Knowledge - RISC

Knowledge Integrated Project

Integrated Project

ถูกไฟฟ้าดูด เราควรทำอย่างไรให้รอด

โดย RISC | 1 เดือนที่แล้ว

จากบทความครั้งที่แล้ว เราพูดถึงการออกแบบและติดตั้งระบบไฟฟ้า (อ่านย้อนหลังได้ที่ https://bit.ly/45YXDnM) เพื่อแก้ปัญหาไฟดูด ไฟรั่วภายในบ้านกันไปแล้ว คราวนี้เราจะพูดถึงกรณีถ้ามีเหตุฉุกเฉินขึ้นจากการถูกไฟฟ้าดูด เราควรรับมือและปฏิบัติอย่างไร? ถึงจะถูกต้องและปลอดภัย​โดยคนที่ถูกกระแสไฟฟ้าดูด กระแสไฟจะไหลผ่านหัวใจทำให้หัวใจหยุดทำงาน และอาจส่งผลให้เกิดอันตรายต่ออวัยวะอื่นๆ ที่กระแสไฟฟ้าไหลผ่าน เช่น กล้ามเนื้อ กระดูก อวัยวะในช่องท้อง และระบบประสาท หากกระแสไฟฟ้ามีแรงสูงมากๆ จะส่งผลให้เนื้อเยื่อที่กระแสไฟฟ้าไหลผ่านถูกทำลายอย่างรุนแรง และจะทำให้เกิดอาการบาดเจ็บของอวัยวะในช่องท้องได้ บางคนอาจมีอาหารชักเกร็งของกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย หายใจเร็ว และหมดสติ​สำหรับการปฐมพยาบาลเบื้องต้น หากเราพบเห็นผู้ถูกไฟฟ้าดูดหรือไฟฟ้าช็อต สามารถทำได้โดย...​- รีบโทรแจ้งสายด่วน 1669 ระหว่างการเข้าช่วยเหลือ หรือปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยเหลือผู้ประสบเหตุทันเวลา เพราะการจะได้รับอันตรายมากหรือน้อย จะขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ถูกไฟฟ้าดูด รวมทั้งการช่วยเหลือที่ถูกวิธี ก็จะเพิ่มโอกาสรอดให้กับผู้ประสบเหตุได้​- รีบหาแหล่งที่เกิดไฟฟ้ารั่วและรีบตัดวงจรไฟฟ้าเสียก่อน เพื่อให้ผู้ที่เข้าช่วยเหลือเบื้องต้นไม่ให้ถูกไฟดูดหรือเป็นผู้ประสบเหตุไปด้วย​- หากถูกไฟฟ้าดูด และมีสายไฟพาดผ่านตัวอยู่ จะต้องหาวัสดุที่เป็นฉนวน ไม่นำกระแสไฟฟ้า เช่น ไม้ เชือกที่แห้ง สายยาง ถุงมือยาง หรือผ้าแห้งพันมือให้หนา จากนั้นให้ผลักหรือฉุดตัวผู้ประสบเหตุให้หลุดออกมาโดยเร็ว หรือเขี่ยสายไฟให้ตัวผู้ประสบเหตุออกจากกระแสไฟ​- หากเป็นกระแสไฟฟ้าแรงสูงควรแจ้งการไฟฟ้าโดยเร็วที่สุด เพื่อให้ตัดกระแสไฟฟ้า รวมถึงโทรแจ้งหน่วยกู้ชีพสายด่วน 1669​- หากผู้ประสบเหตุถูกไฟดูดในบริเวณที่มีน้ำขัง ผู้ที่เข้าช่วยเหลือห้ามลงไปในน้ำโดยเด็ดขาด ควรตัดกระแสไฟฟ้าก่อนเข้าไปช่วยเหลือ​- การเข้าไปช่วยเหลือต้องรวดเร็ว รอบคอบ และระมัดระวัง จากนั้นห่อหุ้มบริเวณที่ถูกไฟดูดด้วยผ้าแห้ง และหากมีบาดแผลบริเวณนั้นหรือไม่แน่ใจว่ามีการบาดเจ็บของผิวหนังและเนื้อเยื่อของร่างกายบริเวณที่ถูกสัมผัสหรือไม่ ควรต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที​อย่าลืม! ความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญที่สุด หากเราเตรียมพร้อมและระมัดระวัง ก็จะช่วยลดความเสี่ยงจากไฟฟ้าได้​นอกจากนี้ การศึกษาและฝึกฝนวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อเกิดไฟดูด ก็เป็นอีกสิ่งที่เราทุกคนควรสนใจศึกษาไว้บ้าง เพราะเมื่อเกิดเหตุเราจะสามารถช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที รวมทั้งเก็บหมายเลขโทรศัพท์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น หน่วยกู้ภัย โรงพยาบาลไว้ใกล้มือ เพื่อเรียกขอความช่วยเหลือในกรณีฉุกเฉิน​การป้องกันไฟรั่ว ไฟดูดในช่วงหน้าฝนไม่ใช่เรื่องยาก ถ้าเราหมั่นตรวจสอบและดูแลอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้านอย่างสม่ำเสมอ ด้วยวิธีการง่ายๆ เหล่านี้ ทุกคนก็สามารถป้องกันอันตรายจากไฟรั่ว ไฟดูดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และใช้ชีวิตในช่วงหน้าฝนอย่างสบายใจและปลอดภัย​เนื้อหาโดย คุณ มนตรี ภูแล่นคู่ วิศวกรวิจัยอาวุโส และผู้เชี่ยวชาญด้าน Well-Being Research Integration และ Building Infrastructure, RISC

