Knowledge - RISC

Knowledge Plants & Biodiversity

Plants & Biodiversity

เคยสงสัยมั้ยว่า....ทำไมแมงมุมไม่ติดใยตัวเอง?

โดย RISC | 1 เดือนที่แล้ว

อะไรเอ่ย? แข็งแรงกว่าเหล็ก ยืดหยุ่นกว่ายาง​เฉลย ก็คือ...ใยแมงมุม นั่นเอง!!​หลายคนอาจจะไม่คิดว่า คำตอบจะเป็นใยแมงมุมได้ โดยธรรมชาติของเส้นใยที่แมงมุมสร้างขึ้นมานั้นจะมีความแข็งที่เหนียว หากเส้นใยแมงมุมมีขนาดเท่ากับดินสอ จะสามารถหยุดเครื่องบินโบอิ่ง 747 ขณะบินอยู่ได้เลย หรือหากลองนึกถึงตอนสไปเดอร์แมนยิงเส้นใยเวลาต่อสู้กับเหล่าวายร้าย หรือโหนไปมาแล้ว เราคงเห็นว่าเส้นใยของแมงมุมนั้นแข็งแรงมากเลยที่เดียว​นอกจากความแข็งแรงแล้ว เส้นใยของแมงมุมยังมีความมหัศจรรย์มากกว่านี้อีก​เส้นใยแมงมุมที่เหล่าแมงมุมสร้างขึ้นมาเพื่อดักจับสิ่งมิชีวิตนั้น จะมีเส้นใยหลายแบบผสมอยู่ ทั้งเส้นที่มีความเหนียวและไม่มีความเหนียวปะปนกัน การสร้างเส้นใยของแมงมุมนั้นมีวัตถุประสงค์ที่ต่างกันออกไป ซึ่งแมงมุมจะมีอวัยวะที่เป็นต่อมอยู่บริเวณด้านล่างส่วนท้องเพื่อใช้สำหรับสร้างเส้นใยอยู่ 7 ต่อมด้วยกัน และแต่ละต่อมก็จะมีหน้าที่ผลิตเส้นใยที่หลากหลายต่างกันออกไป​• ต่อม Glandula Aggregate จะสร้างเส้นใยที่มีสารเหนียวคล้ายกาว (Glue Silk) ​• ต่อม Glandula Ampulleceae – major จะสร้างเส้นใยสำหรับรับเเรง เเละเดิน (Walking Thread) มีความแข็งแรงและเหนียวมาก​• ต่อม Glandula Ampulleceae – minor จะสร้างเส้นใยสำหรับเดินชั่วคราวไว้ใช้ขณะกำลังทอใย (Walking Thread)​• ต่อม Glandula Pyrifomes จะสร้างเส้นใยสำหรับเกาะติด​• ต่อม Glandula Anciniformes จะสร้างเส้นใยสำหรับดักจับเหยื่อ (Capture Silk) มีความยืดหยุ่นสูงมาก ​• ต่อม Glandula Tubiliformes จะสร้างเส้นใยสำหรับสร้างรัง หรือ ถุงให้กับไข่และตัวอ่อน​• ต่อม Glandula Corontae จะสร้างเส้นใยที่มีความเหนียวติด ​ด้วยการเป็นผู้สร้างจึงย่อมรู้จักเส้นใยแต่ละเส้นที่ตัวเองสร้างเป็นอย่างดี เป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมแมงมุมถึงไม่ติดเส้นใยที่ตัวเองสร้างไว้เลย อีกทั้งปลายขาของแมงมุมยังมีขนขนาดเล็ก และมีตะขอพิเศษ จึงทำให้เดินบนเส้นใยได้อย่างมั่นคงและไม่ติดเมื่อเดินบนเส้นใยที่เหนียวนั่นเอง​นอกจากนั้น ประโยชน์ของใยแมงมุมที่นอกเหนือจากการดักจับแมลง หรือสิ่งมีชีวิตเล็กๆ เพื่อเป็นอาหารแล้ว ยังมีหน้าที่สำหรับช่วยในการได้ยินโดยการสัมผัสจากการสั่นสะเทือนของเส้นใย ด้วยคุณสมบัติที่มากมายนั้นจึงเป็นแรงบันดาลใจให้แก่นักประดิษฐ์ในการสร้างนวัตกรรมต่างๆ ขึ้นมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นเสื้อเกราะกันกระสุน, เข็มขัดนิรภัย หรือแม้แต่ไหมเย็บแผล​เป็นอย่างไรบ้างกับเรื่องราวอันน่าทึ่งของใยแมงมุม สิ่งมีชีวิตที่อยู่ร่วมกับเราในทุกที่ ครั้งต่อไป RISC จะนำเรื่องราวอันน่าทึ่งของสิ่งมีชีวิตตัวไหนมาเล่าสู่กันฟังอีก รอติดตามได้ที่นี่​เนื้อหาโดย คุณ กชกร รัตนมา นักวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ RISC ​อ้างอิงข้อมูลจาก​Esme Mathis. (2022). Australian geographic. Unspinning the secrets of spider webs. From: https://www.australiangeographic.com.au/news/2024/07/cobra-bite-treatment/ (สืบค้นเมื่อ 1 August 2024)​ภวิกา บุณยพิพัฒน์. วารสารเทคโนโลยีการเกษตร. ใยแมงมุม. From:  http://oservice.skru.ac.th/ebookft/601/chapter_7.pdf (สืบค้นเมื่อ 1 August 2024)​

259 viewer

เธอมากับฝน...ฝนนี้ มาแน่!!

