"Circular Fashion" ทางแก้วิกฤตขยะเสื้อผ้าล้นโลก
เขียนบทความโดย RISC | 3 ปีที่แล้ว
แก้ไขล่าสุด : 2 ปีที่แล้ว
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เราจะเห็นว่าอุตสาหกรรมแฟชั่นทั่วโลกเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เรียกได้ว่าตามกันไม่ทันเลยทีเดียว ซึ่งในมุมของคนในสายแฟชั่นอาจจะมองว่าเป็นสีสันที่ดี แต่ขณะที่บางมุมนั้น อาจจะส่งผลที่ตรงกันข้าม
“แฟชั่นหมุนเร็ว หรือ Fast Fashion” พูดกันแบบเข้าใจง่ายๆ ก็คือ อุตสาหกรรมแฟชั่นที่มาไวไปไว ไม่ว่าจะเป็นสินค้าเสื้อผ้า กระเป๋า หรือเครื่องประดับ โดยมุ่งเน้นไปที่การผลิตในปริมาณมากและขายในราคาถูก บวกกับการสร้างค่านิยมด้านแฟชั่นที่ผู้ประกอบการใช้การตลาดเชิงจิตวิทยากระตุ้นให้ผู้คนรู้สึกว่าต้องเปลี่ยนและซื้อเสื้อผ้าใหม่ๆ ตลอดเวลาเพื่อให้ทันแฟชั่น ซึ่งจากสิ่งเหล่านี้เลยทำให้วงจรชีวิตของสินค้าสั้นลง เปลี่ยนเร็ว ตกเทรนด์เร็ว เบื่อเร็วและทิ้งเร็ว กลายเป็นผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามมาเป็นอย่างมากโดยที่เรายังไม่รู้ตัว
เมื่อการผลิตมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น แน่นอนว่าต้องมีการใช้ทรัพยกรธรรมชาติอย่างเข้มข้นมากขึ้นเช่นกัน อย่างการใช้ทรัพยากรน้ำเพื่อการปลูกฝ้าย ที่มีการใช้น้ำ 10,000 – 20,000 ลิตรต่อการผลิตเสื้อผ้าเพียง 1 กิโลกรัม การใช้น้ำมันปิโตเลียมเพื่อผลิตเส้นใยโพลิเอสเตอร์ก็ปล่อยน้ำเสียที่มี Microplastic ปะปนลงสู่มหาสมุทร บวกกับมลพิษที่มาจากสารเคมีย้อมผ้าที่ส่งผลต่อแหล่งน้ำเช่นกัน และยังรวมไปถึงกองขยะเสื้อผ้าจำนวนมหาศาล ที่มีมากกว่า 92 ล้านตันต่อปี เราจะเห็นได้ว่าทุกๆ กิจกรรมที่เกิดขึ้นล้วนทำให้เกิดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะโลกรวน ( Climate Change ) ทั้งสิ้น
แต่หลังจากการเข้ามาของแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ก็เริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลงบางอย่างในอุตสาหกรรมแฟชั่น จนเกิดเป็น “แฟชั่นหมุนเวียน หรือ Circular Fashion”
คำถามที่ตามมาคือ...แล้วเจ้า "แฟชั่นหมุนเวียน หรือ Circular Fashion" เนี่ย จะเป็น "ทางออกของ Fast Fashion" วิกฤตการณ์กองขยะเสื้อผ้าล้นโลกได้จริงหรือ?
ต้องยอมรับว่าปัจจุบันเทรนด์โลกมีแนวโน้มที่เปลี่ยนไป ผู้คนเริ่มให้ความสำคัญและใส่ใจกับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้น แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy จึงเริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลง ซึ่งผู้ผลิตสินค้าหลายรายได้นำแนวคิดนี้มาใช้ในอุตสาหกรรมแฟชั่น โดยเริ่มต้นจาก กระบวนการผลิตที่เปลี่ยนวัตถุดิบ (Raw Material) ในการผลิตที่สามารถนำมาใช้ซ้ำได้ หรือใช้วัสดุที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่มีส่วนผสมของวัสดุรีไซเคิลมากขึ้น เพื่อลดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ อีกทั้งออกแบบเสื้อผ้าจะให้ความสำคัญในเรื่องของอายุการใช้งานยาวนานมาเป็นปัจจัยหลัก ที่ผ่านมาหลายๆ แบรนด์ก็มีความพยายามที่จะทำแคมเปญการตลาดต่างๆ เพื่อส่งเสริมแนวคิด Circular Fashion ทำให้เริ่มมีผู้บริโภคสนใจและสนับสนุนแนวคิดนี้ ธุรกิจตลาดเสื้อผ้ามือสองเริ่มเติบโตเพิ่มขึ้น นับเป็นแนวโน้มในการเปลี่ยนแปลงที่ดีของอุตสาหกรรมแฟชั่นของโลกเรา
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประเด็นเรื่องความยั่งยืนจะกลายเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการทุกอุตสาหกรรมทั่วโลกต้องให้ความสำคัญในการ Re-think การออกแบบผลิตภัณฑ์และสินค้า รวมไปถึงกระบวนการผลิตของตนเองแล้ว แต่ในฐานะตัวเราที่เป็นผู้บริโภคเอง ก็ต้องมีแนวคิดที่สนับสนุนและช่วยกันขับเคลื่อนแนวคิดแฟชั่นแบบยั่งยืนไปด้วยพร้อมๆ กัน โดยเริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างง่ายๆ เช่น การเลือกซื้อเสื้อผ้าที่มีคุณภาพดี มีความคงทนใช้งานได้นาน ลองเปิดใจให้กับสินค้ามือสองดูบ้าง คิดให้เยอะมากขึ้นก่อนที่จะทิ้งหรือซื้อเสื้อผ้าตัวใหม่ ใช้ไอเดียสร้างสรรค์ในการ Mix & Match เสื้อผ้าที่มี ให้ใช้งานได้คุ้มค่ามากที่สุด รวมทั้งสนับสนุนและเลือกซื้อเสื้อผ้าที่ให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อม ร่วมมือกันใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดปริมาณกองขยะเสื้อผ้ามหาศาล เพื่อช่วยลดการปลดปล่อยก๊าชคาร์บอนไดไซด์สู่โลกของเราให้ได้มากที่สุด
เนื้อหาโดย คุณ ทิพทับทิม ภูมิพาณิชย์ สถาปนิกวิจัยอาวุโส RISC
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.sustainyourstyle.org/en/whats-wrong-with-the-fashion-industry#anchor-environmental-impact
https://goodonyou.eco/what-is-fast-fashion/
https://www.greenpeace.org/thailand/story/9381/fast-facts-about-fast-fashion/
https://unearthed.greenpeace.org/2019/09/12/fast-facts-about-fast-fashion/?_ga=2.152409913.1296580478.1648604009-1437459401.1648604009
https://marketeeronline.co/archives/4371
https://www.thaitextile.org/th/insign/detail.1122.1.0.html
https://www.thredup.com/resale/#size-and-impact