แต่งห้องสีไหน มีผลต่ออารมณ์อย่างไร?
เขียนบทความโดย RISC | 3 ปีที่แล้ว
แก้ไขล่าสุด : 2 ปีที่แล้ว
หลายคนคงมีไอเดียที่อยากจะตกแต่งบ้าน อยากใช้โทนสีนั้น...อยากได้โทนสีนี้ แต่ “สี” ที่เราเลือกมานั้นไม่ได้ให้แค่ความสวยงามอย่างเดียว จริงๆ แล้วมีผลต่อเรามากกว่านั้น
ก่อนอื่นเลย เรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับ “ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ของมนุษย์” กันก่อน ว่าแต่ละส่วนมีความสามารถในการรับรู้แตกต่างกันอย่างไร และมีอิทธิพลต่อการรับรู้ของเรามากน้อยกันแค่ไหน
- ตา 75%
- หู 13%
- ผิวหนัง 6%
- ลิ้น 3%
- จมูก 3%
จะเห็นว่าการรับรู้ทางตา มีสัดส่วนที่มากที่สุดเมื่อเทียบกับประสาทสัมผัสต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งในส่วนนี้เองที่มีการนำไปศึกษาวิจัยให้เกิดเป็นอาคารหรือบ้านเพื่อสุขภาพจิตที่ดี โดยสร้างการกระตุ้นผ่านทางตา หู ผิวหนัง และจมูก ให้มีอิทธิพลต่อผู้อยู่อาศัยได้ตามลำดับ (ส่วนลิ้นเป็นประสาทรับรู้ที่นอกเหนือความเกี่ยวข้อง)
การใช้ “สี” ในการนำไปตกแต่งบ้านหรือเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ จึงเป็นหนึ่งในการสร้างการกระตุ้นผ่านประสาทสัมผัสทางตา ที่ส่งผลต่อความรู้สึกของเราได้โดยตรง และเข้าถึงได้ง่ายที่สุด
จิตวิทยาสีนั้นมีอิทธิพลต่อการรับรู้ รวมทั้งส่งผลต่ออารมณ์ ความรู้สึกและพฤติกรรมของเรา จนเกิดเป็นความคุ้นเคยกลายเป็นความชอบส่วนตัว และยังพัฒนาต่อจนกลายเป็น “นิสัย” ก็ได้ งั้นวันนี้เรามาดูตัวอย่าง 11 สีที่มีอิทธิพลต่อการรับรู้ รวมทั้งส่งผลต่ออารมณ์ ความรู้สึกและพฤติกรรม มีอะไรกันบ้าง? เพื่อให้เพื่อนๆ ได้ลองนำไปใช้ ให้เกิดความรู้สึกและอารมณ์ที่ดีอย่างไม่รู้ตัว อย่างเช่น...
สี | อารมณ์ | ระบบประสาท | นิสัย |
แดง | สีร้อน ดูมั่งคั่ง มีอำนาจ ตื่นเต้น | รุนแรง ตื่นเต้น แข็งแกร่งมีพลัง ร้อนระอุ เห็นชัดเจน เป็นสีที่ทำให้เมื่อยตาได้ง่าย แต่ช่วยกระตุ้นประสาทได้มากที่สุด | รุนแรง ตื่นเต้น แข็งแกร่งมีพลัง |
เหลือง | เด่น เจิดจ้า แต่ทำให้เครียด | กระตุ้นสายตา ไวต่อการมองเห็นของมนุษย์ ช่วยทำให้ระบบประสาทเข้มแข็งและยังช่วยปลูกฝังการมองโลกในแง่ดี | คนขี้สงสัยที่พูดคุยกับคนอื่นๆ และปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ต่างๆ ได้โดยง่าย |
