RISC

Knowledge Materials & Resources

Materials & Resources

“พลาสติกเทอร์โมเซต” (Thermosetting plastics) เปลี่ยนจากปัญหาสิ่งแวดล้อมสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่​

โดย RISC | 4 วันที่แล้ว

ขยะพลาสติกยังคงเป็นหนึ่งในปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เรากำลังเผชิญ แม้เราจะคุ้นเคยกับการรีไซเคิลพลาสติกทั่วไป แต่ยังมีพลาสติกอีกประเภทหนึ่งที่ซับซ้อนและจัดการได้ยากกว่ามาก​โดยทั่วไป เรามักจะคุ้นเคยกับการรีไซเคิลขวดน้ำดื่ม กล่องอาหาร ภาชนะพลาสติก หรือถุงพลาสติก ซึ่งเป็นพลาสติกประเภท “เทอร์โมพลาสติก” (Thermoplastics) ที่สามารถหลอมละลายและขึ้นรูปใหม่ได้เมื่อได้รับความร้อน แต่วันนี้ เราจะมาพูดถึงพลาสติกอีกชนิดที่กำลังเป็นปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม นั่นก็คือ “พลาสติกเทอร์โมเซต” (Thermosetting plastics)​พลาสติกเทอร์โมเซต เป็นพลาสติกที่มีความแข็งแรง ทนทานต่อสารเคมี และเมื่อโดนความร้อนแล้วจะไม่อ่อนตัว ไม่สามารถหลอมและนำไปขึ้นรูปใหม่ได้ แต่จะแข็งตัวและไหม้ไปเลย จึงเหมาะกับการใช้งานในสภาพที่หนักหน่วง อย่างเช่น ยางรถยนต์ โฟมพอลิยูรีเทนที่ใช้ทำโซฟา เบาะรถยนต์ พื้นรองเท้า กาว สารเคลือบจากอีพอกซีเรซิน หรือจานชามเมลามีน อย่างไรก็ตาม จากความแข็งแรงทนทานนี้ทำให้พลาสติกเทอร์โมเซตรีไซเคิลได้ยาก ส่งผลให้ขยะพลาสติกเทอร์โมเซตจำนวนมากต้องถูกกำจัดด้วยการฝังกลบหรือเผาทำลาย และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว​แล้วเราจะจัดการกับพลาสติกเทอร์โมเซตได้อย่างไร?​“Vitrimerization” คือ กระบวนการที่ทำให้พลาสติกเทอร์โมเซตให้กลายเป็นพลาสติกที่มีโครงสร้างไดนามิก สามารถแตกสลายและเชื่อมต่อใหม่ได้ ผ่านกระบวนการทางเคมีที่เรียกว่า “Transesterification" เมื่อได้รับการกระตุ้นที่เหมาะสม ทำให้พลาสติกที่ผ่านกระบวนการ Vitrimerization มีคุณสมบัติที่ผสานระหว่างเทอร์โมพลาสติก และพลาสติกเทอร์โมเซต หรือก็คือ สามารถหลอม และขึ้นรูปใหม่ได้ แต่ยังคงโครงสร้างที่แข็งแรง ทนทานต่อสภาวะการใช้งานต่างๆ ทั้งความร้อน แสงแดด และสารเคมี อีกทั้งยังมีคุณบัติในการซ่อมแซมตัวเอง (Self-Healing) เนื่องจากพันธะสามารถแตกตัว และเชื่อมโยงใหม่เมื่อได้รับความร้อนในสภาวะที่เหมาะสม ทำให้สามารถขึ้นรูปใหม่ เปลี่ยนรูปร่าง หรือซ่อมแซมตัวเองได้หลายครั้ง (3-5 ครั้ง) โดยไม่สูญเสียสมบัติเชิงกล กระบวนการนี้จึงเป็นอีกแนวทางหนึ่ง เพื่อแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกเทอร์โมเซตได้​ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ คือ การจัดการพื้นรองเท้ากีฬา รองเท้าวิ่ง ซึ่งทำมาจากโฟมเอทิลีนไวนิลอะซีเตท (EVA) ที่ถูกเชื่อมขวางโมเลกุล (Crosslink) ทำให้โฟมมีความยืดหยุ่นสูง รับแรงกระแทกได้ดี ทนทาน และไม่ยุบตัว จากงานวิจัยพบว่า EVA Thermoset สามารถเปลี่ยนเป็น EVA Vitrimer ได้ โดยการนำเศษ EVA มาบดย่อยให้มีขนาดเล็กในระดับไมครอน (< 200 µm) ผสมร่วมกับตัวเร่งปฏิกิริยา เช่น ซิงค์อะซีเตท (Zn acetate) และวัสดุที่มีหมู่ไฮดรอกซิล (-OH) เช่น โพลีไวนิลแอลกอฮอล์ (PVOH) เมื่อนำของผสมดังกล่าวอัดขึ้นรูปที่อุณหภูมิสูงจะเกิดปฏิกิริยา Transesterification ทำให้พันธะเชื่อมขวางบางส่วนเปลี่ยนเป็นพันธะแบบไดนามิก เมื่อทำการอัดขึ้นรูปใหม่อีกครั้งพบว่า สามารถขึ้นรูปได้โดยไม่ต้องเติมสารเคมีเพิ่ม และยังคงสมบัติเดิม ไม่เสื่อมสภาพเหมือนกับการรีไซเคิลเชิงกล จะเห็นได้ว่าพันธะไดนามิกที่เกิดขึ้นสามารถแตกสลายและเชื่อมต่อใหม่ได้เมื่อได้รับความร้อน ทำให้สามารถเปลี่ยนขยะพลาสติกเทอร์โมเซตที่รีไซเคิลได้ยาก ให้กลับมารีไซเคิลได้ ทั้งยังเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีคุณภาพ และมูลค่าสูง​อย่างไรก็ตาม กระบวนการ Vitrimerization ยังมีข้อจำกัดในการบดย่อยขยะพลาสติกเทอร์โมเซตให้มีขนาดเล็กระดับไมครอน โดยเฉพาะวัสดุกลุ่มยางที่มีความเหนียวและยืดหยุ่นสูง ซึ่งการบดย่อยที่อุณหภูมิห้องทำได้ยาก จึงจำเป็นต้องทำให้ยางอยู่ในสถานะคล้ายแก้วที่มีความแข็ง และเปราะ เพื่อให้ง่ายต่อการบดย่อย กระบวนการนี้จะต้องใช้ความเย็นสูงเพื่อบดย่อยที่อุณหภูมิติดลบ ทำให้มีต้นทุนการผลิตสูง การพัฒนาเทคโนโลยีนี้ต่อไปจะเปิดโอกาสให้สามารถรีไซเคิลขยะพลาสติกเทอร์โมเซตได้ในอนาคต เช่น การรีไซเคิลแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ กังหันลม ชิ้นส่วนยานยนต์ ยานอวกาศ ฉนวนในแผงโซล่าเซลล์ นับเป็นการช่วยลดปริมาณขยะอุตสาหกรรม และขยะพิษ และช่วยให้การจัดการซากผลิตภัณฑ์เหล่านี้เป็นไปอย่างยั่งยืนมากขึ้น​เนื้อหาโดย คุณ สุพรรณภางค์ รักษาวงค์ นักวิจัยวัสดุ Sustainable Building Material ​อ้างอิงข้อมูลจาก​Amin Jamei Oskouei et, al. 2024. Vitrimerization of crosslinked poly(ethylene-vinyl acetate): the effect of catalysts. RSC Appl. Polym., 2024, 2, 905. ​Alireza Bandegi et, al. 2023. Vitrimerization of crosslinked elastomers: a mechanochemical approach for recycling thermoset polymers. Mater. Adv., 2023, 4, 2648–2658.​

79 viewer

ถักทอ สืบสาน สร้างสรรค์ ศิลปะร่วมสมัยเพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ

