Knowledge - RISC

ธรรมชาติกับการพัฒนาการของเด็กและความสัมพันธ์ของครอบครัว

เขียนบทความโดย RISC | 4 วันที่แล้ว

แก้ไขล่าสุด : 4 วันที่แล้ว

46 viewer

เชื่อว่าหากเลือกได้ ใครหลายคนคงเลือกที่จะอยู่อาศัยท่ามกลางพื้นที่ธรรมชาติ ที่ได้ใกล้ชิดทะเล ภูเขา น้ำตก ต้นไม้ หรือลำธารในทุกๆ วัน โดยไม่ต้องรอให้ถึงช่วงเวลาว่าง หรือวันหยุดยาว​

เพราะการได้สัมผัสธรรมชาติ ใกล้ชิดพื้นที่สีเขียวมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งส่งผลดีต่อตัวเราทั้งทางสุขภาพกายและสุขภาพจิต ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย ลดความเครียด ความวิตกกังวล ลดภาวะซึมเศร้า อีกทั้งมีอายุยืนยาวมากขึ้น ลดโอกาสเสี่ยงของการเสียชีวิตจากโรคทางเดินหายใจและโรคมะเร็ง ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและเบาหวาน เสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกจากการได้รับแสงแดด รวมทั้งยังเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจากการสัมผัสจุลินทรีย์ในธรรมชาติ​

ซึ่งที่ผ่านมามีงานวิจัยต่างๆ มากมายจากทั่วโลกที่สนับสนุนในเรื่องนี้ อย่างเช่น งานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน Oxford Academic ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า การอาศัยอยู่ในละแวกที่มีพื้นที่สีเขียวปกคลุมมากกว่าร้อยละ 20 จะช่วยลดอัตราความเครียดและภาวะซึมเศร้าลงได้ และหากอาศัยอยู่ในละแวกที่มีพื้นที่สีเขียวปกคลุมมากกว่าร้อยละ 30 จะสามารถช่วยลดอัตราการวิตกกังวลลงได้อีกด้วย จึงไม่น่าแปลกใจ ว่าทำไมเราถึงรู้สึกพึงพอใจต่อพื้นที่สีเขียว และรู้สึกโหยหาการใช้ชีวิตใกล้ชิดธรรมชาติ​

พื้นที่สีเขียวเพียงแค่ได้มองเห็นก็ช่วยให้เราผ่อนคลายแล้ว และจะดีแค่ไหน? หากสมาชิกทุกคนในครอบครัวได้มีโอกาสทำกิจกรรม หรือใช้เวลาในพื้นที่ธรรมชาติร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการเดินเล่น ออกกำลังกาย หรือแม้แต่การนั่งเล่นพูดคุยแบ่งปันประสบการณ์ระหว่างกัน นับเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีได้อย่างไม่ยากเลย​

โดยกิจกรรมห้ามพลาดที่แนะนำให้ชวนทุกคนในครอบครัวมาทำร่วมกัน เพื่อส่งเสริมทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิตที่ดี ได้แก่ กิจกรรมการทำสวน (Gardening) และกิจกรรมการเล่น (Play)​

การทำสวน หรือปลูกต้นไม้ จะช่วยฝึกทักษะการเคลื่อนไหวควบคู่พัฒนาการของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ และมัดเล็กไปพร้อมๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นการขุดดิน พรวนดิน การดึงวัชพืช การเด็ดใบไม้ดอกไม้แห้ง การรดน้ำ นอกจากนี้ การทำสวนยังมีส่วนช่วยลดความเครียดได้เป็นอย่างดี โดยการทำสวนเพียง 30 นาที ก็สามารถช่วยลดระดับคอร์ติซอลจากระดับความเครียดสูง ลดลงสู่ระดับปกติได้​

