Knowledge - RISC

Knowledge Materials & Resources

Materials & Resources

"Low Carbon Materials" ทางเลือกเพื่อมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

โดย RISC | 1 สัปดาห์ที่แล้ว

วัสดุคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Materials) คืออะไร​?ปัจจุบัน หลายองค์กรพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เริ่มตื่นตัวกับเรื่องนี้มากขึ้น เมื่อกลยุทธ์การออกแบบ และการก่อสร้างอาคารใหม่เพื่อประหยัดพลังงาน ยังไม่ใช่แนวทางเดียวที่จะสามารถนำพาให้ธุรกิจขยับเข้าใกล้เป้าหมายการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ของผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในรูปแบบของอาคารให้เป็นศูนย์ได้​ในเมื่อภาคอุตสาหกรรมก่อสร้าง ซึ่งมีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศโลกสูงที่สุดนั้น มีสัดส่วนของการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้พลังงานในช่วงเปิดใช้งานอาคาร (Operational Carbon) ร้อยละ 28 และยังคงมีส่วนของวัสดุและการก่อสร้าง (Embodied Carbon) อีกถึงร้อยละ 11 ของการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งหมดทั่วโลก​วัสดุคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Materials) จึงถูกนำมาพูดกันมาขึ้น ท่ามกลางความพยายามที่ต้องการจะลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์​วัสดุคาร์บอนต่ำ ก็คือวัสดุที่มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับวัสดุทั่วไป โดยจะพิจารณาจากการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ตั้งแต่การได้มาของวัตถุดิบ การผลิต การขนส่ง การใช้งาน รวมไปถึงการจัดการหลังการใช้งาน ซึ่งสามารถตรวจสอบได้จากผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการประเมิณวัฏจักรชีวิต (LCA) (อ่านคอนเทนต์เพิ่มเติมที่ https://bit.ly/3S8zWkd)​ดังนั้น การพิจารณาคุณสมบัติการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ของวัสดุอาคาร และกระบวนการก่อสร้างตลอดทั้งกระบวนการ จึงเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ต้องให้ความสำคัญ ควบคู่กับอาคารประหยัดพลังงาน และการเลือกใช้พลังงานสะอาดทดแทน​จะดีแค่ไหน? ถ้ามีวัสดุคาร์บอนต่ำที่สามารถปลูกทดแทนได้​และจะดีแค่ไหน? ถ้าวัสดุนั้นช่วยดูดกลับคาร์บอนได้อีกด้วยตัวเลือกใดจะเข้าเส้นชัยเป็นอันดับหนึ่งในความท้าทายของการมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Pathway) ของโลกนี้ได้ มาร่วมหาคำตอบได้ในงาน “Timber Construction: The Future of Sustainable Building”​16 ธันวาคม 2567 เวลา 13:00 – 17:30 น. ​ณ Clubhouse โครงการ Mulberry Grove The Forestias Villa​Early Bird!! 3,900 บาท (จากราคาปกติ 4,900 บาท)​วันนี้ – 6 ธันวาคม 2567 เท่านั้น​ลงทะเบียนได้ที่ https://bit.ly/3O3NVs1​จำกัดเพียง 30 ที่นั่งเท่านั้น!​ชำระเงินได้ที่ บริษัท วี บี ฟอร์ มี คอร์ปอเรชั่น จำกัด​ธนาคารกรุงเทพ เลขที่บัญชี 133-5-47655-0​-------------------------------------------------------------​เนื้อหาโดย คุณ สริธร อมรจารุชิต ผู้ช่วยผู้อำนวยการ RISC ​อ้างอิงข้อมูลจาก​World Green Building Council, 2019

