RISC

Knowledge Happiness Science

Happiness Science

สีสันของดอกไม้​ มีอิทธิพลต่อความรู้สึกมากกว่าที่เราคิด

โดย RISC | 1 สัปดาห์ที่แล้ว

“ดอกไม้” ในสายตาของใครหลายคนอาจจะมองว่าเป็นเพียงองค์ประกอบเล็กๆ ในธรรมชาติ พอบานแล้วก็ร่วงหล่น แต่จริงๆ แล้ว ดอกไม้กลับส่งผลต่อมนุษย์มากกว่านั้น ไม่เว้นแม้แต่เรื่องของ “จิตใจ”​ สีสันของดอกไม้ไม่ใช่เพียงแค่ความสวยงามน่าดึงดูดใจต่อมนุษย์และเหล่าสิ่งมีชีวิตเท่านั้น แต่ยังมีอิทธิพลต่อจิตใจของเราได้อีกด้วย นั่นก็เพราะ สีแต่ละสีสามารถกระตุ้นอารมณ์ ความรู้สึก และพฤติกรรมของเราได้ โดยผ่านกลไกการรับรู้ของสมองและระบบประสาท​ จากงานวิจัยด้านจิตวิทยาสี (Color Psychology) ชี้ให้เห็นว่า สีส่งผลโดยตรงต่ออารมณ์ของเราอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นผลจากกลไกการประมวลผลของสมองที่ตอบสนองต่อสีโดยอัตโนมัติ จากงานวิจัยพบว่า "สีโทนร้อน" อย่างสีแดง สีส้ม และสีเหลือง มักกระตุ้นความรู้สึกกระตือรือร้น ความสดใส และพลัง สีเหล่านี้มีคุณสมบัติในการดึงดูดสายตา และกระตุ้นอารมณ์ เช่น ความหลงใหล ความมั่นใจ และความสุข นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไม "ดอกกุหลาบสีแดง" จึงถูกใช้เป็น "สัญลักษณ์ของความรัก" มาอย่างยาวนาน​ ในทางตรงกันข้าม "สีโทนเย็น" อย่างสีน้ำเงิน สีเขียว สีม่วง รวมถึงสีขาว มักเชื่อมโยงกับความรู้สึกสงบ ผ่อนคลาย และเยียวยา สีเหล่านี้จึงมักถูกนำมาใช้ในสภาพแวดล้อมที่ต้องการลดความตึงเครียด หรือส่งเสริมความรู้สึกปลอดภัย และเป็นมิตรนั่นเอง​ การออกแบบพื้นที่สีเขียวอย่างใส่ใจ โดยการเลือกใช้พรรณไม้ และดอกไม้หลากสีสัน สามารถเป็นเครื่องมือสำคัญใน "การฟื้นฟูสุขภาวะทางจิตใจและร่างกาย" ผ่านการออกแบบสวนภายในบ้าน สนามเด็กเล่น หรือพื้นที่สาธารณะ การออกแบบบรรยากาศด้วยสีของดอกไม้ สามารถกระตุ้นพฤติกรรมเชิงบวก สร้างพื้นที่ปลอดภัยทางใจ และเชื่อมโยงผู้คนเข้าหากันได้ ช่วยเปลี่ยนบรรยากาศของสถานที่ และส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้คนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะสังคมเมืองในปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความเร่งรีบ และแรงกดดัน การมีพื้นที่ธรรมชาติเล็กๆ ที่ประกอบด้วยพืชพรรณหลากสี จึงช่วยเปลี่ยนอารมณ์ของผู้คนที่ได้ผ่านไปผ่านมาในวันนั้นให้ดีขึ้นได้​ เนื้อหาโดย คุณ กชกร รัตนมา นักวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ RISC ​ อ้างอิงข้อมูลจาก​Li, H., Zhang, X., Zhao, M., & Guo, S. (2023). Psychological and physiological responses to flower colors: Evidence from human experiments. Urban Forestry & Urban Greening, 80, 127871.​

131 viewer

Eye Tracking เทคโนโลยีสู่การออกแบบ "เมืองน่าอยู่" และ "เมืองปลอดภัย"

โดย RISC | 3 สัปดาห์ที่แล้ว

Eye Tracking System หรือเทคโนโลยีระบบการติดตามสายตา ที่เราได้พูดถึงไปแล้วในเรื่องของ Neuromarketing (อ่านเพิ่มเติมที่ https://bit.ly/40LGLjL) ซึ่งเราทราบกันดีว่าเทคโนโลยีนี้ เป็นที่นิยมอย่างมากในวงการงานวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมของคน วงการโฆษณาและสื่อดิจิตัล เพื่อหาจุดที่สนใจเป็นพิเศษ หรือจุดที่ผู้คนมักมองเป็นส่วนใหญ่ ช่วยให้ได้ข้อมูลเชิงลึกที่มากกว่าการทำแบบสอบถามทั่วไป เข้าใจพฤติกรรมการรับรู้แบบอัตโนมัติของคนเรา แม่นยำ และง่ายต่อการนำมาพัฒนาต่อยอดในผลิตภัณฑ์​ปัจจุบันเทคโนโลยีนี้เริ่มมีการนำมาใช้ในหลากหลายวงการมากขึ้น รวมถึงการออกแบบเมือง (City Design) ​การออกแบบเมือง (City Design) ก็คือการวางแผน และออกแบบพื้นที่ของเมืองเพื่อให้เกิดสมดุลระหว่างการใช้งานพื้นที่, โครงสร้างพื้นฐาน, สิ่งแวดล้อม, เศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตประชาชน โดยมีเป้าหมายเพื่อการสร้างเมืองที่ตอบโจทย์การใช้งานของผู้คน มีความน่าอยู่ มีประสิทธิภาพที่ดี และมีความยั่งยืน โดยการออกแบบเมืองมักใช้ผู้เชี่ยวชาญจากสาขาวิชาสถาปัตยกรรมในการออกแบบเมือง ทำงานร่วมกับวิศวกร และรัฐบาล  ​เมื่อการออกแบบเมืองแบบเดิม ที่เป็นการออกแบบสถาปัตยกรรมถูกนำมาใช้ร่วมกับเทคโนโลยียุคใหม่ที่ไม่คาดคิดว่าจะสามารถใช้งานร่วมกันได้มาก่อนอย่าง Eye Tracking System เรามาลองดูกันว่าจะเป็นอย่างไร?​การออกแบบเมือง ได้นำเทคโนโลยีนี้มาใช้เป็นเครื่องมือที่ช่วยในการออกแบบป้ายบอกทาง ผ่านการมอง เพื่อปรับปรุงการออกแบบ ให้มีสีสัน ตัวอักษร รวมไปถึงการสร้างจุดสนใจให้กับสถานที่นั้นๆ​ตัวอย่างที่น่าสนใจเป็นความร่วมมือจาก Institute for Transportation Development Policy (ITDP) ร่วมกับเมือง Chelsea ใน Suffolk City, Boston ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อดึงดูดความสนใจคนในเมืองให้สังเกตเห็นป้ายรถเมล์บริเวณนี้มากขึ้น โดยทางเมืองได้เพิ่มลวดลายดอกไม้สีสันสดใสในบริเวณหน้าป้ายรถเมล์และที่นั่ง หลังจากนั้นจึงใช้เทคโนโลยี Eye Tracking ติดตามสายตา เพื่อดูพฤติกรรมการมอง พบว่า ในภาพด้านล่างที่มีสี Highlight เขียว-เหลือง-แดง บ่งบอกว่าบริเวณนั้นของภาพมีคนมองจากน้อยไปจนถึงมาก​ เราจะเห็นเลยว่า เมื่อเพิ่มจุดเด่นด้วยสีสันและลายดอกไม้ขึ้นมาให้กับบริเวณป้ายรถเมล์ สามารถดึงดูดความสนใจของผู้คนให้รับรู้ถึงป้ายรถเมล์ และไปบริเวณนั้นได้มากขึ้น​นี่เป็นหนึ่งในตัวอย่างของการนำเทคโนโลยีจากศาสตร์ด้านพฤติกรรมมาประยุกต์ใช้ร่วมกับอีกศาสตร์ด้านการออกแบบเมือง นับเป็นการสร้างจุดแข็งของเทคโนโลยีสู่การนำมาใช้จริงได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สำหรับบทความถัดไปจะเป็นเรื่องอะไร? ฝากติดตามได้ที่เพจนี้​เนื้อหาโดย คุณ ณัฐภัทร ตันจริยภรณ์ นักวิจัยอาวุโส ปฏิบัติการเชื่อมต่อสมองกับคอมพิวเตอร์ RISC ​อ้างอิงข้อมูลจาก​Biometrics + Bus Stops: What Eye Tracking + Facial Expression Analysis Reveal | The Genetics of Design​