274 viewer

หน้าฝนนี้...อย่าให้ไฟรั่ว ไฟดูด มาทำพิษ!

โดย RISC | 2 เดือนที่แล้ว

เข้าหน้าฝนเมื่อไหร่ หลายบ้านต้องเจอกับปัญหาไฟรั่ว ไฟดูด จนกลายเป็นเรื่องน่ากังวล เพราะนอกจากจะไม่สะดวกสบายแล้ว ยังเป็นอันตรายต่อชีวิตคนในบ้านอีกด้วย ​เพื่อให้ทุกคนได้อยู่ในบ้านอย่างปลอดภัยและมีความสุข วันนี้ RISC มีวิธีป้องกันง่ายๆ มาแนะนำกัน...​ก่อนอื่นเรามาเริ่มกันตั้งแต่....​"การออกแบบระบบไฟฟ้า" ให้ได้มาตรฐานตามหลักการที่ถูกต้องตามประเภทการใช้งาน บทความนี้เราจะพูดถึงระบบไฟฟ้าของบ้านเดี่ยว หรือทาวส์โฮมเท่านั้น (ส่วนของอาคารสูง หรือคอนโดมิเนียม จะมีการกำหนดมาตรฐานในการออกแบบสำหรับอาคารสูงหรือใหญ่พิเศษ)​การออกแบบระบบไฟฟ้าภายในบ้าน ให้ถูกต้องและคำนึงถึงปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ไฟฟ้า เช่น ไฟรั่ว ไฟดูด หรือไฟไหม้ ซึ่งการออกแบบจะต้องมีปัจจัยต่างๆ ตามนี้ ไม่ว่าจะเป็น...​1. เลือกใช้สายไฟที่มีคุณภาพดี มีมาตรฐาน มอก. หรือ IEC กำกับ และเหมาะกับการใช้งาน โดยทั่วไปสายไฟสำหรับใช้ในบ้านควรมีขนาดตามโหลดการใช้งาน และเหมาะสมกับขนาดอุปกรณ์ป้องกันวงจรแต่ละประเภท​2. แยกวงจรแสงสว่าง และเต้ารับไฟฟ้าออกจากกัน รวมทั้งควรมีการแยกวงจรไฟฟ้าในห้องครัว ห้องน้ำ และอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้พลังงานสูง เช่น เครื่องปรับอากาศ เตาอบ เป็นต้น​3. ติดตั้งตู้เมนไฟฟ้าในตำแหน่งที่เข้าถึงได้ง่าย และควรติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันไฟรั่ว (RCD) และอุปกรณ์ตัดวงจรไฟฟ้า (MCB) ในตู้ไฟฟ้า เพื่อป้องกันไฟดูดและกระแสไฟฟ้าเกิน หรือจะติดตั้งอุปกรณ์ทั้งป้องกันไฟดูดและแรงดันเกิน (RCBO) ก็ได้​ ภาพที่ 1 จาก PMK Corporation Ltd.​ ภาพที่ 2 จาก PMK Corporation Ltd.​มาดูในส่วนของ "การติดตั้งเครื่องตัดไฟรั่ว หรือ Residual Current Device (RCD)" ส่วนมากจะติดตั้งในตู้คอนซูมเมอร์ยูนิต ในบ้าน ซึ่งเครื่องนี้มีหน้าที่ตัดไฟฟ้าอัตโนมัติ โดยจะตัดกระแสไฟฟ้าภายในระยะเวลาที่กำหนด เมื่อกระแสไฟฟ้าที่ไหลผ่านเข้าและออก มีค่าไม่เท่ากัน หรือก็คือมีกระแสไฟฟ้าบางส่วนที่รั่วหายไป เช่น รั่วไหลจากเครื่องใช้ไฟฟ้าลงดิน หรือกระแสไฟฟ้ารั่วผ่านคนที่ไปสัมผัสอุปกรณ์ที่มีไฟรั่วอยู่ ​เครื่องตัดไฟรั่ว อาจมีชื่อเรียกอื่นๆ อีก เช่น เครื่องตัดวงจรกระแสเหลือ (RCD, RCBO, RCCB) หรือเครื่องตัดกระแสไฟฟ้ารั่วลงดิน (ELCB, GFCI) โดยจะถูกนำไปใช้งานร่วมกับเซอร์กิต เบรกเกอร์ ประเภทอื่นๆ เช่น เบรกเกอร์ลูกย่อย MCB หรือ เบรกเกอร์ MCCB แต่ที่มีการใช้งานอย่างแพร่หลายจะมีอยู่ 3 ประเภทด้วยกัน ก็คือ 1) RCCB (Residual Current Circuit Breakers) สามารถใช้ตัดวงจรได้เฉพาะกรณีเกิดกระแสไฟฟ้ารั่วอย่างเดียว จึงมักต้องติดตั้งร่วมกับฟิวส์หรือเซอร์กิตเบรกเกอร์เสมอ, 2) RCBO (Residual Current Circuit Breakers with Overload protection) สามารถใช้ตัดวงจรได้ทั้งกรณีเกิดกระแสไฟฟ้ารั่ว, กระแสไฟฟ้าเกิน และกระแสไฟฟ้าลัดวงจร และ 3) ELCB (Earth Leakage Circuit Breaker) เบรกเกอร์กันไฟดูด ตรวจจับไฟฟ้ารั่วและตัดไฟ รวมทั้งการป้องกันอันตรายจากไฟรั่ว​คราวนี้เรามาดูประโยชน์ของเครื่องตัดไฟรั่วกัน อย่างแรกคือ ป้องกันไม่ให้คนถูกไฟฟ้าดูด อย่างที่สองคือใช้ป้องกันอัคคีภัยที่อาจเกิดจากไฟฟ้ารั่วในวงจรไฟฟ้าหรือเครื่องใช้ไฟฟ้า และสุดท้ายใช้ตรวจสอบว่ามีจุดใดกระแสไฟฟ้ารั่วลงดิน เพื่อจะได้แก้ไขต่อไป ส่วนตำแหน่งการติดตั้ง ก็สามารถทำได้ 2 แบบ คือ​1.  ติดตั้งที่แผงเมนสวิตช์ เช่น ติดตั้ง RCBO แทนเซอร์กิตเบรกเกอร์เมน กรณีนี้จะมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันอัคคีภัยเป็นหลัก​2. ติดตั้งที่วงจรย่อย เช่น ติดตั้ง RCCB กรณีนี้จะมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันอันตรายต่อบุคคลจากการถูกไฟฟ้าดูดเป็นหลัก​สำหรับการเลือกเครื่องตัดไฟรั่ว เราจำเป็นจะต้องดูข้อกำหนดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น...​1. ต้องผลิตและผ่านการทดสอบตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) เครื่องตัดไฟรั่วชนิด RCBO มอก. 909-2548 หรือ เครื่องตัดไฟรั่วชนิด RCCB มอก. 2425-2552​2. ต้องมีพิกัดกระแสไฟฟ้ารั่วไม่เกิน 30 มิลลิแอมแปร์ เพื่อป้องกันอันตรายต่อบุคคลจากการถูกไฟฟ้าดูด​3. ต้องติดตั้งร่วมกับสายดิน เพราะสายดินจะช่วยนำไฟฟ้าที่รั่ว ไหลลงดินโดยไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อคนที่สัมผัส และยังช่วยให้อุปกรณ์ป้องกันกระแสเกิน (เซอร์กิตเบรกเกอร์) รวมทั้งช่วยให้ RCD สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ​4. ติดตั้งในวงจรย่อยที่มีความเสี่ยง เช่น บริเวณที่เปียกชื้น ห้องน้ำ ห้องอาบน้ำ ห้องครัว