“พื้นที่กว้าง” ส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกของเรามากกว่าที่คิด
เขียนบทความโดย RISC | 1 ปีที่แล้ว
แก้ไขล่าสุด : 1 ปีที่แล้ว
เคยเป็นมั้ย? เวลาที่อยู่ในพื้นที่หรือห้องแคบๆ เราจะรู้สึกอึดอัด หดหู่ หรือไม่สดชื่น
แน่นอนว่าหลายคนอยากมีบ้านหรือห้องกว้างๆ โล่งๆ โปร่งสบายมากกว่าอยู่ในที่เล็กๆ แคบๆ มีพื้นที่จำกัด ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก นั่นก็เพราะขนาดและความกว้างของสภาพแวดล้อมจะส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกของผู้อาศัยโดยตรง อีกทั้งยังส่งผลถึงการตัดสินเชิงจริยธรรมอีกด้วย
แล้วทำไมถึงเป็นเช่นนั้น? งั้นเราลองมาดูงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้กัน
มีงานวิจัย “Spacious Environments Make Us Tolerant—The Role of Emotion and Metaphor” จาก South China Normal University ประเทศจีน ในปี 2021 ที่เก็บข้อมูลของผู้ร่วมตอบแบบสอบถามจำนวน 370 คน โดยให้ดูภาพตัวอย่างพื้นที่ภายในและภายนอกอาคาร ที่มีขนาดความกว้างต่างกัน และให้อธิบายความรู้สึกจากการเห็นภาพแต่ละภาพ ซึ่งผลการวิเคราะห์พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามบรรยายพื้นที่กว้างด้วยคำที่มีความหมายไปในเชิงบวก เช่น “โล่ง ผ่อนคลาย เป็นอิสระ สบายใจ” ในขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามบรรยายพื้นที่แคบด้วยคำที่มีความหมายในเชิงลบ เช่น “แคบ มืด หดหู่ เป็นทุกข์” หรืออาจสรุปได้สั้นๆ ว่า “ยิ่งกว้าง ยิ่งรู้สึกดี”
แต่กระนั้น พื้นที่กว้างและแคบยังส่งผลต่อการตัดสินเชิงจริยธรรมที่แตกต่างกันได้ โดยจากผลตอบแบบสอบถามการตัดสินทางจริยธรรม (Moral Judgment) 5 ข้อ เช่น การกินสุนัข การลอกข้อสอบ การติดสินบน การปลอมแปลงประวัติส่วนตัว และการขโมยกระเป๋าสตางค์ พบว่า พื้นที่โล่งกว้าง โดยเฉพาะพื้นที่ที่โปร่ง มีแสงสว่างเพียงพอ จะส่งผลให้เกิดความใจกว้าง และอดทนอดกลั้นกับพฤติกรรมที่ไม่ดีมากขึ้น ทำให้การตัดสินใจลงโทษพฤติกรรมนั้นๆ เบาลง ขณะที่พื้นที่แคบ สภาพแวดล้อมมืด ก็จะสร้างความรู้สึกไม่ปลอดภัย และยังสามารถทำให้เกิดการตัดสินเชิงจริยธรรมที่เข้มงวดและมีบทลงโทษรุนแรงมากขึ้น แม้พฤติกรรมนั้นๆ จะไม่ใช่พฤติกรรมไม่ดีได้เช่นกัน
จะเห็นได้ว่า แค่สภาพแวดล้อมกว้างหรือแคบต่างกัน ก็ส่งผลต่อความรู้สึกและการรับรู้ของเรา ซึ่งข้อมูลในส่วนนี้เราสามารถนำไปปรับใช้กับบริบทต่างๆ ได้ แต่สิ่งที่สำคัญนอกจากขนาดของพื้นที่แล้ว ปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกของคนเรายังมีอีกมากมายที่เรามองข้ามไม่ได้ ทั้งเรื่องของแสงสว่าง รูปทรง หรือแม้กระทั่งเรื่องของสี
เนื้อหาโดย คุณจิราภา หอบรรลือกิจ นักวิจัยและการสื่อสาร RISC
อ้างอิงข้อมูลจาก
Wu, C.; Liang, F.; Liang, X.; Huang, C.; Wang, H.; He, X.; Zhang, W.; Rojas, D.; Duan, Y. Spacious Environments Make Us Tolerant—The Role of Emotion and Metaphor. Int. J. Environ. Res. Public Health 2021, 18, 10530. https://doi.org/10.3390/ijerph181910530