Quality Time ของครอบครัว ส่งเสริม Quality of Life
เขียนบทความโดย RISC | 4 สัปดาห์ที่แล้ว
แก้ไขล่าสุด : 4 สัปดาห์ที่แล้ว
ผ่านพ้นเทศกาลเฉลิมฉลองปีใหม่ หลายท่านคงได้มีโอกาสใช้เวลาร่วมกับครอบครัว และคนที่เรารักอย่างเต็มที่ ถึงแม้เป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ แต่เป็นช่วงเวลาแห่งความสุขที่เราทุกคนตั้งตาเฝ้ารอในทุกๆ ปี
เราทุกคนอาจให้คุณค่ากับ “คุณภาพ” มากกว่า “ปริมาณ” รวมทั้งในมิติของเวลาด้วย เพราะการใช้เวลาอย่างมีคุณภาพ (Quality Time) นั้นให้ประสิทธิภาพที่ดีมากกว่าเวลาทั้งหมด (Quantity Time) ที่ถูกใช้ไป แต่อย่างไรก็ตาม หากเราสามารถจัดสรรเวลาให้มีจำนวนชั่วโมงที่ทำให้เราอยู่ร่วมกันเพิ่มมากขึ้น ก็ย่อมสร้างโอกาสสำหรับช่วงเวลาดีๆ ที่มีคุณภาพกับครอบครัวมากขึ้นด้วยเช่นกัน
ครอบครัวที่อบอุ่น เข้มแข็ง มีความสัมพันธ์อันดี จะสามารถรักษาสมดุลระหว่าง "มากเกินไป" กับ "ไม่เพียงพอ" ในการใช้เวลาร่วมกันได้ การรับประทานอาหารหรือทำอาหารร่วมกัน การนั่งเล่นพูดคุยแบ่งปันประสบการณ์ที่พบเจอในแต่ละวัน การเดินเล่นหรือออกกำลังกายด้วยกัน หรือแม้แต่การช่วยกันทำงานบ้าน ล้วนเป็นตัวอย่างของกิจกรรมครอบครัวที่สามารถทำได้ในทุกวัน อีกทั้งลูกๆ จะเรียนรู้การสร้างสมดุลในชีวิต เมื่อพวกเขาเห็นพ่อแม่จัดสรรเวลาให้กับครอบครัวได้ดีเป็นตัวอย่าง
การได้ใช้เวลาร่วมกับพ่อแม่มีความสำคัญอย่างมากต่อความเป็นอยู่ที่ดีของวัยรุ่น ส่งผลต่อการมีทักษะทางสังคมที่ดีกับผู้อื่น เช่น ทักษะการสนทนา ทักษะการสร้างมิตรภาพ หรือทักษะการจัดการอารมณ์ อีกทั้งการใช้เวลาร่วมกับพ่อแม่ตามลำพังจะช่วยส่งเสริมความภาคภูมิใจในตนเองได้อีกด้วย
นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างปู่ ย่า ตา ยาย และหลาน มักชี้ให้เห็นถึงสายสัมพันธ์ครอบครัวที่แข็งแกร่ง การดูแลลูกหลานสามารถลดความเสี่ยงของความเหงา ผู้สูงอายุจะรู้สึกได้รับความไว้วางใจ อีกทั้งช่วยลดอาการซึมเศร้าในคนทั้งสองวัยได้เป็นอย่างดี ซึ่งตรงกับผลการศึกษาวิจัยจาก Boston College ที่รวบรวมข้อมูลจากปู่ ย่า ตา ยาย จำนวน 374 คน และหลานที่เป็นผู้ใหญ่จำนวน 356 คน ตลอดระยะเวลา 19 ปี (ค.ศ. 1985-2004)
แต่ด้วยภาระหน้าที่การงานที่ต้องรับผิดชอบ และด้วยวิถีชีวิตคนเมืองในปัจจุบัน ที่ไม่อาจส่งเสริมให้เราอยู่ร่วมกันแบบครอบครัวใหญ่เหมือนเดิมได้ การได้พบหน้า หรือทำกิจกรรมร่วมกันจึงเกิดขึ้นไม่บ่อยครั้งเท่าที่ควร ช่วงเทศกาลหรือวันสำคัญต่างๆ จึงนับเป็นช่วงเวลาพิเศษที่จะได้แสดงความรัก ความห่วงใย การดูแลเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน เสมือนได้รับการบำบัดจากครอบครัว (Family Therapy) เพื่อให้เราได้ชาร์จพลังให้แก่กัน เสริมแรงใจในการต่อสู้ต่อไป
สำหรับครอบครัวใดที่มีโอกาสอยู่พร้อมหน้ากัน หรือได้พบปะกันอย่างสม่ำเสมออยู่แล้ว คงจะเป็นการดีมากหากพื้นที่บ้านของเราเอื้อให้เกิดช่วงเวลาคุณภาพกับครอบครัวได้มากขึ้น ส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมร่วมกัน และเสริมสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันโดยไม่ลดทอนความเป็นส่วนตัว และจะยิ่งดีมากขึ้นไปอีก หากครอบครัวได้ใช้ช่วงเวลาที่มีคุณภาพด้วยกันในพื้นที่ใกล้ชิดธรรมชาติ เช่น สวนภายในบ้าน สวนหย่อมในพื้นที่ส่วนกลาง หรือสวนสาธารณะต่างๆ ซึ่งเป็นการช่วยลดความเครียดและความเหนื่อยล้า กระตุ้นให้เด็กและผู้สูงอายุได้เคลื่อนไหวร่างกาย ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการให้กับเด็กๆ จากการที่ได้เล่นและเรียนรู้ธรรมชาติไปพร้อมกัน
แม้เทศกาลปีใหม่สิ้นสุดแล้ว แต่โอกาสสำคัญยังมีอีกตลอดทั้งปี ขอให้ทุกครอบครัวได้ใช้เวลาร่วมกันในวันเด็กที่จะถึงนี้ อย่างมีคุณภาพ
เนื้อหาโดย คุณ สริธร อมรจารุชิต ผู้ช่วยผู้อำนวยการ RISC
อ้างอิงข้อมูลจาก
Ami Albernaz, The Boston Globe (December 14, 2015).
Danielle Cohen. Child Mind Institute (November 13, 2024).
Susan McHale, Penn State Social Science Research Institute (August 21, 2012).
Suzanne Pish, Michigan State University Extension (June 15, 2013).