RISC

"ASMR" ศาสตร์แห่งการบำบัดด้วยเสียง

เขียนบทความโดย RISC | 3 ปีที่แล้ว

แก้ไขล่าสุด : 2 ปีที่แล้ว

3458 viewer

 

ความเครียดที่เกิดขึ้นจากสิ่งที่เจอรอบตัว และแม้แต่จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เป็นสิ่งที่หลายคนกำลังเจอ ซึ่งแต่ละคนก็มีวิธีในการผ่อนคลายที่แตกต่างกันออกไป แต่บางคนอาจไม่สามารถทำได้ จนสุดท้ายกลายเป็นส่งผลต่อการนอน ​

การใช้ “ศาสตร์ของเสียง” เข้ามาช่วยในเรื่องนี้ จึงเป็นทางออกที่ง่ายที่สุด ที่ใครๆ ก็สามารถเข้าถึงได้ และใกล้ตัวกว่าที่เราคิด ซึ่งศาสตร์ที่ว่าก็คือ “Autonomous sensory meridian response” หรือที่เราคุ้นหูคุ้นตากันว่า “ASMR” การตอบสนองของระบบประสาทต่อการถูกกระตุ้นไม่ว่าจะเป็น เสียง การสัมผัส การมองเห็น อย่างอัตโนมัติ โดยผู้ถูกกระตุ้นจะเกิดความรู้สึกผ่อนคลายตามมา ซึ่งรูปแบบที่นิยมจะเป็นเสียง ทั้งเสียงเลียนแบบธรรมชาติ อย่างเสียงฝนตก เสียงลม เสียงคลื่นทะเล หรือจะเป็นเสียงจากกิจกรรมต่างๆ เช่น การเคี้ยวอาหาร แคะหู หรือขยำกระดาษ เสียงเหล่านี้จะถูกนำมาประกอบกับความถี่ของคลื่นสมองตั้งแต่คลื่นเดลต้าไปจนถึงคลื่นอัลฟ่า ทำให้เรารู้สึกสงบผ่อนคลายและลดความเครียด อ้างอิงได้จากงานวิจัยมากมาย อย่างเช่น... ​

งานวิจัยปี 2015 ของสาขาวิชาจิตวิทยาจาก Swansea University ประเทศสหราชอาณาจักร พบว่า 80% ของผู้ร่วมตอบแบบสอบถามพบว่า การฟังเสียง ASMR 3 ชั่วโมงช่วยลดอารมณ์ด้านลบ และมีผลช่วยให้อาการซึมเศร้าลดลงอีกด้วย นอกจากนี้อีก 38% รายงานว่ามีอาการปวดแบบเรื้อรัง (Chronic pain) ลดลงอีกด้วย ​

และงานวิจัยปี 2018 ของสาขาวิชาจิตวิทยาจาก University of Sheffield สหราชอาณาจักร ได้ทำการทดลองอาสาสมัคร โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ดูคลิป ASMR และกลุ่มที่ดูคลิปที่ไม่ใช่ ASMR พบว่าในด้านกายภาพกลุ่มที่ดูคลิป ASMR มีอัตราการเต้นของหัวใจลดลงเฉลี่ย 3.14 bpm และรู้สึกสงบและผ่อนคลายมากขึ้น เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ดู ​

นอกจากนี้ ASMR ในหลายๆ คลิปยังใช้การเสียงเลียนธรรมชาติรูปแบบต่างๆ อย่าง White Noise มาทำเป็น Background noise ที่ช่วยกระตุ้นระบบความจำ และทำให้นอนหลับได้ดีอีกด้วย ซึ่งปัจจุบัน AMSR ในรูปแบบต่างๆ สามารถฟังและรับชมได้ง่ายขึ้น จากแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ต่างๆ มากมาย เรียกได้ว่า ใครเครียด นอนไม่หลับ เปิดฟังปุ๊บ ก็หลับปั๊บได้ทันที ​

จะเห็นได้ว่า เสียงสามารถส่งเสริมการทำงานของสมอง และสุขภาพจิตได้ แต่ก็ควรคำนึงถึงระดับความดังของเสียงที่เหมาะสม เพราะหากดังเกินไป อาจกลายเป็น “เสียงรบกวน” แทน ทำให้เราไม่มีสมาธิ นอนหลับยาก ส่งผลให้เกิดการหลั่งฮอร์โมนความเครียดหรือ “คอร์ติซอล (cortisol)” มากขึ้น แต่หากเราปรับใช้อย่างถูกวิธี เสียงก็เป็นสิ่งดีๆ ที่จะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีได้ด้วยเช่นกัน ​

เนื้อหาโดย: จิราภา หอบรรลือกิจ นักวิจัยและการสื่อสาร RISC ​

ที่มาจาก PeerJ.comPlos.org, Behavioral and Brain Functions, PubMed.gov, Sleep Foundation

แนะนำสำหรับคุณ