ส้ม | เร้าใจ แสดงถึงการสื่อสาร เป็นสีของกิจกรรม | เร่งเร้า แสบตา กระวนกระวาย | โดดเด่นอยู่แนวหน้า |
น้ำเงิน | สีเย็น ดูสงบ เยือกเย็น ลึกลับ | สบายตา และช่วยขจัดความเครียด | คนสมถะ ถ่อมตัว และมีแนวโน้มที่จะโศกเศร้า ขาดความเชื่อมั่น |
เขียว | พักสายตา สงบ ไม่ค่อยมีอำนาจ ผ่อนคลาย แสดงถึงชีวิตใหม่ | สงบร่มเย็น มีชีวิตชีวา ช่วยให้ประสาทตาและกล้ามเนื้อตาผ่อนคลายจากความตึงเครียด | คนที่พยายามแสดงความสามารถ สำหรับคนที่ไม่ชอบอาจจะเป็นไปได้ว่า เป็นคนกลัวปัญหาในชีวิตประจำวัน |
ม่วง | สง่างาม เยือกเย็น ลึกลับ | ชักจูงให้เด็กๆ เชื่อในเรื่องไสยศาสตร์ได้ | เจ้าอารมณ์ และอ่อนไหว |
น้ำตาล | แห้งแล้ง | หนักแน่นมั่นคง แต่ถ้ามากไปทำให้รู้สึกหงอยเหงา | ความกระวนกระวายและความไม่พอใจ |
ดำ | ความกลัว ความตาย ขาดพลังงาน | มืดลึกลับ เศร้าหมอง น่าเกรงกลัว ความตาย | คนที่ขาดความมั่นใจในตนเอง มองชีวิตอย่างหดหู่ และไม่สู้จะมีความสุข |
ขาว | สะอาด สว่าง สงบ บริสุทธิ์ สุขภาพ | สะอาดตา บริสุทธิ์ แต่ถ้าใช้ปริมาณมากจะทำให้รู้สึกจืดชืด จำเจ และน่าเบื่อ | สีในอุดมคติที่ไม่ก่อให้เกิดความรำคาญและข้อโต้แย้งใดๆ |
ฟ้า | สะอาด สว่าง สดใส | ช่วยให้จิตใจกระชุ่มกระชวย บรรเทาความเศร้าและกล่อมจิตใจให้เบิกบาน ทำให้รู้สึกเย็นสบาย ช่วยลดอุณหภูมิของร่างกายและความดันโลหิตได้เล็กน้อย อีกทั้งช่วยบรรเทาความเจ็บปวด | มีความอดทน |
เทา | ความเศร้าโศกความหนาวสะท้าน ความกลัว ความมืดสลัว ความทรุดโทรมและแก่ชรา ความใกล้ตาย | ธรรมดา เรียบร้อย แก่ชรา สีของการประนีประนอม | ชอบใช้เหตุผลและไม่ค่อยไว้ใจอะไรง่ายๆ |
จากข้อมูลสีที่มีผลต่ออารมณ์ ความรู้สึกและมีผลต่อพฤติกรรม จนเกิดเป็นนิสัยเหล่านี้ เราสามารถเลือกใส่สีต่างๆ ให้เป็นองค์ประกอบของห้องหรือตกแต่งห้องให้มีความรู้สึกที่ดีขึ้น หรืออยากลองทำตัวเองให้สดชื่น สดใสขึ้น อาจจะลองเลือกสีที่กระตุ้นความรู้สึกที่เราต้องการได้ อย่างเช่น สีของเฟอร์นิเจอร์ในห้อง หมอนอิง ผ้าม่าน พรม ดอกไม้ประดับห้อง รูปตกแต่งผนัง ให้มีสีที่ต้องการเพียง 20% ของสัดส่วนห้องทั้งหมด เพียงแค่นี้ประสาทสัมผัสของเราก็จะรับรู้ได้แล้ว ซึ่งเพื่อนๆ คนไหนสนใจก็ลองนำไปใช้กันดู ได้ผลอย่างไรก็ส่งเรื่องมาเล่าสู่กันฟังได้ในเพจ RISC ของเรากันนะ
เนื้อหาโดย ดร.สฤกกา พงษ์สุวรรณ ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัย RISC