260 viewer

ธรรมชาติกับการพัฒนาการของเด็กและความสัมพันธ์ของครอบครัว

โดย RISC | 3 เดือนที่แล้ว

เชื่อว่าหากเลือกได้ ใครหลายคนคงเลือกที่จะอยู่อาศัยท่ามกลางพื้นที่ธรรมชาติ ที่ได้ใกล้ชิดทะเล ภูเขา น้ำตก ต้นไม้ หรือลำธารในทุกๆ วัน โดยไม่ต้องรอให้ถึงช่วงเวลาว่าง หรือวันหยุดยาว​เพราะการได้สัมผัสธรรมชาติ ใกล้ชิดพื้นที่สีเขียวมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งส่งผลดีต่อตัวเราทั้งทางสุขภาพกายและสุขภาพจิต ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย ลดความเครียด ความวิตกกังวล ลดภาวะซึมเศร้า อีกทั้งมีอายุยืนยาวมากขึ้น ลดโอกาสเสี่ยงของการเสียชีวิตจากโรคทางเดินหายใจและโรคมะเร็ง ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและเบาหวาน เสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกจากการได้รับแสงแดด รวมทั้งยังเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจากการสัมผัสจุลินทรีย์ในธรรมชาติ​ซึ่งที่ผ่านมามีงานวิจัยต่างๆ มากมายจากทั่วโลกที่สนับสนุนในเรื่องนี้ อย่างเช่น งานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน Oxford Academic ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า การอาศัยอยู่ในละแวกที่มีพื้นที่สีเขียวปกคลุมมากกว่าร้อยละ 20 จะช่วยลดอัตราความเครียดและภาวะซึมเศร้าลงได้ และหากอาศัยอยู่ในละแวกที่มีพื้นที่สีเขียวปกคลุมมากกว่าร้อยละ 30 จะสามารถช่วยลดอัตราการวิตกกังวลลงได้อีกด้วย จึงไม่น่าแปลกใจ ว่าทำไมเราถึงรู้สึกพึงพอใจต่อพื้นที่สีเขียว และรู้สึกโหยหาการใช้ชีวิตใกล้ชิดธรรมชาติ​พื้นที่สีเขียวเพียงแค่ได้มองเห็นก็ช่วยให้เราผ่อนคลายแล้ว และจะดีแค่ไหน? หากสมาชิกทุกคนในครอบครัวได้มีโอกาสทำกิจกรรม หรือใช้เวลาในพื้นที่ธรรมชาติร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการเดินเล่น ออกกำลังกาย หรือแม้แต่การนั่งเล่นพูดคุยแบ่งปันประสบการณ์ระหว่างกัน นับเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีได้อย่างไม่ยากเลย​โดยกิจกรรมห้ามพลาดที่แนะนำให้ชวนทุกคนในครอบครัวมาทำร่วมกัน เพื่อส่งเสริมทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิตที่ดี ได้แก่ กิจกรรมการทำสวน (Gardening) และกิจกรรมการเล่น (Play)​การทำสวน หรือปลูกต้นไม้ จะช่วยฝึกทักษะการเคลื่อนไหวควบคู่พัฒนาการของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ และมัดเล็กไปพร้อมๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นการขุดดิน พรวนดิน การดึงวัชพืช การเด็ดใบไม้ดอกไม้แห้ง การรดน้ำ นอกจากนี้ การทำสวนยังมีส่วนช่วยลดความเครียดได้เป็นอย่างดี โดยการทำสวนเพียง 30 นาที ก็สามารถช่วยลดระดับคอร์ติซอลจากระดับความเครียดสูง ลดลงสู่ระดับปกติได้​​ส่วนการเล่นนั้นมีประโยชน์กับคนทุกวัย นอกจากได้ในเรื่องความสนุกสนานแล้ว การเล่นก็ยังช่วยส่งเสริมพัฒนาการทั้งทางด้านร่างกาย ภาษา สติปัญญา ความคิดสร้างสรรค์ รวมทั้งการเข้าสังคม ซึ่งการเล่นในแต่ละรูปแบบ ก็จะส่งผลต่อพัฒนาการด้านต่างๆ ที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น​- Active Play: การวิ่งเล่น ปีนป่าย กระโดด กระดานลื่น ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อ ทักษะการเคลื่อนไหว และการทรงตัว​- Sensory Play: ฝึกการใช้ประสาทสัมผัสต่างๆ เช่น การศึกษาลักษณะรูปทรงสีสันที่แตกต่างกันของพันธุ์ไม้ แมลงหลากสายพันธุ์ ฟังเสียงน้ำไหล ใบไม้ไหว เสียงนกบรรเลงเพลง การเก็บความสวยงามของธรรมชาติด้วยการถ่ายรูป หรือวาดรูป​- Social Play: การล้อมวงคุยกัน หรือการเล่นแบบกลุ่ม เป็นการสร้างทักษะการอยู่ร่วมกัน และการเข้าสังคม ​- Passive Play: การเดินเล่น นั่งเล่น ไกวเปล หรือเล่นกิจกรรมเบาๆ พักเหนื่อยจากการเล่นอื่นๆ และหากได้มีการพูดคุยกันระหว่างกิจกรรมก็จะช่วยฝึกทักษะการเข้าสังคม ร่วมด้วย​หากพื้นที่อยู่อาศัยของเรานั้นถูกแวดล้อมไปด้วยพื้นที่สีเขียวโดยรอบที่เอื้อให้เกิดกิจกรรมทางเลือกต่างๆ นับเป็นความโชคดีอย่างมาก เพราะการได้อยู่อาศัยใกล้ชิดธรรมชาติในทุกวัน และมีกิจกรรมครอบครัวร่วมกัน เป็นการช่วยเสริมสร้างพัฒนาการของเด็กตามวัย เสริมสร้างความแข็งแรงให้กับทุกคนทุกวัย ลดการเสื่อมถอยของร่างกายผู้สูงวัย ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต ลดความวิตกกังวลและความเครียด และเมื่อทุกคนในครอบครัวมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีแล้ว ผลลัพธ์ที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือ ครอบครัวมีความเข้าใจกันมากขึ้นจากการได้บอกเล่า และรับฟัง เห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน ความสัมพันธ์ภายในครอบครัวแน่นแฟ้น และมีความสุขมากขึ้นได้อีกด้วย​เนื้อหาโดย คุณ สริธร อมรจารุชิต ผู้ช่วยผู้อำนวยการ RISC​อ้างอิงข้อมูลจาก​Beyer, K. M., et al., Exposure to Neighborhood Green Space and Mental Health: Evidence from the Survey of the Health of Wisconsin, 2014.​Cox, D. T. C., et al., Doses of Neighborhood Nature: The Benefits for Mental Health of Living with Nature. Bioscience, 2017.​Elizabeth Pegg Frates, Time spent in green places linked with longer life in women, 2017.​James P, Hart JE, Banay RF, Laden F, Exposure to Greenness and Mortality in a Nationwide Prospective Cohort Study of Women, 2016.​Maureen Bennie, How Does Your Garden Grow? Mental Health, Wellness & Skills Development Through Gardening, 2020.​Rook, G.A.W. Regulation of the immune system by biodiversity from the natural environment: an ecosystem service essential to health, 2013.​Soga, M., et al., Health benefits of urban allotment gardening: improved physical and psychological well-being and social integration. International Journal of Environmental Research and Public Health, 2017.​Van Den Berg, A. E., & Custers, M. H., Gardening promotes neuroendocrine and affective restoration from stress. Journal of Health Psychology, 2011.​