โดย RISC | 4 เดือนที่แล้ว

“เธอมากับฝน...!!” วันนี้เราไม่ได้มาร้องเพลงดังยุค 2000 แต่...หน้าฝนแบบนี้ จะมีอะไรบ้างที่มากับฝน​แน่นอนว่าประเทศไทยเราได้เข้าสู่หน้าฝนอย่างเป็นทางการไปแล้ว นอกจากจะต้องระวังเรื่องสุขภาพ และการเดินทาง ช่วงหน้าฝนอย่างนี้มักจะมีสิ่งมีชีวิตโผล่มาให้เราเห็นอยู่บ่อยๆ ซึ่งวันนี้ RISC อยากแนะนำกลุ่มสิ่งมีชีวิต 3 อันดับ เพื่อจะได้ป้องกันเบื้องต้น รวมถึงใช้ชีวิตอย่างปลอดภัย รู้เค้ารู้เรา จะได้ไม่ทำอันตรายต่อกัน​สิ่งมีชีวิตอันดับแรกที่มักจะพบเจอได้ ก็คือ “งู” นั่นเอง งูมักจะอาศัยอยู่ตามพุ่มไม้ ต้นไม้ พื้นที่รก ชื้น หากในบริเวณนั้นมีแหล่งอาหารชั้นดีอย่างหนูอยู่ด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้งูเข้ามาในพื้นที่ของเรามากขึ้นไปอีก ดังนั้น เราต้องหมั่นรักษาความสะอาดในบ้านไม่ให้มีแหล่งอาหาร หรือแหล่งหลบซ่อนได้ ซึ่งหากพบเห็นงูเข้ามาในบ้านหรือบริเวณบ้านแล้วไม่แน่ใจว่าเป็นงูอะไร สามารถโทรแจ้ง 199 ให้เข้ามาช่วยเหลือได้เลย​ถัดมาเป็น “แมลงก้นกระดก” เนื่องจากเป็นช่วงที่แมลงก้นกระดกต้องการความชื้นเพื่อขยายพันธุ์ และชอบเข้ามาเล่นแสงไฟในเวลากลางคืน แมลงก้นกระดกเป็นแมลงที่มีสารพิษที่ชื่อว่า พีเดอริน (Paederin) ก่อให้เกิดความระคายเคือง เมื่อสัมผัสโดนผิวหนังจะเป็นผื่นคันหรืออาจเกิดแผลพุพองได้ ซึ่งเราสามารถป้องกันเบื้องต้นได้โดยปิดหน้าต่างประตูให้มิดชิด และตรวจสอบบริเวณที่นอนหรือที่นั่งก่อนทุกครั้ง และหากเจอก็ควรเป่าหรือสะบัดออก เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรง​สุดท้ายคือเหล่าสัตว์สัตว์ขนาดเล็ก ไม่ว่าจะเป็น “ตะขาบ” “แมงป่อง” ส่วนใหญ่มักพบตามพื้นที่มุมอับชื้น ตามกองใบไม้ สัตว์เหล่านี้ทำอันตรายต่อคนโดยตรง พิษต่อทั้งคนและสัตว์เลี้ยง ส่วน “กิ้งกือ” หรือ ”คางคก” ผิวหนังมีต่อมพิษ หากพลั้งเผลอไปสัมผัส เกิดอาการแพ้นั้นจะขึ้นอยู่กับแต่ละคน ในบางรายที่แพ้รุนแรงอาจจะถึงแก่ชีวิตได้เลย​สิ่งสำคัญที่ควรทำในช่วงหน้าฝนแบบนี้ ก็คือ การดูแลสภาพแวดล้อมทั้งในบ้านและบริเวณบ้าน จัดเก็บให้เป็นระเบียบ กำจัดมุมอับที่จะเป็นแหล่งหลบซ่อน ไม่ว่าจะเป็นกองวัสดุ เศษไม้ ใบไม้ รวมทั้งซ่อมแซมจุดแตกร้าว หรือพื้นที่ที่มีการทรุดตัวของดิน เพื่อป้องกันสิ่งมีชีวิตเหล่านี้เข้ามาอยู่อาศัยภายในบ้านของเรา​เนื้อหาโดย คุณ กชกร รัตนมา นักวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ RISC ​อ้างอิงข้อมูลจาก​กองส่งเสริมความรอบรู้และสื่อสารสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข​

911 viewer

"รั้วต้นไม้" เป็นมากกว่ารั้ว

โดย RISC | 5 เดือนที่แล้ว

เชื่อว่าใครหลายคนคงเคยเจอปัญหาถูกละเมิดความเป็นส่วนตัวในพื้นที่บ้าน ทั้งเสียงรบกวน หรือการที่มีบุคคลภายนอกมองเข้ามา หากจะก่อรั้วสูง ก็ต้องใช้เงินหลายบาท แถมได้ทิวทัศน์รอบๆ บ้านเป็นวิวกำแพงอิฐอีก...แล้วแบบนี้ เราจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร?​ปัญหาเหล่านี้สามารถแก้ได้ด้วยนวัตกรรมที่ใกล้ตัวเรามากๆ ใช้งบน้อย ราคาไม่แพง แถมพร้อมมาด้วยความร่มรื่น นั่นก็คือ “รั้วต้นไม้” นั่นเอง​รั้วต้นไม้ เรียกได้ว่าหนึ่งในนวัตกรรมทางด้านภูมิสถาปัตยกรรมที่จะช่วยให้บ้านของเราน่าอยู่มากขึ้น จากงานวิจัยพบว่า การปลูกต้นไม้จะให้ประโยชน์แก่มนุษย์ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ด้านกายภาพ ทัศนียภาพ จิตใจ และเศรษฐกิจ ซึ่งการปลูกต้นไม้ริมรั้วจะช่วยปรับภูมิทัศน์ ทั้งจากคนภายนอกที่มองเข้ามาและจากตัวผู้อยู่อาศัยมองออกไป ต้นไม้จะช่วยพลางสายตา ปกปิดสถานที่ที่ไม่น่าดู ช่วยลดเสียงรบกวนจากภายนอกได้ดี โดยต้นไม้ที่มีใบเยอะ ใบหนา ปลูกเป็นแนวกว้าง 15-30 เมตร มีความสูงที่เหมาะสมกับแหล่งกำเนิดเสียง จะสามารถดูดซับเสียงได้มากถึง 5-10 dB อีกทั้งสีสันจากต้นไม้ยังช่วยให้มีชีวิตชีวาแก่คนที่ได้พบเห็นอีกด้วย​สำหรับการเลือกต้นไม้ที่จะใช้ปลูกเป็นรั้วหรือปลูกริมรั้วบ้านนั้น ควรเลือกต้นไม้ที่มีลักษณะเป็นพุ่มแน่น ใบถี่ และดูแลง่าย โดยจะสามารถแบ่งพรรณไม้ออกเป็น 4 ระดับ คือ...​- ไม้ปิดกั้นและกรอง เป็นพรรณไม้ที่จะนำมาใช้ในการปิดกั้นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ หรือใช้ทำเป็นรั้ว อย่างเช่น ช้างน้าว ตะขบป่า นมแมว โปร่งกิ่ว โมก สีฟันคนทา แก้วแคระ ข่อย ซาฮกเกี้ยน ไทร กาหลง เกล็ดปลาหมอ โคลงเคลง น้ำใจใคร่ ไผ่เพ็ก พลองแก้มอ้น พลองเหมือด พุดทุ่ง พุดน้ำ สนกระ และสนหอม​- ไม้ระดับล่างหรือคลุมดิน ใช้ปลูกเป็นฉากหน้า ทำให้เกิดพื้นที่โล่งด้านบนและเปิดมุมมอง อย่างเช่น กระทือป่า กระเทียมช้าง ข่าลิงขาว เข็มป่า ทองพันดุล และเท้ายายม่อม​- ไม้ประดับแปลงหรือไม้ปลูกเป็นกลุ่มก้อน ใช้เพื่อประดับบ้านเรือน ส่วนใหญ่จะเป็นไม้ดอกหรือไม้ขนาดเล็ก อย่างเช่น กระเจียว ปีกนกแอ่น ว่านจูงนาง สังกรณี สาบแร้งสาบกา และเอื้องหมายนา​- ไม้สร้างจุดเด่น เป็นพรรณไม้ที่มีความโดดเด่น และมีเอกลักษณ์เฉพาะ อย่างเช่น เกล็ดปลาหมอ โคลงเคลง โปร่งกิ่ว ผักปราบนา พุดน้ำ เม่าสร้อย หางหมาจอก และหูลิง​ใครที่สนใจการทำรั้วต้นไม้ ก็ลองเลือกพันธุ์ไม้เหล่านี้ไปลองปลูกดู หลังจากนี้หลายๆ คนคงจะมีรั้วบ้านสวยๆ พร้อมกับการได้ความเป็นส่วนตัวมากขึ้น​เนื้อหาโดย คุณ พัชรินทร์ พุ่มแจ้ นักศึกษาภาควิชาวิทยาศาสตร์ชีวภาพป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ คุณ ธนวัฒน์ จินจารักษ์ นักวิจัยอาวุโส ฝ่ายสิ่งแวดล้อม Urban Environmental & Biodiversity Engineer, RISC​อ้างอิงข้อมูลจาก​กฤษดา ประเสริฐสิทธิ์. ม.ป.ป. ป่าไม้ในเขตเมืองในมุมมองของภูมิสถาปัตย์. แหล่งที่มา: http://forprod.forest.go.th/forprod/techtransfer/document/%E0%B8%84%E0%B8%B9%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%9D%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%AD%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%A1/%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B8%81%E0%B8%82%E0%B8%81%E0%B8%A3/%E0%B8%9B%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%89%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B8%95%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B8%B8%E0%B8%A1%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%A0%E0%B8%B9%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B8%AA%E0%B8%96%E0%B8%B2%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%A2%E0%B9%8C.pdf​นิรนาม. ม.ป.ป. ประโยชน์ของต้นไม้.  แหล่งที่มา: http://old-book.ru.ac.th/e-book/a/AT459/at459-1.pdf​เมดไทย. 2563. สมุนไพร. แหล่งที่มา: https://medthai.com/​ศักย์ศรณ์ จันทรบุศย์. 2564. การศึกษาประสิทธิภาพการซับเสียงจากต้นไม้เพื่อลดมลภาวะทางเสียงภายในอาคาร แหล่งที่มา: http://dspace.bu.ac.th/bitstream/123456789/4903/1/Saksorn_Chan.pdf​ศิริวิทย์ ริ้วบำรุง. 2565. ปลูกต้นไม้ให้เป็นรั้ว. แหล่งที่มา: https://readthecloud.co/best-plants-for-fence-line/​สมชญา ศรีธรรม และ วสา วงศ์สุขแสวง. 2563. การศึกษาพรรณไม้ท้องถิ่นเพื่อใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรมกรณศึกษา: ไม้พุ่มและไม้คลุมดินในป่าจังหวัดสุรินทร์.  วารสารวิชาการ ศิลปะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร 11(1): 163-179.​Tanaka, K., Ikeda, S., Kimura, R. & Simazawa, K. (1979). The function of forests in soundproofing. Bulletin Tottori University Foresta, 11, 77–102.​Cook, D.I. and Van Haverbeke, D.F. (1972). Tree, shrub and landforms for noise control. Journal of soil and water conservation 27, 259-261.​