โดย RISC | 2 สัปดาห์ที่แล้ว

RISC ร่วมแสดงผลงานนิทรรศการโครงการ “ถักทอ สืบสาน สร้างสรรค์ ศิลปะร่วมสมัยเพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ” Interlacing Intertwining Coalescing through Contemporary Art for Biodiversity  ในงานอีสานโชว์พ(ร)าว เทศกาลอีสานสร้างสรรค์ 2568 (ISAN CREATIVE FESTIVAL 2025)​ โดยนิทรรศการนี้นำเสนอผลงานศิลปะร่วมสมัยที่ถักทอจากเส้นใย Upcycled จากขยะพลาสติกมาสรรค์สร้างเป็นผืนภาพด้วยการถักทอ เพื่อสร้างจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม และกระตุ้นการอนุรักษ์ธรรมชาติ แนวคิดการออกแบบผลงานศิลปะถักทอในรูปแบบพรมนี้จึงผสมผสานภาพสัตว์สงวนที่สามารถพบได้ในแต่ละภูมิภาคเข้ากับลายผ้าพื้นเมืองประจำภาคนั้นๆ ในประเทศไทย เพื่อสืบสานศิลปวัฒนธรรม และสะท้อนอัตลักษณ์ท้องถิ่นเชิงสร้างสรรค์​ ISAN CREATIVE FESTIVAL 2025​28 มิถุนายน – 6 กรกฎาคม 2568 ณ อาคาร TCDC ขอนแก่น ชั้น 2​ รายละเอียดเพิ่มเติม https://www.isancreativefestival.com/isancf2025​Line: @isancf​Facebook: isancreativefestival​Instagram: @isancreativefestival

262 viewer

รู้หรือไม่? ​เปลือกทุเรียนทำวัสดุก่อสร้างและพลาสติกได้​

โดย RISC | 2 สัปดาห์ที่แล้ว

รู้หรือไม่ ทุเรียน 1 กิโลกรัม จะประกอบไปด้วยเปลือกถึง 0.585 กิโลกรัม​เมื่อเข้าสู่ช่วงกลางปี ผลไม้ที่หลายคนต่างเฝ้ารอคงหนีไม่พ้น “ทุเรียน” ราชาแห่งผลไม้ ซึ่งทุเรียนจัดเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจสำคัญของไทย โดยข้อมูลจากกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ พบว่าในปี 2566 ทุเรียนมีมูลค่าการส่งออกสูงถึง 164,787 ล้านบาท และมีการบริโภคภายในประเทศเฉลี่ย 400,000 ตัน/ปี ด้วยความนิยมในการบริโภคทุเรียน แต่กลับส่งผลให้เกิดปัญหาขยะจากเปลือกทุเรียน ทำให้มีขยะเปลือกทุเรียนเกิดขึ้นประมาณ 240,200 ตัน/ปี หากจัดการกับขยะเหล่านี้ไม่ดีพอ ก็อาจก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขอนามัย และสิ่งแวดล้อมในระยะยาว​โดยทั่วไป การกำจัดเปลือกทุเรียนมักจะใช้ฝังกลบและการเผา ซึ่งทั้งสองวิธีต่างส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การฝังกลบมีการปล่อยก๊าซมีเทนจากการย่อยสลายของเปลือกทุเรียน ในขณะที่การเผาก็ปล่อยมลพิษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และคุณภาพอากาศ ดังนั้นการนำเปลือกทุเรียนมาใช้ประโยชน์ต่อจึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ​จากการศึกษาวิจัยพบว่า เปลือกทุเรียนสามารถนำไปหมักด้วยยีสต์ เพื่อใช้เป็นอาหารสัตว์เคี้ยวเอื้องได้ โดยเปลือกทุเรียนหมักที่ได้จะมีปริมาณโปรตีนเพิ่มขึ้น กลิ่นหอมคล้ายผลไม้ดอง เนื้อสัมผัสไม่เละ และไม่มีสารอันตรายที่เกิดขึ้นในระหว่างกระบวนการหมัก ทำให้สามารถใช้เป็นอาหารสำหรับสัตว์เคี้ยวเอื้องได้อย่างปลอดภัยโดยไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและอัตราการเจริญเติบโตของสัตว์​เปลือกทุเรียน ยังพัฒนาให้เป็นฉนวนกันความร้อนจากเส้นใยได้อีกด้วย โดยการสกัดเฮมิเซลลูโลส และลิกนินออกจากเส้นใยเปลือกทุเรียน จากนั้นนำไปผสมกับกาว เช่น น้ำยางธรรมชาติ และขึ้นรูปเป็นแผ่น ฉนวนที่ได้จะมีค่าสัมประสิทธิ์การนำความร้อนต่ำ สามารถใช้เป็นวัสดุกันความร้อนที่มีประสิทธิภาพ แต่อาจมีข้อจำกัดในด้านการดูดซึมน้ำสูง และลามไฟได้ดี นอกจากนี้ยังสามารถใช้เป็นส่วนผสมในการเตรียมโฟม PLA/PBS/เส้นใยเปลือกทุเรียน เพื่อใช้เป็นวัสดุรองนอนสำหรับสัตว์ทดลองในห้องปฏิบัติการ ซึ่งเส้นใยทุเรียนจะช่วยเพิ่มความสามารถในการดูดซับสารละลายแอมโมเนียหรือสารคัดหลั่งจากสัตว์ได้ดี และทำให้โฟมมีความแข็งแรงเพิ่มขึ้น​เปลือกทุเรียน สามารถนำมาแปรรูปเป็นพลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายได้ที่มีชื่อว่า คาร์บอกซีเมทิลเซลลูโลส (CMC) เนื่องจากเปลือกทุเรียนมีเซลลูโลสเป็นองค์ประกอบหลักถึง 54% สูงกว่าเส้นใยธรรมชาติชนิดอื่นๆ เช่น ชานอ้อย ฟางข้าว กาบมะพร้าว ซึ่งมีเซลลูโลส 41%, 38% และ 36% ตามลำดับ การสกัดเซลลูโลสจากเปลือกทุเรียนเพื่อนำไปผลิต CMC จึงมีความเป็นไปได้​กระบวนการผลิต CMC จากเส้นใยทุเรียนประกอบด้วย 3 ขั้นตอน คือ...​- การเตรียมเซลลูโลสจากเส้นใยเปลือกทุเรียน โดยขั้นตอนนี้จะเป็นกำจัดเฮมิเซลลูโลส และลิกนินด้วยสารละลายด่างเข้มข้น เช่น โซเดียมไฮดรอกไซด์ (NaOH) และการฟอกขาวเพื่อกำจัดสี ​- การทำอัลคาไลเซชัน (Alkalization) โดยการแช่เซลลูโลสในสารละลายด่างเข้มข้นร่วมกับตัวทำละลายอินทรีย์ที่ไม่ละลายน้ำ เช่น NaOH/isopropyl alcohol เพื่อให้สารละลายด่างซึมเข้าเส้นใย​- การทำปฏิกิริยาอีเทอริฟิเคชัน (Etherification) โดยการเติมกรดโมโนคลอโรอะซีติก (MCA) เพื่อเข้าทำปฏิกิริยากับเซลลูโลส ได้ผลิตภัณฑ์เป็นโซเดียมคาร์บอกซีเมทิลเซลลูโลส (Na-CMC) และเกลือแกง (NaCl) เป็นผลพลอยได้​โดย CMC ที่ได้จากเส้นใยเปลือกทุเรียนมีคุณสมบัติเทียบเท่ากับ CMC ทางการค้า สามารถย่อยสลายได้ภายใน 60 ชั่วโมง โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เหมาะกับการนำไปใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ นอกจากนี้ยังสามารถใช้เป็นสารเคลือบผิวผลไม้ เพื่อชะลอการเน่าเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ​การเปลี่ยนเปลือกทุเรียนให้เป็นวัสดุที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ไม่เพียงแต่ช่วยลดปริมาณขยะ แต่ยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับวัสดุเหลือทิ้งจากเกษตรกรรม สร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและมูลค่าสูง โดยเฉพาะการใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิต CMC ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เช่น ใช้เป็นสารเพิ่มความหนืด (Thickener) และสารช่วยรักษาความคงตัว (Stabilizer) ในอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องสำอางค์ และการเกษตร ฟิล์มชีวภาพและบรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้ นอกจากช่วยลดการพึ่งพาวัสดุที่ผลิตจากปิโตรเลียม ซึ่งส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ให้กับเกษตรกรและอุตสาหกรรม ยังตอบโจทย์การพัฒนาอย่างยั่งยืนในปัจจุบันอีกด้วย​เนื้อหาโดย คุณ สุพรรณภางค์ รักษาวงค์ นักวิจัยวัสดุ Sustainable Building Material​อ้างอิงข้อมูลจาก​กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์. สถิติผลผลิตทุเรียน : https://regional.moc.go.th/th/file/get/file/202407013a6133c1bd218dfc40828623c88c6fea161400.pdf​ซารีนา สือแม. 2564. การพัฒนาและเพิ่มมูลค่าเปลือกทุเรียนวัสดุเหลือทิ้งเป็นแหล่งอาหารสัตว์คุณภาพสูงสู่จังหวัดชายแดนใต้. สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ​ปานใจ สื่อประเสริฐสิทธิ์ และคณะ. 2563. ความเป็นไปได้ทางเทคนิคสำหรับการผลิตแผ่นฉนวนกันความร้อนจากเปลือกทุเรียน. Vol 39. No 6, November-December 2020.​กชกร จิตรีธาตุ. 2566. การพัฒนาและตรวจสอบโฟม PLA/PBS/เส้นใยเปลือกทุเรียนสำหรับประยุกต์ใช้เป็นวัสดุรองนอนสำหรับสัตว์ทดลองในห้องปฏิบัติการ. วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (นวัตกรรมและเทคโนโลยีวัสดุ) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์​Ruengdechawiwat, S., Sanawong , P., & Boonmee, S. . (2024). Application of carboxymethyl cellulose from durian rind for maintaining the quality of mango fruits (MANGIFERA INDICA LINN.) CV. NAMDOKMAI SRI TONG. Life Sciences and Environment Journal, 25(1), 166–176.​

179 viewer

Waste to "VALUE" เปลี่ยนขยะให้มีค่า

โดย RISC | 1 เดือนที่แล้ว

ข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรมในปี 2566 พบว่า ประเทศไทยมีปริมาณกากของเสียอุตสาหกรรมสูงถึง 19.8 ล้านตัน โดยเป็นของเสียที่ไม่อันตราย 18.7 ล้านตัน และเป็นของเสียอันตราย 1.1 ล้านตัน​ซึ่งของเสียอุตสาหกรรมส่วนใหญ่เกิดจากการผลิตน้ำตาลทราย (38.8%) พลังงานไฟฟ้าจากความร้อน (14.3%) อาหารและเครื่องดื่มจากผักผลไม้ (11.9%) เหล็ก (6.4%) เอทานอล (5.7%) และอื่นๆ อย่างเช่น กระดาษ ชิ้นส่วนยานยนต์ สารเคมี พลาสติก และสิ่งทอ​จากข้อมูลข้างต้นพบว่า กระบวนการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรม มักมีของเสียเกิดขึ้นในระหว่างกระบวนการผลิตจำนวนมาก และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี หากปริมาณของเสียเหล่านี้ไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง ก็จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ เช่น การปนเปื้อนของสารเคมีอันตราย ไมโครพลาสติกในแหล่งน้ำและดิน รวมถึงการแพร่กระจายของเชื้อโรค​การจัดการของเสียอุตสาหกรรมเหล่านี้ จึงจำเป็นต้องใช้เแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาช่วย โดยการนำของเสียกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ เพื่อลดปริมาณขยะ และยังเพิ่มมูลค่าให้กับขยะเหล่านี้อย่างยั่งยืน​โดยต้องเริ่มจากการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทรัพยากรน้อยที่สุด และลดการเกิดของเสียระหว่างกระบวนการผลิต นอกจากนี้ต้องคำนึงถึงการจัดการผลิตภัณฑ์หลังหมดอายุการใช้งาน เช่น การใช้วัสดุที่สามารถย่อยสลายได้ สามารถรีไซเคิลได้ หรือสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ในอนาคต ในขณะเดียวกันผลพลอยได้ (By-Products) ที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการผลิตไม่ควรมองเป็นขยะที่ต้องกำจัด แต่ควรมองเป็นทรัพยากรที่มีค่า ซึ่งเป็นโอกาสในการเพิ่มมูลค่าจากของเสีย เช่น การใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อใช้ทรัพยากรให้เกิดคุณค่าอย่างสูงสุด​ตัวอย่างเช่น การผลิตกระเบื้องพรม (Carpet Tiles) จากเส้นใย Nylon ของบริษัท Tarkett ​แผ่นพรมของ Tarkett ถูกออกแบบตั้งแต่แรกให้สามารถแยกชั้นขนพรมออกจากชั้นรองหลังได้ พอเมื่อหมดอายุการใช้งาน ชั้นขนพรม ซึ่งเป็นเส้นใย Nylon จะถูกนำไปรีไซเคิลเชิงเคมีร่วมกับเศษเส้นใยจากการผลิตพรม และขยะจาก Nylon อื่นๆ เช่น ตาข่าย แหอวน เสื้อผ้า และชิ้นส่วนพลาสติก เพื่อนำมาผลิตเป็นเส้นใย Nylon สำหรับการผลิตพรมใหม่ ชั้นรองหลัง ที่ถูกแยกออกมาจะถูกบดย่อย และหลอมขึ้นรูปเป็นแผ่นใหม่ จะนำไปใช้เป็นชั้นรองหลังสำหรับการผลิตพรมใหม่อีกครั้ง การออกแบบ และการเลือกใช้วัสดุในลักษณะนี้ จะช่วยลดปริมาณขยะ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังสร้างมูลค่าเพิ่ม และลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะได้อีกด้วย การเปลี่ยนขยะให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ไม่เพียงแค่ช่วยลดปริมาณขยะ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับขยะ โดยเน้นการออกแบบที่คำนึงถึงการรีไซเคิล และการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพในทุกขั้นตอน ผลลัพธ์ที่ได้ไม่เพียงแต่ลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะ แต่ยังสร้างโอกาสทางธุรกิจในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีความยั่งยืนอีกด้วย ​หากองค์กร หรืออุตสาหกรรมของท่านต้องการเปลี่ยนขยะของเสีย (Waste) จากโรงงานให้กลับมามีมูลค่า (Value) สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ยั่งยืน สามารถติดต่อ RISC Line ID: risc_center. 063-902-9346 หรือ risc_admin@dtgo.com​เนื้อหาโดย คุณ สุพรรณภางค์ รักษาวงค์ นักวิจัยวัสดุ Sustainable Building Material ​อ้างอิงข้อมูลจาก​สำนักงานสถิติแห่งชาติ. สถิติสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย พ.ศ. 2567 : https://www.nso.go.th/public/e-book/Indicators-Environment/Environment-Indicators-2567/​กรมโรงงานอุตสาหกรรม. สรุปข้อมูลกากของเสียอุตสาหกรรม 2566 : https://api.diw.go.th/public/tableauPublic.jsp?name=A4&ms=1744165687192​Tarkett. Climate and Circular Economy​

