US); 2011.
Mary Jordan, Amy E. Bauer, Judith L. Stella, Candace Croney. Perdue Extension: Temperature Requirement for Dog. Department of Comparative Pathobiology, College of Veterinary Medicine, 2016.
Australian Capital Territory, Animal Welfare (Animal Boarding Establishments) Code of Practice 2008