1408 viewer

เลือกต้นไม้และจัดวางแบบไหนในพื้นที่รอบอาคาร?

โดย RISC | 8 เดือนที่แล้ว

จากบทความก่อน “ผลสำรวจความคิดเห็นมุมมองต่อต้นไม้รอบอาคารอย่างไร?” (อ่านต่อที่ https://bit.ly/3UpPWTH) เราคงได้เห็นหลากหลายมุมมองทั้งในแง่ดีและผลกระทบที่ได้รับจากการมีต้นไม้รอบๆ อาคารกันมาแล้ว ด้วยการเรียนรู้จากมุมมองเหล่านี้ เราสามารถทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ด้วยการจัดวางต้นไม้ให้เหมาะสม​การจัดวางต้นไม้ในรูปแบบที่มีลักษณะสูง-เตี้ย หนา-บางที่ต่างกัน นอกจากจะช่วยในการสร้างร่มเงาและเพื่อความสวยงามแล้ว ยังสามารถช่วยในการควบคุมทิศทางลมที่จะเข้าสู่อาคารได้ อย่างเช่น หากเราปลูกต้นไม้ให้เป็นพุ่มอยู่ด้านนอก ไม้พุ่มจะช่วยทั้งกรองฝุ่นและบังคับทิศทาง ส่วนด้านในเป็นไม้ยืนต้นที่มีลำต้นโปร่งด้านล่างและเป็นเรือนยอดด้านบน ลมสามารถพัดลอดเข้าสู่อาคารชั้นล่างได้ หรือหากใช้ไม้พุ่มแน่นที่สูงประมาณ 2 เมตรปลูกเป็นแนวจะช่วยบังลมหรือบังคับทิศทางลม และการปลูกต้นไม้ขนาดใหญ่หรือเป็นแผงค่อนข้างสูงในทางทิศตะวันตกยังสามารถช่วยในการป้องกันแสงแดดที่เอียงต่ำ ลดความร้อนในช่วงบ่ายได้อย่างดี​การเลือกชนิดของต้นไม้ในการจัดวาง ยังมีส่วนช่วยในการควบคุมคุณภาพอากาศโดยรอบอาคารได้อีกด้วย ส่งผลดีต่อผู้ที่มีอาการภูมิแพ้ โดยเลือกต้นไม้ที่มีคุณสมบัติดักจับฝุ่นละออง โดยเฉพาะต้นที่ใบมีขนบนผิวใบ และเมื่อปลูกต้นไม้นี้ให้เป็นแนว และมีหลายๆ ชั้น ก็จะช่วยในการดักจับฝุ่นละอองได้ดียิ่งขึ้น​พันธุ์ไม้ที่ช่วยดักจับฝุ่นมีทั้งไม้ยืนต้น เช่น คำมอกหลวง และรวงผึ้ง กลุ่มไม้พุ่ม เช่น กรรณิการ์ และโมกหลวง ส่วนกลุ่มไม้เลื้อย เช่น กันภัยมหิดล สร้อยอินทนิล เล็บมือนาง และพวงคราม ที่สำคัญกลุ่มไม้เลื้อยนี้ยังใช้ในการประดับได้ด้วย จะเห็นได้จากการใช้เป็นซุ้มประตู แต่หากไม่ชอบกลิ่นที่แรงเกินไป อาจจะต้องเลือกพันธุ์ไม้ที่เหมาะสม ส่วนของไม้ยืนต้น เพื่อป้องกันและลดโอกาสต้นไม้ใหญ่ล้ม ก็ควรเลือกต้นที่มีรากแข็งแรงและไม่ทำลายโครงสร้างอาคาร เช่น กันเกรา และแก้วมุกดา​เราได้พูดถึงประโยชน์ของการปลูกต้นไม้รอบอาคารไปแล้ว เชื่อว่าถึงตรงนี้ทุกคนคงได้เห็นในมุมมองที่ต่างออกไป ว่าเหตุใดเราจึงควรมีต้นไม้ไว้รอบอาคาร รวมทั้งการเลือกพันธุ์ไม้และทำการจัดวางแบบใดถึงจะเหมาะสม RISC จึงอยากเชิญชวนทุกคนมาปลูกต้นไม้รอบๆ อาคาร โดยอาจเริ่มจากบ้านตนเองหรือปลูกต้นเล็กๆ ในห้องพักก่อน เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวไปด้วยกัน​เนื้อหาโดย คุณ ชนัญญา เกษมปิยารมณ์ นักศึกษาภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ คุณ ธนวัฒน์ จินจารักษ์ นักวิจัยอาวุโส ฝ่ายสิ่งแวดล้อม Urban Environmental & Biodiversity Engineer, RISC​อ้างอิงข้อมูลจาก​บ้านและสวน: https://www.baanlaesuan.com/134892/plant-scoop/dust_prevent​บ้านไอเดีย: https://www.banidea.com/shade-trees-with-non-invasive-root-systems/​หนังสือ: The essential guide to Architecture and Interior designing จาก Instagram : 07sketches​