ห้องใต้ดิน วงจรไฟฟ้าภายนอกอาคาร รวมถึงวงจรย่อยสำหรับเครื่องทำน้ำอุ่น หรืออ่างอาบน้ำ​5. RCD ต้องมีพิกัดกระแสไม่น้อยกว่า พิกัดกระแสของเครื่องป้องกันกระแสเกิน​6. ต้องเป็นชนิดที่ปลดสายไฟทุกเส้นออกจากวงจรรวมทั้งสายนิวทรัล ยกเว้นสายนิวทรัลนั้นมีการต่อลงดินโดยตรงแล้ว​7. ติดตั้ง RCD ที่ตำแหน่งหลังจากเซอร์กิต เบรกเกอร์เมน โดยเลือก RCD ขนาดพิกัดกระแสรั่วมากกว่า 30 mA (เช่น 100 mA หรือ 300 mA) และควรเป็นชนิดหน่วงเวลา (type S)​นอกจากนี้ การตรวจสอบสภาพอุปกรณ์ไฟฟ้าและสายไฟอยู่เป็นประจำก็สามารถช่วยให้เราปลอดภัยจากการถูกไฟฟ้าดูด หรือไฟฟ้ารั่วได้อีกทางนึง ซึ่งสามารถทำได้ตามนี้...​1. ตรวจสอบสายไฟและอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้านว่ามีการชำรุดหรือไม่ หากพบว่ามีการชำรุดหรือฉีกขาด ควรรีบซ่อมหรือเปลี่ยนทันที โดยช่างผู้ชำนาญ​2. หมั่นทำความสะอาดแผงควบคุมไฟฟ้าและตู้ไฟ เพื่อป้องกันการเกิดความชื้นและฝุ่นละอองที่อาจทำให้เกิดการลัดวงจร​3. ควรตรวจสอบการทำงานของอุปกรณ์ป้องกันไฟฟ้าดูด หรืออุปกรณ์ป้องกันการลัดวงจร 6 เดือนครั้ง หรืออย่างน้อยควรมีการตรวจสอบปีละครั้ง โดยกดที่ปุ่มทดสอบการทำงาน (Test Button) ที่ RCD​4. ตรวจตู้โหลดไฟฟ้าเพื่อดูระบบกราวด์ว่ายังอยู่ในสภาพค่ากราวด์และระบบสายดินเป็นไปตามมาตรฐานที่การไฟฟ้ากำหนด โดยช่างผู้ชำนาญ​5. หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดไฟรั่ว โดยเฉพาะช่วงที่ฝนตกหนักหรือมีพายุฟ้าร้อง อย่างเช่น เครื่องซักผ้า หรือเตารีด แต่หากจำเป็นต้องใช้ ก็ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าอุปกรณ์ดังกล่าวอยู่ในสภาพที่ปลอดภัย​6. หลีกเลี่ยงการสัมผัสอุปกรณ์ไฟฟ้าด้วยมือเปียก การสัมผัสอุปกรณ์ไฟฟ้าด้วยมือที่เปียกหรืออยู่ในพื้นที่ที่เปียกชื้นจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดไฟฟ้าดูด ดังนั้นควรเช็ดมือให้แห้งก่อนใช้งานอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกครั้ง​​ในบทความต่อไป เราจะมาเรียนรู้กันว่า "ถ้าเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นจากการถูกไฟฟ้าดูด เราควรรับมือและปฏิบัติอย่างไร ถึงจะถูกต้องและปลอดภัย"​เนื้อหาโดย คุณ มนตรี ภูแล่นคู่ วิศวกรวิจัยอาวุโส และผู้เชี่ยวชาญด้าน Well-Being Research Integration และ Building Infrastructure, RISC