584 viewer

Quality Time ของครอบครัว ส่งเสริม Quality of Life

โดย RISC | 4 เดือนที่แล้ว

ผ่านพ้นเทศกาลเฉลิมฉลองปีใหม่ หลายท่านคงได้มีโอกาสใช้เวลาร่วมกับครอบครัว และคนที่เรารักอย่างเต็มที่ ถึงแม้เป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ แต่เป็นช่วงเวลาแห่งความสุขที่เราทุกคนตั้งตาเฝ้ารอในทุกๆ ปี​เราทุกคนอาจให้คุณค่ากับ “คุณภาพ” มากกว่า “ปริมาณ” รวมทั้งในมิติของเวลาด้วย เพราะการใช้เวลาอย่างมีคุณภาพ (Quality Time) นั้นให้ประสิทธิภาพที่ดีมากกว่าเวลาทั้งหมด (Quantity Time) ที่ถูกใช้ไป แต่อย่างไรก็ตาม หากเราสามารถจัดสรรเวลาให้มีจำนวนชั่วโมงที่ทำให้เราอยู่ร่วมกันเพิ่มมากขึ้น ก็ย่อมสร้างโอกาสสำหรับช่วงเวลาดีๆ ที่มีคุณภาพกับครอบครัวมากขึ้นด้วยเช่นกัน​ครอบครัวที่อบอุ่น เข้มแข็ง มีความสัมพันธ์อันดี จะสามารถรักษาสมดุลระหว่าง "มากเกินไป" กับ "ไม่เพียงพอ" ในการใช้เวลาร่วมกันได้ การรับประทานอาหารหรือทำอาหารร่วมกัน การนั่งเล่นพูดคุยแบ่งปันประสบการณ์ที่พบเจอในแต่ละวัน การเดินเล่นหรือออกกำลังกายด้วยกัน หรือแม้แต่การช่วยกันทำงานบ้าน ล้วนเป็นตัวอย่างของกิจกรรมครอบครัวที่สามารถทำได้ในทุกวัน อีกทั้งลูกๆ จะเรียนรู้การสร้างสมดุลในชีวิต เมื่อพวกเขาเห็นพ่อแม่จัดสรรเวลาให้กับครอบครัวได้ดีเป็นตัวอย่าง​การได้ใช้เวลาร่วมกับพ่อแม่มีความสำคัญอย่างมากต่อความเป็นอยู่ที่ดีของวัยรุ่น ส่งผลต่อการมีทักษะทางสังคมที่ดีกับผู้อื่น เช่น ทักษะการสนทนา ทักษะการสร้างมิตรภาพ หรือทักษะการจัดการอารมณ์ อีกทั้งการใช้เวลาร่วมกับพ่อแม่ตามลำพังจะช่วยส่งเสริมความภาคภูมิใจในตนเองได้อีกด้วย​นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างปู่ ย่า ตา ยาย และหลาน มักชี้ให้เห็นถึงสายสัมพันธ์ครอบครัวที่แข็งแกร่ง การดูแลลูกหลานสามารถลดความเสี่ยงของความเหงา ผู้สูงอายุจะรู้สึกได้รับความไว้วางใจ อีกทั้งช่วยลดอาการซึมเศร้าในคนทั้งสองวัยได้เป็นอย่างดี ซึ่งตรงกับผลการศึกษาวิจัยจาก Boston College ที่รวบรวมข้อมูลจากปู่ ย่า ตา ยาย จำนวน 374 คน และหลานที่เป็นผู้ใหญ่จำนวน 356 คน ตลอดระยะเวลา 19 ปี (ค.ศ. 1985-2004)​แต่ด้วยภาระหน้าที่การงานที่ต้องรับผิดชอบ และด้วยวิถีชีวิตคนเมืองในปัจจุบัน ที่ไม่อาจส่งเสริมให้เราอยู่ร่วมกันแบบครอบครัวใหญ่เหมือนเดิมได้ การได้พบหน้า หรือทำกิจกรรมร่วมกันจึงเกิดขึ้นไม่บ่อยครั้งเท่าที่ควร ช่วงเทศกาลหรือวันสำคัญต่างๆ จึงนับเป็นช่วงเวลาพิเศษที่จะได้แสดงความรัก ความห่วงใย การดูแลเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน เสมือนได้รับการบำบัดจากครอบครัว (Family Therapy) เพื่อให้เราได้ชาร์จพลังให้แก่กัน เสริมแรงใจในการต่อสู้ต่อไป​สำหรับครอบครัวใดที่มีโอกาสอยู่พร้อมหน้ากัน หรือได้พบปะกันอย่างสม่ำเสมออยู่แล้ว คงจะเป็นการดีมากหากพื้นที่บ้านของเราเอื้อให้เกิดช่วงเวลาคุณภาพกับครอบครัวได้มากขึ้น ส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมร่วมกัน และเสริมสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันโดยไม่ลดทอนความเป็นส่วนตัว และจะยิ่งดีมากขึ้นไปอีก หากครอบครัวได้ใช้ช่วงเวลาที่มีคุณภาพด้วยกันในพื้นที่ใกล้ชิดธรรมชาติ เช่น สวนภายในบ้าน สวนหย่อมในพื้นที่ส่วนกลาง หรือสวนสาธารณะต่างๆ ซึ่งเป็นการช่วยลดความเครียดและความเหนื่อยล้า กระตุ้นให้เด็กและผู้สูงอายุได้เคลื่อนไหวร่างกาย ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการให้กับเด็กๆ จากการที่ได้เล่นและเรียนรู้ธรรมชาติไปพร้อมกัน​แม้เทศกาลปีใหม่สิ้นสุดแล้ว แต่โอกาสสำคัญยังมีอีกตลอดทั้งปี ขอให้ทุกครอบครัวได้ใช้เวลาร่วมกันในวันเด็กที่จะถึงนี้ อย่างมีคุณภาพ​เนื้อหาโดย คุณ สริธร อมรจารุชิต ผู้ช่วยผู้อำนวยการ RISC ​อ้างอิงข้อมูลจาก​Ami Albernaz, The Boston Globe (December 14, 2015).​Danielle Cohen. Child Mind Institute (November 13, 2024).​Susan McHale, Penn State Social Science Research Institute (August 21, 2012).​Suzanne Pish, Michigan State University Extension (June 15, 2013).

