Neuromarketing กับการใช้เทคโนโลยีตรวจจับอารมณ์ผ่านใบหน้า เพื่องานการตลาด
เขียนบทความโดย RISC | 3 วันที่แล้ว
แก้ไขล่าสุด : 3 วันที่แล้ว
จากโพสต์ที่แล้วเราได้รู้จัก "Neuromarketing" หรือการตลาดประสาทวิทยา (อ่านคอนเทนต์นี้ได้ https://bit.ly/40LGLjL) กันไปบ้างแล้ว ซึ่งนอกเหนือจากวิธีการติดตามการเคลื่อนไหวของดวงตา (Eye Tracking) และการวัดการตอบสนองทางผิวหนัง (GSR) แล้ว ก็ยังมีเทคโนโลยีที่นำมาใช้ที่น่าสนใจอีก อย่างเช่น การตรวจจับอารมณ์ทางสีหน้า
การตรวจจับอารมณ์ทางสีหน้ายังเป็นอีกหนึ่งวิธีในการทำความเข้าใจความรู้สึกของลูกค้าได้อย่างลึกซึ้ง โดยที่บางอารมณ์อาจไม่สามารถสื่อได้ผ่านคำพูดหรือการทำแบบสอบถาม ซึ่งเทคนิคสำคัญในการตรวจจับอารมณ์ผ่านใบหน้า ก็มีตั้งแต่...
การวิเคราะห์การเคลื่อนไหวของจุดสำคัญบนใบหน้า (Action Units: AU)
Facial Action Coding System (FACS) ได้จำแนกการเคลื่อนไหวของใบหน้าออกเป็นหน่วย "Action Units" หรือการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อที่แตกต่างกัน เช่น การยกคิ้ว (AU1) หรือการหรี่ตา (AU7) ซึ่งการเคลื่อนไหวเหล่านี้จะช่วยให้ตีความอารมณ์ได้ละเอียด และแม่นยำมากขึ้น อย่างเช่น การขมวดคิ้วอาจบ่งบอกถึงความสับสน ในขณะที่การยกแก้ม และยิ้มแสดงถึงความสุข
การใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligent: AI)
ด้วยความก้าวหน้าของ AI การใช้โครงข่ายประสาทเทียมแบบ Convolutional Neural Networks (CNNs) จะช่วยให้การตรวจจับอารมณ์มีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น โดย CNNs จะผ่านการเรียนรู้ข้อมูลใบหน้าจากกลุ่มคนที่หลากหลายที่มีการแสดงทางอารมณ์ที่มากมายและซับซ้อน ซึ่งสามารถระบุอารมณ์ได้อย่างแม่นยำ แม้ในสภาพแสงและความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่ต่างกัน
แล้วการนำเทคโนโลยีตรวจจับอารมณ์ผ่านใบหน้าไปใช้ใน Neuromarketing นั้น โดยหลักๆ จะใช้ในด้านใดบ้าง?
- การประเมินอารมณ์ในงานอีเวนต์: การตรวจจับอารมณ์ใบหน้าเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ในการติดตามอารมณ์ของผู้ชมในงานอีเวนต์ได้เป็นอย่างดี เพื่อให้ผู้จัดงานรับรู้ถึงความพึงพอใจ และระดับการมีส่วนร่วมของผู้เข้าร่วมแบบเรียลไทม์ โดยข้อมูลเหล่านี้มีค่าอย่างยิ่งในอีเวนต์ขนาดใหญ่ เพราะการสำรวจความคิดเห็นแบบรายบุคคลทำได้ยาก
- การตอบสนอง และปรับปรุงโฆษณา: ในการทดสอบโฆษณา ผู้ประกอบการสามารถใช้การตรวจจับอารมณ์ใบหน้าเพื่อตรวจสอบการตอบสนองทางอารมณ์ต่อแคมเปญใหม่ๆ หากผู้ชมแสดงอารมณ์ความสุข ความประหลาดใจ หรือความไม่สนใจ สามารถปรับปรุงโฆษณา เพื่อเพิ่มอารมณ์เชิงบวก และลดอารมณ์เชิงลบได้
- การออกแบบผลิตภัณฑ์ให้น่าดึงดูด: เมื่อมีการเปิดตัวบรรจุภัณฑ์หรือคุณสมบัติใหม่ สามารถใช้การตรวจจับอารมณ์ใบหน้าเพื่อประเมินการตอบสนองทางอารมณ์ตั้งแต่แรกเห็น โดยการปรับปรุงการออกแบบ สี หรือข้อความตามอารมณ์ของกลุ่มลูกค้าที่แตกต่างกัน ซึ่งหากบรรจุภัณฑ์สามารถสร้างอารมณ์ และความรู้สึกที่ดี ย่อมเพิ่มโอกาสในการดึงดูดลูกค้า
- การวัดความสนใจ และปรับปรุงร้านค้า: การเข้าใจการแสดงออกทางสีหน้าของลูกค้าในร้านค้าสามารถช่วยสร้างประสบการณ์การเลือกซื้อสินค้าที่ก่อให้เกิดอารมณ์เชิงบวก โดยข้อมูลจากการตรวจจับใบหน้าช่วยบอกว่าบริเวณใดของร้านค้าทำให้ลูกค้ารู้สึกสนใจ หรือสับสน เพื่อให้สามารถปรับปรุงการจัดวางได้
แม้การตรวจจับอารมณ์จะเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ แต่ก็มีข้อจำกัดในเรื่องความเป็นส่วนตัว เนื่องจากเทคโนโลยีการตรวจจับอารมณ์ใบหน้าเป็นการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความอ่อนไหว บริษัทควรขอการยินยอมจากผู้ใช้อย่างชัดเจน และมีความโปร่งใสในการใช้งานข้อมูล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในผู้บริโภค นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงถึงการแสดงทางอารมณ์ที่มีความแตกต่างกันในแต่ละวัฒนธรรม และข้อจำกัดทางเทคโนโลยี เช่น แสงสว่าง คุณภาพของกล้อง และสิ่งที่บดบังใบหน้า เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำที่สุด
ในโลกที่การตัดสินใจส่วนใหญ่มาจากอารมณ์ การตรวจจับอารมณ์ผ่านทางสีหน้าจึงเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงวงการ Neuromarketing ช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าใจความรู้สึกของผู้บริโภคได้ ทำให้สามารถปรับปรุงกลยุทธ์ทางการตลาดให้เข้าถึงอารมณ์ที่แท้จริงของผู้บริโภค ซึ่งมีหลายหลายกลุ่มได้อย่างเหมาะสม และมีประสิทธิภาพ
หากบุคคล หน่วยงาน หรือองค์กรใด สนใจในการทำ Neuromarketing สามารถติดต่อ RISC ได้ที่
RISC FB: https://www.facebook.com/riscwellbeing
หรือ RISC LINE Official: risc_center
----------------------------------------------------
เนื้อหาโดย คุณ สิทธา ปรีดาภิรัตน์ นักวิจัยอาวุโส ปฏิบัติการเชื่อมต่อสมองกับคอมพิวเตอร์ Happiness Science Hub, RISC