"แสง" สิ่งเร้าที่ส่งผลต่อมนุษย์มากกว่าที่คุณคิด
เขียนบทความโดย RISC | 1 ปีที่แล้ว
แก้ไขล่าสุด : 1 ปีที่แล้ว
“การมองเห็น” เป็นหนึ่งในประสาทสัมผัสทั้ง 5 ของเราที่ใช้เยอะที่สุด นั่นก็เพราะชีวิตของเราใช้ดวงตากันตลอดเวลา นับตั้งแต่ตื่นขึ้นมาจนถึงนอนหลับ หรือเรียกได้ว่า เราใช้ดวงตาในเกือบทุกๆ นาทีที่เรามีสติอยู่นั่นเอง “แสงสว่าง” จึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อการมองเห็น ไม่ว่าจะจากแหล่งกำเนิดแสงใดๆ ก็ตาม
มีคำกล่าวที่ว่า “จุดเริ่มต้นของการพัฒนาจากลิงสู่คน คือ การสร้างคบเพลิงและแสงไฟใช้ในยามค่ำคืนได้” จากข้อความนี้จึงบอกได้เลยว่าแสงเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นๆ ในการใช้ชีวิต นอกจากนี้แสงก็ยังส่งผลกระทบต่อเรามากกว่าที่คุณคิด
"แสง" เราจะมีการกำหนดคุณสมบัติ 2 ตัวแปรหลัก นั่นคือ อุณหภูมิสีของแสง (Color Temperature) และค่าความเข้มของแสง (Light Intensity) โดยอุณหภูมิสีของแสงเกิดจากการให้ความร้อนผ่านวัตถุสีดำ (black body radiation) สีจะเปลี่ยนแปลงไปตามอุณหภูมิความร้อนที่ได้รับ ณ อุณหภูมิต่างๆ ออกมาเป็นสีของหลอดไฟ โดยจะมีหน่วยเป็น เควิน (Kevin) อย่างเช่น
• แสงที่มีอุณหภูมิสีต่ำกว่า 3000 เควิน จะมีโทนแสงออกไปทาง แสงวอร์มไวท์ (Warm White) มีลักษณะเป็นสีเหลือง ไปจนถึงส้ม เช่น แสงจากเปลวเทียน โดยจุดเด่นของแสงช่วงนี้ จะสามารถสร้างความรู้สึกผ่อนคลายได้ดีมาก และยังถนอมสายตาได้ดี
• แสงที่มีอุณหภูมิสีตั้งแต่ 3000 - 5000 เควิน เรียกกันว่า แสงสีขาว หรือ คูลไวท์ (Cool White) โดยจะมีสีขาวนวล ไม่เห็นสีอื่นๆ เจือปน แสงช่วงนี้จึงเหมาะมากกับการสร้างสมาธิขณะทำงาน ไม่สร้างความผ่อนคลาย ไม่สร้างอารมณ์อื่นใดมากระทบ นอกจากนี้แสงสีนี้มีลักษณะเหมือนแสงช่วงเวลายามบ่ายกลางวัน จึงเหมาะในการสร้างความกระตือรือร้นให้กับคนทำงาน
• แสงที่มีอุณหภูมิสีตั้งแต่ 5000 เควินขึ้นไป เป็นแสงที่มีอุณหภูมิสีที่สูง จะรู้สึกได้ถึงสีฟ้า แสงสีนี้มีจุดเด่นที่ให้ความสว่างดี ลักษณะเหมือนกับแสงในช่วงเที่ยงวัน
ส่วนค่าความเข้มของแสง จะใช้การวัดความเข้มข้นของแสงที่ตกกระทบต่อพื้นที่ขนาด 1 ตารางเมตร โดยมีหน่วยเป็นลักซ์ (Lux) ซึ่งวิธีวัดจะใช้เครื่องมือที่ชื่อว่า Lux Meter ในการวัด และเพื่อให้เห็นภาพได้ชัดขึ้น เราลองมาดูตัวอย่างนี้กัน
