RISC

Knowledge บทความทั้งหมด

บทความทั้งหมด

Waste to "VALUE" เปลี่ยนขยะให้มีค่า

โดย RISC | 4 ชั่วโมงที่แล้ว

ข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรมในปี 2566 พบว่า ประเทศไทยมีปริมาณกากของเสียอุตสาหกรรมสูงถึง 19.8 ล้านตัน โดยเป็นของเสียที่ไม่อันตราย 18.7 ล้านตัน และเป็นของเสียอันตราย 1.1 ล้านตัน​ซึ่งของเสียอุตสาหกรรมส่วนใหญ่เกิดจากการผลิตน้ำตาลทราย (38.8%) พลังงานไฟฟ้าจากความร้อน (14.3%) อาหารและเครื่องดื่มจากผักผลไม้ (11.9%) เหล็ก (6.4%) เอทานอล (5.7%) และอื่นๆ อย่างเช่น กระดาษ ชิ้นส่วนยานยนต์ สารเคมี พลาสติก และสิ่งทอ​จากข้อมูลข้างต้นพบว่า กระบวนการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรม มักมีของเสียเกิดขึ้นในระหว่างกระบวนการผลิตจำนวนมาก และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี หากปริมาณของเสียเหล่านี้ไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง ก็จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ เช่น การปนเปื้อนของสารเคมีอันตราย ไมโครพลาสติกในแหล่งน้ำและดิน รวมถึงการแพร่กระจายของเชื้อโรค​การจัดการของเสียอุตสาหกรรมเหล่านี้ จึงจำเป็นต้องใช้เแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาช่วย โดยการนำของเสียกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ เพื่อลดปริมาณขยะ และยังเพิ่มมูลค่าให้กับขยะเหล่านี้อย่างยั่งยืน​โดยต้องเริ่มจากการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทรัพยากรน้อยที่สุด และลดการเกิดของเสียระหว่างกระบวนการผลิต นอกจากนี้ต้องคำนึงถึงการจัดการผลิตภัณฑ์หลังหมดอายุการใช้งาน เช่น การใช้วัสดุที่สามารถย่อยสลายได้ สามารถรีไซเคิลได้ หรือสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ในอนาคต ในขณะเดียวกันผลพลอยได้ (By-Products) ที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการผลิตไม่ควรมองเป็นขยะที่ต้องกำจัด แต่ควรมองเป็นทรัพยากรที่มีค่า ซึ่งเป็นโอกาสในการเพิ่มมูลค่าจากของเสีย เช่น การใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อใช้ทรัพยากรให้เกิดคุณค่าอย่างสูงสุด​ตัวอย่างเช่น การผลิตกระเบื้องพรม (Carpet Tiles) จากเส้นใย Nylon ของบริษัท Tarkett ​แผ่นพรมของ Tarkett ถูกออกแบบตั้งแต่แรกให้สามารถแยกชั้นขนพรมออกจากชั้นรองหลังได้ พอเมื่อหมดอายุการใช้งาน ชั้นขนพรม ซึ่งเป็นเส้นใย Nylon จะถูกนำไปรีไซเคิลเชิงเคมีร่วมกับเศษเส้นใยจากการผลิตพรม และขยะจาก Nylon อื่นๆ เช่น ตาข่าย แหอวน เสื้อผ้า และชิ้นส่วนพลาสติก เพื่อนำมาผลิตเป็นเส้นใย Nylon สำหรับการผลิตพรมใหม่ ชั้นรองหลัง ที่ถูกแยกออกมาจะถูกบดย่อย และหลอมขึ้นรูปเป็นแผ่นใหม่ จะนำไปใช้เป็นชั้นรองหลังสำหรับการผลิตพรมใหม่อีกครั้ง การออกแบบ และการเลือกใช้วัสดุในลักษณะนี้ จะช่วยลดปริมาณขยะ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังสร้างมูลค่าเพิ่ม และลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะได้อีกด้วย การเปลี่ยนขยะให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ไม่เพียงแค่ช่วยลดปริมาณขยะ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับขยะ โดยเน้นการออกแบบที่คำนึงถึงการรีไซเคิล และการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพในทุกขั้นตอน ผลลัพธ์ที่ได้ไม่เพียงแต่ลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะ แต่ยังสร้างโอกาสทางธุรกิจในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีความยั่งยืนอีกด้วย ​หากองค์กร หรืออุตสาหกรรมของท่านต้องการเปลี่ยนขยะของเสีย (Waste) จากโรงงานให้กลับมามีมูลค่า (Value) สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ยั่งยืน สามารถติดต่อ RISC Line ID: risc_center. 063-902-9346 หรือ risc_admin@dtgo.com​เนื้อหาโดย คุณ สุพรรณภางค์ รักษาวงค์ นักวิจัยวัสดุ Sustainable Building Material ​อ้างอิงข้อมูลจาก​สำนักงานสถิติแห่งชาติ. สถิติสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย พ.ศ. 2567 : https://www.nso.go.th/public/e-book/Indicators-Environment/Environment-Indicators-2567/​กรมโรงงานอุตสาหกรรม. สรุปข้อมูลกากของเสียอุตสาหกรรม 2566 : https://api.diw.go.th/public/tableauPublic.jsp?name=A4&ms=1744165687192​Tarkett. Climate and Circular Economy​

11 viewer

การประเมินพื้นที่ด้วย GIS ส่งเสริมสุขภาวะที่ดี

โดย RISC | 1 วันที่แล้ว

รายงานขององค์การสหประชาชาติ พบว่าปัจจุบันประชากรมากกว่า 58% ของประชากรโลกอาศัยอยู่ในพื้นที่เมือง และคาดว่าในปี 2050 จะมีประชากรเพิ่มมากขึ้นเป็น 68% จากรายงานจะเห็นว่า “การขยายตัวของความเป็นเมือง” กำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง​ "การขยายตัวของความเป็นเมือง" เป็นปรากฏการณ์ที่เมือง หรือนครขนาดใหญ่ขยายตัวออกไป ทั้งในเชิงสถิติของจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น และขอบเขตพื้นที่แผ่ขยายออกไป​ หากมองในมุมของการเติบโตของเมือง หลายคนคงคิดว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่...จริงๆ แล้วมีอะไรมากกว่านั้น​ จำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้นส่งผลต่อกระบวนการ "การกลายเป็นเมือง" (Urbanization) ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่หากขาดการวางผังเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ ผู้อาศัยในเมืองก็จะได้รับผลกระทบโดยตรงในการดำเนินชีวิตที่ไม่เอื้อต่อการมีสุขภาวะดี (Well-Being) ในมิติต่างๆ ทั้งด้านสุขภาพ ด้านสภาพแวดล้อม และด้านสังคม​ เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ (Geo-informatics technology) จึงถูกนำมาใช้ เพื่อเข้าถึงข้อมูลเชิงพื้นที่ได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ การนำข้อมูลมารวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบ จะช่วยในการประเมินพื้นที่ ประกอบการวางแผน และการตัดสินใจในระดับเมือง ส่งเสริมการมีสุขภาวะที่ดี (Well-Being) อย่างเช่น...​ ด้านสุขภาพ: ประยุกต์ใช้ในการวิเคราะห์การเข้าถึงการบริการทางการแพทย์ และการกระจายเชิงพื้นที่ของการบริการตอบสนองความต้องการของประชากรที่ครอบคลุม ด้านสภาพแวดล้อม: ประยุกต์ใช้ในการวิเคราะห์การเข้าถึงพื้นที่สีเขียว เช่น ช่วยให้ผู้อยู่อาศัยภายในเมืองรู้สึกผ่อนคลาย สนับสนุนให้ออกกำลังกาย ลดอัตราความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคต่างๆ หรือการประเมินความเสี่ยงจากภัยพิบัติต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งในด้านสุขภาพกายและสุขภาพใจ การมีคุณภาพชีวิตที่ดี และความมั่นคงทางการเงิน รวมไปถึงการประยุกต์ใช้ภาพถ่ายดาวเทียมในการตรวจสอบมลภาวะทางอากาศที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ​ ด้านสังคม: ประยุกต์ใช้ในการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงอาชญากรรม เช่น การช่วยวางแผน ลดความเสี่ยง สร้างความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินให้คนในเมือง​ นอกจากนี้ เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ ยังเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยในการติดตามการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่จากข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม ที่สามารถนำมาใช้ประเมินแนวโน้มการขยายตัวของเมืองได้ ช่วยในการวางผังเมืองและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เมืองเป็นพื้นที่ที่ส่งเสริมสุขภาวะให้กับคนทุกกลุ่ม​ เนื้อหาโดย คุณ ศิรพัชร มั่งคั่ง ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS), RISC​ อ้างอิงข้อมูลจาก​ https://ourworldindata.org/grapher/share-of-population-urban?time=latest#sources-and-processing​https://unhabitat.org/programme/sustainable-development-goals-cities​https://population.un.org/wup/assets/WUP2018-Report.pdf​https://www.bot.or.th/th/research-and-publications/articles-and-publications/articles/regional-articles/reg-article-2023-10-09.html​https://www.okmd.or.th/okmd-opportunity/urbanization/256/​https://www.sdgmove.com/2021/01/25/sdg-updates-good-health-and-well-being/​https://www.sdgmove.com/2023/02/23/disparities-in-thailand-healthcare-services/​https://www.gistda.or.th/news_view.php?n_id=5935&lang=TH ​https://www.gistda.or.th/news_view.php?n_id=7964&lang=TH​https://www.gistda.or.th/news_view.php?n_id=2450&lang=TH

