RISC

การอยู่อาศัยอย่างกระฉับกระเฉง (Active living) นวัตกรรมใหม่ของที่อยู่อาศัยเพื่อสร้างสุขภาพในเชิงรุก

เขียนบทความโดย RISC | 4 ปีที่แล้ว

แก้ไขล่าสุด : 2 ปีที่แล้ว

2317 viewer

โลกยุคโลกาภิวัตน์มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างมากทางด้านวิศวกรรมทั้งคอมพิวเตอร์ การสื่อสาร การขนส่ง มีผลอย่างมากต่อการดำรงชีวิตซึ่งทำให้พฤติกรรมของการใช้ชีวิตของคนเปลี่ยนไป โดยคนถูกปลูกฝังเรื่องความสะดวกสบายทำให้ขาดความพยายามหรือเกียจคร้านจนเกิดเป็นนิสัยอย่างไม่รู้ตัวและมีแนวโน้มให้เคลื่อนไหวร่างกายน้อยลงเรื่อยๆ เช่น การเอาแต่นั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์โดยไม่ขยับตัวไปไหน หรือการขึ้นชั้นสองของอาคารโดยใช้บันไดเลื่อนหรือลิฟท์ ซึ่งนอกจากจะปิดโอกาสให้ร่างกายได้เผาผลาญพลังงานจากการเดินแล้ว ยังลดการยืดหดตัวของกล้ามเนื้อ  หากร่างกายขาดการเคลื่อนไหวอย่างสม่ำเสมอจะมีผลให้ร่างกายอ่อนแอ กล้ามเนื้ออ่อนแรง ภูมิคุ้มกันโรคลดลง มีการสะสมของไขมันอันนำมาซึ่งโรคอ้วน (Obesity) และโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบหมุนเวียนเลือด เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง โรคภูมิแพ้ ฯลฯ   ซึ่งทางองค์การอนามัยโลกได้ระบุว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุการตายของคนส่วนใหญ่ทั่วโลก โดยเสียชีวิตสูงถึงปีละ 17.1 ล้านคน ในปี พ.ศ.2547 (ค.ศ.2004) คิดเป็นร้อยละ 29 ของการเสียชีวิตทั้งหมด 

“Active Living” หรือ การอยู่อาศัยอย่างกระฉับกระเฉง  จึงเป็นแนวทางสำคัญของนวัตกรรมที่อยู่อาศัยแบบใหม่ เน้นการกระตุ้นให้เกิดการดำรงชีวิตด้วยความกระฉับกระเฉง ซึ่งแตกต่างจากการออกกำลังกายเพื่อเรียกเหงื่อและเผาผลาญพลังงานอย่างรวดเร็วในระยะเวลาสั้น และเป็นภาระอย่างหนึ่งที่เราจะต้องเจียดเวลาไปทำ แต่ Active Living จะเน้นกระตุ้นให้คนเคลื่อนไหวร่างกายสอดคล้องกับกิจกรรมในชีวิตประจำวัน โดยไม่ต้องแบ่งเวลาเพื่อไปออกกำลังกาย ไม่ว่าจะเป็นการเดิน การขี่จักรยาน การทำงานบ้าน ซึ่งจะเหนื่อยน้อยกว่าแต่สามารถเผาผลาญพลังงานและไขมันในร่างกายได้เทียบเท่ากับการออกกำลังกายทุกวัน  แนวคิดนี้เริ่มมีบทบาทสำคัญและมีการนำไปประยุกต์กับการออกแบบสภาพแวดล้อมของเมืองและสถาปัตยกรรม ทำให้เกิดรูปแบบของการสร้างแรงดึงดูดเพื่อกระตุ้นการเคลื่อนไหว เช่น เทคโนโลยี “Interactive” โดยใช้แสง สี กราฟฟิก ฯลฯ ให้ผู้อยู่อาศัยอยากเข้ามาใช้พื้นที่ หรือช่วยกระตุ้นให้อยากใช้บันได หรือทางเดินที่รู้สึกว่ายากลำบากที่จะเดิน รวมไปถึงทางจักรยานอีกด้วย  

