RISC

"Emotional Addiction" การเสพติดทางอารมณ์ คืออะไร?

เขียนบทความโดย RISC | 2 ปีที่แล้ว

แก้ไขล่าสุด : 2 ปีที่แล้ว

4481 viewer

“เสพติด” เราอาจจะคิดถึงการลุ่มหลงในวัตถุ หรือสารเสพติดที่เป็นอันตราย แต่รู้หรือไม่ว่า เราทุกคนสามารถ “เสพติด” ทางอารมณ์ได้เช่นกัน?

อารมณ์ความรู้สึกเป็นสิ่งที่อยู่ในตัวเราทุกคน และยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยส่งเสริมพฤติกรรมต่างๆ ทั้งเรื่องของสัญชาตญาณการเอาตัวรอด การสร้างความสัมพันธ์ ความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ และยังรวมไปถึงการแสดงถึงความรู้สึกเชิงบวกหรือลบ เช่น มีความสุข เศร้า โกรธ และมีผลต่อการตัดสินใจของแต่ละบุคคล เมื่อระดับอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ทั้งด้านบวกและด้านลบมีระดับที่สูงมาก เราอาจจะยึดติดและเสพติดอารมณ์ความรู้สึกนั้น จนลุกลามส่งผลต่อความเป็นอยู่ที่ดีของเราโดยไม่รู้ตัว

งั้นเรามาดูกันว่า “เสพติด” อารมณ์แบบไหน จะมีผลต่อเราอย่างไร? โดยเริ่มจากอารมณ์ด้านลบกันก่อน

อารมณ์ด้านลบ ไม่ว่าจะเป็นความกลัว เครียด โกรธ เศร้า แม้มีประโยชน์ในการกำหนดสัญชาตญาณการเอาตัวรอด และส่งเสริมการป้องกันตัวจากภัยอันตราย แต่หากอยู่ในระดับที่มีสูงมากเกินไป จะลดความสามารถขาดการตัดสินใจอย่างสมเหตุสมผล และอาจส่งผลต่อการใช้ชีวิต สุขภาพ รวมไปถึงคุณภาพการนอนหลับ จนอาจลุกลามไปถึงการใช้สารเสพติดเข้าช่วย อย่างเช่น ความกลัวหรือความวิตกจะทำให้เราขาดทักษะในการเผชิญหน้า ความเครียดอาจทำให้ลดประสิทธิภาพการทำงานที่ดี ความโกรธจะทำให้ทักษะการในการรักษาความสัมพันธ์กับผู้อื่นลดลง และความเศร้าอาจส่งผลให้เกิดการตัดสินใจที่หุนหันพลันแล่นได้

เราคงเห็นแล้วว่า การเสพติดอารมณ์ด้านลบนั้นมีแต่ผลเสียตามมามากมาย และหากเราเสพติดอารมณ์ด้านบวกบ้างล่ะ จะเป็นอย่างไร?

อารมณ์ด้านบวก อย่างเช่น ความสุข ความสนุกสนาน ใครหลายคนคงมองว่าเป็นสิ่งที่ดี ช่วยให้เรามีความสุขทั้งกายและใจ แต่...หากอารมณ์ด้านบวกอยู่ในระดับที่สูงเกินไป อาจส่งผลให้เกิดพฤติกรรมเสพติดอารมณ์เหล่านั้นได้ เช่น การชอปปิง การเล่นเกม การกิน การศัลยกรรมเสริมความงาม หรือการทำกิจกรรมโลดโผน แม้อาจจะไม่ใช่กิจกรรมที่ส่งผลเสีย แต่หากการทำกิจกรรมดังกล่าวสร้างอารมณ์ด้านบวกมากเกินไป จากการที่สารเคมีในสมองอย่างโดพามีนหลั่งเพื่อตอบสนองระบบการให้รางวัลของสมอง (Brain Reward System) จนทำให้อยาก “รู้สึกดี” ซ้ำๆ และเพิ่มความถี่ของพฤติกรรมนั้นๆ มากขึ้น ก็จะกลายเป็นส่งผลให้เกิดพฤติกรรมเสพติดในที่สุด เสียทั้งเงินทอง เสียทั้งสุขภาพ หรืออาจจะสร้างความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตก็เป็นได้

จะเห็นได้ว่า หากคนเรา “เสพติด” ทางอารมณ์ หรือมีระดับอารมณ์ทั้งด้านบวกและด้านลบมากเกินไป จะส่งผลเสียต่อชีวิตประจำวัน สุขภาพกายและใจ ไปจนถึงความสัมพันธ์ต่อคนรอบข้างได้ เมื่อเรารู้ตัวว่าเรากำลังดิ่งสู่ภาวะอารมณ์แบบไหน ก็ลองเริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือกิจกรรมบางอย่าง หรือให้คนที่เราไว้ใจช่วยพาเราออกจากกิจกรรม หรือสภาวะอารมณ์ความรู้สึกนั้นๆ แทน

เนื้อหาโดย คุณจิราภา หอบรรลือกิจ นักวิจัยและการสื่อสาร RISC

อ้างอิงข้อมูลจาก ​
Mark Steinberg, Ph.D. Emotional Addiction ​
Northbound Treatment ​

แนะนำสำหรับคุณ