73 viewer

Eye Tracking เทคโนโลยีสู่การออกแบบ "เมืองน่าอยู่" และ "เมืองปลอดภัย"

โดย RISC | 1 สัปดาห์ที่แล้ว

Eye Tracking System หรือเทคโนโลยีระบบการติดตามสายตา ที่เราได้พูดถึงไปแล้วในเรื่องของ Neuromarketing (อ่านเพิ่มเติมที่ https://bit.ly/40LGLjL) ซึ่งเราทราบกันดีว่าเทคโนโลยีนี้ เป็นที่นิยมอย่างมากในวงการงานวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมของคน วงการโฆษณาและสื่อดิจิตัล เพื่อหาจุดที่สนใจเป็นพิเศษ หรือจุดที่ผู้คนมักมองเป็นส่วนใหญ่ ช่วยให้ได้ข้อมูลเชิงลึกที่มากกว่าการทำแบบสอบถามทั่วไป เข้าใจพฤติกรรมการรับรู้แบบอัตโนมัติของคนเรา แม่นยำ และง่ายต่อการนำมาพัฒนาต่อยอดในผลิตภัณฑ์​ปัจจุบันเทคโนโลยีนี้เริ่มมีการนำมาใช้ในหลากหลายวงการมากขึ้น รวมถึงการออกแบบเมือง (City Design) ​การออกแบบเมือง (City Design) ก็คือการวางแผน และออกแบบพื้นที่ของเมืองเพื่อให้เกิดสมดุลระหว่างการใช้งานพื้นที่, โครงสร้างพื้นฐาน, สิ่งแวดล้อม, เศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตประชาชน โดยมีเป้าหมายเพื่อการสร้างเมืองที่ตอบโจทย์การใช้งานของผู้คน มีความน่าอยู่ มีประสิทธิภาพที่ดี และมีความยั่งยืน โดยการออกแบบเมืองมักใช้ผู้เชี่ยวชาญจากสาขาวิชาสถาปัตยกรรมในการออกแบบเมือง ทำงานร่วมกับวิศวกร และรัฐบาล  ​เมื่อการออกแบบเมืองแบบเดิม ที่เป็นการออกแบบสถาปัตยกรรมถูกนำมาใช้ร่วมกับเทคโนโลยียุคใหม่ที่ไม่คาดคิดว่าจะสามารถใช้งานร่วมกันได้มาก่อนอย่าง Eye Tracking System เรามาลองดูกันว่าจะเป็นอย่างไร?​การออกแบบเมือง ได้นำเทคโนโลยีนี้มาใช้เป็นเครื่องมือที่ช่วยในการออกแบบป้ายบอกทาง ผ่านการมอง เพื่อปรับปรุงการออกแบบ ให้มีสีสัน ตัวอักษร รวมไปถึงการสร้างจุดสนใจให้กับสถานที่นั้นๆ​ตัวอย่างที่น่าสนใจเป็นความร่วมมือจาก Institute for Transportation Development Policy (ITDP) ร่วมกับเมือง Chelsea ใน Suffolk City, Boston ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อดึงดูดความสนใจคนในเมืองให้สังเกตเห็นป้ายรถเมล์บริเวณนี้มากขึ้น โดยทางเมืองได้เพิ่มลวดลายดอกไม้สีสันสดใสในบริเวณหน้าป้ายรถเมล์และที่นั่ง หลังจากนั้นจึงใช้เทคโนโลยี Eye Tracking ติดตามสายตา เพื่อดูพฤติกรรมการมอง พบว่า ในภาพด้านล่างที่มีสี Highlight เขียว-เหลือง-แดง บ่งบอกว่าบริเวณนั้นของภาพมีคนมองจากน้อยไปจนถึงมาก​ เราจะเห็นเลยว่า เมื่อเพิ่มจุดเด่นด้วยสีสันและลายดอกไม้ขึ้นมาให้กับบริเวณป้ายรถเมล์ สามารถดึงดูดความสนใจของผู้คนให้รับรู้ถึงป้ายรถเมล์ และไปบริเวณนั้นได้มากขึ้น​นี่เป็นหนึ่งในตัวอย่างของการนำเทคโนโลยีจากศาสตร์ด้านพฤติกรรมมาประยุกต์ใช้ร่วมกับอีกศาสตร์ด้านการออกแบบเมือง นับเป็นการสร้างจุดแข็งของเทคโนโลยีสู่การนำมาใช้จริงได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สำหรับบทความถัดไปจะเป็นเรื่องอะไร? ฝากติดตามได้ที่เพจนี้​เนื้อหาโดย คุณ ณัฐภัทร ตันจริยภรณ์ นักวิจัยอาวุโส ปฏิบัติการเชื่อมต่อสมองกับคอมพิวเตอร์ RISC ​อ้างอิงข้อมูลจาก​Biometrics + Bus Stops: What Eye Tracking + Facial Expression Analysis Reveal | The Genetics of Design​