56 viewer

เลือกไม้อย่างไร? ให้ไม่ขึ้นรา

โดย RISC | 2 เดือนที่แล้ว

“อยากใช้ไม้ตกแต่งบ้าน แต่กังวลเรื่องเชื้อรา ทำอย่างไรดี?”​คำถามนี้ เชื่อว่าคนรักงานไม้คงปวดหัวไม่น้อย เพราะไม้กับเชื้อรามักจะมาคู่กัน โดยเฉพาะอากาศชื้นๆ ในช่วงหน้าฝนแบบนี้ เนื่องจากไม้ประกอบด้วยเซลลูโลส แป้ง น้ำตาล และลิกนิน ที่สามารถย่อยกลายเป็นคาร์โบไฮเดรต ซึ่งเป็นอาหารหลักของเชื้อรา แต่หากสภาพแวดล้อมมีองค์ประกอบครบถ้วนเอื้อต่อการเกิดเชื้อรา ถึงแม้ไม่ได้ใช้วัสดุไม้ก็เกิดเชื้อราได้เหมือนกัน​องค์ประกอบที่ทำให้เกิดเชื้อรา ก็คือ ความชื้น อาหารของเชื้อรา และอุณหภูมิ ซึ่งหากเรากำจัดตัวแปรเหล่านี้ได้ เชื้อราก็จะหมดไป แต่ด้วยสภาพภูมิอากาศร้อนชื้นของบ้านเรา อย่างช่วงฤดูฝนแบบนี้ การควบคุมความชื้นให้ได้คงไม่ใช่เรื่องง่าย นอกจากนี้ยังมีองค์ประกอบอื่นๆ ที่ส่งผลต่อการเกิดเชื้อราด้วยเช่นกัน เช่น ออกซิเจน แสงสว่าง สภาพความเป็นกรด และชนิดของไม้​แล้วเชื้อราทำให้เกิดความเสียหายได้อย่างไรบ้าง? มาดูกัน​อย่างแรก "เชื้อราที่ผิวไม้" เชื้อราแบบนี้จะยังไม่เจริญเติบโตในเนื้อไม้ เส้นใยและสปอร์ของเชื้อราทำให้เห็นเป็นสีต่างๆ พบมากในไม้ชื้น หรือช่วงที่อากาศมีความชื้นสูง สามารถกำจัดโดยการทำความสะอาดพื้นผิว หรือขัดเนื้อไม้ชั้นนอกออกได้ โดยระมัดระวังไม่ให้สปอร์ของเชื้อราฟุ้งกระจายไปยังพื้นที่อื่นๆ และควรสวมอุปกรณ์ป้องกัน เช่น หน้ากาก ถุงมือ แว่นตา เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับเชื้อรา และป้องกันการสูดดมเข้าสู่ร่างกาย อันเป็นสาเหตุของโรคทางเดินหายใจและภูมิแพ้​ต่อมา "เชื้อราที่ทำให้ไม้เสียสี" กรณีนี้เกิดจากเชื้อราเจริญเติบโตในเนื้อไม้แล้ว อาจแฝงตัวมากับตัวไม้ หรือระหว่างกระบวนการผลิตแปรรูป ทำให้สีเนื้อไม้ผิดปกติไปจากเดิม เป็นจุดๆ หรือเป็นวงกว้าง กระทบต่อความสวยงามของเนื้อไม้ ไม่สามารถกำจัดออกได้ แต่ยังไม่ทำให้ความแข็งแรงของไม้ลดลง​และสุดท้ายคือ "เชื้อราที่ทำให้ไม้ผุ" เป็นเชื้อราที่เข้าทำลายผิวไม้หรือเนื้อไม้ ทำให้ไม้ผุ ยุ่ย ยุบตัว แตก หักง่าย ไม้ฟอกสี ความหนาแน่นลดลง กระทบต่อความแข็งแรงของเนื้อไม้​ รูปที่ 1 แสดงตัวอย่างความเสียหายของพื้นไม้จากเชื้อรา​ รูปที่ 2 แสดงตัวอย่างความเสียหายของประตูไม้จากเชื้อรา​ รูปที่ 3 แสดงตัวอย่างความเสียหายของตู้เสื้อผ้าจากเชื้อรา​ สำหรับวิธีการเลือกใช้ไม้และการควบคุมสภาพแวดล้อมอย่างถูกต้อง เพื่อเป็นการป้องกันก่อนจะเกิดปัญหาเชื้อราในบ้าน ก็สามารถทำได้ตามนี้​การใช้งานไม้ภายนอกอาคาร จะต้องควบคุมความชื้น พื้นที่ใช้งานจะต้องมีการระบายน้ำได้ดี ไม่มีน้ำขัง หรือหลีกเลี่ยงการสัมผัสดินโดยตรง และควรเลือกวัสดุมีความทนทาน ใช้ไม้ชนิดที่เหมาะสมสำหรับการใช้งานภายนอกอาคารโดยเฉพาะ เนื่องจากมีความคงทนต่อสภาพแวดล้อม ทั้งแดด ฝน และความชื้นได้ดีกว่าไม้สำหรับใช้งานภายในอาคาร รวมทั้งควรทำการป้องกันรักษาเนื้อไม้จากเชื้อราและปลวกก่อนนำมาใช้งาน นอกจากนี้ ต้องหมั่นทำความสะอาด คราบสกปรก ตะไคร่น้ำอยู่เป็นประจำ​ส่วนการใช้งานไม้ภายในอาคาร จะต้องควบคุมความชื้น และต้องไม่อับชื้น หมั่นเปิดประตูหน้าต่างระบายอากาศ มีแสงสว่างเข้าถึง เปิดพัดลมระบายอากาศ หรือใช้เครื่องลดความชื้น และหมั่นตรวจสอบพื้นที่ไม่มีน้ำรั่วซึมจากหลังคา ผนัง ประตูหน้าต่าง ท่อน้ำ เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น หรือความชื้นจากพื้นดิน รวมทั้งหมั่นทำความสะอาด ป้องกันการสะสมของฝุ่นและคราบสกปรก และเช็ดให้แห้งสนิทหลังทำความสะอาดทุกครั้ง​​นอกจากนี้ เรายังสามารถทราบปริมาณความชื้นของไม้ได้จากการใช้เครื่องมือตรวจวัด หรือขอใบรับรองจากผู้ผลิตหรือผู้จัดจำหน่าย ก่อนตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์นั้นๆ​สำหรับการเลือกใช้วัสดุที่ไม่เป็นอาหารของเชื้อรา ก็สามารถทำได้ตามนี้...