415 viewer

"วัสดุก่อสร้างจากเถ้าชีวมวล" ทางเลือกใหม่ในการพัฒนาอย่างยั่งยืน

โดย RISC | 3 เดือนที่แล้ว

รู้หรือไม่ว่า การผลิตไฟฟ้า 1 MW ทำให้เกิด “เถ้าชีวมวล” ประมาณ 200-400 ตัน/ปี ​เถ้าชีวมวล หรือที่เรียกว่า Wood ash นั้นคืออะไร แล้วทำไมเราถึงต้องมาสนใจในเรื่องนี้?​เถ้าชีวมวล จัดเป็นของเสียจากกระบวนการผลิตพลังงานไฟฟ้าโดยใช้ชีวมวลเป็นแหล่งเชื้อเพลิง ซึ่งชีวมวลแต่ละชนิดจะมีปริมาณเถ้าที่แตกต่างกัน โดยทั่วไปจะอยู่ที่ประมาณ 1-3% หากยิ่งผลิตไฟฟ้ามากเท่าไหร่...ก็ยิ่งเกิดเถ้าชีวมวลมากขึ้นเท่านั้น​ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงไฟฟ้าชีวมวลจำนวน 226 แห่ง และมีกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น 2,110 MW ซึ่งเท่ากับว่ามีเถ้าชีวมวลเกิดขึ้นเกือบ 1 ล้านตันในแต่ละปี คำถามที่ตามมา...เราจะจัดการกับขยะเถ้าชีวมวลจำนวนมหาศาลนี้ได้อย่างไรบ้าง?​เถ้าชีวมวลจัดเป็นของเสียอุตสาหกรรม จึงต้องได้รับการกำจัดอย่างถูกต้องตามกฎหมายเพื่อป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การฝังกลบตามหลักสุขาภิบาล การใช้เป็นวัตถุดิบทดแทนในเตาเผาปูนซีเมนต์ การหมักทำปุ๋ยและสารปรับปรุงคุณภาพดิน หรือการนำกลับมาใช้ประโยชน์ในรูปแบบอื่นๆ​อย่างไรก็ตาม ปริมาณเถ้าชีวมวลที่เกิดขึ้นมีจำนวนมากเกินไป ทำให้มีค่าใช้จ่ายในการกำจัดที่สูง เถ้าชีวมวลปริมาณ 80,000 – 100,000 ตัน มีค่ากำจัดสูงถึง 10-15 ล้านบาท และเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการกำจัด และเพิ่มมูลค่าให้กับเถ้าชีวมวลเหล่านี้ จึงมีการศึกษาและพัฒนาวัสดุก่อสร้างโดยใช้เถ้าชีวมวลเป็นส่วนประกอบ​“เถ้าชีวมวล” มีศักยภาพในการใช้เป็นวัสดุทดแทน “ปูนซีเมนต์” ในการผลิตวัสดุก่อสร้างได้จริงหรือ?​โดยทั่วไปแล้วปูนซีเมนต์เป็นวัสดุหลักในการผลิตคอนกรีต เนื่องจากปูนซีเมนต์สามารถทำปฏิกิริยากับน้ำ หรือที่เรียกว่าปฏิกิริยาไฮรเดรชัน (Hydration) เกิดสารประกอบแคลเซียมซิลิเกตไฮเดรต (C-S-H) ที่ช่วยเพิ่มความแข็งแรงทนทานให้กับคอนกรีต การใช้เถ้าชีวมวลแทนที่ปูนซีเมนต์จึงส่งผลต่อคุณสมบัติของคอนกรีตเป็นอย่างมาก​เถ้าชีวมวลมีองค์ประกอบหลักเป็นแคลเซียมออกไซด์ (CaO) ในขณะที่มีปริมาณซิลิกา (SiO₂) อะลูมิน่า (Al₂O₃) และเหล็กออกไซด์ (Fe₂O₃) ต่ำ จึงทำให้เกิดปฏิกิริยาไฮรเดรชันลดลง อย่างไรก็ตาม SiO₂, Al₂O₃ หรือ Fe₂O₃ สามารถทำปฏิกิริยาปอซโซลาน (Pozzolanic Reaction) กับแคลเซียมไฮดรอกไซด์ (Ca(OH)₂) เกิดเป็นสารประกอบ C-S-H ซึ่งนอกจากช่วยเพิ่มกำลังอัดของคอนกรีตในระยะยาวได้แล้ว ยังช่วยเพิ่มความทนทานต่อซัลเฟต กรด และการเกิดคราบขาวบริเวณผิวคอนกรีตได้​อย่างไรก็ตาม การเพิ่มปริมาณเถ้าชีวมวลมากเกินไป ก็จะทำให้กำลังอัดของคอนกรีตลดลง เถ้าชีวมวลมีอนุภาคขนาดเล็ก และน้ำหนักเบากว่าปูนซีเมนต์ ทำให้คอนกรีตมีน้ำหนักเบา รวมทั้งอนุภาคขนาดเล็กยังสามารถเติมเต็มช่องว่างภายในของคอนกรีตได้ นอกจากนี้ เถ้าชีวมวลยังมีรูพรุน และพื้นที่ผิวสูง ทำให้ดูดซึมน้ำได้ดี ส่งผลให้คอนกรีตที่ได้มีการดูดกลืนน้ำสูง และจำเป็นต้องเพิ่มปริมาณน้ำในกระบวนการผลิตเพื่อชดเชยน้ำบางส่วนที่ถูกดูดซึม​เราจะเห็นได้ว่า เถ้าชีวมวลส่งผลต่อคุณสมบัติของคอนกรีตเป็นอย่างมาก โดยขึ้นอยู่กับชนิด องค์ประกอบทางเคมี และปริมาณของเถ้าชีวมวล การใช้เถ้าชีวมวลในการพัฒนาวัสดุก่อสร้างจึงเหมาะสมสำหรับการใช้งานที่ไม่ต้องการความสามารถในการรับน้ำหนักสูง เช่น ขอบคันหิน วัสดุปูพื้น งานตกแต่งสวน หรือช่องระบายอากาศ โดยอัตราส่วนที่เหมาะสมในการใช้เถ้าชีวมวลเป็นวัสดุทดแทนปูนซีเมนต์ คือ 10-30% โดยน้ำหนักของปูนซีเมนต์ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับชนิดและคุณสมบัติของเถ้าชีวมวล องค์ประกอบของคอนกรีต และอัตราส่วนของผสม​อีกสิ่งที่สำคัญคือ การสร้างความโดดเด่นหรือจุดแข็งกว่าผลิตภัณฑ์ในท้องตลาด การออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีความแตกต่าง ทั้งด้านรูปร่าง ความสวยงาม หรือมีฟังก์ชันการใช้งานพิเศษจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และเป็นการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ยั่งยืน​เนื้อหาโดย คุณ สุพรรณภางค์ รักษาวงค์ นักวิจัยวัสดุ Sustainable Building Material​อ้างอิงข้อมูลจาก​กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน. 2568. แผนที่แสดงที่ตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวลในประเทศไทย. ​ขวัญชีวา หยงสตาร์, นุอนันท์ คุระแก้ว, ชูเกียรติ ชูสกุล, และ สุนันท์ มนต์แก้ว. 2567. การพัฒนาอิฐบล็อกประสานจากฝุ่นหินเหลือทิ้งและเถ้าไม้ยางพารา. วารสารวิชาการและวิจัย มทร.พระนคร สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปีที่ 18 ฉบับที่ 1 (2567).​สาโรจน์ ดำรงศีล. 2550. ผลกระทบของปูนซีเมนต์ผสมเถ้าชานอ้อยและเถ้าลอยในลักษณะบดร่วมต่อคุณสมบัติทางกายภาพและเชิงกลของคอนกรีต. วารสารวิชาการและวิจัย มจธ. ปีที่ 30 ฉบับที่ 3 กรกฎาคม-กันยายน (2550).​Ayobami A. B., 2021. Performance of wood bottom ash in cement-based applications and comparison with other selected ashes: Overview, Resources, Conservation and Recycling. 166, 105351.​

833 viewer

Photocatalytic Coating นวัตกรรมเคลือบผิววัสดุ เปลี่ยนมลพิษให้ดีต่อลมหายใจ

โดย RISC | 3 เดือนที่แล้ว

ปัญหา PM2.5 เป็นอีกปัญหาที่แม้สถานการณ์จะดูเบาบางลงในบางเวลา แต่ปัญหานี้จะยังคงอยู่กับเราต่อไปเรื่อยๆ แล้วเราจะรับมือกับสถานการณ์นี้ได้อย่างไร?​ฝุ่น PM 2.5 เป็นฝุ่นละอองในอากาศที่มีขนาดอนุภาคไม่เกิน 2.5 ไมครอน เล็กกว่าขนาดเส้นผมของคนเราถึง 30 เท่า สามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านทางระบบทางเดินหายใจและเข้าสู่กระแสเลือดได้ ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองตา จมูก และคอ ทำให้หายใจลำบากหรือเจ็บหน้าอก และหากได้รับอย่างต่อเนื่อง อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง​นอกจากนี้สำนักงานวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศ (IARC) จัดให้มลพิษทางอากาศ (Outdoor Air Pollution) และฝุ่น PM2.5 อยู่ในกลุ่ม 1 (Carcinogenic to Humans) หรือก็คือสารที่มีหลักฐานเพียงพอว่าเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ และยังพบอีกว่าเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคมะเร็งปอด​โดยปกติ เราจะป้องกันตัวเองจาก PM2.5 จากการสวมหน้ากาก N95 หรือใช้เครื่องฟอกอากาศที่มีไส้กรอง HEPA (H10 – H14) ซึ่งสามารถกรองอนุภาคที่มีขนาดเล็กกว่า 0.3 ไมครอนได้ตั้งแต่ 85% - 99.995%​ แต่รู้หรือไม่ ว่ามีวัสดุอาคารบางชนิดที่ช่วงลดฝุ่นได้ด้วยเหมือนกัน​ Photocatalytic coating หรือการเคลือบผิววัสดุด้วยสารเคลือบที่มีคุณสมบัติในการเร่งปฏิกิริยาเมื่อได้รับแสง ซึ่งมักใช้ไทเทเนียมไดออกไซด์ (TiO2) เป็นองค์ประกอบหลัก เมื่อไทเทเนียมไดออกไซด์ได้รับแสงอาทิตย์ก็จะเกิดปฏิกิริยาเคมี ทำให้เกิดการถ่ายโอนอิเล็กตรอนบริเวณพื้นผิววัสดุ ทำให้เกิดไฮดรอกซิลเรดิคัล (OH·) และซุปเปอร์ออกไซด์แอนไอออนเรดิคัล (O2-·) ซึ่งสามารถสลายมลพิษทางอากาศ ทั้งฝุ่นละออง แก๊ส แบคทีเรีย ไวรัส และเชื้อราบนพื้นผิว เปลี่ยนเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และน้ำ (H2O) ซึ่งปลอดภัยต่อสุขภาพ และจากงานวิจัยพบว่า ไทเทเนียมไดออกไซด์สามารถย่อยสลายคาร์บอนในฝุ่น PM2.5 ได้ถึง 92% พร้อมทั้งปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าวิธีนี้สามารถลดผลกระทบอันตรายจาก PM2.5 ได้จริง​ปัจจุบันสารเคลือบ Photocatalyst ถูกนำมาประยุกต์ใช้กับวัสดุก่อสร้างหลายชนิด เช่น กระจก หลังคา หรือผสมลงในสีทาบ้าน ไม่เพียงแค่ช่วยทำความสะอาดพื้นผิวตัวเอง ลดการสะสมของฝุ่นและมลพิษในอากาศ ยับยั้งการเติบโตของเชื้อโรคและเชื้อราแล้ว ยังช่วยลดอุณหภูมิของอาคารได้อีกด้วย ทำให้เป็นการลดการใช้พลังงานของอาคารได้อีกทางหนึ่ง ​เนื้อหาโดย คุณ สุพรรณภางค์ รักษาวงค์ นักวิจัยวัสดุ Sustainable Building Material ​อ้างอิงข้อมูลจาก​IARC Monographs. Outdoor Air Quality Volume 109​ดร.พิบูลย์ จินาวัฒน์. วัสดุก่อสร้างโฟโต้คะตาลิสท์. การประชุมวิชาการระดบชาติ “สถาปัตย์กระบวนทัศน์” พ.ศ.2558​Misawa K, Sekine Y, Kusukubo Y, Sohara K. Photocatalytic degradation of atmospheric fine particulate matter (PM2.5) collected on TiO2 supporting quartz fibre filter. Environ Technol. 2020 Apr;41(10):1266-1274.