155 viewer

การเตรียมพร้อมกรณีฉุกเฉิน เตรียมตัวอย่างไรให้รอด พร้อมตั้งรับภัยพิบัติ

โดย RISC | 1 สัปดาห์ที่แล้ว

จะต้องเตรียมตัวและตั้งรับอย่างไร...จึงจะรอด กับภัยพิบัติที่มาแบบไม่ทันตั้งตัว ที่ไม่ได้แค่ส่งผลกระทบกับตัวอาคารและสภาพแวดล้อมที่เสียหายเท่านั้น แต่ยังกระทบต่อสภาวะจิตใจอีกด้วยจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวรอยเลื่อนสะกาย (Sagaing Fault) ของแผ่นเปลือกโลก Indian Plate และ Eurasian Plate ทำให้อาคารในประเทศไทย โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ และปริมณฑลได้รับความเสียหายไปด้วย ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นมาจากแรงสั่นสะเทือนในระยะไกล ประกอบกับสภาพชั้นดินที่อ่อนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จึงเหมือนเป็นการขยายสัญญาณให้เป็นแรงสั่นสะเทือนในรูปแบบคลื่นยาว​ในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญมองว่า จากความเสียหายที่เกิดขึ้น ยังถือว่าประเทศไทยเรามีการตั้งรับที่ดีในระดับหนึ่ง เนื่องจากหลายๆ อาคารมีการออกแบบ และก่อสร้างตามกฎหมาย ทำให้สถานการณ์คลายความกังวลไปได้ชั่วคราว​แต่...ถ้าวันหนึ่งจุดศูนย์กลางของการเกิดแผ่นดินไหวเกิดขึ้นที่ประเทศไทย หรือเข้าใกล้มากขึ้น ผลลัพธ์จะเป็นเช่นไร?​นอกจากอาคารสูงแล้ว บ้านเรือนทั้งบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ ตึกแถว อีกทั้งอาคารสำนักงาน อาคารพาณิชย์ ทั้งขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ คงเสียหายเป็นวงกว้างมากกว่าที่ผ่านมาอย่างแน่นอน เนื่องจากอาคารส่วนใหญ่ยังไม่ได้ถูกบังคับด้วยกฎหมายควบคุมอาคารให้มีการคำนึงถึงการต้านทานแรงแผ่นดินไหว​อีกทั้งระบบระบบสาธารณูปโภคส่วนกลางของเมืองทั้งหมด ที่อาจต้องหยุดชะงักเนื่องจากระบบถนนและการจราจรเสียหาย ระบบไฟฟ้า น้ำประปาถูกระงับ ระบบสัญญาณโทรศัพท์ และอินเตอร์เน็ตล่ม ส่งผลให้การสัญจร หรือการติดต่อสื่อสารเป็นอัมพาตได้ ซึ่งจากเหตุการณ์ล่าสุด เพียงแค่รถไฟฟ้าหยุดให้บริการไม่กี่ชั่วโมง ยังกระทบต่อประชาชนเป็นวงกว้างได้ขนาดนี้​"การป้องกันปัญหา (Prevention)" และ "การบรรเทาผลกระทบ (Mitigation)" เป็นหนทางที่ลดความเสี่ยงได้ดีที่สุด อย่างเช่น การออกแบบอาคารใหม่และเสริมสร้างอาคารเก่าเพื่อรองรับแรงแผ่นดินไหว, การออกแบบอาคารโดยคำนึงถึงการป้องกันอัคคีภัย, การป้องกันน้ำท่วมโดยการยกระดับพื้น วางระบบคันกั้นน้ำ หรือโยกย้ายตำแหน่งเครื่องจักรและงานระบบอาคารให้พ้นระดับน้ำท่วม​สำหรับภัยธรรมชาติอะไรก็ย่อมเกิดขึ้นได้ เราจึงต้องเตรียมพร้อมสำหรับการเอาตัวรอดจากสถานการณ์เสี่ยงจากภัยพิบัติต่างๆ ไม่เพียงเฉพาะเหตุการณ์แผ่นดินไหว แต่ยังหมายรวมถึงอุทกภัย อัคคีภัย ไฟป่า มลพิษทางอากาศ สารเคมีระเบิด และอื่นๆ อีกมากมาย​ แล้วอะไรบ้างที่ "ต้องมีติดตัว" และอะไรบ้างที่ "ต้องมีติดบ้าน"?​ประเทศไทยยังไม่สามารถทุ่มงบมหาศาลในการลงทุนระบบเตือนภัยแผ่นดินไหว (Earthquake Early Warning System) อย่างที่ประเทศญี่ปุ่น หรือสหรัฐอเมริกาใช้งานอยู่ในปัจจุบัน เมื่อไม่สามารถแจ้งเตือนล่วงหน้าได้ โดยรู้ทั้งรู้ว่ามีโอกาสเกิดขึ้น การเตรียมพร้อมรับภัยพิบัติ (Disaster Preparedness) และการเตรียมการอพยพ (Evacuation Plan) จึงเป็นสิ่งที่พึงกระทำ และควรทำทันที​อาคารสาธารณะ ที่ต้องรับผิดชอบต่อชีวิตผู้คนจำนวนมาก จำเป็นต้องตอบสนองอย่างทันสถานการณ์ และสื่อสารกับคนหมู่มากได้อย่างถูกต้อง กระชับ ฉับไว โดยที่มีหลายหน่วยงานจากทุกภาคส่วนให้ข้อมูลแนวทางอันเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาและนำไปปรับใช้ ตัวอย่างเช่น คู่มือการบริหารสถานการณ์วิกฤต กรณีเกิดแผ่นดินไหวสำหรับอาคารสาธารณะ และคู่มือการจัดการฉุกเฉินสำหรับอาคารสำนักงานในเหตุการณ์แผ่นดินไหว จัดทำและเผยแพร่โดยสมาคมวิชาชีพการบริหารทรัพยากรอาคาร เป็นต้น​ที่พักอาศัย แนะนำให้ทุกบ้านมีการเตรียมพร้อม โดยมีสิ่งที่ต้องสำรองติดบ้านไว้เสมอ และต้องมีการหมุนเวียนนำของใหม่มาแทนของเก่าอย่างเป็นประจำ (Rolling Stock)​- น้ำดื่ม คือสิ่งที่จำเป็นมากที่สุด ควรสำรองไว้ที่ขั้นต่ำ 3 วัน (โดยคำนวณความต้องการน้ำดื่มที่ปริมาณ 3 ลิตร ต่อคน ต่อวัน) และอาจต้องสำรองถึง 7 วัน หรือมากกว่านั้น ตามการประเมินความสามารถของพื้นที่ในการอยู่รอดได้ เพื่อรอการฟื้นฟู หรือมีการช่วยเหลือจากส่วนกลาง​- อาหารแห้ง อาหารกระป๋อง หรืออาหารสำเร็จรูป ควรเป็นรูปแบบที่สามารถรับประทานได้โดยไม่ปรุง หรือไม่ต้องใช้พลังงานไฟฟ้า และคำนึงถึงสารอาหารที่ร่างกายต้องการอย่างเพียงพอด้วย โดยเฉพาะโปรตีน​- อุปกรณ์สำหรับการขับถ่าย เช่น ถุงพลาสติก​- กระเป๋าฉุกเฉินสำหรับตนเอง สมาชิกในครอบครัว และสัตว์เลี้ยง กรณีที่จำเป็นต้องอพยพออกจากที่พักอาศัยไปยังศูนย์พักพิง หรือสถานที่อื่นๆ ที่สามารถพกพาได้สะดวก​นอกจากการเตรียมรับมือขั้นต้นแล้ว Assoc. Prof. Dr. Yusuke Toyoda รองศาสตราจารย์ประจำ College of Policy Science และ Institute of Disaster Mitigation for Urban Cultural Heritage, Ritsumeikan University, Kyoto ประเทศญี่ปุ่น และนักวิจัยพันธมิตร (Researcher Alliance) แห่งสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านการเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติ ให้ข้อมูลการศึกษาจากการถอดบทเรียนของประเทศญี่ปุ่นที่สำคัญซึ่งประเทศไทยเราอาจจะยังไม่ได้เตรียมรับมือเท่าที่ควร นั่นคือ...​การเสียชีวิตของผู้ประสบภัยพิบัติ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในช่วงที่มีเหตุการณ์แผ่นดินไหวเท่านั้น หากสภาพจิตใจและร่างกายที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากเหตุการณ์นั้นไม่ได้รับการเยียวยา ถึงแม้ได้รับการช่วยเหลือด้านที่พักพิงและปัจจัย 4 อื่นๆ แต่ต้องถูกแยกตัวออกจากสังคมเดิมจากความจำเป็นในการอพยพไปยังพื้นที่พักพิงอื่นที่มีจำนวนจำกัด โดยไม่มีครอบครัว หรือญาติมิตรอยู่ร่วมกันที่จะสามารถปรับทุกข์ดูแลกันและกันได้ ก็มีโอกาสเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ในภายหลังเช่นกัน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงวัย จากสถานการณ์เหล่านี้จึงต้องมีมาตรการจัดสรรพื้นที่อยู่อาศัยชั่วคราวโดยคำนึงถึงความสัมพันธ์ของครอบครัว และความสัมพันธ์ในชุมชน (Social Networking) ร่วมด้วย เพื่อป้องกันปัญหาความเหงา และโดดเดี่ยวอันนำไปสู่อัตราการตายเดี่ยว (Lonely Death) หลังจากประสบภัยพิบัติได้ นั่นหมายความว่า การเตรียมรับมือทางด้านจิตใจและภาวะทางสังคมนั้นก็สำคัญไม่น้อยไปกว่าความพร้อมด้านสิ่งแวดล้อมกายภาพ​อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือ เมื่อวิเคราะห์จำนวนผู้รอดชีวิตจากแผ่นดินไหวที่ถูกฝังอยู่ใต้ซากอาคาร มีรายงานว่าสามารถรอดชีวิตได้จากการช่วยเหลือตนเองเป็นสัดส่วนมากที่สุด ถึงร้อยละ 34.9 รองลงมาคือรอดชีวิตจากการช่วยเหลือโดยสมาชิกในครอบครัว ร้อยละ 31.9 และโดยเพื่อนฝูงหรือเพื่อนบ้าน อีกร้อยละ 28.1 ในขณะที่อัตราการรอดชีวิตจากการช่วยเหลือโดยทีมกู้ภัย มีเพียงร้อยละ 1.7 เท่านั้น ข้อมูลนี้อ้างอิงจากรายงานแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ฮันชิง-อาวาจิ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี พ.ศ. 2538 นั่นหมายความว่า "เมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติ อีกสิ่งที่สำคัญก็คือการพึ่งพาตนเองให้ได้มากที่สุด" โดยไม่หวังพึ่งหน่วยงานภาครัฐหรือส่วนกลาง เนื่องจากเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติขึ้นแล้ว หน่วยงานต่างๆ จะมีภารกิจที่ต้องดูแลรับผิดชอบอย่างหนักอย่างมากมายรออยู่ข้างหน้า​จากข้อมูลทั้งหมดเราเห็นได้ว่า จะต้องเสริมความแข็งแรงเพื่อป้องกันความเสียหาย หากลยุทธ์เพื่อบรรเทาผลกระทบ และวางแผนเตรียมพร้อมรับมือเมื่อเกิดภัย จึงจะแคล้วคลาดจากสถานการณ์ฉุกเฉินได้ และคงจะเป็นการดีหากเราได้เตรียมพร้อมทั้งสภาพแวดล้อม ร่างกาย และจิตใจ สำหรับการรับมือกรณีฉุกเฉิน เพื่อเราสามารถช่วยเหลือตนเอง ช่วยเหลือครอบครัวได้ และยังอาจเป็นที่พึ่งพาให้กับเพื่อนบ้าน และสังคมได้อีกด้วย​เนื้อหาโดย คุณ สริธร อมรจารุชิต ผู้ช่วยผู้อำนวยการ RISC ​ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่​- สมาคมวิชาชีพการบริหารทรัพยากรอาคาร. คู่มือการจัดการฉุกเฉินสำหรับอาคารสำนักงานในเหตุการณ์แผ่นดินไหว – การเข้าพื้นที่ของผู้เช่า (30 มีนาคม 2568).​https://drive.google.com/file/d/1Dg9PEC5RDRy1gmXfL0gXPTGxx8EBpSWS/view?fbclid=IwY2xjawJcPRxleHRuA2FlbQIxMAABHS8G5gyr_NOpaJLwf3MWXmQ289hIrwQRhjKSTndUE9WXcffIWtACD05OPg_aem_6GxVDRjM9gYhWaYn37w3AA​- สมาคมวิชาชีพการบริหารทรัพยากรอาคาร. คู่มือการบริหารสถานการณ์วิกฤต กรณีเกิดแผ่นดินไหวสำหรับอาคารสาธารณะ เพื่อทีมผู้บริหารอาคาร (31 มีนาคม 2568).​https://drive.google.com/file/d/16xpcz_ryvs7O_E4uHVtJSnLQjQxYeIge/view?fbclid=IwY2xjawJcPbdleHRuA2FlbQIxMAABHVjviq9mNJfqqVKtVu9sOaFK_GUhfKpJFaqPW7EkzLHCfkWGkfa7SSx4kw_aem_2kWtm_hbgkGP8pnkBO4USg​- Japan Fire Research Association. Report on the Investigation into the Fires Caused by the 1995 Southern Hyogo Prefecture Earthquake (November 30, 1996).​- Japan Living Guide. Disaster preparedness: Stockpiling and emergency food in Japan (January 29, 2024).​https://www.japanlivingguide.com/expatinfo/emergencies/emergency-food/​

