ห้องสมุด Well-being Material - RISC

Methodology

การสำรวจพรรณพืช

แบ่งเป็น 2 ช่วง คือ การสำรวจช่วงก่อนพัฒนาโครงการ สำรวจพืช 2 กลุ่ม คือ พรรณไม้ยืนต้น และไม้พุ่ม และการสำรวจช่วงหลังโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ ซึ่งจะมีการสำรวจพรรณพืชทั้งหมด 6 กลุ่ม ได้แก่ พรรณไม้ยืนต้น ไม้พุ่ม ไม้คลุมดิน ไม้เลื้อย เฟิร์น และไม้น้ำ ซึ่งมีรายละเอียดการสำรวจแต่ละกลุ่ม ดังนี้

01
พรรณไม้ยืนต้น

สำรวจโดยวัดขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเพียงอก ความสูง ขนาดทรงพุ่ม และตรวจสอบสุขภาพต้นไม้ในเบื้องต้น

02
พรรณไม้พุ่ม ไม้คลุมดิน ไม้เลื้อย เฟิร์น และไม้น้ำ

บันทึกเฉพาะข้อมูลชนิดพันธุ์ที่พบ

การสำรวจพันธุ์สัตว์

แบ่งเป็น 3 ช่วง คือ การสำรวจช่วงก่อนพัฒนาโครงการ การสำรวจช่วงระหว่างพัฒนาโครงการ และการสำรวจช่วงหลังโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ โดยทำการสำรวจพันธุ์สัตว์ทั้งหมด 7 กลุ่ม ได้แก่ นก แมลงแมง สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์น้ำ และสัตว์หน้าดิน ซึ่งมีรายละเอียดการสำรวจแต่ละกลุ่ม ดังนี้