​ ไม้ที่มีกาวหรือตัวประสานเป็นส่วนผสม เช่น ไม้อัด ไม้ประสาน ไม้ MDF ไม้ Particle จะต้องคำนึงถึงวิธีการใช้งานที่ถูกต้อง ไม่ควรโดนแดดฝนโดยตรง หรืออยู่ในพื้นที่ที่มีความชื้นสูง เช่น ห้องน้ำ เนื่องจากมีโอกาสเกิดเชื้อราค่อนข้างสูง​ ไม้แปรรูป ไม้ที่มีความชื้นในเนื้อไม้สูงมีความเสี่ยงให้เกิดเชื้อราได้ง่าย ไม้ที่ถูกนำมาแปรรูปหรือใช้งานเป็นส่วนประกอบของอาคารบ้านเรือนทั่วไปควรมีการควบคุมปริมาณความชื้นในเนื้อไม้ (Moisture content) โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 10-12% เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างปริมาณความชื้นในเนื้อไม้กับอุณหภูมิอากาศและความชื้นสัมพัทธ์ ลดการยืดหดตัวของไม้ และลดการดูดซึมความชื้นจากอากาศ (อ้างอิงค่าเฉลี่ยของประเทศไทย ทั้งนี้ความชื้นของไม้ที่เหมาะสมจะแปรเปลี่ยนตามสภาพภูมิอากาศของพื้นที่นั้นๆ โดยเมื่อความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศเพิ่มขึ้น ปริมาณความชื้นสมดุลจะเพิ่มขึ้น แต่เมื่ออุณหภูมิอากาศเพิ่มขึ้น ปริมาณความชื้นสมดุลจะลดลง)​ แผนภูมิที่ 1 แสดงความสัมพันธ์ระหว่างความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศกับปริมาณความชื้นสมดุลของเนื้อไม้​ ในส่วนของการควบคุมปริมาณความชื้นของไม้ ด้วยการผึ่ง หรืออบ จะแปรไปตามวัตถุประสงค์ของการใช้งาน ตัวอย่างเช่น ไม้ไส้ประตู ความชื้นจะอยู่ที่ 8-12%, ไม้ปูพื้น ไม้ใช้งานภายในอาคารทั่วไป ความชื้นจะอยู่ที่ 12-16% และไม้โครงสร้าง เช่น Glulam ความชื้นจะไม่เกิน 16% นอกจากนี้ ควรทำการป้องกันรักษาเนื้อไม้ก่อนนำมาใช้งาน เช่น การอัดน้ำยา หรือการทาน้ำยาป้องกันเชื้อรา​นอกจากนี้ "การเลือกใช้วัสดุทดแทนไม้" วัสดุที่สามารถทดแทนคุณสมบัติอื่นๆ ของไม้ที่ต้องการก็เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ โดยวัสดุเหล่านี้จะมีความต้านทานเชื้อราได้ดีกว่า มีค่าการดูดซึมน้ำและความชื้นน้อยกว่า เช่น ไม้เทียมสังเคราะห์ เป็นต้น​จริงอยู่ที่ “ไม้” มีคุณสมบัติที่ดีทั้งด้านคาร์บอนต่ำ สามารถปลูกทดแทนได้ มีความสวยงาม และได้รับสัมผัสความเป็นธรรมชาติ จึงเป็นที่นิยมใช้งานอย่างแพร่หลาย แต่การเลือกใช้ไม้ นอกจากต้องระมัดระวังเรื่องเชื้อราแล้ว ก็ควรต้องรู้ถึงแหล่งที่มาของไม้ด้วยเช่นกัน เพื่อไม่เป็นการทำลายบ้านของสัตว์อื่น หรือไม่เป็นการทำลายป่าไม้ ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำตามธรรมชาติ​เนื้อหาโดย คุณ สริธร อมรจารุชิต ผู้ช่วยผู้อำนวยการ RISC​อ้างอิงข้อมูลจาก​มอก. 497-2526 มาตรฐานผลิตภัณฑ์ไม้แปรรูปอบ​สำนักวิจัยการจัดการป่าไม้และผลิตผลป่าไม้ กรมป่าไม้. เห็ดราทำลายไม้, 2549.​ANSI A190.1-2022 Product Standard for Structural Glued Laminated Timber​Maher Zakaria Ahmed Selim.  Evaluation of moisture content in wood fiber and recommendation of the best method for its determination, 2006.​