208 viewer

แผ่นดินไหวไม่ได้เกิดครั้งแรก แต่ทำไมรอบนี้เสียหายเยอะ?

โดย RISC | 2 สัปดาห์ที่แล้ว

หากพูดถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่กระทบกับเมืองไทย โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ เราอาจจะนึกย้อนไปหลายปี จนรู้สึกว่าเป็นเรื่องไกลตัว หรือพูดง่ายๆ คือเป็นภัยพิบัติที่คนกรุงเทพฯ หลายคนอาจมองข้ามไปแล้วด้วยซ้ำ​ซึ่งจากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา ระหว่างปี พ.ศ. 2538 - 2568 ครอบคลุมระยะเวลา 30 ปี พบว่ากรุงเทพฯ สามารถรับรู้แรงสั่นสะเทือนจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวได้รวมทั้งสิ้น 35 ครั้ง โดยจำแนกตามช่วงเวลาได้ตามนี้...​- พ.ศ. 2538–2548: จำนวน 7 เหตุการณ์​- พ.ศ. 2549–2558: จำนวน 17 เหตุการณ์​- พ.ศ. 2559–2568: จำนวน 13 เหตุการณ์​โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา แรงสั่นสะเทือนที่รับรู้ได้ในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่เกิดเฉพาะในอาคารสูง และมักมีลักษณะเบา ถึงปานกลาง แต่อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์ล่าสุดเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา นับเป็นครั้งแรกที่แรงสั่นสะเทือนในกรุงเทพฯ มีความชัดเจนอย่างมาก จนตึกสูงทั่วเมืองโยกไหว และมีรายงานความเสียหายต่ออาคารที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ชี้ให้เห็นว่าความถี่และระดับความรุนแรงของผลกระทบเริ่มเพิ่มขึ้น จนไม่ควรถูกมองว่าเป็นเรื่องไกลตัวอีกต่อไป​ในเมื่อแผ่นดินไหวไม่ได้เกิดครั้งแรก แล้ว.....ทำไมรอบนี้ถึงเสียหายเยอะกว่าที่ผ่านมา?​แม้ว่ากรุงเทพฯ จะไม่ได้ตั้งอยู่บนแนวรอยเลื่อนมีพลังโดยตรง และไม่ได้เป็นเขตเสี่ยงภัยแผ่นดินไหวหลักของประเทศไทย แต่กลับรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นไกลอยู่บ่อยครั้ง โดยสามารถหาเหตุผลหลักทางธรณีวิทยาได้ดังนี้​1. ดินอ่อน: พื้นที่ส่วนใหญ่ของกรุงเทพฯ (และหลายจังหวัดในภาคกลาง) เป็นดินตะกอนแม่น้ำเจ้าพระยาที่สะสมตัวมานานนับพันปี มีลักษณะเป็นดินเหนียวอ่อน (Soft Clay) ที่มีความลึกตั้งแต่ 10 - 30 เมตร ซึ่งมีคุณสมบัติสำคัญ คือ สามารถขยายแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวได้ เมื่อคลื่นแผ่นดินไหวเดินทางจากพื้นที่ห่างไกลมาถึงชั้นดินอ่อนของกรุงเทพฯ พลังงานของคลื่นอาจเกิดการ “ขยาย” แรงสั่นสะเทือนในบางความถี่ จึงทำให้ผู้ที่อยู่ในอาคาร โดยเฉพาะอาคารสูง ยังสามารถรับรู้ถึงแรงสั่นไหวได้อย่างชัดเจน​2. แผ่นดินไหวความถี่ต่ำ: แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่เกิดไกลจากกรุงเทพฯ มักปล่อยคลื่นแผ่นดินไหวในช่วงความถี่ต่ำ (Low-Frequency Seismic Waves) ซึ่งสามารถเดินทางได้ไกลได้ถึง 1,000 กิโลเมตร โดยพลังงานไม่หายไป และส่งผลกระทบกับอาคารสูง 10 ชั้นขึ้นไปโดยตรง ขณะที่บริเวณพื้นดินอาจแทบไม่รู้สึกอะไร (ตามกรณีที่เกิดแผ่นดินไหวล่าสุดเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา) ยิ่งโครงสร้างของอาคารถูกออกแบบมาให้สูง และยืดหยุ่นมากเท่าไร ความถี่ที่สั่นเองอย่างเป็นธรรมชาติของโครงสร้างอาคารก็จะสอดคล้องกับคลื่นของแผ่นดินไหวมากขึ้นเท่านั้น และเกิดการสั่นสะเทือน และ “โยก” อย่างมีนัยสำคัญ​แม้อาคารสูงที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาจะมีความเสี่ยงจากแรงสั่นสะเทือนมากกว่าพื้นที่อื่น เนื่องจากตั้งอยู่บนชั้นดินอ่อนซึ่งสามารถขยายแรงสั่นไหวได้ แต่ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นสามารถจัดการได้หากมีการออกแบบโครงสร้างตามมาตรฐานอย่างถูกต้อง โดยสามารถศึกษาแนวทางการออกแบบเพื่อความปลอดภัยในกรณีแผ่นดินไหวเพิ่มเติมได้จากบทความนี้ (https://mqdc.link/4lfVStr) “มาตรฐานการออกแบบอาคารเพื่อความปลอดภัยกรณีเกิดแผ่นดินไหว” โดย คุณสริธร อมรจารุชิต หนึ่งในผู้พัฒนามาตรฐานด้านการออกแบบอาคารเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีภายใต้ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC)​เนื้อหาโดย คุณ ณพล เกียรติก้องมณี สถาปนิกวิจัยอาวุโส แล Building Technology, Intelligent Systems, Innovative Solutions และ คุณ ศิรพัชร มั่งคั่ง ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS), RISC​อ้างอิงข้อมูลจาก​https://earthquake.tmd.go.th/document.html​https://earthquake.tmd.go.th/documents/file/seismo-doc-1606435108.pdf​https://op.mahidol.ac.th/rm/wp-content/uploads/2018/06/earthquake_140516.pdf​

323 viewer

MQDC STANDARD for All Well-Being การอยู่อาศัยเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของทุกชีวิตอย่างยั่งยืน และการรองรับความปลอดภัย

