Knowledge - RISC

ผิวสัมผัสมีผลต่อความรู้สึกของเราอย่างไร?​

เขียนบทความโดย RISC | 10 เดือนที่แล้ว

แก้ไขล่าสุด : 10 เดือนที่แล้ว

1714 viewer

เคยสงสัยมั้ย? ว่าทำไมเวลาที่เราได้สัมผัสสัตว์เลี้ยงที่มีขนนุ่มฟู หรือสัมผัสตุ๊กตาผ้าที่มีขน เราถึงรู้สึกอารมณ์ดีมีความสุขจนไม่อยากปล่อยมือ ในทางกลับกัน เวลาจับของด้านๆ เราถึงรู้สึกไม่ค่อยดี​

จากทั้งสองเหตุการณ์ เลยทำให้เห็นว่า “ผิวสัมผัส” นั้นมีผลต่ออารมณ์ความรู้สึกของเรากว่าที่คิด​

มีงานวิจัยปี 2019 หัวข้อ “Emotions associated with different textures during touch” ประเทศรัสเซีย ได้ทดลองกับอาสาสมัคร 108 คน โดยให้ปิดตาและสัมผัสตัวอย่างวัสดุที่มีผิวสัมผัสแตกต่างกัน 21 แบบ เช่น ขนกระต่าย ผ้าไหม กำมะหยี่ ฟองน้ำ ยาง หนังสัตว์ กระดาษทราย ลูกแก้ว หินอ่อน แกรนิต ฯลฯ และให้ระบุอารมณ์ความรู้สึก 6 อารมณ์เมื่อสัมผัสตัวอย่างวัสดุ เช่น ความสุข (Happiness), ความกลัว (Fear), ความรู้สึกขยะแขยง (Disgust), ความโกรธ (Anger), ความเศร้า (Sadness) และความประหลาดใจ (Surprise)​

ผลจากการทดลองพบว่า ขนกระต่าย กำมะหยี่ ยาง หนังสัตว์ หรือผ้าไหม เป็นวัสดุที่มีความสัมพันธ์กับความสุขอย่างชัดเจน ขณะเดียวกัน หินอ่อน หินแกรนิต กระดาษทราย และฟองน้ำ เป็นวัสดุที่สัมพันธ์กับอารมณ์เชิงลบ อย่างเช่น หินอ่อนสัมพันธ์กับความเศร้า หินแกรนิตสัมพันธ์กับความกลัว กระดาษทรายและฟองน้ำสัมพันธ์กับทั้งความกลัว ความรู้สึกขยะแขยง และความโกรธ นอกจากนี้ตัวอย่างวัสดุทั้ง 21 แบบล้วนมีความสัมพันธ์กับความประหลาดใจ ​

แต่วัสดุที่มีความอ่อนนุ่มทุกชนิด ก็ไม่ได้สร้างอารมณ์เชิงบวกเสมอไป เพราะมีผลงงานวิจัยนึงระบุว่า วัสดุอ่อนนุ่มที่เป็นวัสดุหนืดๆ ยืดๆ หรือที่เรียกว่า ของเล่นสไลม์ (Toy slime) แม้จะสัมพันธ์กับความสุข แต่ก็ยังสัมพันธ์กับอารมณ์เชิงลบด้วย เช่น ความกลัว ความรู้สึกขยะแขยง และความโกรธ ขณะเดียวกันวัสดุแข็งอย่างลูกแก้ว (Glass pebble) ก็ยังสัมพันธ์กับอารมณ์เชิงบวกด้วยเช่นกัน ซึ่งอาจสรุปได้ว่า วัสดุอ่อนนุ่มและมีพื้นผิวเรียบส่วนใหญ่มีความสัมพันธ์กับอารมณ์เชิงบวก มากกว่าวัสดุที่มีความแข็ง หรือผิวขรุขระ​

จะเห็นได้ว่า เพียงแค่ผิวสัมผัสที่แตกต่างกัน ก็ส่งผลต่อความรู้สึกของเราแล้ว ดังนั้นการเลือกใช้ผิวสัมผัสที่เหมาะสมจึงเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ผู้ออกแบบควรให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบอาคาร หรือบรรจุภัณฑ์ เพราะจะช่วยสร้างประสบการณ์และความรู้สึกที่ดีกับผู้ใช้งานได้​

เนื้อหาโดย คุณจิราภา หอบรรลือกิจ นักวิจัยและการสื่อสาร RISC​

อ้างอิงข้อมูลจาก ​

Iosifyan, Marina & Korolkova, Olga. (2019). Emotions associated with different textures during touch. Consciousness and Cognition. 71. 79-85. 10.1016/j.concog.2019.03.012.​

รับข่าวสาร

ลงทะเบียนเพื่อรับข่าวสารกับเรา

© 2024 Magnolia Quality Development Corporation Limited - A DTGO Company
ผลลัพธ์
การยืนยัน
การยืนยัน