645 viewer

Neuromarketing กับการใช้เทคโนโลยีตรวจจับอารมณ์ผ่านใบหน้า เพื่องานการตลาด

โดย RISC | 6 เดือนที่แล้ว

จากโพสต์ที่แล้วเราได้รู้จัก "Neuromarketing" หรือการตลาดประสาทวิทยา (อ่านคอนเทนต์นี้ได้ https://bit.ly/40LGLjL) กันไปบ้างแล้ว ซึ่งนอกเหนือจากวิธีการติดตามการเคลื่อนไหวของดวงตา (Eye Tracking) และการวัดการตอบสนองทางผิวหนัง (GSR) แล้ว ก็ยังมีเทคโนโลยีที่นำมาใช้ที่น่าสนใจอีก อย่างเช่น การตรวจจับอารมณ์ทางสีหน้า​การตรวจจับอารมณ์ทางสีหน้ายังเป็นอีกหนึ่งวิธีในการทำความเข้าใจความรู้สึกของลูกค้าได้อย่างลึกซึ้ง โดยที่บางอารมณ์อาจไม่สามารถสื่อได้ผ่านคำพูดหรือการทำแบบสอบถาม ซึ่งเทคนิคสำคัญในการตรวจจับอารมณ์ผ่านใบหน้า ก็มีตั้งแต่...​การวิเคราะห์การเคลื่อนไหวของจุดสำคัญบนใบหน้า (Action Units: AU)​Facial Action Coding System (FACS) ได้จำแนกการเคลื่อนไหวของใบหน้าออกเป็นหน่วย "Action Units" หรือการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อที่แตกต่างกัน เช่น การยกคิ้ว (AU1) หรือการหรี่ตา (AU7) ซึ่งการเคลื่อนไหวเหล่านี้จะช่วยให้ตีความอารมณ์ได้ละเอียด และแม่นยำมากขึ้น อย่างเช่น การขมวดคิ้วอาจบ่งบอกถึงความสับสน ในขณะที่การยกแก้ม และยิ้มแสดงถึงความสุข​การใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligent: AI)​ด้วยความก้าวหน้าของ AI การใช้โครงข่ายประสาทเทียมแบบ Convolutional Neural Networks (CNNs) จะช่วยให้การตรวจจับอารมณ์มีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น โดย CNNs จะผ่านการเรียนรู้ข้อมูลใบหน้าจากกลุ่มคนที่หลากหลายที่มีการแสดงทางอารมณ์ที่มากมายและซับซ้อน ซึ่งสามารถระบุอารมณ์ได้อย่างแม่นยำ แม้ในสภาพแสงและความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่ต่างกัน​แล้วการนำเทคโนโลยีตรวจจับอารมณ์ผ่านใบหน้าไปใช้ใน Neuromarketing นั้น โดยหลักๆ จะใช้ในด้านใดบ้าง?​- การประเมินอารมณ์ในงานอีเวนต์: การตรวจจับอารมณ์ใบหน้าเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ในการติดตามอารมณ์ของผู้ชมในงานอีเวนต์ได้เป็นอย่างดี เพื่อให้ผู้จัดงานรับรู้ถึงความพึงพอใจ และระดับการมีส่วนร่วมของผู้เข้าร่วมแบบเรียลไทม์ โดยข้อมูลเหล่านี้มีค่าอย่างยิ่งในอีเวนต์ขนาดใหญ่ เพราะการสำรวจความคิดเห็นแบบรายบุคคลทำได้ยาก​- การตอบสนอง และปรับปรุงโฆษณา: ในการทดสอบโฆษณา ผู้ประกอบการสามารถใช้การตรวจจับอารมณ์ใบหน้าเพื่อตรวจสอบการตอบสนองทางอารมณ์ต่อแคมเปญใหม่ๆ หากผู้ชมแสดงอารมณ์ความสุข ความประหลาดใจ หรือความไม่สนใจ สามารถปรับปรุงโฆษณา เพื่อเพิ่มอารมณ์เชิงบวก และลดอารมณ์เชิงลบได้​- การออกแบบผลิตภัณฑ์ให้น่าดึงดูด: เมื่อมีการเปิดตัวบรรจุภัณฑ์หรือคุณสมบัติใหม่ สามารถใช้การตรวจจับอารมณ์ใบหน้าเพื่อประเมินการตอบสนองทางอารมณ์ตั้งแต่แรกเห็น โดยการปรับปรุงการออกแบบ สี หรือข้อความตามอารมณ์ของกลุ่มลูกค้าที่แตกต่างกัน ซึ่งหากบรรจุภัณฑ์สามารถสร้างอารมณ์ และความรู้สึกที่ดี ย่อมเพิ่มโอกาสในการดึงดูดลูกค้า​- การวัดความสนใจ และปรับปรุงร้านค้า: การเข้าใจการแสดงออกทางสีหน้าของลูกค้าในร้านค้าสามารถช่วยสร้างประสบการณ์การเลือกซื้อสินค้าที่ก่อให้เกิดอารมณ์เชิงบวก โดยข้อมูลจากการตรวจจับใบหน้าช่วยบอกว่าบริเวณใดของร้านค้าทำให้ลูกค้ารู้สึกสนใจ หรือสับสน เพื่อให้สามารถปรับปรุงการจัดวางได้​แม้การตรวจจับอารมณ์จะเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ แต่ก็มีข้อจำกัดในเรื่องความเป็นส่วนตัว เนื่องจากเทคโนโลยีการตรวจจับอารมณ์ใบหน้าเป็นการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความอ่อนไหว บริษัทควรขอการยินยอมจากผู้ใช้อย่างชัดเจน และมีความโปร่งใสในการใช้งานข้อมูล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในผู้บริโภค นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงถึงการแสดงทางอารมณ์ที่มีความแตกต่างกันในแต่ละวัฒนธรรม และข้อจำกัดทางเทคโนโลยี เช่น แสงสว่าง คุณภาพของกล้อง และสิ่งที่บดบังใบหน้า เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำที่สุด​ในโลกที่การตัดสินใจส่วนใหญ่มาจากอารมณ์ การตรวจจับอารมณ์ผ่านทางสีหน้าจึงเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงวงการ Neuromarketing ช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าใจความรู้สึกของผู้บริโภคได้ ทำให้สามารถปรับปรุงกลยุทธ์ทางการตลาดให้เข้าถึงอารมณ์ที่แท้จริงของผู้บริโภค ซึ่งมีหลายหลายกลุ่มได้อย่างเหมาะสม และมีประสิทธิภาพ​หากบุคคล หน่วยงาน หรือองค์กรใด สนใจในการทำ Neuromarketing สามารถติดต่อ RISC ได้ที่ ​RISC FB: https://www.facebook.com/riscwellbeing  ​หรือ RISC LINE Official: risc_center ​----------------------------------------------------​เนื้อหาโดย คุณ สิทธา ปรีดาภิรัตน์ นักวิจัยอาวุโส ปฏิบัติการเชื่อมต่อสมองกับคอมพิวเตอร์ Happiness Science Hub, RISC​

852 viewer

Neuromarketing คืออะไร?​ ช่วยคุณเพิ่มยอดขายได้อย่างไร?

