รู้หรือไม่ครับ ว่าความสูงของเพดาน มีผลต่อความรู้สึกของเราอย่างไร?
เขียนบทความโดย RISC | 4 ปีที่แล้ว
แก้ไขล่าสุด : 11 เดือนที่แล้ว
ความสูงฝ้าเพดานเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของสภาพแวดล้อมภายในอาคาร โดยในทางจิตวิทยางานออกแบบสถาปัตยกรรม มีการศึกษาวิจัยของ Geza Fischl นักจิตวิทยาชาวสวีเดน พบว่า ระดับความสูงฝ้าเพดานเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความรู้สึกของผู้อยู่อาศัย
เช่นเดียวกับที่พบในการศึกษาของ Joan Meyers-Levy และ Rui (Juliet) Zhu ที่ได้ตั้งสมมติฐาน เรื่องการรับรู้พื้นที่ของมนุษย์ของ Edward T. Hall นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกัน ที่กล่าวไว้ว่าขนาดของพื้นที่ว่างมีผลต่อการรับรู้และความรู้สึกต่อผู้อยู่อาศัยในพื้นที่นั้นๆ อย่างเช่น โบสถ์ขนาดเล็ก (Chapel) จะสัมพันธ์กับความรู้สึกถูกจำกัด หรือความเคร่งครัด ในขณะที่โบสถ์ขนาดใหญ่ (Cathedral) จะสัมพันธ์กับความรู้สึกอิสระมากกว่า นับว่าเป็นความตั้งใจให้เกิดความรู้สึกที่จะทำให้เกิดพฤติกรรมตามลักษณะของสถานที่ ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาเรื่องการออกแบบพื้นที่สำหรับการดูแลเด็กของ Gary T. Moore และคณะ ที่พบว่า ฝ้าเพดานที่สูงจะทำให้เกิดความรู้สึกอิสระในการเล่น ทั้งทางด้านกายภาพ ทำให้เด็กอยากเคลื่อนไหวมากขึ้น และทางด้านความรู้สึก ทำให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์ได้มากกว่าพื้นที่ที่มีระดับฝ้าเพดานที่ต่ำกว่า
ซึ่งการศึกษาของ Joan Meyers-Levy และ Rui (Juliet) Zhu สรุปได้ว่า
- ฝ้าเพดานที่มีระดับสูง กำหนดความสูงในการทดลอง 3.00 เมตร จะส่งผลให้เกิดความรู้สึกเป็นอิสระ (Freedom) มากกว่า จึงเหมาะกับการออกแบบพื้นที่เน้นการทำกิจกรรมและต้องการความคิดสร้างสรรค์
- ฝ้าเพดานที่มีระดับต่ำกว่า กำหนดความสูงในการทดลอง 2.40 เมตร จะส่งผลต่อความรู้สึกถูกจำกัด (Confinement) มากกว่า จึงเหมาะกับการออกแบบพื้นที่เน้นการทำกิจกรรมที่ต้องการการจดจ่อ การตั้งสมาธิ และความละเอียดรอบคอบ
ผู้เขียน/เรียบเรียง: ดร.สฤกกา พงษ์สุวรรณ ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัย RISC