​ส่วนการเล่นนั้นมีประโยชน์กับคนทุกวัย นอกจากได้ในเรื่องความสนุกสนานแล้ว การเล่นก็ยังช่วยส่งเสริมพัฒนาการทั้งทางด้านร่างกาย ภาษา สติปัญญา ความคิดสร้างสรรค์ รวมทั้งการเข้าสังคม ซึ่งการเล่นในแต่ละรูปแบบ ก็จะส่งผลต่อพัฒนาการด้านต่างๆ ที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น​

- Active Play: การวิ่งเล่น ปีนป่าย กระโดด กระดานลื่น ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อ ทักษะการเคลื่อนไหว และการทรงตัว​
- Sensory Play: ฝึกการใช้ประสาทสัมผัสต่างๆ เช่น การศึกษาลักษณะรูปทรงสีสันที่แตกต่างกันของพันธุ์ไม้ แมลงหลากสายพันธุ์ ฟังเสียงน้ำไหล ใบไม้ไหว เสียงนกบรรเลงเพลง การเก็บความสวยงามของธรรมชาติด้วยการถ่ายรูป หรือวาดรูป​
- Social Play: การล้อมวงคุยกัน หรือการเล่นแบบกลุ่ม เป็นการสร้างทักษะการอยู่ร่วมกัน และการเข้าสังคม ​
- Passive Play: การเดินเล่น นั่งเล่น ไกวเปล หรือเล่นกิจกรรมเบาๆ พักเหนื่อยจากการเล่นอื่นๆ และหากได้มีการพูดคุยกันระหว่างกิจกรรมก็จะช่วยฝึกทักษะการเข้าสังคม ร่วมด้วย​

หากพื้นที่อยู่อาศัยของเรานั้นถูกแวดล้อมไปด้วยพื้นที่สีเขียวโดยรอบที่เอื้อให้เกิดกิจกรรมทางเลือกต่างๆ นับเป็นความโชคดีอย่างมาก เพราะการได้อยู่อาศัยใกล้ชิดธรรมชาติในทุกวัน และมีกิจกรรมครอบครัวร่วมกัน เป็นการช่วยเสริมสร้างพัฒนาการของเด็กตามวัย เสริมสร้างความแข็งแรงให้กับทุกคนทุกวัย ลดการเสื่อมถอยของร่างกายผู้สูงวัย ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต ลดความวิตกกังวลและความเครียด และเมื่อทุกคนในครอบครัวมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีแล้ว ผลลัพธ์ที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือ ครอบครัวมีความเข้าใจกันมากขึ้นจากการได้บอกเล่า และรับฟัง เห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน ความสัมพันธ์ภายในครอบครัวแน่นแฟ้น และมีความสุขมากขึ้นได้อีกด้วย​

เนื้อหาโดย คุณ สริธร อมรจารุชิต ผู้ช่วยผู้อำนวยการ RISC​

อ้างอิงข้อมูลจาก​
Beyer, K. M., et al., Exposure to Neighborhood Green Space and Mental Health: Evidence from the Survey of the Health of Wisconsin, 2014.​
Cox, D. T. C., et al., Doses of Neighborhood Nature: The Benefits for Mental Health of Living with Nature. Bioscience, 2017.​
Elizabeth Pegg Frates, Time spent in green places linked with longer life in women, 2017.​
James P, Hart JE, Banay RF, Laden F, Exposure to Greenness and Mortality in a Nationwide Prospective Cohort Study of Women, 2016.​
Maureen Bennie, How Does Your Garden Grow? Mental Health, Wellness & Skills Development Through Gardening, 2020.​
Rook, G.A.W. Regulation of the immune system by biodiversity from the natural environment: an ecosystem service essential to health, 2013.​
Soga, M., et al., Health benefits of urban allotment gardening: improved physical and psychological well-being and social integration. International Journal of Environmental Research and Public Health, 2017.​
Van Den Berg, A. E., & Custers, M. H., Gardening promotes neuroendocrine and affective restoration from stress. Journal of Health Psychology, 2011.​

รับข่าวสาร

ลงทะเบียนเพื่อรับข่าวสารกับเรา

© 2025 Magnolia Quality Development Corporation Limited - A DTGO Company
ผลลัพธ์
การยืนยัน
การยืนยัน