1317 viewer

ผลการสำรวจความคิดเห็น​ "มุมมองต่อต้นไม้รอบอาคารเป็นอย่างไร?"​

โดย RISC | 9 เดือนที่แล้ว

เหรียญมีสองด้านเสมอ “ต้นไม้” ที่เราเห็นว่าน่าจะมีแต่ด้านดีก็ยังมีสองด้านเช่นกัน เพราะนอกจากจะสร้างคุณประโยชน์ให้เราหลายด้าน ทั้งให้ร่มเงา ความสวยงาม กรองอากาศ ลดอุณหภูมิอากาศ และอื่นๆ อีกมากมาย แต่อีกด้านนึงของต้นไม้ก็สามารถส่งผลกระทบต่อเราได้ด้วยเช่นกัน​เราลองมาดูแบบสำรวจความคิดเห็น ประโยชน์และผลกระทบของต้นไม้ที่อยู่รอบๆ อาคาร จากคนหลากหลายอาชีพ ทั้งนักศึกษา วิศวกร สถาปนิก นักพฤกษศาสตร์ รวมทั้งพนักงานออฟฟิศกัน ว่ามีมุมมองกับต้นไม้กันอย่างไร?​จากผลสำรวจพบว่า มากกว่าร้อยละ 80 เห็นว่าต้นไม้รอบอาคารมีประโยชน์เพื่อให้ร่มเงา เป็นจุดพักสายตา และช่วยฟอกอากาศ รองลงมาประมาณร้อยละ 60 ให้ความเห็นว่า มีประโยชน์เพื่อความสวยงาม และช่วยให้อุณหภูมิทั้งภายในและภายนอกอาคารลดลง และประมาณร้อยละ 40 เห็นว่า เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์เล็กๆ นอกจากนี้ ยังมีความเห็นอื่นๆ อีก เช่น สามารถผลิตอาหารให้รับประทานได้ มีการจัดสวนเป็นงานอดิเรก เพิ่มความรู้สึกปลอดภัยจากการช่วยบังสายตาจากมุมมองภายนอก และช่วยชะลอน้ำฝนป้องกันน้ำท่วมได้​คราวนี้มาดูในส่วนของผลกระทบจากต้นไม้รอบอาคารกัน โดยกว่าร้อยละ 70 เห็นว่า เป็นจุดที่พบสัตว์มีพิษที่เป็นอันตราย รองลงมาประมาณร้อยละ 60 เห็นว่า ได้รับผลกระทบจากใบไม้ที่ร่วงหล่นและกิ่งที่ต้องตัดแต่ง และประมาณร้อยละ 50 เห็นว่า รากของต้นไม้ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างอาคาร นอกจากนี้ ยังมีบางส่วนที่ให้ความเห็นว่า ได้รับผลกระทบด้านกลิ่นจากไม้ดอกที่มากเกินไป ทรงพุ่มต้นไม้ที่หนาก็ทำให้เกิดจุดอับสายตา และยังอาจมีกรณีที่ต้นไม้ไม่แข็งแรงเกิดการโค่นล้มทับคนและทรัพย์สินได้​จากแบบสำรวจความคิดเห็น แม้จะมีมุมมองมากมายที่พูดถึงผลกระทบจากการมีต้นไม้รอบอาคาร แต่ผลกระทบเหล่านี้ก็มีทางป้องกันและแก้ไขได้​แนวทางหลัก คือ การเลือกเอาต้นที่เหมาะสมมาปลูกตั้งแต่แรก เช่น หากต้องการหลีกเลี่ยงใบที่ร่วงมาก กลิ่นจากไม้ดอกที่ฉุน และโคนต้นไม่แข็งแรง ควรหลีกเลี่ยงไม้ผลัดใบอย่างจามจุรี (Albzia saman (Jacq.) Merr.), ปีบ (Millingtonia hortensis L. F.) หรือพญาสัตบรรณ (Alstonia scholaris) แล้วเลือกเป็นต้นอื่นแทน อย่างเช่น พุดกุหลาบ (Tabernaemontana divaricata (L.) R.Br. ex Roem. & Schult.), ไทรเกาหลี (Ficus annulata Blume.) หรือคลอเดียร์ (Ficus annulata Blume.) แทน นอกจากนั้นการเลือกต้นไม้ ก็ควรศึกษานิสัยพันธุ์ไม้แต่ละชนิดที่เราเลือกให้ดี เพื่อการดูแลและตัดแต่งอย่างเหมาะสม ซึ่งทำให้สามารถช่วยยืดอายุต้นไม้ และลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นตามมาได้​สำหรับบทความต่อไปเราจะมาดูตัวอย่างการปลูกต้นไม้และการจัดวางเพื่อประโยชน์ในด้านต่างๆ คอยติดตามกันนะ​เนื้อหาโดย คุณ ชนัญญา เกษมปิยารมณ์ นักศึกษาภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ คุณ ธนวัฒน์ จินจารักษ์ นักวิจัยอาวุโส ฝ่ายสิ่งแวดล้อม Urban Environmental & Biodiversity Engineer, RISC