758 viewer

พรมที่่ต้องการทิ้ง ชุบชีวิตมาใช้ใหม่กันเถอะ

โดย RISC | 6 เดือนที่แล้ว

พรมปูพื้น เป็นหนึ่งในของตกแต่งที่เพิ่มความสวยงาม หรูหรา และสร้างบรรยากาศให้กลมกลืนไปกับ Mood & Tone ของบ้าน และอาคารสำนักงานต่างๆ ด้วยความหลากหลายของลวดลาย สีสัน สัมผัสที่นุ่มสบาย ช่วยลดเสียงรบกวน ลดความเสี่ยงจากการลื่นล้ม และป้องกันรอยขีดข่วนของวัสดุปูพื้น หรือแม้แต่บางชนิดก็ยังช่วยกำจัดฝุ่นละออง และเชื้อโรคในอากาศได้อีกด้วย จึงทำให้พรมเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายทั่วโลก​แต่...เมื่อใช้งานไปนานๆ พรมจะเริ่มเสื่อมสภาพ สีซีดจาง ไม่นุ่มฟูเหมือนเดิม และกลายเป็นที่สะสมฝุ่นละอองสิ่งสกปรก ทำให้ต้องเปลี่ยนไปใช้พรมใหม่ และทิ้งพรมที่ใช้แล้วให้กลายเป็นขยะที่จัดการได้ยาก​ทำไมพรมถึงเป็นขยะที่จัดการได้ยาก?​นั่นก็เพราะพรมมีโครงสร้างซับซ้อน อีกทั้งยังประกอบด้วยวัสดุหลายชนิด โดย "ชั้นบนสุด คือ ขนพรม" จะเป็นเส้นใยธรรมชาติหรือสังเคราะห์ ถูกยึดติดกับ "ฐานพรม" เพื่อช่วยให้พรมคงรูป และรับแรงกระแทกได้ด้วยยางสไตรีนบิวตะไดอีน (SBR) ซึ่งเป็นพลาสติกเทอร์โมเซต ทำให้การแยกชั้นขนพรมออกจากฐานพรมเพื่อนำไปรีไซเคิลทำได้ยาก พรมถูกทิ้งส่วนใหญ่จึงมักจบลงด้วยการฝังกลบหรือเผา จนส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก ส่วนพลาสติกในพรมต้องใช้เวลาในการย่อยสลายหลายร้อยปี รวมทั้งมีโอกาสปนเปื้อนลงสู่ดิน และแหล่งน้ำของไมโครพลาสติก โลหะหนัก สีย้อม และสารประกอบกลุ่มเปอร์ฟลูออโร (เช่น PFOS, PFOA) สารเหล่านี้เป็นสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน สลายตัวช้าในสิ่งแวดล้อม และถ่ายทอดในห่วงโซ่อาหารได้ นั่นคือถ้าเรารับประทานปลาที่อาศัยในแหล่งน้ำที่มีสารเคมีเหล่านี้ปนเปื้อนอยู่ เราก็จะได้รับสารเคมีนี้เข้าสู่ร่างกายด้วย ขยะพรมใช้แล้วจึงควรจัดการด้วยวิธีที่เหมาะสม เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่เกิดขึ้น​แล้วเราจะจัดการขยะจากพรมได้อย่างไร?​การนำพรมใช้แล้วกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) จึงเป็นวิธีจัดการขยะพรมใช้แล้วที่ดีที่สุด นอกจากจะช่วยลดการใช้ทรัพยากรแล้ว ยังไม่ต้องผ่านกระบวนการที่ซับซ้อน หากพรมมีความเสียหายมากเกินไปจนไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ การรีไซเคิล (Recycle) ก็เป็นอีกทางเลือกนึงที่เหมาะสม โดยวิธีการรีไซเคิลพรมสามารถทำได้ทั้งวิธีเชิงกลและเชิงเคมี​- การรีไซเคิลเชิงกล เป็นการบดย่อย และนำมาหลอมขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น ฉนวนกันเสียง แผ่นปูพื้น ซึ่งมีคุณสมบัติด้อยลง​- การรีไซเคิลเชิงเคมี เป็นการนำเส้นใยจากพรมมาผลิตใหม่ผ่านกระบวนการทางเคมี เช่น Depolymerization ได้วัสดุที่มีคุณสมบัติเทียบเท่าวัสดุใหม่ หรือ Pyrolysis ได้เป็นสารตั้งต้นสำหรับผลิตเคมีภัณฑ์หรือเชื้อเพลิง​แม้ว่าการรีไซเคิลเชิงเคมีจะได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ และมีมูลค่าสูงกว่าวิธีเชิงกล แต่เหมาะกับพรมที่ใช้เส้นใยชนิดเดียว และสามารถแยกองค์ประกอบได้ง่าย ​ปัจจุบันการรีไซเคิลขยะจากพรมใช้แล้วในเชิงพาณิชย์ยังคงจำกัดแค่เส้นใยบางชนิดเท่านั้น เช่น Nylon 6 หรือ PP เนื่องจากปัญหาการรวบรวมขยะพรม ความคุ้มค่าในการรีไซเคิล รวมทั้งการนำเม็ดพลาสติกรีไซเคิลไปใช้ผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่ ดังนั้นผู้ผลิตควรออกแบบพรมให้สามารถแยกองค์ประกอบได้ง่าย รวมทั้งใช้วัสดุที่ไม่หลากหลายมากนัก เพื่อให้กระบวนการรีไซเคิลมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น การจัดการขยะพรมที่มีประสิทธิภาพจะช่วยลดการใช้ทรัพยากร ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างอนาคตที่ยั่งยืน​เนื้อหาโดย คุณ สุพรรณภางค์ รักษาวงค์ นักวิจัยวัสดุ Sustainable Building Material ​อ้างอิงข้อมูลจาก​Carpet Recycling UK https://carpetrecyclinguk.com/​Sotayo et.al, 2015. Carpet recycling: A review of recycled carpets for structural composites. Environmental Technology & Innovation. 3, 97-107.​

891 viewer

"Low Carbon Materials" ทางเลือกเพื่อมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