โดย RISC | 3 สัปดาห์ที่แล้ว

บ้านที่ดี…ไม่ใช่แค่สวย แต่ต้องมีมาตรฐานในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยให้มีความเป็นอยู่ที่ยั่งยืน ซึ่งเบื้องหลังที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพ คือมาตรฐานที่มากกว่าแค่ "ได้มาตรฐาน"​RISC และ MQDC จึงได้ร่วมกันสร้างมาตรฐานขึ้นมา นั่นก็คือ “MQDC Standard”​MQDC Standard ได้พัฒนาต่อยอดจากแนวคิด “Sustainnovation” หรือนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัย สังคม และสิ่งแวดล้อมรอบโครงการ ผ่าน 3 ด้านหลัก​◾️ Energy & Ecology: เน้นการอนุรักษ์พลังงานและระบบนิเวศอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิด For All Well-Being โดยออกแบบอาคารและเลือกใช้วัสดุที่ช่วยประหยัดพลังงานและน้ำ พร้อมติดตั้งระบบปรับอากาศที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อลดก๊าซเรือนกระจกและผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบ รวมถึงการส่งเสริมระบบนิเวศที่สมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพ​◾️ Health and Wellness: ให้ความสำคัญกับสุขภาพและความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัย ด้วยการออกแบบระบบระบายอากาศธรรมชาติร่วมกับระบบเติมอากาศบริสุทธิ์ การเลือกใช้วัสดุที่ไม่มีสารพิษและมีสารระเหยต่ำ (VOCs) เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว รวมถึงการออกแบบแสงสว่าง เสียง และความปลอดภัยภายในอาคารอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ยังพัฒนานวัตกรรมหอฟอกอากาศฟ้าใสเพื่อลดฝุ่น PM2.5 และยกระดับคุณภาพอากาศของชุมชนโดยรอบ​◾️ Senses & Happiness: มุ่งเน้นการออกแบบพื้นที่ที่ส่งเสริมความรู้สึกที่ดีและความสุขอย่างยั่งยืน โดยอ้างอิงจากการวิจัยด้านพฤติกรรมและจิตวิทยาของผู้อยู่อาศัย ออกแบบพื้นที่ให้รองรับกิจกรรมของทุกคนได้สะดวก ส่งเสริมการรับรู้ที่ดีด้วยการเลือกใช้วัสดุ สี และการผสานธรรมชาติเข้าไว้ในงานออกแบบ เพื่อสร้างความรู้สึกผ่อนคลาย ลดความเครียด และเพิ่มความสุขในทุกมิติของการอยู่อาศัย​MQDC Standard เป็นแนวทางควบคุมคุณภาพที่ครอบคลุมตั้งแต่ขั้นออกแบบ ก่อสร้าง ไปจนถึงหลังลูกค้าเข้าอยู่อาศัย โดยใช้เป็นเครื่องมือร่วมกันของทีมออกแบบทุกฝ่าย เพื่อกำหนดมาตรฐาน ตรวจสอบ และทดสอบคุณภาพในทุกขั้นตอน มีการตรวจอาคารอย่างสม่ำเสมอโดยผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้มั่นใจว่าอาคารยังคงคุณภาพ​MQDC Standard: มาตรฐานด้านโครงสร้าง​◾️ ออกแบบโครงสร้างให้รองรับแรงแผ่นดินไหว ตามข้อกำหนดของกระทรวงมหาดไทย โดยพิจารณาตามลักษณะพื้นที่ก่อสร้าง เช่น สมุทรปราการซึ่งเป็นพื้นที่ดินอ่อน อาจได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวระยะไกล​◾️ เลือกใช้คอนกรีตคุณภาพสูง ไม่ผสม Fly Ash เพื่อให้ได้กำลังอัดและแรงดึงที่ดีกว่า ไม่ลดต้นทุนด้วยการลดคุณภาพวัสดุ​◾️ ถนนรอบโครงการและแนวฐานอาคารใช้เสาเข็มยาว รองรับการทรุดตัวของดิน และเพิ่มความแข็งแรงของโครงสร้างโดยรวม​◾️ การต่อชนระหว่างผนังกับโครงสร้างหลักออกแบบให้ยืดหยุ่น โดยใช้วัสดุที่สามารถขยับตัวได้ รองรับแรงจากการเคลื่อนไหวของอาคารทั้งแนวตั้งและแนวนอน​◾️ แนวกำแพงกันดินใช้ระบบ Pile Wall แทน Sheet Pile ช่วยลดแรงดันดินที่ส่งผลโดยตรงกับผนังโครงสร้าง ช่วยให้โครงสร้างมั่นคงในระยะยาว​MQDC Standard: มาตรฐานด้านการออกแบบ​◾️ ออกแบบเพื่อให้ใช้งานได้จริงและปลอดภัย เช่น การเลือกกระจกนิรภัยลามิเนตบริเวณกรอบหน้าต่างภายนอก ป้องกันการตกหล่นเมื่อแตก​◾️ การรวมระบบท่อไว้ใน Shaft รวม โดยไม่มีการเจาะพื้น ทำให้หากเกิดปัญหา เช่น น้ำรั่วจากแผ่นดินไหว ความเสียหายจะจำกัดในพื้นที่เล็ก และใช้ท่อไร้รอยต่อ PEX ที่ทนทานกว่าในจุดสำคัญ​◾️ ระบบ Floor Drain บริเวณโถงทางเดิน และเพิ่มความชันหน้าลิฟต์ เพื่อป้องกันน้ำท่วมจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด เช่น กรณีท่อรั่ว​◾️ สระว่ายน้ำออกแบบให้ใช้งานปลอดภัย มีรางระบายน้ำขนาดใหญ่ และเว้นระยะจากตัวอาคารเพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการพลัดตก พร้อมเว้นพื้นที่ 2 เมตรโดยรอบสำหรับดูแลระบบระบายน้ำและซ่อมบำรุงได้สะดวก​MQDC Standard: มาตรฐานวัสดุก่อสร้าง​◾️ วัสดุที่ใช้ต้องผ่านการรับรองจากวิศวกรรมโครงสร้าง โยธา มอก. และวิศวกรรมสถาน​◾️ วัสดุงานสถาปัตย์ต้องได้มาตรฐาน มอก. หรือมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม เช่น TREES, WELL, LEED​◾️ การติดตั้งตามข้อกำหนดของผู้ผลิตโดยตรง เช่น การปูกระเบื้องต้องเว้นระยะตามที่แนะนำ ลดปัญหาโก่งตัว และวัสดุผนังห้องน้ำต้องเลือกติดตั้งให้ถูกวิธีเพื่อป้องกันหลุดร่วง​◾️ ทีม Construction Management (CM) ตรวจสอบการติดตั้งทุกขั้นตอน เช่น การแขวนฝ้าเพดานให้ได้ระยะตามแบบ และใช้อุปกรณ์มาตรฐาน เพื่อความแข็งแรงและปลอดภัย​MQDC Standard: มาตรฐานการทดสอบ​◾️ วัสดุโครงสร้างต้องผ่านการทดสอบจากมาตรฐานระดับสากล เช่น ACI, BSI, ASTM หรือเทียบเท่า​◾️ วัสดุอื่นๆ เช่น หน้าต่าง ต้องผ่านการทดสอบเรื่องการรั่วซึม อากาศ น้ำ ลม เสียง และความร้อน โดยอิงจากมาตรฐาน EN, JIS, ASTM, ANSI​◾️ อาคารสูงจะมีการทดสอบแรงลมด้วยอุโมงค์ลม เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถต้านทานแรงลมและแผ่นดินไหวได้​◾️ สร้าง Mock-up ขนาดจริง (1:1) เพื่อดูขั้นตอนการติดตั้งและประกอบจริง ทดสอบระบบ และแก้ไขปัญหาก่อนสร้างจริง ลดความผิดพลาดหน้างาน​นอกจากนี้ ยังมีการรับประกัน 30 ปี เป็นหลักประกันที่มอบความมั่นคงให้กับลูกบ้าน โดยครอบคลุม 4 เรื่องหลัก ทั้งเรื่องโครงสร้างของอาคาร, การรั่วซึมของหลังคา, การรั่วของงานระบบท่อน้ำและไฟฟ้า และการใช้งานของประตู หน้าต่าง​MQDC Standard จึงเป็นความใส่ใจที่จับต้องได้ ไม่ใช่แค่เรื่องวัสดุหรือโครงสร้าง แต่ครอบคลุมถึงสุขภาพ ความปลอดภัย และการอยู่อาศัยที่ดีในทุกมิติ​ เนื้อหาโดย ดร.จิตพัต ฉอเรืองวิวัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส RISC

306 viewer

Resilience “Shock & Stress” Framework เครื่องมือที่จะทำให้เราพร้อมรับมือกับภัยพิบัติ

