RISC

Glare: แสงแยงตา ปัญหาใหม่ของคนใช้อาคาร

เขียนบทความโดย RISC | 4 ปีที่แล้ว

แก้ไขล่าสุด : 2 ปีที่แล้ว

4164 viewer

แสงจ้าหรือแสงแยงตา ที่เรามักจะติดปากเรียกทับศัพท์ว่า “Glare” เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ผู้ออกแบบแสงสว่างต้องให้ความสำคัญไม่น้อยไปกว่าเรื่องอื่น เพราะเป็นปัญหาที่ส่งผลโดยตรงกับสุขภาวะผู้ใช้งานในอาคาร

“Glare” ก็คือ ระดับแสงสว่างที่มากเกินไปจากแหล่งกำเนิดแสง ซึ่งแสงแยงตานี้อาจนำเราไปสู่ปัญหาด้านสุขภาวะหลายด้าน เช่น รู้สึกไม่สบายทางสายตา เมื่อยล้าดวงตา ปวดศีรษะ หรือร้ายแรงไปจนกระทั่งปวดไมเกรน นอกจากนี้ยังมีข้อมูลจากการศึกษาบ่งชี้ว่าแสง Glare นั้นเป็นอีกสาเหตุของการเกิดข้อผิดพลาดในการทำกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งอุบัติเหตุภายในสถานที่ทำงานอีกด้วย

โดยทั่วไปแสงแยงตาเกิดขึ้นได้จาก 2 ปัจจัย ก็คือ แสงประดิษฐ์ และแสงธรรมชาติ สำหรับแสงประดิษฐ์นั้นป้องกันได้โดยการเลือกใช้ประเภทของหลอด ดวงโคม และองศาติดตั้งที่เหมาะสม ส่วนแสงธรรมชาติสามารถป้องกันได้โดยมีส่วนประกอบของอาคารที่ช่วยบังแสงจากภายนอก หรือมีม่าน มู่ลี่ ติดฟิล์มกระจกช่วยป้องกันแสงแยงตาได้จากภายใน ทั้งสองวิธีนี้สามารถใช้โปรแกรม Simulation ช่วยให้การออกแบบแสงมีความแม่นยำมากขึ้น นอกจากนี้การจัดตำแหน่งเฟอร์นิเจอร์ก็มีส่วนสำคัญต่อการลดแสงแยงตาภายในอาคารได้เช่นกัน ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายๆนะครับ เช่น หากหลังโต๊ะทำงานมีหน้าต่าง อาจเกิดแสงแยงตาจากภายนอกกระทบกับหน้าจอคอมพิวเตอร์ ส่งผลให้เราเกิดอาการปวดและเมื่อยล้าดวงตาขณะทำงานได้

ดังนั้นการออกแบบแสงภายในอาคารที่คำนึงถึงการป้องกัน “Glare” จะช่วยให้ผู้ใช้อาคารมีประสบการณ์ในการทำกิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวกับแสงได้ดี เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและส่งเสริมให้เกิดสุขภาวะทางแสงและดวงตาที่ดีแก่ผู้ใช้อาคารได้อีกด้วย

เรื่องของแสงเพื่อสุขภาวะยังมีอีกหลายเรื่องที่น่าสนใจ ติดตามได้ในโพสต์ต่อๆ ไปนะครับ

ผู้เขียน/เรียบเรียง: วสุธา เชน, สถาปนิกวิจัยอาวุโส RISC

แนะนำสำหรับคุณ