โดย RISC | 7 เดือนที่แล้ว

วัสดุคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Materials) คืออะไร​?ปัจจุบัน หลายองค์กรพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เริ่มตื่นตัวกับเรื่องนี้มากขึ้น เมื่อกลยุทธ์การออกแบบ และการก่อสร้างอาคารใหม่เพื่อประหยัดพลังงาน ยังไม่ใช่แนวทางเดียวที่จะสามารถนำพาให้ธุรกิจขยับเข้าใกล้เป้าหมายการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ของผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในรูปแบบของอาคารให้เป็นศูนย์ได้​ในเมื่อภาคอุตสาหกรรมก่อสร้าง ซึ่งมีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศโลกสูงที่สุดนั้น มีสัดส่วนของการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้พลังงานในช่วงเปิดใช้งานอาคาร (Operational Carbon) ร้อยละ 28 และยังคงมีส่วนของวัสดุและการก่อสร้าง (Embodied Carbon) อีกถึงร้อยละ 11 ของการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งหมดทั่วโลก​วัสดุคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Materials) จึงถูกนำมาพูดกันมาขึ้น ท่ามกลางความพยายามที่ต้องการจะลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์​วัสดุคาร์บอนต่ำ ก็คือวัสดุที่มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับวัสดุทั่วไป โดยจะพิจารณาจากการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ตั้งแต่การได้มาของวัตถุดิบ การผลิต การขนส่ง การใช้งาน รวมไปถึงการจัดการหลังการใช้งาน ซึ่งสามารถตรวจสอบได้จากผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการประเมิณวัฏจักรชีวิต (LCA) (อ่านคอนเทนต์เพิ่มเติมที่ https://bit.ly/3S8zWkd)​ดังนั้น การพิจารณาคุณสมบัติการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ของวัสดุอาคาร และกระบวนการก่อสร้างตลอดทั้งกระบวนการ จึงเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ต้องให้ความสำคัญ ควบคู่กับอาคารประหยัดพลังงาน และการเลือกใช้พลังงานสะอาดทดแทน​จะดีแค่ไหน? ถ้ามีวัสดุคาร์บอนต่ำที่สามารถปลูกทดแทนได้​และจะดีแค่ไหน? ถ้าวัสดุนั้นช่วยดูดกลับคาร์บอนได้อีกด้วยตัวเลือกใดจะเข้าเส้นชัยเป็นอันดับหนึ่งในความท้าทายของการมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Pathway) ของโลกนี้ได้ มาร่วมหาคำตอบได้ในงาน “Timber Construction: The Future of Sustainable Building”​16 ธันวาคม 2567 เวลา 13:00 – 17:30 น. ​ณ Clubhouse โครงการ Mulberry Grove The Forestias Villa​Early Bird!! 3,900 บาท (จากราคาปกติ 4,900 บาท)​วันนี้ – 6 ธันวาคม 2567 เท่านั้น​ลงทะเบียนได้ที่ https://bit.ly/3O3NVs1​จำกัดเพียง 30 ที่นั่งเท่านั้น!​ชำระเงินได้ที่ บริษัท วี บี ฟอร์ มี คอร์ปอเรชั่น จำกัด​ธนาคารกรุงเทพ เลขที่บัญชี 133-5-47655-0​-------------------------------------------------------------​เนื้อหาโดย คุณ สริธร อมรจารุชิต ผู้ช่วยผู้อำนวยการ RISC ​อ้างอิงข้อมูลจาก​World Green Building Council, 2019