แนวคิดเดียวกันนี้เองที่ทำให้เกิดนวัตกรรมที่อยู่อาศัยเพื่อสุขภาพที่ดีเชิงรุก โดยการออกแบบบ้านพักอาศัยที่บูรณาการแนวคิดเข้ากับรูปแบบบ้าน ตัวอย่างเช่น การออกแบบทางสัญจรภายในบ้าน การนำแสงธรรมชาติเข้ามาสู่อาคารอย่างเหมาะสม การระบายอากาศที่ดี  สีของห้องที่กระตุ้นการรับรู้ในเชิงบวก เช่น สีโทนร้อนช่วยกระตุ้นการเต้นหัวใจและการเคลื่อนไหว กรณีที่มีพื้นที่เพียงพอควรออกแบบทางลาดตามมาตรฐาน 1: 12 เป็นทางสัญจรหลักที่รวมทางเดินในแนวราบและบันไดในแนวตั้ง เพื่อเชื่อมต่อพื้นที่ใช้สอยให้มีความต่อเนื่อง ทำให้ผู้อยู่อาศัยทั้ง 3 วัยมีระยะทางในการเคลื่อนไหวจากห้องหนึ่งไปยังอีกห้องหนึ่ง การจัดหาเฟอร์นิเจอร์ที่สนับสนุนให้เกิดการเคลื่อนไหวร่างกายระหว่างทำงานหรือพักผ่อน นอกจากนั้นพื้นผิวของอาคารยังสร้างกิจกรรมการเล่นหรือกีฬาเพื่อเสริมสร้างกิจกรรมการออกกำลังกายในรูปแบบต่างๆ เช่น การปีนเขา ชิงช้า ลู่วิ่งที่บูรณาการเข้ากับทางเดิน หรือแม้กระทั่งการเดินชมสวน ฯลฯ สามารถช่วยกระตุ้นให้คนได้ออกกำลังกายหรือมีกิจกรรมการเคลื่อนไหวร่างกาย นอกเหนือจากการกระตุ้นการเคลื่อนไหวภายในบ้านแล้ว การเตรียมพื้นที่สำหรับจอดจักรยานและเก็บอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องจะช่วยผลักดันให้ผู้อยู่อาศัยให้ความสำคัญกับการใช้จักรยานแทนรถยนต์ซึ่งเป็นผลดีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นตัวอย่างเพียงส่วนหนึ่งที่ สามารถนำไปปรับใช้กับการออกแบบสภาพแวดล้อมของอาคารได้ 

 

“สุขภาพดี มาจากร่างกายที่แข็งแรง“ สามารถเกิดได้ด้วยงานสถาปัตยกรรมช่วยสร้างสิ่งแวดล้อมส่งเสริมการอยู่อาศัยอย่างกระฉับกระเฉง นับได้ว่าเป็นนวัตกรรมที่อยู่อาศัยรูปแบบใหม่ ที่สร้างสุขภาพของเราให้แข็งแรงในเชิงรุกหรือป้องกันดีกว่าแก้ไข ปล่อยให้เจ็บปว่ยแล้วจึงรักษา หากแต่สร้างสุขภาพของเราให้สามารถต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บ ลดแนวโน้มความเจ็บป่วยทั้งในระยะสั้นและระยะยาวท่ามกลางสภาวะแวดล้อมของโลกปัจจุบันที่เลวร้ายลงเรื่อยๆ ก็จะช่วยให้ผู้อยู่อาศัยใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและมีชีวิตที่ยืนยาว

ทรัพย์มณี  ชัยแสนสุข

ฝ่ายวิจัยและพัฒนา กลุ่มบริษัท ดีที

 

แนะนำสำหรับคุณ