Knowledge - RISC

เสียงน้ำ สายฝน มีผลต่ออารมณ์ของเราอย่างไร?

เขียนบทความโดย RISC | 1 เดือนที่แล้ว

แก้ไขล่าสุด : 1 เดือนที่แล้ว

352 viewer

สายฝนที่โปรยปรายกระทบหน้าต่าง เสียงหยดน้ำที่กระทบพื้นเป็นจังหวะ กลิ่นหอมสดชื่นของดินที่ลอยอยู่ในอากาศ สิ่งเหล่านี้เป็นความรู้สึกดีๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงหน้าฝน แต่...เราเคยสงสัยมั้ยว่าเพราะอะไร?​

ประสบการณ์ทางประสาทสัมผัสเหล่านี้มีอิทธิพลอย่างมากต่ออารมณ์และความเป็นอยู่ของเรา แม้บางคนจะมองว่าฝนเป็นอุปสรรคต่อกิจวัตรประจำวัน ทำให้เกิดความล่าช้าและความไม่สะดวกสบาย หรือเชื่อมโยงกับความรู้สึกเศร้า ตามบทความก่อนหน้านี้ที่เน้นการพูดถึงประสาทสัมผัส "การมองเห็น" เป็นหลัก ฝนตกทำให้ท้องฟ้ามืดครึ้ม แสงแดดน้อย ส่งผลต่อสารเซโรโทนินไม่สมดุล รู้สึกเศร้าได้ (อ่านเพิ่มเติมที่ https://www.risc.in.th/knowledge/does-the-rain-make-you-lonely) แต่มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ระบุว่า จริงๆ แล้วฝนมีผลเชิงบวกมากมายต่อสุขภาพจิตและร่างกายของเรา​

วันนี้เรามาสำรวจกันว่าฝนส่งผลต่อเราได้อย่างไร โดยเน้นไปที่ประสบการณ์ทางประสาทสัมผัสของกลิ่นและเสียง กันดูบ้าง รวมทั้งประโยชน์ที่ตามมา​

เรามาเริ่มที่ "กลิ่น" กันก่อน...หลายคนคงคุ้นเคยกับกลิ่นสดชื่นของฝนหรือกลิ่นไอดินที่ลอยขึ้นมาจากผิวดิน กลิ่นนี้เราเรียกว่า "เพทริเคอร์" (Petrichor) ซึ่งค้นพบโดยนักวิทยาศาสตร์ชาวออสเตรเลียในปี ค.ศ. 1964 โดยเพทริเคอร์มีส่วนประกอบสำคัญ คือ โอโซน จีโอสมิน (Geosmin) และน้ำมันของพืชบางชนิด จีโอสมินเกิดจากจุลินทรีย์ในดินที่ชื่อว่า สเตรปโตมัยซีส (Streptomyces) เมื่อฝนตกลงมากระทบพื้นดิน สปอร์ของแบคทีเรียและโมเลกุลของจีโอสมินจะลอยขึ้นไปในอากาศ ทำให้เรารับรู้ถึงกลิ่นนี้ นอกจากนี้ น้ำมันของพืชที่ผลิตในช่วงฤดูแล้งก็จะถูกปลดปล่อยสู่อากาศด้วยเช่นกัน จากการศึกษาพบว่า กลิ่นฝนนี้สามารถกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกสงบ ลดความเครียด และส่งเสริมการผ่อนคลาย ทำให้เรารู้สึกเชื่อมโยงกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น​

ในส่วนของ "เสียง" เสียงฝนมีผลดีต่อความเป็นอยู่ของเรา เนื่องจากเสียงฝนมักจะมีจังหวะ ท่วงทำนอง และความถี่ที่สม่ำเสมอ ซึ่งจัดอยู่ในประเภทเสียงรบกวนที่มีความถี่เฉพาะ เช่น เสียงสีชมพู (Pink Noise) หรือเสียงสีขาว (White Noise) เสียงเหล่านี้จะช่วยกลบเสียงรบกวนจากสิ่งแวดล้อม ทำให้เรามุ่งความสนใจไปที่ช่วงเวลาปัจจุบันได้ มีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่า การฟังเสียงธรรมชาติ เช่น เสียงฝน จะสามารถเพิ่มสมาธิ ลดความเครียด และความวิตกกังวลลงได้ และยังเสริมสร้างความสงบ ความผ่อนคลายที่เอื้อต่อการนอนหลับอีกด้วย​