982 viewer

เลือกไม้อย่างไร? ให้ไม่ขึ้นรา

โดย RISC | 9 เดือนที่แล้ว

“อยากใช้ไม้ตกแต่งบ้าน แต่กังวลเรื่องเชื้อรา ทำอย่างไรดี?”​คำถามนี้ เชื่อว่าคนรักงานไม้คงปวดหัวไม่น้อย เพราะไม้กับเชื้อรามักจะมาคู่กัน โดยเฉพาะอากาศชื้นๆ ในช่วงหน้าฝนแบบนี้ เนื่องจากไม้ประกอบด้วยเซลลูโลส แป้ง น้ำตาล และลิกนิน ที่สามารถย่อยกลายเป็นคาร์โบไฮเดรต ซึ่งเป็นอาหารหลักของเชื้อรา แต่หากสภาพแวดล้อมมีองค์ประกอบครบถ้วนเอื้อต่อการเกิดเชื้อรา ถึงแม้ไม่ได้ใช้วัสดุไม้ก็เกิดเชื้อราได้เหมือนกัน​องค์ประกอบที่ทำให้เกิดเชื้อรา ก็คือ ความชื้น อาหารของเชื้อรา และอุณหภูมิ ซึ่งหากเรากำจัดตัวแปรเหล่านี้ได้ เชื้อราก็จะหมดไป แต่ด้วยสภาพภูมิอากาศร้อนชื้นของบ้านเรา อย่างช่วงฤดูฝนแบบนี้ การควบคุมความชื้นให้ได้คงไม่ใช่เรื่องง่าย นอกจากนี้ยังมีองค์ประกอบอื่นๆ ที่ส่งผลต่อการเกิดเชื้อราด้วยเช่นกัน เช่น ออกซิเจน แสงสว่าง สภาพความเป็นกรด และชนิดของไม้​แล้วเชื้อราทำให้เกิดความเสียหายได้อย่างไรบ้าง? มาดูกัน​อย่างแรก "เชื้อราที่ผิวไม้" เชื้อราแบบนี้จะยังไม่เจริญเติบโตในเนื้อไม้ เส้นใยและสปอร์ของเชื้อราทำให้เห็นเป็นสีต่างๆ พบมากในไม้ชื้น หรือช่วงที่อากาศมีความชื้นสูง สามารถกำจัดโดยการทำความสะอาดพื้นผิว หรือขัดเนื้อไม้ชั้นนอกออกได้ โดยระมัดระวังไม่ให้สปอร์ของเชื้อราฟุ้งกระจายไปยังพื้นที่อื่นๆ และควรสวมอุปกรณ์ป้องกัน เช่น หน้ากาก ถุงมือ แว่นตา เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับเชื้อรา และป้องกันการสูดดมเข้าสู่ร่างกาย อันเป็นสาเหตุของโรคทางเดินหายใจและภูมิแพ้​ต่อมา "เชื้อราที่ทำให้ไม้เสียสี" กรณีนี้เกิดจากเชื้อราเจริญเติบโตในเนื้อไม้แล้ว อาจแฝงตัวมากับตัวไม้ หรือระหว่างกระบวนการผลิตแปรรูป ทำให้สีเนื้อไม้ผิดปกติไปจากเดิม เป็นจุดๆ หรือเป็นวงกว้าง กระทบต่อความสวยงามของเนื้อไม้ ไม่สามารถกำจัดออกได้ แต่ยังไม่ทำให้ความแข็งแรงของไม้ลดลง​และสุดท้ายคือ "เชื้อราที่ทำให้ไม้ผุ" เป็นเชื้อราที่เข้าทำลายผิวไม้หรือเนื้อไม้ ทำให้ไม้ผุ ยุ่ย ยุบตัว แตก หักง่าย ไม้ฟอกสี ความหนาแน่นลดลง กระทบต่อความแข็งแรงของเนื้อไม้​ รูปที่ 1 แสดงตัวอย่างความเสียหายของพื้นไม้จากเชื้อรา​ รูปที่ 2 แสดงตัวอย่างความเสียหายของประตูไม้จากเชื้อรา​ รูปที่ 3 แสดงตัวอย่างความเสียหายของตู้เสื้อผ้าจากเชื้อรา​ สำหรับวิธีการเลือกใช้ไม้และการควบคุมสภาพแวดล้อมอย่างถูกต้อง เพื่อเป็นการป้องกันก่อนจะเกิดปัญหาเชื้อราในบ้าน ก็สามารถทำได้ตามนี้​การใช้งานไม้ภายนอกอาคาร จะต้องควบคุมความชื้น พื้นที่ใช้งานจะต้องมีการระบายน้ำได้ดี ไม่มีน้ำขัง หรือหลีกเลี่ยงการสัมผัสดินโดยตรง และควรเลือกวัสดุมีความทนทาน ใช้ไม้ชนิดที่เหมาะสมสำหรับการใช้งานภายนอกอาคารโดยเฉพาะ เนื่องจากมีความคงทนต่อสภาพแวดล้อม ทั้งแดด ฝน และความชื้นได้ดีกว่าไม้สำหรับใช้งานภายในอาคาร รวมทั้งควรทำการป้องกันรักษาเนื้อไม้จากเชื้อราและปลวกก่อนนำมาใช้งาน นอกจากนี้ ต้องหมั่นทำความสะอาด คราบสกปรก ตะไคร่น้ำอยู่เป็นประจำ​ส่วนการใช้งานไม้ภายในอาคาร จะต้องควบคุมความชื้น และต้องไม่อับชื้น หมั่นเปิดประตูหน้าต่างระบายอากาศ มีแสงสว่างเข้าถึง เปิดพัดลมระบายอากาศ หรือใช้เครื่องลดความชื้น และหมั่นตรวจสอบพื้นที่ไม่มีน้ำรั่วซึมจากหลังคา ผนัง ประตูหน้าต่าง ท่อน้ำ เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น หรือความชื้นจากพื้นดิน รวมทั้งหมั่นทำความสะอาด ป้องกันการสะสมของฝุ่นและคราบสกปรก และเช็ดให้แห้งสนิทหลังทำความสะอาดทุกครั้ง​​นอกจากนี้ เรายังสามารถทราบปริมาณความชื้นของไม้ได้จากการใช้เครื่องมือตรวจวัด หรือขอใบรับรองจากผู้ผลิตหรือผู้จัดจำหน่าย ก่อนตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์นั้นๆ​สำหรับการเลือกใช้วัสดุที่ไม่เป็นอาหารของเชื้อรา ก็สามารถทำได้ตามนี้...​ ไม้ที่มีกาวหรือตัวประสานเป็นส่วนผสม เช่น ไม้อัด ไม้ประสาน ไม้ MDF ไม้ Particle จะต้องคำนึงถึงวิธีการใช้งานที่ถูกต้อง ไม่ควรโดนแดดฝนโดยตรง หรืออยู่ในพื้นที่ที่มีความชื้นสูง เช่น ห้องน้ำ เนื่องจากมีโอกาสเกิดเชื้อราค่อนข้างสูง​ ไม้แปรรูป ไม้ที่มีความชื้นในเนื้อไม้สูงมีความเสี่ยงให้เกิดเชื้อราได้ง่าย ไม้ที่ถูกนำมาแปรรูปหรือใช้งานเป็นส่วนประกอบของอาคารบ้านเรือนทั่วไปควรมีการควบคุมปริมาณความชื้นในเนื้อไม้ (Moisture content) โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 10-12% เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างปริมาณความชื้นในเนื้อไม้กับอุณหภูมิอากาศและความชื้นสัมพัทธ์ ลดการยืดหดตัวของไม้ และลดการดูดซึมความชื้นจากอากาศ (อ้างอิงค่าเฉลี่ยของประเทศไทย ทั้งนี้ความชื้นของไม้ที่เหมาะสมจะแปรเปลี่ยนตามสภาพภูมิอากาศของพื้นที่นั้นๆ โดยเมื่อความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศเพิ่มขึ้น ปริมาณความชื้นสมดุลจะเพิ่มขึ้น แต่เมื่ออุณหภูมิอากาศเพิ่มขึ้น ปริมาณความชื้นสมดุลจะลดลง)​ แผนภูมิที่ 1 แสดงความสัมพันธ์ระหว่างความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศกับปริมาณความชื้นสมดุลของเนื้อไม้​ ในส่วนของการควบคุมปริมาณความชื้นของไม้ ด้วยการผึ่ง หรืออบ จะแปรไปตามวัตถุประสงค์ของการใช้งาน ตัวอย่างเช่น ไม้ไส้ประตู ความชื้นจะอยู่ที่ 8-12%, ไม้ปูพื้น ไม้ใช้งานภายในอาคารทั่วไป ความชื้นจะอยู่ที่ 12-16% และไม้โครงสร้าง เช่น Glulam ความชื้นจะไม่เกิน 16% นอกจากนี้ ควรทำการป้องกันรักษาเนื้อไม้ก่อนนำมาใช้งาน เช่น การอัดน้ำยา หรือการทาน้ำยาป้องกันเชื้อรา​นอกจากนี้ "การเลือกใช้วัสดุทดแทนไม้" วัสดุที่สามารถทดแทนคุณสมบัติอื่นๆ ของไม้ที่ต้องการก็เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ โดยวัสดุเหล่านี้จะมีความต้านทานเชื้อราได้ดีกว่า มีค่าการดูดซึมน้ำและความชื้นน้อยกว่า เช่น ไม้เทียมสังเคราะห์ เป็นต้น​จริงอยู่ที่ “ไม้” มีคุณสมบัติที่ดีทั้งด้านคาร์บอนต่ำ สามารถปลูกทดแทนได้ มีความสวยงาม และได้รับสัมผัสความเป็นธรรมชาติ จึงเป็นที่นิยมใช้งานอย่างแพร่หลาย แต่การเลือกใช้ไม้ นอกจากต้องระมัดระวังเรื่องเชื้อราแล้ว ก็ควรต้องรู้ถึงแหล่งที่มาของไม้ด้วยเช่นกัน เพื่อไม่เป็นการทำลายบ้านของสัตว์อื่น หรือไม่เป็นการทำลายป่าไม้ ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำตามธรรมชาติ​เนื้อหาโดย คุณ สริธร อมรจารุชิต ผู้ช่วยผู้อำนวยการ RISC​อ้างอิงข้อมูลจาก​มอก. 497-2526 มาตรฐานผลิตภัณฑ์ไม้แปรรูปอบ​สำนักวิจัยการจัดการป่าไม้และผลิตผลป่าไม้ กรมป่าไม้. เห็ดราทำลายไม้, 2549.​ANSI A190.1-2022 Product Standard for Structural Glued Laminated Timber​Maher Zakaria Ahmed Selim.  Evaluation of moisture content in wood fiber and recommendation of the best method for its determination, 2006.​

1549 viewer

หน้าฝนไม่ลื่นไม่ไถล วัสดุพื้นแบบไหนที่ช่วยกันลื่นได้?