876 viewer

“Indoor plant” การอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์และพืช

โดย RISC | 10 เดือนที่แล้ว

เราปลูกต้นไม้ไว้เพื่ออะไร?​สำหรับหลายๆ คน คำถามนี้น่าจะมีคำตอบที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น เพื่อความสวยงาม ให้ร่มเงา ลดความร้อน ป้องกันฝุ่น บังสายตาจากคนภายนอก หรือแม้แต่เป็นอาหาร​ขณะที่บางคน ปลูกต้นไม้ไว้เป็นเพื่อเป็นเพื่อนเช่นเดียวกับการเลี้ยงสัตว์ แม้ต้นไม้เดินหรือกระโดดไม่ได้ แต่ก็มีงานวิจัยรองรับแล้วว่า การได้มองสีเขียวจากต้นไม้ ช่วยทำให้มนุษย์รู้สึกผ่อนคลายได้เหมือนกัน นอกจากนี้ การได้เห็นการเจริญเติบโตของพืชที่ปลูก เช่น การแตกใบใหม่ หรือการออกดอก ล้วนช่วยเติมเต็มความรู้สึกให้หลายๆ คนได้มากเลยทีเดียว​อย่างที่เราทราบกัน ต้นไม้มีกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง (Photosynthesis) ที่ใช้แสงอาทิตย์ น้ำ และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon dioxide) เมื่อมีการนำพืชมาไว้ในอาคารที่ได้รับแสงน้อย จะส่งผลกระทบต่อกระบวนการนี้โดยตรง แต่ก็มีต้นไม้บางชนิดสามารถทนต่อสภาวะแสงน้อย ไม่จำเป็นต้องได้รับแสงอาทิตย์โดยตรง หรือสามารถรับแสงจากหลอดไฟได้ ทำให้ต้นไม้พวกนี้ได้รับความนิยมนำมาปลูกภายในอาคาร และเราเรียกต้นไม้เหล่านี้ว่า "พรรณไม้ในที่ร่ม" หรือ "พืชภายในอาคาร (Indoor plant)" นั่นเอง​การค้นพบต้นไม้กลุ่มนี้ ทำให้มนุษย์สามารถนำสีเขียวจากธรรมชาติมาออกแบบมุมผ่อนคลายภายในอาคารได้ ซึ่งต้นไม้ที่นิยมก็มีเช่น ไทรใบสัก (Ficus lyrata Warb.), พลูด่าง (Epipremnum aureum (Linden & André) G.S.Bunting), กวักมรกต (Zamioculcas zamiifolia (G.Lodd.) Engl.) หรือกลุ่มฟิโลเดรนดอน (Philodendron spp.) นอกจากนี้ ยังพบพรรณไม้ในที่ร่มบางกลุ่มที่มีความสามารถในการดูดซับอากาศที่เป็นพิษจากสารจำพวกไอระเหยของฟอร์มาดีไฮต์ ไซลีน โทลูอีน เบนซิน แอมโมเนีย และแอลกอฮอล์ ภายในห้องได้ จึงเรียกต้นไม้กลุ่มนี้ว่า "พืชฟอกอากาศ" อย่างเช่น ลิ้นมังกร (Dracaena trifasciata (Prain) Mabb.), ยางอินเดีย (Ficus elastica Roxb. ex Hornem.), กลุ่มมอนสเตอร่า (Monstera spp.), ปาล์มไผ่ (Chamaedorea seifrizii Burret) หรือกลุ่มเดหลี (Spathiphyllum spp.)​จะเห็นได้ว่า นอกจากเป็นมุมสีเขียวสำหรับพักผ่อนแล้ว กลุ่มพืชฟอกอากาศ ยังมีส่วนช่วยในการกำจัดสารพิษในอากาศได้้อีกด้วย แต่สภาพแวดล้อมภายในอาคารต่างกับภายนอกอาคารเป็นอย่างมาก ทำให้ต้นไม้ที่ปลูกภายในอาคารจำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม เช่น ความชื้นที่มากเกินไปก็เสี่ยงต่อการเกิดเชื้อรา จึงไม่ควรรดน้ำบ่อยเกินไป และหมั่นสังเกตอาการพืชอย่างสม่ำเสมอ​"พืชภายในอาคาร (Indoor plant)" อาจเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงอีกก้าวของการอยู่อาศัยร่วมกันระหว่างมนุษย์และพืชอย่างแท้จริง การนำต้นไม้เข้ามาอยู่ร่วมกับเรา จึงควรดูแลซึ่งกันและกัน ต้นไม้ให้ประโยชน์กับเรา และเราก็ควรดูแลต้นไม้ให้ดีที่สุดเช่นกัน​เนื้อหาโดย คุณ ธีรเจต เอี่ยมพันธ์ นักศึกษาภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ คุณ ธนวัฒน์ จินจารักษ์ นักวิจัยอาวุโส ฝ่ายสิ่งแวดล้อม Urban Environmental & Biodiversity Engineer, RISC ​อ้างอิงข้อมูลจาก​JOMM YB. 2023. รวม ต้นไม้ฟอกอากาศ และดูดสารพิษได้ และตำแหน่งที่ควรปลูกในบ้าน. สืบค้นเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2566. จาก https://www.baanlaesuan.com/139157/plant-scoop/air-purification-tree​AP THAILAND. 2021. 10 ต้นไม้ฟอกอากาศ ที่ช่วยดูดสารพิษ คืนอากาศบริสุทธิ์ให้แก่ห้องนอนของคุณ. สืบค้นเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2566. จาก https://www.apthai.com/th/blog/design-and-decor/designanddecor-air-purifying-plants-for-bedroom​MONIQUE C. VALERIS and KATARINA AVENDAÑO. 2023. 22 Best Indoor Plants for Any Room. สืบค้นเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2566. จาก https://www.goodhousekeeping.com/home/gardening/advice/g1285/hard-to-kill-plants/​Agnes van den berg and Magdalena Van den Berg. 2015. Health benefits of plants and green space: Establishing the evidence base. สืบค้นเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2566. จาก https://www.researchgate.net/publication/282426219_Health_benefits_of_plants_and_green_space_Establishing_the_evidence_base​