523 viewer

ทำไมเราต้องใส่ใจเรื่องแสงธรรมชาติ?

โดย RISC | 3 เดือนที่แล้ว

แสงธรรมชาติเปรียบเสมือนเพื่อนสนิทคนนึงของเรา เพราะว่าแสงธรรมชาติเป็นสิ่งที่อยู่รอบตัวเรามาตั้งแต่ที่เราลืมตาตื่นขึ้นมาครั้งแรก แต่ปัจจุบันเรามักจะหนีห่างจากแสงธรรมชาติ จากความกังวลเรื่องความร้อนและรังสีต่างๆ"​ซึ่งจริงๆ แล้ว ความร้อนและรังสีต่างๆ เหล่านี้มาจาก "แสงแดด" แต่สิ่งที่เราขาดไม่ได้ในการใช้ชีวิตประจำวัน ก็คือ "แสงสว่าง" จากธรรมชาติ ที่ช่วยเรื่องของการมองเห็น การตื่น การนอนหลับ และพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเรา การได้รับแสงสว่างเกี่ยวข้องโดยตรงกับสุขภาพ ส่งผลต่อการฟื้นตัวทั้งทางร่างกายและจิตใจ รวมไปถึงรักษาอาการจากภาวะทางอารมณ์ได้ ตลอดจนมีการศึกษาที่กล่าวว่า การมองเห็นธรรมชาติและแสงสว่างที่มากขึ้นนั้น จะส่งผลให้มีประสิทธิภาพการทำงานที่ดีขึ้นได้อีกด้วย​International WELL Building Institute (IWBI) ผู้ออกแบบมาตรฐาน WELL และ U.S. Green Building Council ผู้กำหนดเกณฑ์ LEED ได้ให้ความสำคัญกับการนำแสงสว่างจากธรรมชาติเข้ามาสู่พื้นที่ใช้งานภายในอาคาร โดยเน้นไปที่ค่าการรับแสงสว่างจากธรรมชาติที่จะเข้ามาภายในอาคาร 2 ประเภท ก็คือ...​• การได้รับ "แสงแดด" ประจำปี (Annual sunlight exposure : ASE) โดยกำหนดให้อาคารสามารถรับแสงธรรมชาติได้มากกว่า 1,000 ลักซ์ เป็นเวลา 250 ชั่วโมงในแต่ละปี และไม่เกิน 10% ของพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งเป็นอัตราส่วนที่ยอมรับได้ในการให้แสงธรรมชาติเข้ามาภายในอาคารที่สมดุลระหว่างการได้รับแสงแดดที่เพียงพอสำหรับสุขภาพ และการควบคุมความร้อนภายในอาคาร​• ร้อยละของพื้นที่ที่ได้รับ "แสงสว่าง" เพียงพอในระยะเวลา 1 ปี (Spatial Daylight Autonomy : sDA) โดยกำหนดให้การได้รับแสงธรรมชาติอย่างน้อย 300 ลักซ์เป็น เวลาอย่างน้อย 50% ของชั่วโมงการทำงานในแต่ละปี โดยคิดเป็น 55%, 75% หรือ 90% ขึ้นไปของพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งยิ่งแสงสว่างจากธรรมชาติเข้าถึงพื้นที่มาก ก็จะยิ่งทำคะแนนจากเกณฑ์ได้มากเช่นกัน (USGBC, 2018)​เราจะเห็นได้ว่าทั้ง 2 ค่า ไม่มีการกำหนดค่าความสว่างสูงสุดตายตัว เพราะกิจกรรมที่ใช้ในพื้นที่มีความต้องการความสว่างสูงสุดไม่เท่ากัน