โดย RISC | 4 สัปดาห์ที่แล้ว

การเปลี่ยนแปลงของโลกใบนี้ขยับเข้ามาใกล้ตัวเรามากขึ้นทุกที เห็นได้จากเหตุ “แผ่นดินไหว” เมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา​จากเหตุการณ์ในวันนั้นเห็นได้ชัดว่า “การรับมือ” ล่วงหน้ามีผลอย่างมากต่อ “การอยู่รอด” ภัยพิบัติทางธรรมชาติเป็นสิ่งที่เกิดขึ้น ในด้าน “Living & Infrastructure” ในข้อย่อย “Incident & Disaster” ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ด้านหลักของ Resilience "Shock & Stress" Framework​ ​ทีม RISC เราได้พัฒนา "Resilience Framework Toolkit" เป็นเครื่องมือที่มีวัตถุประสงค์ในการสร้างการตระหนักรู้ให้เห็นถึงภัยพิบัติและปัญหาที่เกิดขึ้นทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ ​• Nature & Environment​• Living & Infrastructure ​• Society & Economy ​เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า "Resilience Framework Toolkit" จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้มองเห็น เข้าใจถึงปัญหา และคาดการณ์ผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของโลกในรูปแบบต่างๆ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์และวางแผนการพัฒนาเมือง ให้พร้อมตั้งรับและปรับตัวอย่างถูกต้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นในทุกสถานการณ์ ทั้งในระดับอาคาร ระดับชุมชน และระดับเมือง​เรามาดูการนำ "Resilience Framework Toolkit" ไปใช้ในแต่ละมุมมองกัน สั่งซื้อ Resilience Framework Toolkit ได้แล้ววันนี้​✅RISC LINE Official : risc_center​ (ราคาเล่มละ 600 บาท รวมค่าส่ง)✅DTGO CAMPUS ตึก Empty Cup, RISC Office (ชั้น 2) และ Forget-Me-Not Shop (ชั้น 3) ​(https://maps.app.goo.gl/kGLM3YcccNysnMcW9)​(พิเศษ!! ซื้อและรับด้วยตัวเอง ลดเหลือราคาเล่มละ 500 บาท)

356 viewer

มาตรฐานการออกแบบอาคาร เพื่อความปลอดภัยกรณีเกิดแผ่นดินไหว

โดย RISC | 1 เดือนที่แล้ว

“ขอให้ครั้งนี้เป็นบทเรียนครั้งสุดท้าย”...ประโยคนี้มักเป็นข้อความฝากทิ้งท้ายหลังเหตุการณ์เลวร้ายเสมอ​เหตุการณ์แผ่นดินไหวไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยในเมืองไทย จึงทำให้หลายภาคส่วนมักมองข้ามเรื่องสำคัญไป นั่นก็คือเรื่อง “โครงสร้างอาคาร”​โครงสร้างอาคารมีความสำคัญแค่ไหน? ยังไง?​ทำไมจึงต้องมีการรับประกันความแข็งแรงของโครงสร้างอาคาร ในเมื่ออาคารโดยทั่วไปก็อยู่ได้เป็นร้อยปีอยู่แล้ว?​เชื่อว่าคำถามนี้ ได้รับคำตอบอย่างประจักษ์แล้ว จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา และนับเป็นการจารึกประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของคนไทย และยังถือเป็นการพิสูจน์ผลงานด้านวิศวกรรมของวิศวกรโครงสร้าง และผู้รับเหมาก่อสร้างได้เป็นอย่างดี​การออกแบบ และการคำนวณโครงสร้างอาคารที่มีความซับซ้อน โดยเฉพาะอาคารขนาดใหญ่พิเศษ และอาคารสูง รวมถึงศาสนสถาน และอาคารสาธารณะที่มีผลกระทบต่อคนจำนวนมาก จะถูกบังคับด้วยกฎหมายควบคุมอาคารตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ให้มีการคำนึงถึงการต้านทานแรงแผ่นดินไหว เช่น กฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคาร และพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ.2564 ซึ่งได้ปรับปรุงจากปี พ.ศ.2550 และประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการออกแบบและคำนวณโครงสร้างอาคารเพื่อต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ.2564​แต่หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ ได้สร้างความเสียหายของอาคารทั้งระดับเล็กน้อย ปานกลาง จนถึงรุนแรง ไม่เว้นแม้แต่อาคารก่อสร้างใหม่ที่ทำตามกฎหมายฉบับใหม่ จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ผู้เชี่ยวชาญทางด้านวิศวกรรมโครงสร้าง และสาขาวิชาชีพที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกัน เพื่อ "ทบทวนมาตรฐาน วิเคราะห์ปัญหาเชิงลึก และหาข้อสรุปสำหรับการออกแบบอาคารใหม่" ต่อจากนี้ ว่าการอ้างอิงกฎหมายปัจจุบันยังเพียงพออยู่หรือไม่ หรือควรต้อง "ปรับปรุงมาตรฐานอย่างไร?" อีกทั้งสามารถพิสูจน์ "ประสิทธิภาพของการออกแบบ และรายการคำนวณโครงสร้าง" ก่อนการก่อสร้างจริงได้ด้วยการจำลองทางคอมพิวเตอร์ ทดสอบในอุโมงค์ลม หรือเครื่องมือการทดสอบอื่นใดบ้าง นอกจากนี้ ควรมีบทพิจารณาทางกฎหมายถึงระดับของการออกแบบ และก่อสร้างเพื่อความปลอดภัยที่มากขึ้น ตามการประเมินความเสี่ยงของพื้นที่ตั้งโครงการนั้นๆ หรือไม่ และอย่างไร?​รวมถึงในกรณีบ้านพักอาศัย ไม่ว่าจะเป็นบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ หรือตึกแถว ที่ไม่อยู่ในขอบเขตการใช้บังคับของกฎหมาย จะสามารถปรับปรุงอาคารให้มีความปลอดภัยมากขึ้นได้อย่างไร? อีกทั้งรายละเอียดการประกันโครงสร้างบ้านที่ระบุในพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน และแบบมาตรฐานของสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจัดสรร อันคุ้มครองกรณีเกิดความเสียหายแก่โครงสร้างหลัก ได้แก่ เสาเข็ม ฐานราก เสา คาน พื้น โครงหลังคา และผนังรับน้ำหนัก ที่ครอบคลุมเป็นระยะเวลาเพียง 5 ปี ตั้งแต่วันที่โอนกรรมสิทธิ์นั้น ควรต้องทบทวนเช่นเดียวกันใช่หรือไม่​แน่นอนว่าไม่ใช่เฉพาะส่วนงานวิศวกรรมโครงสร้างเท่านั้นที่สำคัญต่อความปลอดภัยของผู้ใช้งานอาคาร ในส่วนของมาตรฐานทางด้านการออกแบบงานสถาปัตยกรรม งานตกแต่งภายใน งานระบบ ตลอดจนส่วนประกอบอาคารต่างๆ ควรต้องถูกนำกลับมาทบทวนด้วยเช่นกัน​​RISC