Birds image
กลุ่มนก ใช้วิธีการสำรวจ 2 แนวทาง คือ
  • การสำรวจตามมแนวเส้นทางสำรวจ (Line Transect) โดยผู้สำรวจเดินสำรวจนกไปตามเส้นทางในพื้นที่โครงการ แล้วใช้อุปกรณ์กล้องส่องทางไกล (binoculars) หรือ กล้องโทรทรรศน์ (telescope with tripods) และอุปกรณ์บันทึกเสียง (voice recorder) เพื่อบันทึกชนิดและจำนวนนกที่พบ รวมทั้งบันทึกเสียงของนกที่ได้ยินลงในแบบสำรวจ ทำการสำรวจ 3 ช่วงเวลา คือ ช่วงเช้าตรู่ - ช่วงเวลากลางวัน (daytime) และกลางคืน (nocturnal survey) ทำการสำรวจครอบคลุมทุกสภาพพื้นที่โครงการ
  • การสำรวจตามจุดกำหนด (Point Count) โดยผู้สำรวจต้องไปยังจุดที่กำหนดไว้ จากนั้นใช้วิธีเดียวกันกับแบบแรกเพื่อนบันทึกชนิดนก ระยะเวลาที่ใช้ในแต่ละจุดจะกำหนดไว้อยู่ที่ประมาณ 15-30 นาที
Insects image
กลุ่มแมลงและแมง ใช้วิธีการสำรวจ 3 แนวทาง คือ
  • สวิงจับแมลง (Sweep net) โฉบบริเวณทุ่งหญ้าในช่วงเวลากลางวัน กลุ่มแมลงเป้าหมาย คือ แมลงมีปีกบินได้ทุกชนิด เช่น ผีเสื้อ แมลงภู่ แมลงวัน ต่อ แตน แมลงปอ วิธีการโฉบแมลงที่บิน โดยโฉบไปที่ตัวแมลงหรือเหนือตัวแมลงเล็กน้อย เมื่อโฉบแมลงได้แล้วจะต้องตวัดพับปลายถุงให้พับปิด เพื่อกันไม่ให้แมลงหนีออกจากถุงสวิง ก่อนจะนำแมลงออกจากถุงอย่างเบามือ เพื่อป้องกันการบาดเจ็บ
  • กับดักแสงไฟ (Light trap) กลุ่มแมลงเป้าหมาย คือ แมลงที่มีพฤติกรรมหากินในเวลากลางคืน ได้แก่ ผีเสื้อกลางคืน ด้วงบางชนิด ตั๊กแตน โดยใช้ฉากผ้าขาวแล้วนำหลอดไฟมาแขวนด้านบนของฉากผ้า เมื่อแมลงมาเกาะที่ฉากผ้าสีขาว ถ่ายภาพและบันทึกชนิด
  • กับดักหลุม (pitfall trap) กลุ่มแมลงเป้าหมาย คือ แมลงในดินทุกชนิด เช่น มด ปลวก แมลงหางดีด มักหากินบนพื้นดินในเวลากลางคืน เมื่อเดินผ่านกับดักจะตกลงไปกับดัก และไม่สามารถขึ้นจากกับดักได้ ทำการสำรวจโดยตั้งกับดักหบุมทิ้งไว้ 1 คืน หลังจากนั้นมาตรวจสอบกับดัก และบันทึกชนิดที่พบ
Mammals image
กลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ใช้วิธีการสำรวจ 4 แนวทาง คือ
  • การสังเกตโดยตรง (direct observation) ใช้วิธีนับบนเส้นทางสำรวจ (roadside count) โดยใช้แนวถนนหรือทางเดิน และเส้นทางที่กำหนดขึ้น ด้วยการเดินเท้า โดยสำรวจให้ครอบคลุมทั่วพื้นที่โครงการเท่าที่จะทำได้
  • กรงดักแบบจับเป็น (live trap) กระจายทั่วทุกสภาพนิเวศย่อยของโครงการฯ เพื่อศึกษาสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก เช่น สัตว์จำพวกหนูและ กระรอก แล้วจึงจำแนกชนิดต่อไป
  • ตาข่าย (mist net) เพื่อศึกษาชนิดสัตว์กลุ่มค้างคาว (bats) โดยวางตาข่าย ขนาด 3 - 7 ซม. ผืนตาข่ายมีขนาดกว้าง 3 เมตรและยาว 10 เมตร ดักค้างคาวในทุกสภาพนิเวศย่อยของพื้นที่โครงการ ระหว่างเวลา 18.30 - 22.00 น. ตรวจสอบตาข่ายทุก 30 นาที เมื่อพบค้างคาวติดตาข่าย ส่วนใหญ่ใช้การตัดตาข่าย เพื่อช่วยเหลือ ก่อนนำใส่ถุงผ้า เพื่อนำมาจำแนกชนิด หรือ วัดขนาดและสัดส่วนต่าง ๆ ต่อไป
  • การสังเกตร่องรอย (tracks & signs) สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบางกลุ่ม มีถิ่นอาศัยเฉพาะตัว ต้องเข้าไปในพื้นที่เป็นการเฉพาะ เพื่อเก็บข้อมูล โดยเห็นตัวสัตว์ในถิ่นอาศัยโดยตรง เช่น ค้างคาวที่อาศัยนอนตามต้นไม้ใหญ่ ใต้ทางด่วนพิเศษและท่อระบายน้ำที่ไม่มีการรบกวน ฯลฯ และบางครั้งต้องศึกษาโดยอาศัยจากหลักฐานอื่น ๆ ประกอบ เช่น เสียงร้อง รอยตีน มูล ซาก ขน รูและโพรง/ รัง ร่องรอย หรือการทำเครื่องหมาย ฯลฯ
Amphibians image
กลุ่มสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ใช้วิธีการสำรวจ 2 แนวทาง คือ
  • การสังเกตโดยตรง (direct observation) โดยใช้แนวถนน หรือทางเดิน และเส้นทางที่กำหนดขึ้น ด้วยการเดินเท้า โดยสำรวจให้ครอบคลุมทั่วพื้นที่เท่าที่จะทำได้ ในช่วงเวลา 3 ช่วงหลัก ได้แก่ ช่วงเช้า (07.00 น. – 08.00 น.) ช่วงเย็น (16.00 น. – 17.00 น.) และช่วงกลางคืน (19.00 น. – 24.00 น.)
  • การสังเกตร่องรอย (tracks & signs) ในบางกรณีเมื่อมีการพบหลักฐานของสัตว์กลุ่มนี้ปรากฏ เช่น คราบ เสียงร้อง ร่องรอยไข่ จะทำการบันทึกข้อมูลไว้เพื่อเป็นหลักฐานประกอบในการวิเคราะห์ข้อมูลทางความหลากหลายของสัตว์กลุ่มนี้เช่นกัน
Reptiles image
กลุ่มสัตว์เลื้อยคลาน ใช้วิธีการสำรวจในลักษณะเดียวกันกับกลุ่มสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก
Aquatics image
กลุ่มสัตว์น้ำ ใช้วิธีการสำรวจ 3 แนวทาง คือ
  • ตาข่ายดักปลา ขนานกับริมฝั่ง/ตลิ่ง แล้วต้อนปลาเข้าตาข่าย เฝ้าดูและปลดปลาที่ติดตาข่ายทันที เพื่อนำมาจำแนก บันทึกข้อมูล และปล่อยคืน
  • ล้อมตาข่าย ในจุดที่พื้นที่โล่งและไม่กว้างมากนัก โดยกางตาข่ายให้ครอบคลุมพื้นที่แล้วลากเข้าหาฝั่งจากนั้นจึงนำขึ้น เพื่อทำการจำแนก บันทึกข้อมูล และปล่อยคืน
  • ลอบ บริเวณริมฝั่ง/ตลิ่ง และบริเวณทางน้ำไหลผ่านขนาดเล็ก อาทิ ท่อน้ำ ร่องน้ำ โดยให้มีส่วนหนึ่งของกับดักอยู่เหนือน้ำให้ปลาสามารถขึ้นมาหายใจได้ในเวลาที่ออกซิเจนในน้ำต่ำ วางทิ้งไว้ประมาณ 6 - 24 ชั่วโมง เป้าหมายหลัก คือ ปลากินเนื้อที่ขึ้นมาหากินริมตลิ่งในเวลากลางคืน
Benthos image
กลุ่มสัตว์หน้าดิน
  • วางแนวสำรวจ (Line Transect) แบบ Invertebrate belt-transect ให้ตั้งฉากกับชายฝั่งจำนวนอย่างน้อย 3 แนว ความยาวแนวละ 100 เมตร ในแต่ละแนวสำรวจจะอยู่ห่างจากกันประมาณ 50-100 เมตร หรือ ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ โดยการวางแนวสำรวจจะต้องวางให้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด

หมายเหตุ : แนวทางการสำรวจในแต่ละชนิด อาจมีการปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม และจะต้องไม่ให้สัตว์ได้รับบาดเจ็บหรืออันตรายถึงชีวิต

© 2024 Magnolia Quality Development Corporation Limited - A DTGO Company
ผลลัพธ์
การยืนยัน
การยืนยัน