รวมไปถึงชั่วโมงการทำงานในแต่ละฤดูกาลที่แสงสว่างไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่ได้เท่ากัน จึงกำหนดค่าเป็นชั่วโมงรวมแทน​นอกจากนี้ IWBI ยังมีการกำหนดให้มีพื้นที่ทำงานริมหน้าต่างในระยะ 6 – 7 เมตร ในอัตราส่วนร้อยละ 30 ของพื้นที่ทำงานในแต่ละชั้น ซึ่งสอดคล้องกับผลการจำลองแสงสว่างที่สังเกตได้ว่า ในระยะห่างที่เกิน 6 - 7 เมตร ค่าความสว่างในพื้นที่จะลดลงต่ำกว่า 300 ลักซ์ ซึ่งถือว่าเป็นความสว่างที่ไม่เพียงพอต่อการทำงาน และต้องได้รับการปรับปรุงความสว่างด้วยแสงประดิษฐ์ ​จากแบบจำลองแสงสว่างในวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2567 เวลา 15.00 น. แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการเลือกตำแหน่งการใช้งานพื้นที่ในแต่ละด้านของอาคารได้ว่า ภายในห้องทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีค่าแสงสว่างเฉลี่ย 1,078 ลักซ์ โดยไม่มีแสงแดดสาดเข้ามาภายในห้อง ส่วนห้องในทิศตะวันตกเฉียงใต้เป็นห้องที่มีค่าแสงสว่างมากเกินไปเฉลี่ยสูงที่สุด 11,229 ลักซ์ ซึ่งมาพร้อมกับแสงแดดที่มีความร้อน ทิศตะวันตกเฉียงใต้จึงเป็นทิศที่ควรหลีกเลี่ยง ไม่ควรใช้เป็นพื้นที่ทำงานเป็นประจำ​การออกแบบอาคารจึงมีผลอย่างมากต่อการได้รับแสงธรรมชาติของผู้ใช้งานอาคาร และเป็นหนึ่งเรื่องที่ควรให้ความสำคัญ ซึ่งจำเป็นต้องใช้แบบจำลอง Computer Simulations คำนวณความถูกต้องของค่า ASE และ sDA ตั้งแต่ช่วงต้นของการออกแบบ เพื่อจัดสรรพื้นที่ให้ผู้ใช้งานอาคารได้รับแสงธรรมชาติที่เหมาะสม ​เมื่อเรารู้ถึงความสำคัญของแสงแดดแล้ว...อย่าลืม! ขยับโต๊ะ เลื่อนเก้าอี้ รับแสงธรรมชาติกันด้วยนะ รับรองว่าการทำงานของทุกคน จะไม่ใช่เรื่องที่น่าเบื่ออีกต่อไป​ครั้งต่อไป เราจะมาดูกันว่า หากหันหน้าตรงเข้าหาแสงในรูปแบบแสงที่ไม่ดีต่อเรา จะเกิดผลเสียอย่างไร? และหากใครสนใจความรู้เกี่ยวกับแสง หรือหากต้องการทำแบบจำลอง Simulations เพื่อให้เราช่วยประเมินประสิทธิภาพของแสง สามารถติดต่อเข้ามาสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ RISC ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน ผ่านทาง Inbox RISC Well-Being Facebook หรือ RISC LINE Official : risc_center​เนื้อหาโดย คุณ วชรกรณ์ มณีโชติ สถาปนิกวิจัย Well-Being Research Integration, RISC​