โดย RISC | 9 เดือนที่แล้ว

“ฝนตก ถนนลื่น โปรดลดความเร็ว ขับขี่ด้วยความระมัดระวัง” เรามักเห็นข้อความเตือนแบบนี้อยู่เป็นประจำในช่วงที่มีฝนตก แต่...อุบัติเหตุขณะฝนตก ไม่ได้เกิดกับผู้ขับขี่ยานพาหนะบนท้องถนนเพียงเท่านั้น คนเดินเท้าก็มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุลื่นล้มได้บ่อยเช่นกัน และอาจจะต้องเพิ่มเติมข้อความเตือน “ฝนตก ทางเดินเท้าลื่น โปรดย่างก้าวด้วยความระมัดระวัง” เหมือนกับเตือนผู้ขับขี่ยานพาหนะ​เชื่อว่าหลายคนอาจเคยลื่นล้มจากการเดินบนพื้นเปียกน้ำ หรือพื้นที่มีน้ำขัง จนบาดเจ็บตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงระดับรุนแรง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงหรือผู้สูงวัยอาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ จากรายงานสถานการณ์การพลัดตกหกล้มในประเทศไทย ประจำปี พ.ศ. 2566 โดยกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ในทุกปีจะมีผู้สูงวัย (อายุ 60 ปี ขึ้นไป) มากกว่า 1 ใน 3 หกล้ม และได้รับบาดเจ็บจนต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลเป็นผู้ป่วยนอกมากกว่า 180,000 รายต่อปี และต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเกือบ 90,000 รายต่อปี ซึ่งสูงเป็นอันดับ 1 ของอัตราผู้ป่วยใน อีกทั้งยังเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตมากกว่า 1,200 คนต่อปีอีกด้วย​สาเหตุหลักของการพลัดตกหกล้มในผู้สูงวัย เกิดจากการลื่น สะดุด หรือก้าวพลาด บนพื้นระดับเดียวกัน โดยมีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 61.97 จากประวัติผู้สูงวัยที่เข้ารับการตรวจรักษาในปี พ.ศ. 2565 จำนวน 20,741 ครั้ง จากตัวเลขเหล่านี้ เราจะเห็นได้ว่า ความรุนแรงของอุบัติเหตุจากการพลัดตกหกล้มนั้นก่อให้เกิดความสูญเสียอันประเมินค่าไม่ได้ และการป้องกันปัญหาจึงไม่ใช่เรื่องที่ควรมองข้าม​จากรายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ระบุว่า ปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อการพลัดตกหกล้มเกิดขึ้นได้ทั้งทางด้าน...​• ชีววิทยา เช่น โรคทางระบบประสาท ความเสื่อมสภาพของร่างกาย การทรงตัว การมองเห็น ฯลฯ​• พฤติกรรม เช่น การใช้ยาบางประเภท เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รองเท้าไม่มีดอกยาง การเปลี่ยนอริยาบถอย่างรวดเร็ว ฯลฯ​• เศรษฐกิจและสังคม เช่น การอยู่ตามลำพัง ไม่มีงบประมาณปรับปรุงสภาพแวดล้อมภายในและภายนอกบ้าน ฯลฯ​• สิ่งแวดล้อม เช่น พื้นลื่น ไม่เรียบ มีทางต่างระดับ แสงสว่างไม่เพียงพอ สิ่งของกีดขวางทางเดิน ไม่มีราวจับ ฯลฯ​ด้วยปัจจัยทางด้านสุขภาพร่างกายเสื่อมถอยเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก ทำให้ผู้สูงวัยเป็นกลุ่มเสี่ยงหลักที่ต้องใส่ใจ แต่เรื่องนี้ก็สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ว่าจะเด็ก สตรีมีครรภ์ หรือผู้ที่มีข้อจำกัดทางร่างกาย​​แล้วเราจะควบคุมอุบัติเหตุจากการพลัดตกหกล้มได้อย่างไร?​เรื่องพื้นฐานที่สามารถควบคุมได้ และควรกระทำโดยทันที คือการจัดสรรสภาพแวดล้อมในการอยู่อาศัยให้เหมาะสม ลดความเสี่ยงต่อการลื่นล้มสำหรับทุกคน ด้วยการเลือกวัสดุช่วยกันลื่นให้เหมาะกับพื้นที่ใช้งาน​บริเวณที่ผิวพื้นต้องไม่ลื่น จะต้องเลือกวัสดุพื้นที่มีค่ากันลื่น (รู้จักค่า R มากขึ้นอ่านต่อที่ https://risc.in.th/th/knowledge/slippery-problems-lets-get-to-know-r-rating-in-flooring-material) มากขึ้นตามระดับความเสี่ยงของกิจกรรมการใช้งานพื้นที่นั้นๆ (Room Function) ที่พื้นมีโอกาสเปียกจากน้ำ น้ำฝน หรือน้ำมันได้ เช่น​• พื้นที่ใช้งานทั่วไปภายในบ้าน ได้แก่ ห้องนอน ห้องนั่งเล่น ทางเดิน เลือกวัสดุที่มีค่ากันลื่นอย่างน้อย R9​• พื้นห้องน้ำส่วนแห้ง ได้แก่ ห้องส้วม อ่างล้างหน้า เลือกวัสดุที่มีค่ากันลื่นอย่างน้อย R10​• พื้นห้องน้ำส่วนเปียก ได้แก่ ห้องอาบน้ำ อ่างอาบน้ำ เลือกวัสดุที่มีค่ากันลื่นอย่างน้อย R11​• พื้นห้องเตรียมอาหาร เลือกวัสดุที่มีค่ากันลื่นอย่างน้อย R10​• พื้นห้องครัว เลือกวัสดุที่มีค่ากันลื่นอย่างน้อย R11​• พื้นที่ใช้งานภายนอกบ้าน ได้แก่ ทางเดิน ที่จอดรถ เลือกวัสดุที่มีค่ากันลื่นอย่างน้อย R11​• พื้นที่ใช้งานภายนอกบ้านที่มีความลาดชันสูง เลือกวัสดุที่มีค่ากันลื่นอย่างน้อย R12​วัสดุปูพื้นที่ได้มาตรฐานควรมีผลทดสอบค่ากันลื่นจากทางผู้ผลิต แต่หากไม่มีค่ากันลื่น แนะนำให้สังเกตและพิจารณาเลือกใช้วัสดุ ดังนี้​• วัสดุที่มีค่าแรงเสียดทานสูง เช่น ยาง ไวนิล มีการยึดเกาะพื้นผิวที่ดี มักจะมีค่าการกันลื่นสูง​• การเพิ่มคุณสมบัติการกันลื่นของวัสดุ สามารถทำได้หลายรูปแบบ เช่น การทำผิวหยาบขรุขระ การเซาะร่องวัสดุ การเพิ่มร่องยาแนว หรือการทำโมเสก​ รูปที่ 1 ตัวอย่างการทำผิวหยาบขรุขระ​   รูปที่ 2 ตัวอย่างการเซาะร่องวัสดุ​​ รูปที่ 3 ตัวอย่างการเพิ่มร่องยาแนว​ รูปที่ 4 ตัวอย่างการทำโมเสก​​ หากวัสดุเดิมที่ใช้งานอยู่มีความลื่นมาก และไม่สามารถเปลี่ยนวัสดุได้ อาจเลือกติดตั้งแผ่นยางกันลื่น เทปกันลื่น หรือน้ำยาเคลือบผิวกันลื่น ตามความเหมาะสมของพื้นที่นั้นๆ​สำหรับผิวพื้นที่ไม่เปียกน้ำ ก็ต้องใส่ใจเป็นพิเศษเหมือนกัน อย่างวัสดุพื้นคอนกรีต หิน กระเบื้อง เมื่อโดนน้ำค่ากันลื่นมักจะลดลงเมื่อเทียบกับตอนที่ผิววัสดุแห้ง แนะนำดังนี้​• พื้นที่ใช้งานภายในบ้าน หมั่นทำความสะอาดและเช็ดให้แห้งอยู่เสมอ และระมัดระวังการใช้งานในระหว่างที่พื้นเปียกจากน้ำ หรือน้ำยาทำความสะอาด​• พื้นที่ใช้งานภายนอกบ้าน ควรมีหลังคาคลุมกันฝน ระบายน้ำได้ดี ไม่มีน้ำขัง และหลีกเลี่ยงการใช้งานในขณะที่ฝนตก หรือหลังฝนตก​ในส่วนของการทำความสะอาด วัสดุที่มีค่ากันลื่นสูงมักจะมีผิวสัมผัสขรุขระ จึงควรเลือกรูปแบบผิวที่ยังสามารถทำความสะอาดได้ดี และเนื้อวัสดุมีความพรุนน้อย ลดการกักเก็บสิ่งสกปรกต่างๆ เนื่องจากคราบสกปรก ฝุ่น ตะไตร่น้ำ ที่เกาะบนผิวพื้น เมื่อโดนน้ำจะทำให้เกิดการลื่นไถลได้ด้วยเช่นกัน​"การเลือกสีสันหรือลวดลายของพื้น" ควรเลือกที่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนว่าเป็นพื้นเรียบหรือพื้นต่างระดับ ไม่มุ่งเน้นเพียงแค่ความสวยงามเท่านั้น แต่ควรต้องคำนึงถึงคุณภาพการมองเห็น เพื่อลดอุบัติเหตุจากการล้ม หรือสะดุดเนื่องจากก้าวพลาดได้ เช่น หลีกเลี่ยงการเลือกใช้สีและลวดลายที่เหมือนกันบริเวณบันได ทำให้แยกไม่ออกว่าเป็นพื้นต่างระดับ หรือการเลือกใช้สีและลวดลายที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน เป็นเส้นขอบตกแต่งพื้น จนทำให้เข้าใจผิดคิดว่าเป็นพื้นต่างระดับ​ รูปที่ 5 ตัวอย่างการเลือกใช้สีสันและลวดลายที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุ ​นอกจากการเลือกวัสดุพื้นแล้ว "การจัดเตรียมแสงสว่างที่เพียงพอ" ที่สามารถมองเห็นเส้นทางเดินและรายละเอียดโดยรอบได้อย่างชัดเจน การจัดเก็บสิ่งของเป็นระเบียบไม่มีสิ่งกีดขวางบริเวณทางเดิน และการติดตั้งราวจับช่วยพยุงตัวในจุดที่มีการเปลี่ยนระดับ ทางลาด หรือตลอดแนวทางเดิน ก็มีความสำคัญด้วยเช่นกัน ซึ่งทั้งหมดนี้ เป็นแนวทางการป้องกันที่ต้นเหตุด้วยการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ ลดความรุนแรงของการบาดเจ็บ และลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นได้​เนื้อหาโดย คุณ สริธร อมรจารุชิต ผู้ช่วยผู้อำนวยการ RISC ​อ้างอิงข้อมูลจาก​รายงานประจำปี พ.ศ. 2566 กองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (https://ddc.moph.go.th/dip/journal_detail.php?publish=15746)​WHO global report on falls prevention in older age (https://www.who.int/publications/i/item/9789241563536)​

1573 viewer

รับข่าวสาร

ลงทะเบียนเพื่อรับข่าวสารกับเรา