ในบทบาทของผู้พัฒนามาตรฐานด้านการออกแบบเพื่อความยั่งยืนและมีสุขภาวะที่ดี ขอยกตัวอย่างข้อพิจารณามาตรฐานการออกแบบอาคาร เพื่อความปลอดภัยกรณีเกิดแผ่นดินไหว ดังนี้​1. กระจกอาคาร - ไม่ควรร่วงหล่นหากมีการแตกร้าวหรือเกิดการขยับตัวของโครงสร้างจากแรงแผ่นดินไหว อันก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ใช้งาน และกีดขวางเส้นทางการอพยพ และควรเลือกใช้กระจกลามิเนตสำหรับกระจกเปลือกอาคาร ประตู หน้าต่าง และราวกันตก อีกทั้งไม่ควรใช้วัสดุประตูกระจกบานเปลือย สำหรับประตูบานขนาดใหญ่เกินขนาดมาตรฐาน โดยเฉพาะในบริเวณที่สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุจากการใช้งานเป็นประจำ หรือรับแรงลมสูง​2. สระว่ายน้ำ - ควรมีราวกันตกสูงจากขอบสระอย่างน้อย 1.20 เมตร หรือมีระยะร่นห่างจากขอบอาคารอย่างน้อย 2.00 เมตร กรณีเป็นสระว่ายน้ำแบบไร้ขอบ (Infinity Pool) เพื่อความปลอดภัยต่อผู้ใช้งานในสถานการณ์ปกติ ป้องกันวัตถุหรือคนพลัดตกจากอาคาร และป้องกันอันตรายต่อผู้คน และอาคารข้างเคียงจากน้ำล้นออกนอกสระเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน​3. ผนังภายในทั่วไป - หากมีการกรุทับด้วยวัสดุตกแต่ง หรือวอลเปเปอร์ ที่มักจะปิดกั้นความชื้น ปกปิดเชื้อรา และยังปกปิดรอยแตกร้าวด้วยเช่นกัน ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการสำรวจความเสียหายของโครงสร้าง และการรั่วซึมที่ผนัง​4. เฟอร์นิเจอร์และส่วนตกแต่งที่มีน้ำหนักมาก - สามารถล้มหรือร่วงหล่นได้ เช่น ตู้หนังสือ ตู้เก็บของ ควรมีการยึดติดแน่นเข้ากับพื้นหรือผนัง และมีการล็อคหน้าบานหรือราวกันตก ป้องกันสิ่งของที่อยู่ด้านในร่วงหล่น รวมถึงอุปกรณ์และส่วนตกแต่งที่มีโอกาสแกว่ง หรือไหวได้ เช่น โคมไฟ เครื่องปรับอากาศ ป้ายสัญลักษณ์ จะต้องมีจุดยึดที่แข็งแรง แน่นหนา​5. ประตูอาคารที่เป็นระบบเปิด-ปิดอัตโนมัติ - ที่นิยมใช้ในอาคารสำนักงานและห้างสรรพสินค้า ควรมีการออกแบบให้สามารถเปิดค้างไว้ได้เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน และทำการทดสอบระบบอย่างสม่ำเสมอ​6. งานระบบท่อน้ำไม่ควรฝังในโครงสร้าง - ที่ไม่สามารถตรวจสอบการรั่วซึม หรือสามารถซ่อมบำรุงได้ทันท่วงที อีกทั้งเมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหว อาจมีการรั่วซึมหรือเกิดการชำรุดเสียหายของระบบท่อน้ำในอาคาร โดยเฉพาะอาคารชุดพักอาศัย จึงควรออกแบบให้มีจุดระบายน้ำกรณีฉุกเฉินในพื้นที่ เช่น ที่พื้นบริเวณทางเดินส่วนกลาง เพื่อป้องกันน้ำท่วมเข้าห้องพักและห้องเครื่องลิฟต์​7. เส้นทางอพยพ ควรถูกกำหนดอย่างชัดเจน และจะต้องมั่นใจว่ามีไฟสำรองฉุกเฉินจ่ายมายังไฟแสงสว่าง และป้ายแสดงทางหนีไฟ เพื่อนำทางไปยังจุดรวมพลนอกอาคารได้ หากเหตุแผ่นดินไหวในช่วงกลางคืน หรือกระแสไฟฟ้าของอาคารถูกตัด ที่สำคัญคือต้องมีการประชาสัมพันธ์ และซักซ้อมการอพยพอย่างสม่ำเสมอ​8. ระบบเตือนภัย และพื้นที่หลบภัย - ที่เหมาะสมสำหรับเป็นพื้นที่พักรอการช่วยเหลือกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน ที่มีกฎหมายบังคับใช้สำหรับอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับทุกอาคาร โดยเฉพาะอาคารสาธารณะ​จากข้อมูลข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างมาตรฐานบางส่วนที่อาจเป็นประโยชน์กับอาคารอื่นๆ เพื่อนำไปปรับปรุงเพิ่มเติม โดย RISC จะมุ่งมั่นศึกษาวิจัย และพัฒนาองค์ความรู้เพื่อประยุกต์ใช้ในการออกแบบ และพัฒนาอาคารบ้านเรือนให้มีคุณภาพที่ดียิ่งขึ้นต่อไป โดยมีประโยชน์ของผู้อยู่อาศัยเป็นที่ตั้ง​บทเรียนจากแบบทดสอบสถานการณ์จริงในครั้งนี้ ถือเป็นการซ้อมใหญ่สำหรับอาคารที่ไม่ได้รับผลกระทบ หรืออาคารที่ยังไม่ได้ออกแบบโดยคำนึงถึงการอยู่รอดจากการเกิดแผ่นดินไหว หากการตื่นตัวเป็นเพียงกระแสที่ผ่านมา และยังถูกปล่อยให้ผ่านเลยไป แผ่นดินไหวครั้งนี้คงจะไม่ใช่บทเรียนครั้งสุดท้ายอย่างแน่นอน​เพราะความปลอดภัย ไม่ได้เกิดจากโชคช่วย และมาตรฐาน ไม่ได้มีไว้ต่อรอง ต้องพัฒนา ปรับปรุง และต่อยอด อย่างต่อเนื่อง​เนื้อหาโดย คุณ สริธร อมรจารุชิต ผู้ช่วยผู้อำนวยการ RISC​ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่​กฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคาร และพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ. 2564: https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/A/016/T_0013.PDF​ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการออกแบบและคำนวณโครงสร้างอาคารเพื่อต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ. 2564: https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/275/T_0016.PDF​ประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน เรื่องมาตรฐานการปฏิบัติการฉุกเฉินในการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานนอกสถานพยาบาล พ.ศ. 2564: https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/293/T_0057.PDF​กฎกระทรวงกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564: https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/A/016/T_0019.PDF​พระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543: ​https://download.asa.or.th/03media/04law/lsa/lsa43-upd02.pdf​ประกาศคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลาง เรื่อง กำหนดแบบมาตรฐานของสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจัดสรร พ.ศ. 2545: ​https://www.dol.go.th/estate/DocLib18/scan0003.pdf​