400 viewer

ทำไมประเทศไทย...ฤดูไหนก็ร้อน?

โดย RISC | 3 เดือนที่แล้ว

หลายคนอาจจะเคยได้ยินคำติดตลกที่ว่า ประเทศไทยเรานั้นมี 3 ฤดู ก็คือ ฤดูร้อน ฤดูร้อนมาก ฤดูร้อนมากๆๆๆ ซึ่งเอาจริงๆ แล้วมันคือความจริงที่เราเองก็คงไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น​อย่างที่เรารู้กัน อากาศบ้านเราแบ่งออกเป็นฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว แต่ทำไม...เราจึงรู้สึกถึงสภาพอากาศที่ร้อนอยู่ตลอด งั้นวันนี้เราลองมาหาคำตอบนี้กัน​เรามักจะเจอคำว่า Feels Like Temperature ปรากฏอยู่เสมอเมื่อเช็กอุณหภูมิอากาศ ซึ่ง Feels Like Temperature หรืออุณหภูมิที่คนเรารู้สึกได้ในขณะนั้น (Perceived Temperature) มักเป็นตัวเลขที่มีค่าสูงกว่าอุณหภูมิอากาศที่ปรากฏบนเทอร์โมมิเตอร์ นั่นก็เพราะ Feels Like Temperature เป็นตัวเลขที่วิเคราะห์จากหลายปัจจัย ตั้งแต่ค่าอุณหภูมิอากาศ ค่าความชื้นสัมพัทธ์ ความเร็วลม และค่ารังสีดวงอาทิตย์​เพื่อการตรวจสอบทฤษฎีข้างต้น RISC จึงจำลองผล เพื่อวิเคราะห์ความสอดคล้องของข้อมูลดังกล่าว​ข้อมูลสภาพอากาศจากกรมอุตินิยมวิทยาในปี 2564 ได้ระบุว่า ในฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว มีอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยอยู่ที่ 36 oC, 34 oC และ 33.5 oC ตามลำดับ ส่วนค่าความชื้นสัมพัทธ์และความเร็วลมจาก Foreca แหล่งข้อมูลด้านพยากรณ์อากาศที่แม่นยำระบุว่า ค่าความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยในฤดูร้อนอยู่ที่ 73.33%RH ฤดูฝนอยู่ที่ 76%RH และฤดูหนาวอยู่ที่ 69.5%RH ความเร็วลมเฉลี่ยในฤดูร้อนอยู่ที่ 6 km/hr ฤดูฝนอยู่ที่ 4 km/hr และฤดูหนาวอยู่ที่ 4.75 km/hr​ส่วนค่ารังสีดวงอาทิตย์เมื่อใช้เครื่องมือ Simulation Software วิเคราะห์ เราจะพบตัวเลขความเข้มข้นของรังสีที่น่าสนใจว่า ภายในหนึ่งวันของฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาวเราได้รับรังสีดวงอาทิตย์เฉลี่ยสูงสุดอยู่ที่ 0.41 kWh/m2,  0.25 kWh/m2 และ 0.38 kWh/m2 ตามลำดับ ซึ่งสอดคล้องกับสภาพท้องฟ้าที่เกิดขึ้นในฤดูหนาวต่อเนื่องไปจนถึงฤดูร้อนที่มีลักษณะโปร่ง มีเมฆน้อย จึงทำให้รังสีจากดวงอาทิตย์ส่งมายังโลกได้โดยตรง ในขณะที่ฤดูฝนจะมีท้องฟ้าที่แปรปรวน มีเมฆมาก จึงสามารถช่วยบดบังรังสีจากดวงอาทิตย์ได้​ซึ่งจากการวิเคราะห์ชุดข้อมูลร่วมกัน จึงพบว่า...​• ฤดูร้อนมีค่าอุณหภูมิ ความเร็วลม ค่ารังสีดวงอาทิตย์สูงที่สุด และค่าอุณหภูมิที่คนเรารู้สึกได้ในขณะนั้นอยู่ที่ 42.7 oC ​• ฤดูฝนมีค่าอุณหภูมิปานกลาง มีค่าความชื้นสัมพัทธ์สูงที่สุด และค่าอุณหภูมิที่คนเรารู้สึกได้ในขณะนั้นอยู่ที่ 41 oC​• ฤดูหนาวมีค่าอุณหภูมิ ค่าความชื้นสัมพัทธ์ ความเร็วลม และค่ารังสีดวงอาทิตย์ต่ำที่สุด และค่าอุณหภูมิที่คนเรารู้สึกได้ในขณะนั้นอยู่ที่ 38.4 oC​จะเห็นได้ว่าเรามักรู้สึกถึงอุณหภูมิอากาศที่สูงกว่าค่าที่ปรากฏบนเทอร์โมมิเตอร์ เนื่องจากมีปัจจัยด้านความชื้นสัมพัทธ์ ความเร็วลม และค่ารังสีดวงอาทิตย์มาเป็นส่วนประกอบ ทำให้ค่าอุณหภูมิที่คนเรารู้สึกได้ในขณะนั้น (Perceived Temperature) มีตัวเลขที่สูงขึ้น​​ในฤดูร้อน แม้มีค่าอุณหภูมิอากาศและรังสีดวงอาทิตย์ที่สูง การมีลมพัด แม้ไม่สามารถลดอุณหภูมิลงได้จนอยู่ในช่วงสภาวะน่าสบาย แต่ยังช่วยให้เรารู้สึกถึงอุณหภูมิที่ลดลงได้ และหากอยู่ในสภาพแวดล้อมอยู่ในช่วงอุณหภูมิอากาศระหว่าง 22-29 oC