1118 viewer

"ต้นไม้" เครื่องกรองฝุ่นที่มีชีวิต

โดย RISC | 11 เดือนที่แล้ว

ฤดูฝุ่นกลับมา หลายคนคงเริ่มเปิดเครื่องฟอกอากาศที่บ้าน หรือหาซื้อเครื่องฟอกอากาศมาใช้ ยิ่งฝุ่น PM2.5 เยอะแบบนี้ เครื่องฟอกอากาศก็คงทำงานหนักอยู่ไม่ใช่น้อย หรือบางเครื่องอาจจะช่วยกรองแทบไม่ไหว​จริงๆ แล้ว หากลองนึกดูดีๆ เราทุกคนมีเครื่องฟอกอากาศที่อยู่ใกล้ตัวและมีราคาถูกอยู่แล้ว แต่ส่วนใหญ่เรามักจะมองข้ามกัน นั่นก็คือ “ต้นไม้” เครื่องกรองฝุ่นที่มีชีวิตนั่นเอง​ต้นไม้ที่ทุกคนเห็นอยู่ทั่วไป หลายๆ คนคงอาจจะพอทราบอยู่แล้วว่า ต้นไม้นั้นมีประโยชน์มากมายกับมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นแหล่งผลิตออกซิเจนขนาดใหญ่ของโลก เป็นแหล่งอาหาร ที่พักผ่อนหย่อนใจ หรือแม้แต่เป็นตัวช่วยกรองฝุ่นให้กับเรา​จากงานวิจัยพบว่า ต้นไม้สามารถดักจับฝุ่นละออง ผ่านทางใบและเปลือกหรือลำต้น ซึ่งสามารถลดปริมาณฝุ่นได้ถึง 10-50% และยังช่วยทำให้อุณหภูมิลดลง 0.4-3 องศาเซลเซียส โดยฝุ่นที่ล่องลอยอยู่ในอากาศจะถูกยึดเกาะไว้ที่ใบของพืชในชั้นคิวติเคิลหรือเยื่อบุผิวนอกที่มีสารคล้ายขี้ผึ้งห่อหุ้มอยู่บางๆ (Epicuticular wax) และมีเส้นขน (Trichome) ที่ปกคลุมบนผิว โดยฝุ่นเหล่านี้เมื่อถูกน้ำฝนหรือการรดน้ำใส่ก็จะถูกชะล้างออกแล้วไหลลงสู่พื้นดินหรือท่อระบายน้ำต่อไป นอกจากนี้ การสังเคราะห์แสงของพืช (Photosynthesis) จะช่วยดูดฝุ่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซพิษต่างๆ เข้าไป แล้วปล่อยก๊าซออกซิเจนและไอน้ำออกมา จึงทำให้คุณภาพอากาศดีขึ้น ต้นไม้จึงเปรียบเหมือนกับเครื่องกรองและเครื่องปรับอากาศที่มีชีวิตนั่นเอง​ส่วนลักษณะของต้นไม้ที่จะสามารถช่วยกรองฝุ่นได้นั้นจะต้องมีลักษณะที่มีเรือนยอดหนาแน่น มีกิ่งก้านจำนวนมาก มีผิวใบที่เรียบและหนา ทนทานต่อมลพิษได้ดี มากไปกว่านั้นการปลูกต้นไม้หลายระดับชั้น เช่น ไม้คลุมดิน ไม้พุ่ม และไม้ต้น จะยิ่งช่วยให้มีประสิทธิภาพในการดักจับฝุ่นได้สูงขึ้น​เรามาลองดูตัวอย่างการปลูกต้นไม้ในแต่ละพื้นที่กัน​หากต้องการปลูกต้นไม้ในพื้นที่ร่มรำไร ควรจะเลือกปลูกต้นข่อย แก้ว ไทรเกาหลี ถ้าปลูกในพื้นที่โล่งควรเลือกปลูกต้น กรรณิการ์ หางนกยูงฝรั่ง ทองกวาว สะเดา นนทรี ส่วนกรณีที่ต้องการปลูกบนทางเท้าสามารถเลือกปลูกต้นสนทะเล รวงผึ้ง มะกล่ำต้น สำหรับคนที่ชอบการตกแต่ง ปลูกไม้ต้นขนาดเล็กในมุมห้อง สามารถปลูกต้นพลูด่าง ลิ้นมังกร เศรษฐีเรือนใน หรือไทรใบสัก​จากที่กล่าวมาทั้งหมด หลายๆ คนคงจะได้เห็นถึงความสามรถในการกรองฝุ่นของต้นไม้ไปบ้างแล้ว หวังว่าจะได้ไอเดียกลับไปสร้างเครื่องกรองฝุ่นที่มีชีวิตไว้ใช้งานบริเวณบ้านของเรากันนะ​เนื้อหาโดย คุณ พัชรินทร์ พุ่มแจ้ นิสิตฝึกงาน ภาควิชาวิทยาศาสตร์ชีวภาพป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ คุณ ธนวัฒน์ จินจารักษ์ นักวิจัยอาวุโส ฝ่ายสิ่งแวดล้อม Urban Environmental & Biodiversity Engineer, RISC อ้างอิงข้อมูลจาก​กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  2563.  ต้นไม้ลดฝุ่น PM2.5.  พิมพ์ครั้งที่ 1.  ห้างหุ้นส่วนจำกัด วังทองกราฟฟิคอาร์ต, กรุงเทพ.​พาสุนี สุนากร, องอาจ ถาพรภาษี และพัชริยา บุญกอแก้ว.  2559.  การศึกษาเปรียบเทียบความสามารถในการจับฝุ่นละอองของพรรณไม้เลื้อย.  วารสารวิชาการคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 15(2): 175-186.​มานพ ผู้พัฒน์และ ราชันย์ ภู่มา. 2562. พรรณไม้ที่เหมาะสมต่อการลดฝุ่น และมลพิษในอากาศเขตเมือง.​เอก เจริญศิลป์ และนภัสวัลย์ เกิดนรินทร์.  2563.  ศึกษาการใช้งานพันธุ์ไม้ช่วยลดมลภาวะทางอากาศเพื่อใช้ในโครงการคอนโดรักษ์สิ่งแวดล้อมในเมือง, 510-521. งานประชุมวิชาการระดับชาติ มหาวิทยาลัยรังสิต. มหาวิทยาลัยรังสิต, ปทุมทานี.​

1473 viewer

ฝุ่น! ส่งผลต่อพืชมากกว่าที่เราคิด

โดย RISC | 1 ปีที่แล้ว

นอกจากต้นไม้ตามริมถนน หรือสวนสาธารณะ เราต้องยอมรับว่า ความนิยมปลูกต้นไม้ในอาคารกำลังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นก็เพราะ ต้นไม้ถูกมองว่าเป็นของประดับเพื่อความสวยงามไปแล้วอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งในความเป็นจริงต้นไม้ได้สร้างประโยชน์ให้เราได้มากกว่านั้น​พืชหรือต้นไม้แต่ละชนิด จะเจริญเติบโตได้ดีในระบบนิเวศที่เหมาะสม แตกต่างกันไปตามธรรมชาติ การนำต้นไม้มาปลูกในอาคาร จึงทำให้ต้นไม้ได้มาอยู่ในพื้นที่ที่เปลี่ยนไปจากสภาพแวดล้อมเดิมที่เคยอยู่ ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มากไปกว่านั้น พื้นที่เมืองยังมีฝุ่นที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมของมนุษย์ไปเกาะตามใบพืช ซึ่งฝุ่นเหล่านี้ไม่ได้ส่งผลเพียงแค่เราเท่านั้น แต่ต้นไม้ก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน​ส่วนใหญ่เรามักจะเห็นต้นไม้ที่ปลูกกลางแจ้ง (Outdoor) ไม่ค่อยพบเห็นฝุ่นเกาะตามใบ หรือถ้ามีก็จะน้อย นั่นก็เพราะฝุ่นบางส่วนถูกชะล้างไปพร้อมกับน้ำฝนที่ตกลงมา แต่สำหรับต้นไม้ที่ถูกนำมาปลูกในอาคาร (Indoor) หรือแม้แต่พื้นที่กึ่งภายนอกอาคาร (Semi-Outdoor) จะไม่โดนน้ำฝนโดยตรง ทำให้ไม่สามารถชะล้างฝุ่นละอองที่มาเกาะอยู่บริเวณใบได้​มีงานวิจัยรองรับแล้วว่า เม็ดฝุ่นที่เกาะตามใบจะไปอุดปากใบพืช (Stoma) ซึ่งจะขัดขวางกระบวนการหายใจ คายน้ำ หรือการแลกเปลี่ยนแก๊ส รวมทั้งส่งผลกระทบต่อกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง (Photosynthesis) อีกด้วย ยิ่งมีฝุ่นเกาะบนใบมากเท่าไหร่ ก็จะส่งผลให้กระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงทำได้ไม่ดี ต้นไม้จะดูดน้ำมาใช้ได้น้อยลง ส่งผลต่อสภาวะขาดน้ำ รวมไปถึงแสดงอาการอื่นๆ ร่วมด้วย​อีกหนึ่งเรื่องที่คนมักเข้าใจผิดเวลาทำความสะอาดใบไม้ที่มีฝุ่นเกาะ นั่นก็คือ การฉีดน้ำล้างใบ หรือนำผ้าเปียกมาเช็ดใบ วิธีนี้อาจเป็นการทำร้ายต้นไม้ได้เช่นกัน เพราะความชื้นที่ค้างอยู่บนใบจะเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เชื้อราสามารถเจริญเติบโตได้ดี เนื่องจากภายในอาคารจะมีความชื้นสูง ไม่มีแสงแดดช่วยในการทำลายเชื้อรา และลดความชื้นบนผิวใบ เหมือนต้นไม้ที่อยู่นอกอาคาร จึงไม่ควรที่จะทำให้ใบเกิดความชื้นเพิ่มเติม​หากพบฝุ่นเกาะใบต้นไม้ในอาคาร ควรใช้เพียงไม้ปัดฝุ่น ปัดเบาๆ ไม่ควรปัดแรง เพราะจะทำให้พืชช้ำ แต่ถ้าจะใช้ผ้าเปียกเช็ดทำความสะอาดใบ ควรใช้ผ้าแห้งเช็ดตามให้ใบแห้งสนิท เพื่อช่วยป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อรา สำหรับต้นไม้ที่ปลูกในพื้นที่กึ่งภายนอกอาคาร เราสามารถฉีดน้ำล้างใบหรือใช้ผ้าเปียกมาเช็ดทำความสะอาดใบได้​จะเห็นได้ว่า แม้แต่ต้นไม้ก็ยังได้รับผลกระทบจากฝุ่น เราจึงไม่ควรมองข้าม ตลอดจนการดูแลอย่างเข้าใจ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เพื่อสุขภาพที่ดีของเหล่าต้นไม้ภายในอาคารที่พวกเรากำลังดูแลอยู่ และยังนับเป็นการพัฒนาอีกหนึ่งขั้นของการอาศัยอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์และพืชอย่างแท้จริง​เนื้อหาโดย คุณ ธีรเจต เอี่ยมพันธ์ นักศึกษาภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ คุณ ธนวัฒน์ จินจารักษ์ นักวิจัยอาวุโส ฝ่ายสิ่งแวดล้อม Urban Environmental & Biodiversity Engineer, RISC​อ้างอิงข้อมูลจาก​Agnes van den berg and Magdalena Van den Berg. 2015. Health benefits of plants and green space: Establishing the evidence base. สืบค้นเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2566. จาก. https://www.researchgate.net/publication/282426219_Health_benefits_of_plants_and_green_space_Establishing_the_evidence_base​Shamaila Zia-Khan et al., 2015. Effect of Dust Deposition on Stomatal Conductance and Leaf Temperature of Cotton in Northwest China. สืบค้นเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2566. จาก. https://www.mdpi.com/2073-4441/7/1/116#:~:text=Leaves%20covered%20with%20dust%20receive,plant%20biomass%20formation%20and%20yield.​A. Moradi et al., 2017. Effects of dust on forest tree health in Zagros oak forests. สืบค้นเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2566. จาก. https://www.researchgate.net/publication/320308250_Effects_of_dust_on_forest_tree_health_in_Zagros_oak_forests​University of Georgia Extension. (unknown). Growing Indoor Plants with Success. สืบค้นเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2566. จาก. https://extension.uga.edu/publications/detail.html?number=B1318&title=growing-indoor-plants-with-success