โดย RISC | 6 เดือนที่แล้ว

ปัจจุบัน หลายๆ บริษัทได้ให้ความสำคัญในการลงทุนกับการตลาด (Marketing) มากขึ้น เพื่อที่จะกระตุ้นให้ยอดขายเป็นไปตามเป้า นำมาซึ่งรายได้เข้าสู่บริษัท​ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวไปไกล ทำให้มีการนำเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ มาใช้ในการทำการตลาด เพื่อใช้ศึกษาความคิด ความรู้สึก ความสนใจของลูกค้า เมื่อเห็นสินค้า โฆษณา หรือป้ายข้อมูลต่างๆ รวมถึงการตัดสินใจซื้อสินค้า ซึ่งวันนี้เราจะมาทำความรู้จักเครื่องมือและศาสตร์ที่ว่านั้นกัน นั่นก็คือ “Neuromarketing”​Neuromarketing เป็นศาสตร์ที่เกิดจากการรวมกันของคำว่า Neuroscience กับ Marketing โดยมีจุดมุ่งหมายในการใช้องค์ความรู้และเครื่องมือที่ใช้ศึกษาด้านประสาทวิทยาศาสตร์ (Neuroscience) ร่วมกับ จิตวิทยา (Psychology) ในมนุษย์มาใช้กับงานที่เป็น Marketing เพื่อพัฒนาคุณภาพการสื่อสารด้านการตลาดให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย และตอบโจทย์ Campaign ที่ทีมการตลาดพัฒนาขึ้น เช่น การออกแบบ Packaging ของผลิตภัณฑ์, Poster, โฆษณาบนโทรทัศน์ หรือสื่อออนไลน์, Billboard ต่างๆ, Website โดยทำการศึกษาจิตวิทยาเพื่อหาตำแหน่งการวางสินค้าบนชั้นวางสินค้า, ตำแหน่งป้าย Billboard ที่คนจะมองเห็นได้ชัดเจน และอ่านได้ทันในจุดที่ต้องการสื่อสารหลัก หรือแม้แต่การออกแบบเส้นทางการเดินการชมของลูกค้าในห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ซึ่งนอกจากตัวอย่างเหล่านี้ ก็ยังมีการนำ Neuromarketing ไปใช้ในหมวดอื่นๆ อีกมากมาย​Neuromarketing นับเป็นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ จึงมีการนำเครื่องมือหลายรูปแบบเพื่อใช้ทำความเข้าใจ ความรู้สึก และความสนใจ อย่างเช่น การใช้ Eye-tracking เครื่องมือติดตามสายตา นำมาใช้เพื่อพิจารณาว่าลูกค้ากำลังสนใจอะไร อ่านอะไร ดูอะไรบนผลิตภัณฑ์ หรือโฆษณาที่พัฒนาขึ้นมา โดยตัว Eye-tracking สามารถอ่านค่าได้ 2 รูปแบบ คือ...​ การดูแบบ Heatmap ส่วนนี้จะเห็นภาพรวมของการมองในโฆษณา ผลิตภัณฑ์ พื้นที่ร้าน โปสเตอร์ และอื่นๆ​ การดูแบบ Gaze Plot ส่วนนี้เป็นการดูลำดับ และระยะเวลาของการมอง ทำให้เรารู้ได้ว่าความสนใจของลูกค้าแบบอัตโนมัตินั้นเป็นอย่างไร เราจะนำความเข้าใจนี้ไปปรับใช้กับการออกแบบและวางตำแหน่งสินค้าต่อไปได้​ อีกตัวอย่างที่นิยมมากเช่นกัน ก็คือ Galvanic Skin Response (GSR) เป็นเครื่องมือที่ใช้วัดความต้านทานบนผิวหนัง ซึ่งโดยปกติแล้ว เมื่อร่างกายของมนุษย์มีความเครียดเกิดขึ้น ผิวหนังของเราก็จะมีความต้านทานเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย เพราะร่างกายจะมีการขับเหงื่อออกมา โดย GSR นี้นิยมใช้ในโฆษณาวิดีโอ เรื่องสั้น หรือภาพยนตร์ เพื่อวิเคราะห์ว่า ขณะที่ผู้ชมกำลังชมอยู่นั้น มีอารมณ์ผ่อนคลาย หรือตึงเครียดมากขึ้นในช่วงไหนของโฆษณาบ้าง และตรงตามวัตถุประสงค์ของโฆษณา หรือวิดีโอนั้นๆ หรือไม่​คิดว่าทุกคนคงได้รู้จักศาสตร์ Neuromarketing ที่น่าจะเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มยอดขายได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ สำหรับในครั้งต่อไป เราจะมาเจาะลึกรายละเอียดของ Neuromarketing กันต่อ ติดตามได้ที่เพจของ RISC​หากบุคคล หน่วยงาน หรือองค์กรใด สนใจในการทำ Neuromarketing สามารถติดต่อ RISC ได้ที่​RISC FB: https://www.facebook.com/riscwellbeing ​หรือ RISC LINE Official: risc_center ​เนื้อหาโดย คุณ ณัฐภัทร ตันจริยภรณ์ นักวิจัยอาวุโส ปฏิบัติการเชื่อมต่อสมองกับคอมพิวเตอร์ RISC​