หรือต่ำกว่าการมีความเร็วลมเพิ่มขึ้น 1 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (km/hr) เราจะรู้สึกเสมือนเย็นลง 0.4 °C นอกจากนี้ การมีค่าความชื้นสัมพัทธ์ที่สูงกว่าเขตสบาย 20-75% ของฤดูฝน ก็มีส่วนที่ทำให้เรารู้สึกยิ่งร้อนและไม่สบายตัวเช่นกัน เนื่องจากค่าความชื้นสัมพัทธ์ที่ยิ่งสูง จะยิ่งทำให้รู้สึกร้อนอบอ้าว เพราะอัตราการระเหยของเหงื่อจากร่างกายลดลงนั่นเอง​ การใช้ Simulation Software เป็นตัวช่วยในการวิเคราะห์ ทำให้เราสามารถคาดคะเนผลลัพธ์ที่ยังไม่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจนและแม่นยำ ซึ่งผลจากการ Simulation รังสีดวงอาทิตย์ยังสามารถนำไปใช้ต่อยอดในการออกแบบ หรือการวางทิศทางของอาคารที่ส่งผลต่อภาวะน่าสบายตลอดปีในทุกฤดูกาลได้อีกด้วย​ปัจจุบัน RISC มีทีมผู้เชี่ยวชาญที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลด้านเส้นทางโคจรของดวงอาทิตย์ (Sun Path) โดยใช้ BIM (Building Information Modeling) Simulation Software สร้างแบบจำลองเสมือนของอาคาร ศึกษาความเข้มข้นของรังสีแสงอาทิตย์ที่ตกกระทบมายังพื้นผิว และแสดงผลลัพธ์ที่ถูกต้องแม่นยำ บนพื้นฐานข้อมูลสภาพอากาศของประเทศไทย หากท่านใดสนใจสามารถติดต่อเข้ามาสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ RISC ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน ผ่านทาง Inbox RISC Well-Being Facebook หรือ RISC LINE Official : risc_center ​เนื้อหาโดย คุณ ปาณิสรา สุจริตกุล สถาปนิกวิจัย Well-Being Research Integration, RISC​อ้างอิงข้อมูลจาก​ค่าอุณหภูมิอากาศ https://weather-and-climate.com/Bangkok-January-averages​สภาพท้องฟ้า http://164.115.28.46/thaiexen/search_detail/result/8374​ค่าความชื้นสัมพัทธ์และความเร็วลม https://weather-and-climate.com/Bangkok​ค่าอุณหภูมิที่คนเรารู้สึกได้ในขณะนั้น (Perceived Temperature) https://planetcalc.com/2089/​ลดแอร์ เปิดพัดลม ช่วยลดค่าไฟ (ความเร็วลมทำให้เรารู้สึกเย็น) https://risc.in.th/knowledge/electric-fan-saves-more-energy#:~:text=%E0%B9%82%E0%B8%94%E0%B8%A2%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%A9%E0%B8%A2%E0%B9%8C%E0%B8%88%E0%B8%B0%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%AA%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%A2%E0%B9%87%E0%B8%99,C%20%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%96%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%A5%E0%B8%A1ทำไมถึงรู้สึกร้อนกว่าอุณหภูมิที่วัดได้? (ความชื้นสัมพัทธ์ทำให้เรารู้สึกร้อน) https://mgronline.com/science/detail/9630000049979#:~:text=%E0%B8%97%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%8A%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%8A%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A8,%E0%B9%80%E0%B8%A2%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%88%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%87%E0%B9%86%20%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A8%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%87

812 viewer

รับข่าวสาร

ลงทะเบียนเพื่อรับข่าวสารกับเรา

© 2024 Magnolia Quality Development Corporation Limited - A DTGO Company
ผลลัพธ์
การยืนยัน
การยืนยัน