328 viewer

หน้าฝนไม่ลื่นไม่ไถล วัสดุพื้นแบบไหนที่ช่วยกันลื่นได้?

โดย RISC | 2 เดือนที่แล้ว

“ฝนตก ถนนลื่น โปรดลดความเร็ว ขับขี่ด้วยความระมัดระวัง” เรามักเห็นข้อความเตือนแบบนี้อยู่เป็นประจำในช่วงที่มีฝนตก แต่...อุบัติเหตุขณะฝนตก ไม่ได้เกิดกับผู้ขับขี่ยานพาหนะบนท้องถนนเพียงเท่านั้น คนเดินเท้าก็มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุลื่นล้มได้บ่อยเช่นกัน และอาจจะต้องเพิ่มเติมข้อความเตือน “ฝนตก ทางเดินเท้าลื่น โปรดย่างก้าวด้วยความระมัดระวัง” เหมือนกับเตือนผู้ขับขี่ยานพาหนะ​เชื่อว่าหลายคนอาจเคยลื่นล้มจากการเดินบนพื้นเปียกน้ำ หรือพื้นที่มีน้ำขัง จนบาดเจ็บตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงระดับรุนแรง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงหรือผู้สูงวัยอาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ จากรายงานสถานการณ์การพลัดตกหกล้มในประเทศไทย ประจำปี พ.ศ. 2566 โดยกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ในทุกปีจะมีผู้สูงวัย (อายุ 60 ปี ขึ้นไป) มากกว่า 1 ใน 3 หกล้ม และได้รับบาดเจ็บจนต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลเป็นผู้ป่วยนอกมากกว่า 180,000 รายต่อปี และต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเกือบ 90,000 รายต่อปี ซึ่งสูงเป็นอันดับ 1 ของอัตราผู้ป่วยใน อีกทั้งยังเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตมากกว่า 1,200 คนต่อปีอีกด้วย​สาเหตุหลักของการพลัดตกหกล้มในผู้สูงวัย เกิดจากการลื่น สะดุด หรือก้าวพลาด บนพื้นระดับเดียวกัน โดยมีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 61.97 จากประวัติผู้สูงวัยที่เข้ารับการตรวจรักษาในปี พ.ศ. 2565 จำนวน 20,741 ครั้ง จากตัวเลขเหล่านี้ เราจะเห็นได้ว่า ความรุนแรงของอุบัติเหตุจากการพลัดตกหกล้มนั้นก่อให้เกิดความสูญเสียอันประเมินค่าไม่ได้ และการป้องกันปัญหาจึงไม่ใช่เรื่องที่ควรมองข้าม​จากรายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ระบุว่า ปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อการพลัดตกหกล้มเกิดขึ้นได้ทั้งทางด้าน...​• ชีววิทยา เช่น โรคทางระบบประสาท ความเสื่อมสภาพของร่างกาย การทรงตัว การมองเห็น ฯลฯ​• พฤติกรรม เช่น การใช้ยาบางประเภท เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รองเท้าไม่มีดอกยาง การเปลี่ยนอริยาบถอย่างรวดเร็ว ฯลฯ​• เศรษฐกิจและสังคม เช่น การอยู่ตามลำพัง ไม่มีงบประมาณปรับปรุงสภาพแวดล้อมภายในและภายนอกบ้าน ฯลฯ​• สิ่งแวดล้อม เช่น พื้นลื่น ไม่เรียบ มีทางต่างระดับ แสงสว่างไม่เพียงพอ สิ่งของกีดขวางทางเดิน ไม่มีราวจับ ฯลฯ​ด้วยปัจจัยทางด้านสุขภาพร่างกายเสื่อมถอยเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก ทำให้ผู้สูงวัยเป็นกลุ่มเสี่ยงหลักที่ต้องใส่ใจ แต่เรื่องนี้ก็สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ว่าจะเด็ก สตรีมีครรภ์ หรือผู้ที่มีข้อจำกัดทางร่างกาย​​แล้วเราจะควบคุมอุบัติเหตุจากการพลัดตกหกล้มได้อย่างไร?