"ตรุษจีน" เทศกาลของการพบกันของครอบครัว RISC ขอชวนทำแบบสอบถามประเมินสมองเสื่อม เพื่อคนที่คุณรัก
เขียนบทความโดย RISC | 9 เดือนที่แล้ว
แก้ไขล่าสุด : 9 เดือนที่แล้ว
ช่วงเวลาแห่งความสุข และการเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีนใกล้เข้ามาถึงแล้ว ชาวจีนทั่วโลกและชาวไทยเชื้อสายจีนก็ต่างรอคอยช่วงเวลานี้เพื่อพบปะครอบครัวและญาติพี่น้อง เฉลิมฉลอง ไหว้เทพเจ้า และไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับ
ช่วงเวลาที่ทุกคนมีโอกาสมาพบกันแบบนี้ การสังเกตและพูดคุยเกี่ยวกับสุขภาพผู้สูงวัยที่เราห่วงใยในครอบครัว จะช่วยให้ทุกคนมีความเข้าใจและเห็นถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพ เนื่องจากผู้สูงวัยเป็นวัยที่มีสภาพร่างกายเสื่อมถอยลง การเปลี่ยนแปลงบางอย่างเมื่อเสื่อมแล้วไม่สามารถทดแทนให้ดีได้ดังเดิม ซึ่งความเสื่อมถอยในร่างกายนี้อาจส่งผลต่อความรู้สึก อารมณ์ สภาพจิตใจ และอาจเป็นสาเหตุให้เกิดความเจ็บป่วยอื่นๆ ตามมา หรือหากรอให้มีอาการผิดปกติหรือเจ็บป่วยแล้วค่อยไปพบแพทย์ อาจเป็นช่วงเวลาที่ทำให้การรักษายุ่งยากและสิ้นเปลืองค่ารักษาพยาบาลมากขึ้น หรือเกิดอาการรุนแรงจนไม่สามารถรักษาได้ การดูแลผู้สูงวัยในครอบครัวอย่างสม่ำเสมอ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรละเลย โดยเฉพาะเรื่องของสมอง
ทำไมเราต้องให้ความสำคัญของการประเมินภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงวัย?
จากรายงานสถานการณ์ผู้สูงวัยในประเทศไทย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าหนึ่งในโรคที่พบบ่อย และเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญของผู้สูงวัย คือ โรคสมองเสื่อม โดยสถิติในปี 2565 มีผู้สูงวัยที่มีภาวะสมองเสื่อมกว่า 770,000 คน หรือประมาณร้อยละ 6 ของจำนวนผู้สูงวัยทั้งประเทศ และที่น่าห่วงคือ ทิศทางผู้ป่วยนั้นมีจำนวนสูงขึ้นในทุกๆ ปี เฉลี่ยปีละหนึ่งแสนคน
ภาวะสมองเสื่อม คือ ภาวะที่มีการสูญเสียความสามารถทางสมอง เช่น ความจำ การรับรู้ ความเข้าใจ การใช้ภาษา ทิศทาง การใช้เหตุผลและการแก้ปัญหา มีการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมและบุคลิกภาพ โดยมีผลกระทบเกิดขึ้นทั้งด้านร่างกาย ด้านจิตใจ ความสามารถในการดำเนินชีวิตประจำวัน รวมไปถึงภาระในการดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมของครอบครัวอีกด้วย
การประเมินภาวะสมองเสื่อมเบื้องต้นจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะช่วยคัดกรองผู้ที่มีแนวโน้มหรือมีความเสี่ยงที่จะมีภาวะสมองเสื่อม โดยสามารถประเมินได้ด้วยตนเองอย่างง่ายและใช้เวลาน้อย ได้จากแบบประเมินภาวะสมองเสื่อมที่ถูกพัฒนาและออกแบบโดยกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
ผู้ที่สนใจสามารถทำแบบประเมินภาวะสมองเสื่อม 14 ข้อคำถาม โดยกรมการแพทย์ ได้ที่ https://www.healthcheckup.in.th/self-test/8
นอกจากนี้ ยังมีแบบประเมินภาวะสมองเสื่อมที่ได้มาตรฐาน และได้รับความนิยมอื่นๆ อีก แต่ต้องอาศัยผู้ทำการประเมินร่วมด้วย ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 15-20 นาที ได้แก่ แบบประเมิน MoCA (Montreal Cognitive Assessment) และแบบประเมิน TMSE (Thai Mental State Examination) ที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ เพื่อประเมินของการทำงานของสมองด้านต่างๆ ทั้งเรื่องความตั้งใจ (Attention), สมาธิ (Concentration), การบริหารจัดการ (Executive function), ความจำ (Memory), ทักษะสัมพันธ์ของสายตากับการสร้างรูปแบบมิติสัมพันธ์ (Visuoconstruction), ความคิดรวบยอด (Conceptual Thinking), การคิดคำนวณ (Calculation) และการรับรู้สภาวะรอบตัว (Orientation) เป็นต้น
ผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปศึกษาเพิ่มเติม และทำแบบประเมิน MOCA ได้ที่ http://www.rbpho.moph.go.th/upload-file/doc/files/12012023-110708-6436.pdf, www.mocatest.org
และทำแบบประเมิน TMSE ได้ที่ https://www.thainurse.org/wordpress/?p=12039
การทำแบบประเมินภาวะสมองเสื่อม เป็นการคัดกรองเบื้องต้นว่า เริ่มเข้าสู่ภาวะสมองเสื่อมระยะแรกหรือไม่ เพื่อสามารถเข้าสู่การตรวจและรักษาได้เนิ่นๆ ชะลอการดำเนินของโรคได้ และอาจช่วยบอกได้ว่าสูญเสียการทำงานของสมองด้านใด เช่น ความจำ หรือการใช้ภาษา แต่ไม่สามารถวินิจฉัยสาเหตุของภาวะสมองเสื่อมได้ทั้งหมด ซึ่งต้องมีการตรวจเพิ่มเติมอื่นๆ เช่น การตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการ และการตรวจเอกซเรย์สมอง เพื่อหาสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อม
การดูแลสุขภาพและประเมินสมองให้กับผู้สูงอายุภายในครอบครัว ไม่เพียงแต่เป็นการคัดกรองโรคสภาวะสมองเสื่อม แต่ยังสามารถเสริมสร้างความสัมพันธ์และความรักในครอบครัวได้อีกด้วย โดยเฉพาะเทศกาลตรุษจีนนี้ นับเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้ดูแลสมาชิกครอบครัวได้อย่างใกล้ชิด
เนื้อหาโดย คุณ สิทธา ปรีดาภิรัตน์ นักวิจัยอาวุโส ปฏิบัติการเชื่อมต่อสมองกับคอมพิวเตอร์ Happiness Science Hub, RISC
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://pr.moph.go.th/?url=pr%2Fdetail%2F2%2F02%2F204159%2F