มีศิลปิน นักเขียน และนักดนตรีหลายคนค้นพบแรงบันดาลใจท่ามกลางสายฝน เนื่องจากเสียงฝนช่วยปลดล็อกความคิดสร้างสรรค์ และให้สมาธิ นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาพบว่า การฟังเสียงฝนขณะแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ จะช่วยลดเวลาในการคำนวณ และเพิ่มประสิทธิภาพการคำนวณได้ดีกว่าสภาพแวดล้อมที่เงียบ ซึ่งบ่งชี้ได้ว่าเสียงฝนช่วยขจัดสิ่งรบกวนจากภายนอก เพิ่มความจดจ่อ และส่งเสริมการทำงานของสมองอีกด้วย​

ไม่เพียงแค่นั้น ฝนยังส่งผลต่อ "ประสาทสัมผัสทางผิวกาย" สร้าง "การรับรู้และประสิทธิภาพการทำงาน" เนื่องจากฝนมีแนวโน้มที่จะทำให้อุณหภูมิเย็นลง ซึ่งจากงานวิจัยพบว่า อุณหภูมิที่สูงเกินไป (มากกว่า 32.22 องศาเซลเซียส) หรือเย็นเกินไป (น้อยกว่า 10 องศาเซลเซียส) มีส่วนทำให้ประสิทธิภาพของสมองในการประมวลผลข้อมูลและการตัดสินใจลดลง อุณหภูมิเย็นๆ ถึงปานกลางที่เกิดจากฝนจึงเหมาะสมในการทำงาน สามารถเพิ่มความคิดสร้างสรรค์และความสามารถในการแก้ปัญหาได้​

เราจะเห็นได้ว่า ทั้งหมดนั้นล้วนส่งผลกับร่างกายและความรู้สึกของเรา ฝนไม่ได้เป็นเพียงแค่ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ แต่ยังเป็นแหล่งที่มาของแรงบันดาลใจ และการผ่อนคลายอีกด้วย ช่วงหน้าฝนนี้จึงอยากเชิญให้ทุกคนลองสัมผัสถึงประสบการณ์ดีๆ และสิ่งดีๆ ที่เราจะได้รับจากฝนกันดูนะ​

เนื้อหาโดย คุณ สิทธา ปรีดาภิรัตน์ นักวิจัยอาวุโส ปฏิบัติการเชื่อมต่อสมองกับคอมพิวเตอร์ Happiness Science Hub, RISC ​

อ้างอิงข้อมูลจาก : ​
1. https://www.bbc.com/news/science-environment-44904298​
2. Amiri, M. J., Sadeghi, T., & Bonabi, T. N. (2017). The effect of natural sounds on the anxiety of patients undergoing coronary artery bypass graft surgery. Perioperative Medicine, 6(1). https://doi.org/10.1186/s13741-017-0074-3​
3. Bentley, P. R., Fisher, J. C., Dallimer, M., Fish, R. D., Austen, G. E., Irvine, K. N., & Davies, Z. G. (2022). Nature, smells, and human wellbeing. Ambio, 52(1), 1–14. https://doi.org/10.1007/s13280-022-01760-w​
4. Pilcher, J. J., Nadler, E., & Busch, C. (2002). Effects of hot and cold temperature exposure on performance: a meta-analytic review. Ergonomics, 45(10), 682–698. https://doi.org/10.1080/00140130210158419​
5. Proverbio, A. M., De Benedetto, F., Ferrari, M. V., & Ferrarini, G. (2018). When listening to rain sounds boosts arithmetic ability. PloS One, 13(2), e0192296. https://doi.org/10.1371/journal.pone.0192296​
6. Yoon, H., & Baek, H. J. (2022). External Auditory Stimulation as a Non-Pharmacological Sleep Aid. Sensors, 22(3), 1264. https://doi.org/10.3390/s22031264​

รับข่าวสาร

ลงทะเบียนเพื่อรับข่าวสารกับเรา

© 2024 Magnolia Quality Development Corporation Limited - A DTGO Company
ผลลัพธ์
การยืนยัน
การยืนยัน