1046 viewer

ทำไม "แสงแดด" ถึงสำคัญต่อเรา?​

โดย RISC | 7 เดือนที่แล้ว

อย่างที่เรารู้กัน “แสงแดด” มีความสำคัญต่อต้นไม้เป็นอย่างมาก และเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการการผลิตอาหารจากการสังเคราะห์แสงนั่นเอง แน่นอนว่าถ้าต้นไม้ไม่ได้รับแสงแดด มันจะมีชีวิตอยู่ต่อไปไม่ได้ และเฉาตายไปในท้ายที่สุด​ส่วนมนุษย์นั้น การขาดแสงแดดแม้จะไม่อันตรายต่อชีวิตอย่างต้นไม้ แต่เราก็อาจจะเฉาได้เหมือนกัน เพราะอะไรนั้น? เราจะมาหาคำตอบกัน​โดยปกติ มนุษย์เราจะนอนตอนกลางคืนแล้วตื่นขึ้นมาในตอนเช้าของทุกวัน เพราะภายในร่างกายของเรานั้น มีฮอร์โมนตัวหนึ่งที่ชื่อว่า เมลาโทนิน (Melatonin) ซึ่งมีหน้าที่สำคัญในการควบคุมวงจรการนอนหลับของเรา ควบคุมให้เราได้นอน ร่างกายได้พักผ่อนในเวลากลางคืน และตื่นเช้าขึ้นมาอย่างสดใส โดยใช้แสงเป็นตัวแปรสำคัญในกระบวนการนี้ วิธีการก็คือ ช่วงเวลากลางคืนร่างกายจะหลั่งเมลาโทนินออกมามากขึ้นเรื่อยๆ จากต่อมไพเนียล (Pineal Gland) เมื่อร่างกายมีฮอร์โมนตัวนี้มากขึ้น ร่างกายของเราก็จะรู้สึกง่วงนอนมากขึ้น แต่เมื่อพระอาทิตย์เริ่มขึ้นช่วงเวลาเช้าตรู่ ร่างกายได้รับแสงแดด ฮอร์โมนเมลาโทนินก็จะลดต่ำลง ทำให้เราตื่นตัว และพร้อมทำกิจกรรมต่างๆ ตลอดทั้งวัน​จากกระบวนการร่างกายที่เล่ามาเรียกว่า "นาฬิกาชีวภาพ (Circadian Rhythm)" ซึ่งเป็นการทำงานของร่างกายตามเวลาชีวภาพโดยจะสอดคล้องกับช่วงเวลากลางวัน - กลางคืนพอดิบพอดี ซึ่งนอกจากจะมีเมลาโทนินเป็นสมาชิกแล้ว ยังมีฮอร์โมนอื่นๆ อีกที่ทำงานตามเวลาที่ร่างกายรับรู้ เช่น ระดับคอร์ติซอลที่จะค่อยๆ เพิ่มขึ้นตลอดทั้งวัน ช่วยให้ร่างกายสามารถตื่นตัวได้ตลอดวัน, ฮอร์โมนเซโรโทนิน ที่ช่วยควบคุมเรื่องของอารมณ์ หรือกระบวนการย่อยอาหารที่เหมือนจะรู้ดีว่า เวลาไหนเป็นเวลาที่เราต้องรับประทานอาหารแล้ว​ถ้าเราไม่ได้เจอแสงแดดเป็นเวลานานๆ จะเกิดอะไรขึ้น?​ผลกระทบหลักคือ ร่างกายก็จะมีการทำงานที่ผิดเพี้ยนไป เพราะไม่มีแสงแดดค่อยช่วยให้ร่างกายรับรู้เวลาที่ถูกต้อง หรือก็คือ เมลาโทนินที่ควรจะหลั่งตอนกลางคืนก็จะไม่หลั่ง คอร์ติซอลตอนกลางวันก็จะไม่มา ถึงเวลาที่ต้องนอนเราก็จะไม่ง่วง แล้วตอนกลางวันเราก็จะกลับง่วงซึมตลอดเวลาแทน นอกจากนี้ระบบย่อยอาหาร ระบบขับถ่ายก็จะรวนไปหมด ทำให้การทำงานของระบบร่างกายไม่สอดคล้องกับช่วงเวลาของวัน เช่น รู้สึกหิวมากในช่วงกลางดึก หรือไม่หิวเลยในเวลากลางวัน ทำให้เป็นต้นตอของปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย​นอกจากผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อร่างกายแล้ว ด้านจิตใจเองก็มีผลกระทบด้วยเหมือนกัน โดยประเทศแถบยุโรปจะมีช่วงเวลากลางคืนยาวนานกว่าช่วงกลางวันในช่วงฤดูหนาวนั้น ทำให้มีอาการซึมเศร้าที่เรียกว่า Seasonal Affective Disorder (SAD) หรือซึมเศร้าตามฤดูกาล ซึ่งมีต้นเหตุมาจากการไม่ได้รับแสงแดดในช่วงเวลากลางวันนั่นเอง แถมยังอยู่ในอากาศที่เย็นตลอดเวลา ทำให้ระดับเซโรโทนินลดลง รู้สึกซึมเศร้า และหงุดหงิดได้ง่ายขึ้น​นี่แหละ!! ความสำคัญของแสงแดดที่ผู้คนมักจะมองข้าม หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ให้ทุกคนหาเวลาไปโดนแสงแดดบ้าง สร้างความตื่นตัว และช่วยให้เรามีแรงทำกิจกรรมตลอดทั้งวัน​เนื้อหาโดย คุณ ณัฐภัทร ตันจริยภรณ์ นักวิจัยอาวุโส ปฏิบัติการเชื่อมต่อสมองกับคอมพิวเตอร์ RISC​อ้างอิงข้อมูลจาก​1. The Impact of Sleep and Circadian Disturbance on Hormones and Metabolism​2. Circadian Rhythms and Hormonal Homeostasis: Pathophysiological Implications​3. Circadian rhythm disruption and mental health​4. The Impact of Sleep and Circadian Disturbance on Hormones and Metabolism​

1163 viewer

เสียงน้ำ สายฝน มีผลต่ออารมณ์ของเราอย่างไร?