• แสงที่มาค่าความสว่างต่ำมากๆ น้อยกว่า 100 ลักซ์ หรือแสงสลัว จะเป็นแสงที่ให้ความสว่างน้อย วิสัยทัศน์ไม่ค่อยดี เช่น แสงจากริมถนนที่ผ่านหน้าต่างเข้ามา, แสงจากเปลวเทียน เป็นแสงที่เหมาะกับการพักผ่อนเป็นอย่างมาก สบายตา แต่ไม่เหมาะกับการทำงาน หรืองานที่อยู่หน้าคอมพิวเตอร์
• แสงที่มีค่าความสว่างช่วง 100 - 1,000 ลักซ์ จะเป็นแสงช่วงที่ใช้ชีวิตกันปกติ ไม่สว่างมากเกินไปหรือน้อยเกินไป จึงเป็นแสงที่เหมาะกับการทำงานในทุกๆ รูปแบบ
• แสงที่มีค่าความสว่างมากกว่า 1,000 ลักซ์ เป็นแสงที่มีความสว่างมากๆ จนอาจทำให้เกิดอันตรายกับดวงตาได้ ถ้าเรามองแหล่งกำเนิดแสงนั้นตรงๆ และเป็นเวลานาน เช่น แสงในช่วงเวลากลางวันที่ส่องจากดวงอาทิตย์, แสงจากสปอตไลต์ โดยแสงเหล่านี้มักจะไม่เห็นโดยปกติทั่วไป
ตัวแปรของแสงยังสามารถนำมาผสมกัน เพื่อให้เหมาะกับการใช้งานของแต่ละห้อง หรือแต่ละสถานที่ได้ อย่างเช่น
• ห้องนอน แสงที่ควรเลือก ควรเป็นแสงที่มีอุณหภูมิสีของแสงต่ำ โทนสีไฟอุ่น ช่วง 1700 - 3000 เคลวิน ที่มีค่าความสว่างน้อยกว่า 100 ลักซ์ เพื่อสร้างสภาวะที่เหมาะสมกับการพักผ่อน
• ห้องทำงานหรือห้องครัว จะใช้แสงที่มีค่าความสว่างในช่วง 300 - 1,000 ลักซ์ผสมกับแสงที่มีอุณหภูมิ 4000 เคลวิน เพื่อให้สามารถทำงานได้สะดวก มองเห็นได้ชัดเจน และสีที่มองเห็นได้ไม่เพี้ยนจากปกติ
• ห้องที่ใช้คอมพิวเตอร์ ควรเลือกอุณหภูมิสีของแสงต่ำ โทนอุ่น ช่วง 1700 - 3000 เคลวิน เพื่อถนอมสายตา ไม่ให้ตาล้าจากการจ้องคอมพิวเตอร์นานจนเกินไป
นอกจากในเรื่องของความรู้สึกและการใช้งานจริงแล้ว แสงนับเป็นหนึ่งในสิ่งเร้าที่กระตุ้นสมองของมนุษย์ได้ดีที่สุด ทำให้สมองของมนุษย์ส่วนใหญ่ถูกแบ่งสำหรับการวิเคราะห์เกี่ยวกับการมองเห็นโดยเฉพาะ ได้แก่ สมองส่วนท้าย (Occipital Lobe) ซึ่งในปัจจุบันก็มีการนำความรู้เรื่องการตอบสนองของแสงต่อมนุษย์มาพัฒนาเพื่อการใช้งานอยู่มามากมาย เช่น การใช้แสงที่มีค่าความสว่างมากๆ (มากกว่า 10,000 ลักซ์) ในการเป็นอุปกรณ์เสริมในการทำการบำบัดผู้ป่วยโรคซึมเศร้า โดยเป็นที่นิยมมากในประเทศโซนยุโปรที่กลางคืนยาวนานกว่ากลางวัน
เนื้อหาโดย คุณ ณัฐภัทร ตันจริยภรณ์ นักวิจัยอาวุโส ปฏิบัติการเชื่อมต่อสมองกับคอมพิวเตอร์ RISC