1248 viewer

"วัสดุก่อสร้างจากเถ้าชีวมวล" ทางเลือกใหม่ในการพัฒนาอย่างยั่งยืน

โดย RISC | 1 เดือนที่แล้ว

รู้หรือไม่ว่า การผลิตไฟฟ้า 1 MW ทำให้เกิด “เถ้าชีวมวล” ประมาณ 200-400 ตัน/ปี ​เถ้าชีวมวล หรือที่เรียกว่า Wood ash นั้นคืออะไร แล้วทำไมเราถึงต้องมาสนใจในเรื่องนี้?​เถ้าชีวมวล จัดเป็นของเสียจากกระบวนการผลิตพลังงานไฟฟ้าโดยใช้ชีวมวลเป็นแหล่งเชื้อเพลิง ซึ่งชีวมวลแต่ละชนิดจะมีปริมาณเถ้าที่แตกต่างกัน โดยทั่วไปจะอยู่ที่ประมาณ 1-3% หากยิ่งผลิตไฟฟ้ามากเท่าไหร่...ก็ยิ่งเกิดเถ้าชีวมวลมากขึ้นเท่านั้น​ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงไฟฟ้าชีวมวลจำนวน 226 แห่ง และมีกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น 2,110 MW ซึ่งเท่ากับว่ามีเถ้าชีวมวลเกิดขึ้นเกือบ 1 ล้านตันในแต่ละปี คำถามที่ตามมา...เราจะจัดการกับขยะเถ้าชีวมวลจำนวนมหาศาลนี้ได้อย่างไรบ้าง?​เถ้าชีวมวลจัดเป็นของเสียอุตสาหกรรม จึงต้องได้รับการกำจัดอย่างถูกต้องตามกฎหมายเพื่อป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การฝังกลบตามหลักสุขาภิบาล การใช้เป็นวัตถุดิบทดแทนในเตาเผาปูนซีเมนต์ การหมักทำปุ๋ยและสารปรับปรุงคุณภาพดิน หรือการนำกลับมาใช้ประโยชน์ในรูปแบบอื่นๆ​อย่างไรก็ตาม ปริมาณเถ้าชีวมวลที่เกิดขึ้นมีจำนวนมากเกินไป ทำให้มีค่าใช้จ่ายในการกำจัดที่สูง เถ้าชีวมวลปริมาณ 80,000 – 100,000 ตัน มีค่ากำจัดสูงถึง 10-15 ล้านบาท และเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการกำจัด และเพิ่มมูลค่าให้กับเถ้าชีวมวลเหล่านี้ จึงมีการศึกษาและพัฒนาวัสดุก่อสร้างโดยใช้เถ้าชีวมวลเป็นส่วนประกอบ​“เถ้าชีวมวล” มีศักยภาพในการใช้เป็นวัสดุทดแทน “ปูนซีเมนต์” ในการผลิตวัสดุก่อสร้างได้จริงหรือ?​โดยทั่วไปแล้วปูนซีเมนต์เป็นวัสดุหลักในการผลิตคอนกรีต เนื่องจากปูนซีเมนต์สามารถทำปฏิกิริยากับน้ำ หรือที่เรียกว่าปฏิกิริยาไฮรเดรชัน (Hydration) เกิดสารประกอบแคลเซียมซิลิเกตไฮเดรต (C-S-H) ที่ช่วยเพิ่มความแข็งแรงทนทานให้กับคอนกรีต การใช้เถ้าชีวมวลแทนที่ปูนซีเมนต์จึงส่งผลต่อคุณสมบัติของคอนกรีตเป็นอย่างมาก​เถ้าชีวมวลมีองค์ประกอบหลักเป็นแคลเซียมออกไซด์ (CaO) ในขณะที่มีปริมาณซิลิกา (SiO₂) อะลูมิน่า (Al₂O₃) และเหล็กออกไซด์ (Fe₂O₃) ต่ำ จึงทำให้เกิดปฏิกิริยาไฮรเดรชันลดลง อย่างไรก็ตาม SiO₂, Al₂O₃ หรือ Fe₂O₃ สามารถทำปฏิกิริยาปอซโซลาน (Pozzolanic Reaction) กับแคลเซียมไฮดรอกไซด์ (Ca(OH)₂) เกิดเป็นสารประกอบ C-S-H ซึ่งนอกจากช่วยเพิ่มกำลังอัดของคอนกรีตในระยะยาวได้แล้ว ยังช่วยเพิ่มความทนทานต่อซัลเฟต กรด และการเกิดคราบขาวบริเวณผิวคอนกรีตได้​อย่างไรก็ตาม การเพิ่มปริมาณเถ้าชีวมวลมากเกินไป ก็จะทำให้กำลังอัดของคอนกรีตลดลง เถ้าชีวมวลมีอนุภาคขนาดเล็ก และน้ำหนักเบากว่าปูนซีเมนต์ ทำให้คอนกรีตมีน้ำหนักเบา รวมทั้งอนุภาคขนาดเล็กยังสามารถเติมเต็มช่องว่างภายในของคอนกรีตได้ นอกจากนี้ เถ้าชีวมวลยังมีรูพรุน และพื้นที่ผิวสูง ทำให้ดูดซึมน้ำได้ดี ส่งผลให้คอนกรีตที่ได้มีการดูดกลืนน้ำสูง และจำเป็นต้องเพิ่มปริมาณน้ำในกระบวนการผลิตเพื่อชดเชยน้ำบางส่วนที่ถูกดูดซึม​เราจะเห็นได้ว่า เถ้าชีวมวลส่งผลต่อคุณสมบัติของคอนกรีตเป็นอย่างมาก โดยขึ้นอยู่กับชนิด องค์ประกอบทางเคมี และปริมาณของเถ้าชีวมวล การใช้เถ้าชีวมวลในการพัฒนาวัสดุก่อสร้างจึงเหมาะสมสำหรับการใช้งานที่ไม่ต้องการความสามารถในการรับน้ำหนักสูง เช่น ขอบคันหิน วัสดุปูพื้น งานตกแต่งสวน หรือช่องระบายอากาศ โดยอัตราส่วนที่เหมาะสมในการใช้เถ้าชีวมวลเป็นวัสดุทดแทนปูนซีเมนต์ คือ 10-30% โดยน้ำหนักของปูนซีเมนต์ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับชนิดและคุณสมบัติของเถ้าชีวมวล องค์ประกอบของคอนกรีต และอัตราส่วนของผสม​อีกสิ่งที่สำคัญคือ การสร้างความโดดเด่นหรือจุดแข็งกว่าผลิตภัณฑ์ในท้องตลาด การออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีความแตกต่าง ทั้งด้านรูปร่าง ความสวยงาม หรือมีฟังก์ชันการใช้งานพิเศษจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และเป็นการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ยั่งยืน​เนื้อหาโดย คุณ สุพรรณภางค์ รักษาวงค์ นักวิจัยวัสดุ Sustainable Building Material​อ้างอิงข้อมูลจาก​กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน. 2568. แผนที่แสดงที่ตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวลในประเทศไทย. ​ขวัญชีวา หยงสตาร์, นุอนันท์ คุระแก้ว, ชูเกียรติ ชูสกุล, และ สุนันท์ มนต์แก้ว. 2567. การพัฒนาอิฐบล็อกประสานจากฝุ่นหินเหลือทิ้งและเถ้าไม้ยางพารา. วารสารวิชาการและวิจัย มทร.พระนคร สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปีที่ 18 ฉบับที่ 1 (2567).​สาโรจน์ ดำรงศีล. 2550. ผลกระทบของปูนซีเมนต์ผสมเถ้าชานอ้อยและเถ้าลอยในลักษณะบดร่วมต่อคุณสมบัติทางกายภาพและเชิงกลของคอนกรีต. วารสารวิชาการและวิจัย มจธ. ปีที่ 30 ฉบับที่ 3 กรกฎาคม-กันยายน (2550).​Ayobami A. B., 2021. Performance of wood bottom ash in cement-based applications and comparison with other selected ashes: Overview, Resources, Conservation and Recycling. 166, 105351.​

425 viewer

เลือก Light อย่างไร ให้ไร้รบกวน

โดย RISC | 1 เดือนที่แล้ว

“แสง” สิ่งที่ช่วยให้เรามองเห็น ไม่ว่าจะเป็นแสงธรรมชาติจากดวงอาทิตย์ หรือแสงจากสิ่งประดิษฐ์ที่มนุษย์สร้างขึ้นมา แสงจึงมีบทบาทสำคัญต่อชีวิตประจำวันของมนุษย์ และสิ่งมีชีวิตบนโลก​โดยแสงที่ตาเราสามารถมองเห็นจะอยู่ในช่วงความยาวคลื่นระหว่าง 400 - 700 นาโนเมตร นอกเหนือจากแสงที่ตามองเห็นแล้ว ก็ยังมีแสงประเภทอื่นๆ ที่เราไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เช่น รังสีอัลตราไวโอเลต (UV) และรังสีอินฟราเรด (IR)​นอกจากแสงจะช่วยให้มองเห็น และดำรงชีวิตได้สะดวกขึ้นแล้ว แสงจากดวงอาทิตย์ก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญต่อกระบวนการสังเคราะห์แสงของพืช ซึ่งเป็นพื้นฐานของห่วงโซ่อาหาร นอกจากนี้ แสงยังถูกนำมาใช้ในเทคโนโลยีต่างๆ อีกมากมาย ทั้งการแพทย์ การสื่อสาร หรือการคมนาคม​แม้ว่าแสงจะมีประโยชน์มากมาย แต่การใช้แสงไฟที่มากเกินไป หรือไม่เหมาะสมนั้น สามารถก่อให้เกิด “มลพิษทางแสง” (Light Pollution) ได้ ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มักถูกมองข้ามอยู่ในปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของมนุษย์​ปัญหานี้เกิดจากแสงไฟที่ฟุ้งกระจายเกินความจำเป็น อย่างเช่น แสงไฟจากถนน อาคารสูง และป้ายโฆษณาที่ส่องสว่างตลอดคืน มลพิษทางแสงเหล่านี้รบกวนพฤติกรรมในธรรมชาติของสิ่งมีชีวิต ส่งผลให้สัตว์ป่าเสียสมดุลในการดำรงชีวิต เช่น นกอพยพที่บินผิดเส้นทาง เต่าทะเลที่หลงทิศทางจากแสงไฟตามแนวชายฝั่ง และยังมีสัตว์ป่าอีกหลายชนิดที่ต้องพึ่งพาความมืดในการดำรงชีวิต ​เพื่อลดผลกระทบของมลพิษทางแสงต่อสัตว์และสิ่งแวดล้อม เราจึงควรเลือกใช้แสงที่เหมาะสม โดยเฉพาะแสงที่ไม่รบกวนวงจรชีวิต และพฤติกรรมของสัตว์ในธรรมชาติ​จากรายงานวิจัย พบว่า แสงไฟที่เหมาะสมควรมีค่าอุณหภูมิสีสัมพันธ์ (Correlated Color Temperature, CCT) ไม่เกิน 3000 เคลวิน (K) มีค่าความยาวคลื่นโดยประมาณอยู่ที่ 600 - 700 นาโนเมตร ซึ่งให้แสงสีเหลืองอุ่น (Warm White) ที่สำคัญเราควรใช้ไฟที่มีทิศทางของแสงสว่างชัดเจน ไม่กระจายแสงหรือหันแสงไฟออกไปยังท้องฟ้า หรือพื้นที่ธรรมชาติที่มีสัตว์อาศัยอยู่ นอกจากนี้ เรายังสามารถช่วยลดมลพิษทางแสงได้ด้วยการปิดไฟที่ไม่จำเป็น หลีกเลี่ยงการเปิดไฟตลอดทั้งคืน หรือระบบตั้งเวลาปิด-เปิด เพื่อให้แสงทำงานเฉพาะเมื่อมีความจำเป็น การใช้และการจัดการแสงอย่างเหมาะสมจึงสามารถช่วยลดมลพิษทางแสง และรักษาสมดุลของธรรมชาติให้ยั่งยืนได้ รวมถึงยังช่วยให้สิ่งมีชีวิตยังคงดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุขตามปกติในสภาพแวดล้อม​เนื้อหาโดย คุณ กชกร รัตนมา นักวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ RISC​

393 viewer

รับข่าวสาร

ลงทะเบียนเพื่อรับข่าวสารกับเรา