โดย RISC | 9 เดือนที่แล้ว

สายฝนที่โปรยปรายกระทบหน้าต่าง เสียงหยดน้ำที่กระทบพื้นเป็นจังหวะ กลิ่นหอมสดชื่นของดินที่ลอยอยู่ในอากาศ สิ่งเหล่านี้เป็นความรู้สึกดีๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงหน้าฝน แต่...เราเคยสงสัยมั้ยว่าเพราะอะไร?​ประสบการณ์ทางประสาทสัมผัสเหล่านี้มีอิทธิพลอย่างมากต่ออารมณ์และความเป็นอยู่ของเรา แม้บางคนจะมองว่าฝนเป็นอุปสรรคต่อกิจวัตรประจำวัน ทำให้เกิดความล่าช้าและความไม่สะดวกสบาย หรือเชื่อมโยงกับความรู้สึกเศร้า ตามบทความก่อนหน้านี้ที่เน้นการพูดถึงประสาทสัมผัส "การมองเห็น" เป็นหลัก ฝนตกทำให้ท้องฟ้ามืดครึ้ม แสงแดดน้อย ส่งผลต่อสารเซโรโทนินไม่สมดุล รู้สึกเศร้าได้ (อ่านเพิ่มเติมที่ https://www.risc.in.th/knowledge/does-the-rain-make-you-lonely) แต่มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ระบุว่า จริงๆ แล้วฝนมีผลเชิงบวกมากมายต่อสุขภาพจิตและร่างกายของเรา​วันนี้เรามาสำรวจกันว่าฝนส่งผลต่อเราได้อย่างไร โดยเน้นไปที่ประสบการณ์ทางประสาทสัมผัสของกลิ่นและเสียง กันดูบ้าง รวมทั้งประโยชน์ที่ตามมา​เรามาเริ่มที่ "กลิ่น" กันก่อน...หลายคนคงคุ้นเคยกับกลิ่นสดชื่นของฝนหรือกลิ่นไอดินที่ลอยขึ้นมาจากผิวดิน กลิ่นนี้เราเรียกว่า "เพทริเคอร์" (Petrichor) ซึ่งค้นพบโดยนักวิทยาศาสตร์ชาวออสเตรเลียในปี ค.ศ. 1964 โดยเพทริเคอร์มีส่วนประกอบสำคัญ คือ โอโซน จีโอสมิน (Geosmin) และน้ำมันของพืชบางชนิด จีโอสมินเกิดจากจุลินทรีย์ในดินที่ชื่อว่า สเตรปโตมัยซีส (Streptomyces) เมื่อฝนตกลงมากระทบพื้นดิน สปอร์ของแบคทีเรียและโมเลกุลของจีโอสมินจะลอยขึ้นไปในอากาศ ทำให้เรารับรู้ถึงกลิ่นนี้ นอกจากนี้ น้ำมันของพืชที่ผลิตในช่วงฤดูแล้งก็จะถูกปลดปล่อยสู่อากาศด้วยเช่นกัน จากการศึกษาพบว่า กลิ่นฝนนี้สามารถกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกสงบ ลดความเครียด และส่งเสริมการผ่อนคลาย ทำให้เรารู้สึกเชื่อมโยงกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น​ในส่วนของ "เสียง" เสียงฝนมีผลดีต่อความเป็นอยู่ของเรา เนื่องจากเสียงฝนมักจะมีจังหวะ ท่วงทำนอง และความถี่ที่สม่ำเสมอ ซึ่งจัดอยู่ในประเภทเสียงรบกวนที่มีความถี่เฉพาะ เช่น เสียงสีชมพู (Pink Noise) หรือเสียงสีขาว (White Noise) เสียงเหล่านี้จะช่วยกลบเสียงรบกวนจากสิ่งแวดล้อม ทำให้เรามุ่งความสนใจไปที่ช่วงเวลาปัจจุบันได้ มีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่า การฟังเสียงธรรมชาติ เช่น เสียงฝน จะสามารถเพิ่มสมาธิ ลดความเครียด และความวิตกกังวลลงได้ และยังเสริมสร้างความสงบ ความผ่อนคลายที่เอื้อต่อการนอนหลับอีกด้วย​มีศิลปิน นักเขียน และนักดนตรีหลายคนค้นพบแรงบันดาลใจท่ามกลางสายฝน เนื่องจากเสียงฝนช่วยปลดล็อกความคิดสร้างสรรค์ และให้สมาธิ นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาพบว่า การฟังเสียงฝนขณะแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ จะช่วยลดเวลาในการคำนวณ และเพิ่มประสิทธิภาพการคำนวณได้ดีกว่าสภาพแวดล้อมที่เงียบ ซึ่งบ่งชี้ได้ว่าเสียงฝนช่วยขจัดสิ่งรบกวนจากภายนอก เพิ่มความจดจ่อ และส่งเสริมการทำงานของสมองอีกด้วย​ไม่เพียงแค่นั้น ฝนยังส่งผลต่อ "ประสาทสัมผัสทางผิวกาย" สร้าง "การรับรู้และประสิทธิภาพการทำงาน" เนื่องจากฝนมีแนวโน้มที่จะทำให้อุณหภูมิเย็นลง ซึ่งจากงานวิจัยพบว่า อุณหภูมิที่สูงเกินไป (มากกว่า 32.22 องศาเซลเซียส) หรือเย็นเกินไป (น้อยกว่า 10 องศาเซลเซียส) มีส่วนทำให้ประสิทธิภาพของสมองในการประมวลผลข้อมูลและการตัดสินใจลดลง อุณหภูมิเย็นๆ ถึงปานกลางที่เกิดจากฝนจึงเหมาะสมในการทำงาน สามารถเพิ่มความคิดสร้างสรรค์และความสามารถในการแก้ปัญหาได้​เราจะเห็นได้ว่า ทั้งหมดนั้นล้วนส่งผลกับร่างกายและความรู้สึกของเรา ฝนไม่ได้เป็นเพียงแค่ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ แต่ยังเป็นแหล่งที่มาของแรงบันดาลใจ และการผ่อนคลายอีกด้วย ช่วงหน้าฝนนี้จึงอยากเชิญให้ทุกคนลองสัมผัสถึงประสบการณ์ดีๆ และสิ่งดีๆ ที่เราจะได้รับจากฝนกันดูนะ​เนื้อหาโดย คุณ สิทธา ปรีดาภิรัตน์ นักวิจัยอาวุโส ปฏิบัติการเชื่อมต่อสมองกับคอมพิวเตอร์ Happiness Science Hub, RISC ​อ้างอิงข้อมูลจาก : ​1. https://www.bbc.com/news/science-environment-44904298​2. Amiri, M. J., Sadeghi, T., & Bonabi, T. N. (2017). The effect of natural sounds on the anxiety of patients undergoing coronary artery bypass graft surgery. Perioperative Medicine, 6(1). https://doi.org/10.1186/s13741-017-0074-3​3. Bentley, P. R., Fisher, J. C., Dallimer, M., Fish, R. D., Austen, G. E., Irvine, K. N., & Davies, Z. G. (2022). Nature, smells, and human wellbeing. Ambio, 52(1), 1–14. https://doi.org/10.1007/s13280-022-01760-w​4. Pilcher, J. J., Nadler, E., & Busch, C. (2002). Effects of hot and cold temperature exposure on performance: a meta-analytic review. Ergonomics, 45(10), 682–698. https://doi.org/10.1080/00140130210158419​5. Proverbio, A. M., De Benedetto, F., Ferrari, M. V., & Ferrarini, G. (2018). When listening to rain sounds boosts arithmetic ability. PloS One, 13(2), e0192296. https://doi.org/10.1371/journal.pone.0192296​6. Yoon, H., & Baek, H. J. (2022). External Auditory Stimulation as a Non-Pharmacological Sleep Aid. Sensors, 22(3), 1264. https://doi.org/10.3390/s22031264​

2076 viewer

"ฝนตก" ทำให้คนเหงา จริงหรือคิดไปเอง?

โดย RISC | 9 เดือนที่แล้ว

เคยสงสัยกันมั้ย? ว่าทำไมพอเข้าหน้าฝนแล้ว เรามักจะรู้สึกเหงากว่าช่วงหน้าร้อน​สาเหตุเป็นเพราะอะไร...มาหาคำตอบไปพร้อมๆ กัน...!!​หากใครที่รู้สึกเหงาและเศร้าเวลาฝนตก หรือรู้สึกขี้เกียจกว่าปกติ ขอบอกเลยว่าไม่ได้คิดไปเองแน่นอน เพราะสภาพอากาศนั้นส่งผลต่ออารมณ์ของเราได้จริง แต่ความรู้สึกนี้อาจไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน และอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นทุกครั้งที่ฝนตก บางคนก็อาจส่งผลให้เกิดภาวะซึมเศร้าที่เรียกว่า ภาวะซึมเศร้าตามฤดูกาล หรือ (Seasonal Affective Disorder: SAD) ได้เลย​ปัจจุบันมีงานวิจัยที่เกี่ยวกับผลกระทบของสภาพอากาศที่ส่งผลต่ออารมณ์ของมนุษย์ออกมามากมาย ซึ่งได้มีการระบุเอาไว้ว่า ปัจจัยของแสงอาทิตย์นั้นส่งผลต่อการผลิตฮอร์โมนเซโรโทนิน (Serotonin) โดย "ฮอร์โมนเซโรโทนิน" จะหลั่งออกมามากขึ้นเมื่อมนุษย์ได้รับแสงแดด หรือคาร์โบไฮเดรต และจะลดลงเมื่อท้องฟ้ามืดครึ้ม แสงแดดน้อย หรืออยู่ในช่วงฤดูหนาว​ซึ่งเจ้าเซโรโทนิน นั่นคือ สารเคมีที่มีอยู่ในร่างกายของเราทุกคน มีบทบาทสำคัญที่ส่งผลต่ออารมณ์ ความรู้สึก และพฤติกรรมที่แสดงออกมาของเรา โดยในสภาวะปกติเมื่อสารเซโรโทนินอยู่ในระดับสมดุล จะส่งผลให้เรามีความรู้สึกและอารมณ์ที่เป็นไปในทางบวก เช่น ความสุข ความสงบ มีสมาธิ และอารมณ์มั่นคงไม่อ่อนไหวง่าย แต่เมื่อระดับเซโรโทนินต่ำกว่าปกติก็จะส่งผลให้อารมณ์อ่อนไหว เป็นกังวล เศร้าง่าย โมโหง่าย ไม่มีสมาธิ และยังส่งผลให้การตัดสินใจการจดจำแย่ลงอีกด้วย หากเราปล่อยให้ระดับของเซโรโทนินอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน จะเพิ่มความเสี่ยงของปัญหาในด้านอารมณ์และความรู้สึก อย่างเช่น ภาวะซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคเครียด โรคสมาธิสั้น โรคกลัว และรวมถึงพฤติกรรมของเราอีกด้วย​หากใครมองฝนแล้วเกิดเหงา ลองหากิจกรรมที่ช่วยให้ร่างกายได้เคลื่อนไหว อย่างเช่น เก็บกวาดบ้าน ออกกำลังกาย ออกไปรับแสงธรรมชาติ หรือแสงแดดอ่อนๆ บ้าง รวมถึงหาของอร่อยที่มีประโยชน์กิน อย่างอาหารที่มีทริปโตเฟน (Tryptophan) สูง เช่น เนื้อสัตว์ นม ไข่ ถั่วเหลือง ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ดาร์กช็อกโกแลต จะช่วยเพิ่มระดับเซโรโทนินในร่างกายได้ และหวังว่าหน้าฝนปีนี้หรือไม่ว่าจะฤดูไหน จะมีคนเหงาน้อยลงนะ​เนื้อหาโดย คุณ กชกร รัตนมา นักวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ RISC​อ้างอิงข้อมูลจาก​(1) คลังความรู้สุขภาพจิต (Mental Health Knowledge Base) กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข​(2)  Baylor Scott,(2019), Rainy day blues? "8 ways to boost your mood when the sun is away. Retrieved 9 July 2024, from https://www.bswhealth.com/blog/rainy-day-blues-ways-to-boost-your-mood-when-the-sun-is-away