2191 viewer

รู้มั้ย? พืชก็อยากนอนนะ

โดย RISC | 1 ปีที่แล้ว

ไม่ว่าคนหรือสัตว์ต่างก็ต้องการนอนหลับพักผ่อน ยิ่งถ้าได้นอนหลับในที่มืดสนิทยิ่งทำให้เรานอนหลับได้สบาย แต่หากใครมาเปิดไฟในช่วงกำลังเคลิ้มๆ อยู่ เราก็คงจะหงุดหงิด อารมณ์เสีย และจะให้กลับไปข่มตาให้หลับอีกก็คงยาก​รู้หรือไม่? ว่าเรื่องนี้ไม่ได้มีแค่คนกับสัตว์ แต่พืชเองก็รู้สึกแบบนั้นไม่ต่างจากเรา​อย่างที่เรารู้กัน พืชจะสร้างอาการเองได้จากกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง (Photosynthesis) และเก็บสะสมไว้ในรูปของแป้ง ก่อนถูกนำไปสลายเป็นพลังงานในเวลากลางคืน จะเห็นได้ว่า พืชเองก็ต้องการเวลากลางคืน สำหรับการดื่มด่ำกับอาหารที่จัดเตรียมไว้เหมือนกัน​เราอาจมองได้ว่า แสงคือพลังงานรูปแบบหนึ่งที่กระตุ้นให้พืชได้ทำงาน ถ้าได้รับพลังงานอยู่ตลอดเวลาโดยไม่มีเวลาพัก ก็คงเหมือนเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ถูกใช้ตลอดเวลา จนอุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อยๆ แล้วก็พังไปในที่สุด​จากงานวิจัยที่ทำการศึกษาใน Arabidopsis (Arabidopsis thaliana (L.) Heynh.) ซึ่งเป็นพืชในกลุ่มพืชดอก ใบเลี้ยงคู่ วงศ์ผักกาด (Brassicaceae) จะพบว่าสาร CONSTANS (CO) ซึ่งมีผลต่อการออกดอกจะถูกสร้างในช่วงเวลากลางคืนเท่านั้น ถ้ามีแสงสว่างมารบกวนเพียงเล็กน้อย Arabidopsis จะหยุดผลิตสาร CO ทันที ส่งผลให้ไม่สามารถออกดอกได้นั่นเอง​ผลการวิจัยนี้ทำให้ทราบว่าแสงรบกวนเพียงเล็กน้อยในเวลากลางคืน ก็ส่งผลต่อการออกดอกของพืชเป็นอย่างมาก เสมือนว่าพืชกำลังหลับเคลิ้มๆ และหลั่งสารแห่งความสุขให้พร้อมออกดอก แต่พอมีแสงรบกวนเพียงเล็กน้อย พืชจะสะดุ้งตื่น และสารเหล่านี้ก็จะสลายไปทั้งหมด ทำให้พืชไม่สามารถออกดอกได้ตามปกติ​ช่วงเวลากลางคืนอันยาวนานที่ไม่มีแสงใดรบกวนก็สำคัญสำหรับพืชเช่นกันไม่ต่างจากคนหรือสัตว์ เราจึงควรหันมาใส่ใจในเรื่องแสงนี้เพิ่มเติม เพื่อสร้างพื้นที่สีเขียวสำหรับความเป็นอยู่ที่ดีของพืชกัน​เนื้อหาโดย คุณ ธีรเจต เอี่ยมพันธ์ นักศึกษาภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ คุณ ธนวัฒน์ จินจารักษ์ นักวิจัยอาวุโส ฝ่ายสิ่งแวดล้อม Urban Environmental & Biodiversity Engineer, RISC​อ้างอิงข้อมูลจาก​ดร.ศุภณัฐ ไพโรหกุล. Biology (ชีววิทยา). พิมพ์ครั้งที่ 1. (กรุงเทพมหานคร: บริษัท แอคทีฟ พริ้นท์ จำกัด, 2559). หน้า 76-77​MANISHA MINNI. (2566). Phytochrome: Definition, Mechanism, Role, Functions. สืบค้นเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2566. จาก. https://www.embibe.com/exams/phytochrome/​Xiaojing Yang et al., 2009. Conformational differences between the Pfr and Pr states. สืบค้นเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2566. จาก. https://www.pnas.org/doi/10.1073/pnas.0902178106​Andrew. Unknown. Plant experiment (photosynthesis & respiration). สืบค้นเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2566. จาก. https://www.picotech.com/library/experiment/plant-measurements-during-day-and-night​Karen J. Halliday et al, 2009. Integration of Light and Auxin Signaling. สืบค้นเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2566. จาก. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2882117/​QS Study. (2566). Types of Plants according to the Length of Day Light. สืบค้นเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2566. จาก. https://qsstudy.com/types-plants-according-length-day-light/​BBC. (2566). Photosynthesis and respiration in plants. สืบค้นเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2566. จาก. https://www.bbc.co.uk/bitesize/topics/zvrrd2p/articles/zjqfsk7​JU'S. (2566). CAM Pathway. สืบค้นเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2566. จาก. https://byjus.com/neet/short-notes-of-biology-for-neet-cam-plants/#CAM%20Photosynthesis​Sang Yeol Kim et al., 2008. Regulation of CONSTANS and FLOWERING LOCUS T Expression in Response to Changing Light Quality. สืบค้นเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2566. จาก. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2528114/ ​Russell Jones & team. The Molecular Life of Plant. p. 282​

