ทำไมเราถึงจำ “กลิ่น” ได้ดีกว่าประสาทสัมผัสอื่นๆ
เขียนบทความโดย RISC | 10 เดือนที่แล้ว
แก้ไขล่าสุด : 10 เดือนที่แล้ว
รู้หรือไม่ "กลิ่น" สร้างการรับรู้และสร้างการจดจำได้ดี
จากบทความครั้งที่แล้ว (อ่านได้ที่ https://bit.ly/3RhepaN) จะเห็นได้ว่ากลิ่นมีผลต่อการรับรู้และสามารถสร้างอารมณ์เชิงบวกและความผ่อนคลายได้ แต่นอกจากเรื่องของอารมณ์แล้ว สมองของคนเราจดจำสิ่งต่างๆ จาก “กลิ่น” ได้ดีกว่าประสาทสัมผัสอื่นๆ
หลายคนอาจจะสงสัย เพราะเราใช้สายตามองและจดจำสิ่งต่างๆ เป็นหลักมาโดยตลอด แต่ทำไมคนเราถึงจำกลิ่นได้ดีกว่าล่ะ?
นั่นก็เพราะประสาทการรับรู้กลิ่นของคนเราส่งตรงกับสมองโดยตรงนั่นเอง โดยเมื่อเราได้กลิ่น ประสาทส่วนรับกลิ่น (Olfactory bulb) ซึ่งอยู่บริเวณสมองส่วนหน้า จะส่งข้อมูลกลิ่นตรงไประบบลิมบิก (Limbic system) หรือส่วนของสมองที่ทำงานเกี่ยวกับการรับรู้เกี่ยวกับอารมณ์และพฤติกรรม และไปยังสมองส่วนอะมิกดาลา (Amygdala) เพื่อประมวลผลอารมณ์ทั้งด้านบวกและด้านลบจากการได้กลิ่นนั้นๆ ประสาทสัมผัสเกี่ยวกับกลิ่นจึงเป็นประสาทสัมผัสที่มนุษย์รับรู้ได้เร็วที่สุดเมื่อเทียบกับประสาทสัมผัสอื่นๆ
นอกจากนี้ กลิ่นยังมีความสัมพันธ์กับ "ความทรงจำระยะยาว (Long-term memory)" ของคนเราอีกด้วย โดยประสาทสัมผัสการดมกลิ่นจะส่งข้อมูลต่อไปยังส่วนฮิบโปแคมปัส (Hippocampus) ที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการสร้างความทรงจำระยะยาว เพื่อแปลผลการรับรู้กลิ่นจากความทรงจำของเรา และกระตุ้นความทรงจำที่เกี่ยวข้องกับกลิ่นนั้นๆ ทุกครั้งที่เราได้กลิ่นจึงทำให้ความทรงจำที่มีความเชื่อมโยงกับกลิ่นแล่นเข้ามาในสมองของเรา เช่น กลิ่นดินช่วงฝนใกล้ตก หรือกลิ่นอาหารมื้อเย็นที่คุณแม่ทำให้เมื่อตอนกลับถึงบ้าน
คราวนี้เราลองมาดูการประยุกต์ใช้เรื่องกลิ่นในการทำเรื่องอื่นๆ กัน
โครงการอสังหาริมทรัพย์ของ MQDC ได้ประยุกต์องค์ความรู้เรื่องกลิ่นมาใช้ในการออกแบบ อย่างในโครงการ The Aspen Tree ที่ The Forestias ได้มีการออกแบบพื้นที่ป่าไม้หอม (Fragrant Forest) บริเวณทางเข้าโครงการ เพื่อให้ผู้สูงอายุจดจำได้ และใช้กลิ่นหอมที่คุ้นเคยนี้นำทางกลับบ้านได้ เพราะการรับรู้กลิ่นของคนเรา จะถูกนำไปเก็บในส่วนของความทรงจำระยะยาว (Long-term memory) แม้ผู้สูงวัยจะจำภาพ หรือทิวทัศน์ไม่ได้ แต่ก็ยังสามารถจำสถานที่จากกลิ่นได้ นับเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ทาง MQDC ได้ใส่ใจในรายละเอียดเรื่องการรับรู้ควบคู่ไปกับการสร้างความปลอดภัยให้ผู้อยู่อาศัยในโครงการ
นอกจากนี้ เรื่องกลิ่นยังถูกนำมาใช้ในการทำน้ำหอมสำหรับใช้ในโอกาสต่างๆ หรือเพื่อการสร้างแบรนด์กระตุ้นให้คนจดจำ การสร้างกลิ่นเฉพาะให้กับสถานที่ ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ร้านค้า หรือห้างสรรพสินค้า เพื่อสร้างการจดจำกลิ่นเชื่อมโยงกับบรรยากาศของสถานที่นั้นๆ และเชิญชวนให้คนมาใช้สถานที่มากขึ้น รวมถึงการนำไปใช้ประโยชน์เพื่อสร้างสุขภาวะที่ดี
จากที่กล่าวมา เราคงไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไมกลิ่นถึงถูกนำมาใช้ในบริบทต่างๆ มากมาย นั่นก็เพราะคนเราจดจำ “กลิ่น” ได้ดีที่สุดนั่นเอง
เนื้อหาโดย คุณจิราภา หอบรรลือกิจ นักวิจัยและการสื่อสาร RISC
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://news.harvard.edu/gazette/story/2020/02/how-scent-emotion-and-memory-are-intertwined-and-exploited/
Herz RS. The Role of Odor-Evoked Memory in Psychological and Physiological Health. Brain Sci. 2016 Jul 19;6(3):22. doi: 10.3390/brainsci6030022. PMID: 27447673; PMCID: PMC5039451.