2000 viewer

ความเครียด ภัยอันตรายที่ต้องใส่ใจ

โดย RISC | 10 เดือนที่แล้ว

ในยุคที่ทุกอย่างเร่งรีบ และกดดันไปหมด ทำให้ยากที่เราจะหลีกหนี “ความเครียด” ตัวการสำคัญที่นำมาสู่โรคต่างๆ ตามมา​“ความเครียด” เป็นคำที่แสดงถึงภาวะการตอบสนองของอารมณ์ที่มีต่อสถานการณ์รอบตัว โดยเป็นการตอบสนองอัตโนมัติของร่างกาย เพื่อปรับตัวให้สามารถเข้ากับสถานการณ์ในขณะนั้นๆ อย่างเช่น ช่วงอ่านหนังสือสอบ ทำโปรเจกต์ หรือนำเสนอแผนงานต่อหัวหน้า เป็นต้น ซึ่งปกติแล้วการเกิดความเครียดเพื่อปรับร่างกายให้เข้ากับการทำงานในขณะนั้น (Acute Stress) จะทำให้ร่างกายเราสามารถทำงาน ขบคิด แก้ปัญหา และรับมือกับสถานการณ์ที่กำลังพบเจอได้ดีขึ้น​แต่...จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเราเกิดเครียดซ้ำไปซ้ำมา จนเราร่างกายเริ่มมีปัญหา?​ความเครียดที่เกิดซ้ำๆ จนกลายเป็น "ความเครียดเรื้อรัง" ที่ร่างกายไม่สามารถขจัดออกไปได้ (Chronic Stress) จะส่งปัญหาต่อร่างกายในระยะยาว เมื่อเรากำลังทำงาน เราจะเกิดความเครียด แล้วร่างกายของเราก็จะตอบสนองโดยการเตรียมความพร้อมต่างๆ ดึงพลังงานจากทั่วร่างกาย มาเสริมประสิทธิภาพของอวัยวะบางส่วน เพื่อให้เราทำงานได้ดีขึ้น เช่น มีสมาธิมากขึ้น สมองทำงานได้ไวมากขึ้น เร็วมากขึ้น แต่ถ้าเราทำงานต่อไปเรื่อยๆ อวัยวะที่มีความเครียดนั้น จะถูกใช้งานอย่างต่อเนื่องจนพังในที่สุด ให้เราลองคิดภาพเปรียบเทียบง่ายๆ ว่าเหมือนกับเราเปิดโน้ตบุ๊คโดยไม่เคยปิดให้มันพักเลย สุดท้ายโน้ตบุ๊คก็พัง ซึ่งปัญหาร่างกายพังจาก Chronic Stress นั้น ไม่ได้ส่งผลแค่บางอวัยวะเท่านั้น แต่ยังส่งผลไปถึงทุกๆ ส่วนในร่างกายของเราด้วย​ด้านสภาพร่างกายนั้น ปัญหาของความเครียดสะสม มักจะสะท้อนออกมาในสภาพความเสียหายของอวัยวะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ระบบหลอดเลือดและหัวใจ การขับถ่าย การหายใจ ระบบภูมิคุ้มกัน ระบบเผาผลาญของร่างกาย และด้านอื่นๆ ซึ่งพบข้อมูลจากงานวิจัยโดย Yuli Huang และคณะ [1] พบว่า ความเครียดจากการทำงานที่เรื้อรังสะสมในร่างกาย เพิ่มโอกาสการเป็นโรคหลอดเลือดสมองกว่า 22% หรือ Tanya M. Spruill [2] พบว่า ความเครียดเรื้อรัง เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้ และเพิ่มโอกาสการเป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจมากกว่าคนปกติที่ไม่มีภาวะเครียดเรื้อรังกว่า 50% เช่นกัน หรือแม้แต่ปัญหาการนอนก็สามารถเกิดจากความเครียดเรื้อรังได้ พบข้อมูลจากงานวิจัยของ David A. Kalmbach และคณะ [3] ได้อธิบายถึงกลไกปัญหาการนอนที่เกิดจากความเครียดเรื้อรัง โดยร่างกายขณะที่มีความเครียด จะเหมือนถูกกระตุ้นให้พร้อมทำงานต่างๆ ตลอดเวลา ทำให้นอนหลับได้ไม่สนิท หรือนอนไม่หลับ ส่งผลต่อการเกิดปัญหาในระยะยาวนั่นเอง​นอกจากความเสียหายทางกายแล้ว ทางจิตใจเองก็ได้รับผลกระทบเหมือนกัน โดยความเครียดเรื้อรังนั้น เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคทางจิตตามมา ไม่ว่าจะเป็นโรคซึมเศร้า หรือโรควิตกกังวลก็ตาม พบอ้างอิงจากงานวิจัยของ Paula Cristóbal-Narváez และคณะ [4] พบความเชื่อมโยงระหว่างการเกิดของโรคซึมเศร้าและโรคเครียดเรื้อรัง ซึ่งความเครียดเรื้อรังนั้น เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้คนเป็นโรคซึมเศร้าได้ หรือจากงานวิจัยของ Nuria Daviu และคณะ [5] ได้อธิบายความเชื่องโยงของโรควิตกกังวล (Anxiety) ที่เกิดจากความเครียดเรื้อรัง​เราเห็นได้ชัดเลยว่า "ความเครียดเรื้อรัง" เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้ร่างกายมีปัญหาตามมา ไม่ว่าจะทางร่างกายและทางจิตใจ ซึ่งในครั้งหน้า เราจะมาดูกันว่า เราจะพักจากความเครียดอย่างไรได้บ้าง​เนื้อหาโดย คุณ ณัฐภัทร ตันจริยภรณ์ นักวิจัยอาวุโส ปฏิบัติการเชื่อมต่อสมองกับคอมพิวเตอร์ RISC​อ้างอิงข้อมูลจาก​[1] Association Between Job Strain and Risk of Incident Stroke​[2] Association Between High Perceived Stress Over Time and Incident Hypertension in Black Adults: Findings From the Jackson Heart Study​[3] The Impact of Stress on Sleep: Pathogenic Sleep Reactivity as a vulnerability to Insomnia and Circadian Disorders​[4] Perceived stress and depression in 45 low- and middle-income countries​[5] Neurological Links Between Stress and Anxiety​

1247 viewer

รับข่าวสาร

ลงทะเบียนเพื่อรับข่าวสารกับเรา