2155 viewer

"Biophilic Design" ยกธรรมชาติมาไว้ในอาคาร

โดย RISC | 1 ปีที่แล้ว

“ในส่วนลึกของจิตใจมนุษย์นั้นมีความโหยหาต้องการที่จะเชื่อมต่อกับธรรมชาติและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ โดยกำเนิด หรือเป็นสัญชาตญาณของการดำรงชีวิต นั่นก็เพราะทำให้เกิดความสมดุลในจิตใจและช่วยลดความเครียด” โดยเอ็ดเวิร์ด โอ วิลสัน (Edward O. Wilson) นักชีววิทยาชาวอเมริกัน ที่ได้ระบุถึง “Biophilia” เอาไว้เมื่อปี ค.ศ. 1984​จากคำพูดดังกล่าว จึงก่อเกิดแนวคิดในการออกแบบสถาปัตยกรรมที่เรียกว่า “Biophilic Design” หรือก็คือการส่งเสริมให้มนุษย์ได้เชื่อมต่อกับสภาพแวดล้อมธรรมชาติ และเป็นประโยชน์ต่อสุขภาวะที่ดีของผู้ใช้งานอาคาร ซึ่งมีหลักการเบื้องต้นในการออกแบบตามนี้ คือ...​1. การใช้องค์ประกอบของธรรมชาติในการออกแบบ เช่น การใช้สีเอิร์ธโทน การมีพื้นที่น้ำ มีแสงแดด และการใช้พืชพรรณจริงในการออกแบบสภาพแวดล้อม เพื่อให้เกิดการสัมผัสโดยตรงต่อผู้ใช้งานอาคาร เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดความเครียดและสร้างความผ่อนคลายได้  ​2. การใช้รูปทรงของธรรมชาติในการออกแบบ เช่น ลวดลายของพฤกษศาสตร์ วงรี เส้นโค้ง ลายก้นหอย หรือลวดลายสัตว์ มาใช้ในการออกแบบพื้นที่ รวมไปถึงงานประติมากรรมและรายละเอียดในการตกแต่งลวดลายเล็กๆ น้อยๆ ​3. การผสมผสานคุณสมบัติทางธรรมชาติเข้ากับการออกแบบ สร้างประสบการณ์ทางประสาทสัมผัสของผู้ใช้งานพื้นที่ ทั้งภาพ เสียง กลิ่น และการสัมผัส​4. การออกแบบความหลากหลายของแสงและสร้างความสัมพันธ์ต่อพื้นที่ เช่น การใช้แสงธรรมชาติ แสงแบบกระจาย เงา ความกลมกลืนของพื้นที่ และความสัมพันธ์ของพื้นที่ภายในและภายนอกอาคาร​5. การออกแบบอิงสถานที่ โดยมุ่งเน้นไปที่ความเชื่อมโยงกับนิเวศวิทยาและลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่โดดเด่น การออกแบบที่ผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมและนิเวศวิทยาในพื้นที่ สามารถกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกถึงการบำบัดเยียวยาได้​6. การสร้างค่านิยมด้านสิ่งแวดล้อม โดยส่งเสริมการเห็นคุณค่าและดึงดูดความงามต่อธรรมชาติ​หลังจากที่คนเริ่มให้ความสนใจเรื่องสุขภาวะมากขึ้น Biophilic Design จึงถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบสถาปัตยกรรมอย่างแพร่หลาย ซึ่งปัจจุบันก็มีงานวิจัยมากมายที่ชี้วัดถึงประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมของพื้นที่สีเขียว อย่างเช่น 10% ของการขาดลางานของพนักงานบริษัท สัมพันธ์กับการทำงานที่ปราศจากการเข้าถึงธรรมชาติ หรือผู้ป่วยที่พักฟื้นในโรงพยาบาลที่สามารถมองเห็นวิวธรรมชาติจากห้องพักฟื้น จะมีผลให้ระยะเวลาในการพักฟื้นตัวของผู้ป่วยลดลงถึง 8.5% ​WELL-Building Standards ก็เป็นอีกมาตรฐานที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ อย่างในหมวดของ MIND (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://bit.ly/464PsoS) ก็มีข้อกำหนดเกี่ยวกับ Biophilic Design เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น…​• การใช้วัสดุ สี รูปทรง หรือภาพของธรรมชาติ แทรกพื้นที่ภายในอาคาร​• การตั้งกระถางต้นไม้ ผนังต้นไม้ หรือสามารถเห็นวิวธรรมชาติ​• การส่งเสริมให้สามารถเข้าถึงพื้นที่ธรรมชาติของผู้ใช้งานอาคาร โดยอย่างน้อย 75% ของพื้นที่นั่งทำงาน หรืออยู่ในระยะ 33 ฟุตต้องสามารถมองเห็นต้นไม้ แหล่งน้ำ หรือภาพวิวธรรมชาติได้โดยตรง​• การเข้าถึงพื้นที่ธรรมชาติภายนอกอาคาร โดยอย่างน้อย 70% จะต้องสามารถมองเห็นได้จากด้านบนอาคาร ซึ่งพื้นที่ภายนอกนั้น ต้องประกอบไปด้วยองค์ประกอบของธรรมชาติ ร่มไม้ และพื้นที่สีเขียวจะต้องอยู่ในระยะเดินถึงได้ใน 650 ฟุต จากขอบเขตของอาคาร​เนื้อหาโดย คุณ พันธ์พิสุ จุลพันธ์วัฒนา สถาปนิกวิจัยอาวุโสและผู้เชี่ยวชาญอาคารเขียว TREES-A, RISC ​อ้างอิงข้อมูลจาก ​Elzeyadi, I. “Daylighting-Bias and Biophilia: Quantifying the Impacts of Daylight on Occupants Health.” In: Thought and Leadership in Green Buildings Research. Greenbuild 2011 Proceedings. Washington, DC: USGBC Press. 2011. ​Ulrich, R. S. “View through a window may influence recovery from surgery” Science, Vol. 224. 1984.​

3306 viewer

รับข่าวสาร

ลงทะเบียนเพื่อรับข่าวสารกับเรา

© 2024 Magnolia Quality Development Corporation Limited - A DTGO Company
ผลลัพธ์
การยืนยัน
การยืนยัน