​เรื่องพื้นฐานที่สามารถควบคุมได้ และควรกระทำโดยทันที คือการจัดสรรสภาพแวดล้อมในการอยู่อาศัยให้เหมาะสม ลดความเสี่ยงต่อการลื่นล้มสำหรับทุกคน ด้วยการเลือกวัสดุช่วยกันลื่นให้เหมาะกับพื้นที่ใช้งาน​บริเวณที่ผิวพื้นต้องไม่ลื่น จะต้องเลือกวัสดุพื้นที่มีค่ากันลื่น (รู้จักค่า R มากขึ้นอ่านต่อที่ https://risc.in.th/th/knowledge/slippery-problems-lets-get-to-know-r-rating-in-flooring-material) มากขึ้นตามระดับความเสี่ยงของกิจกรรมการใช้งานพื้นที่นั้นๆ (Room Function) ที่พื้นมีโอกาสเปียกจากน้ำ น้ำฝน หรือน้ำมันได้ เช่น​• พื้นที่ใช้งานทั่วไปภายในบ้าน ได้แก่ ห้องนอน ห้องนั่งเล่น ทางเดิน เลือกวัสดุที่มีค่ากันลื่นอย่างน้อย R9​• พื้นห้องน้ำส่วนแห้ง ได้แก่ ห้องส้วม อ่างล้างหน้า เลือกวัสดุที่มีค่ากันลื่นอย่างน้อย R10​• พื้นห้องน้ำส่วนเปียก ได้แก่ ห้องอาบน้ำ อ่างอาบน้ำ เลือกวัสดุที่มีค่ากันลื่นอย่างน้อย R11​• พื้นห้องเตรียมอาหาร เลือกวัสดุที่มีค่ากันลื่นอย่างน้อย R10​• พื้นห้องครัว เลือกวัสดุที่มีค่ากันลื่นอย่างน้อย R11​• พื้นที่ใช้งานภายนอกบ้าน ได้แก่ ทางเดิน ที่จอดรถ เลือกวัสดุที่มีค่ากันลื่นอย่างน้อย R11​• พื้นที่ใช้งานภายนอกบ้านที่มีความลาดชันสูง เลือกวัสดุที่มีค่ากันลื่นอย่างน้อย R12​วัสดุปูพื้นที่ได้มาตรฐานควรมีผลทดสอบค่ากันลื่นจากทางผู้ผลิต แต่หากไม่มีค่ากันลื่น แนะนำให้สังเกตและพิจารณาเลือกใช้วัสดุ ดังนี้​• วัสดุที่มีค่าแรงเสียดทานสูง เช่น ยาง ไวนิล มีการยึดเกาะพื้นผิวที่ดี มักจะมีค่าการกันลื่นสูง​• การเพิ่มคุณสมบัติการกันลื่นของวัสดุ สามารถทำได้หลายรูปแบบ เช่น การทำผิวหยาบขรุขระ การเซาะร่องวัสดุ การเพิ่มร่องยาแนว หรือการทำโมเสก​ รูปที่ 1 ตัวอย่างการทำผิวหยาบขรุขระ​   รูปที่ 2 ตัวอย่างการเซาะร่องวัสดุ​​ รูปที่ 3 ตัวอย่างการเพิ่มร่องยาแนว​ รูปที่ 4 ตัวอย่างการทำโมเสก​​ หากวัสดุเดิมที่ใช้งานอยู่มีความลื่นมาก และไม่สามารถเปลี่ยนวัสดุได้ อาจเลือกติดตั้งแผ่นยางกันลื่น เทปกันลื่น หรือน้ำยาเคลือบผิวกันลื่น ตามความเหมาะสมของพื้นที่นั้นๆ​สำหรับผิวพื้นที่ไม่เปียกน้ำ ก็ต้องใส่ใจเป็นพิเศษเหมือนกัน อย่างวัสดุพื้นคอนกรีต หิน กระเบื้อง เมื่อโดนน้ำค่ากันลื่นมักจะลดลงเมื่อเทียบกับตอนที่ผิววัสดุแห้ง แนะนำดังนี้​• พื้นที่ใช้งานภายในบ้าน หมั่นทำความสะอาดและเช็ดให้แห้งอยู่เสมอ และระมัดระวังการใช้งานในระหว่างที่พื้นเปียกจากน้ำ หรือน้ำยาทำความสะอาด​• พื้นที่ใช้งานภายนอกบ้าน ควรมีหลังคาคลุมกันฝน ระบายน้ำได้ดี ไม่มีน้ำขัง และหลีกเลี่ยงการใช้งานในขณะที่ฝนตก หรือหลังฝนตก​ในส่วนของการทำความสะอาด วัสดุที่มีค่ากันลื่นสูงมักจะมีผิวสัมผัสขรุขระ จึงควรเลือกรูปแบบผิวที่ยังสามารถทำความสะอาดได้ดี และเนื้อวัสดุมีความพรุนน้อย ลดการกักเก็บสิ่งสกปรกต่างๆ เนื่องจากคราบสกปรก ฝุ่น ตะไตร่น้ำ ที่เกาะบนผิวพื้น เมื่อโดนน้ำจะทำให้เกิดการลื่นไถลได้ด้วยเช่นกัน​"การเลือกสีสันหรือลวดลายของพื้น" ควรเลือกที่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนว่าเป็นพื้นเรียบหรือพื้นต่างระดับ ไม่มุ่งเน้นเพียงแค่ความสวยงามเท่านั้น แต่ควรต้องคำนึงถึงคุณภาพการมองเห็น เพื่อลดอุบัติเหตุจากการล้ม หรือสะดุดเนื่องจากก้าวพลาดได้ เช่น หลีกเลี่ยงการเลือกใช้สีและลวดลายที่เหมือนกันบริเวณบันได ทำให้แยกไม่ออกว่าเป็นพื้นต่างระดับ หรือการเลือกใช้สีและลวดลายที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน เป็นเส้นขอบตกแต่งพื้น จนทำให้เข้าใจผิดคิดว่าเป็นพื้นต่างระดับ​ รูปที่ 5 ตัวอย่างการเลือกใช้สีสันและลวดลายที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุ ​นอกจากการเลือกวัสดุพื้นแล้ว "การจัดเตรียมแสงสว่างที่เพียงพอ" ที่สามารถมองเห็นเส้นทางเดินและรายละเอียดโดยรอบได้อย่างชัดเจน การจัดเก็บสิ่งของเป็นระเบียบไม่มีสิ่งกีดขวางบริเวณทางเดิน และการติดตั้งราวจับช่วยพยุงตัวในจุดที่มีการเปลี่ยนระดับ ทางลาด หรือตลอดแนวทางเดิน ก็มีความสำคัญด้วยเช่นกัน ซึ่งทั้งหมดนี้ เป็นแนวทางการป้องกันที่ต้นเหตุด้วยการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ ลดความรุนแรงของการบาดเจ็บ และลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นได้​เนื้อหาโดย คุณ สริธร อมรจารุชิต ผู้ช่วยผู้อำนวยการ RISC ​อ้างอิงข้อมูลจาก​รายงานประจำปี พ.ศ. 2566 กองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (https://ddc.moph.go.th/dip/journal_detail.php?publish=15746)​WHO global report on falls prevention in older age (https://www.who.int/publications/i/item/9789241563536)​

431 viewer

นวัตกรรมการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์เพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง

โดย RISC | 4 เดือนที่แล้ว

CCUS หรือ กระบวนการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture, Utilization and Storage เป็นแนวทางการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากโรงงานและที่อยู่ในชั้นบรรยากาศ โดยคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกดักจับจะถูกนำไปใช้ในรูปแบบต่างๆ เช่น ใช้ในกระบวนการ Enhanced Oil Recovery เพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันหลังจากการผลิตด้วยวิธีปกติ โดยฉีดคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปในหลุมน้ำมันเพื่อเพิ่มแรงดันและลดความหนืดของน้ำมัน ทำให้น้ำมันไหลออกมาได้ง่ายขึ้น หรือเป็นสารตั้งต้นในการผลิตสารเคมีและวัสดุ เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ รวมทั้งลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิต นอกจากนี้คาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกดักจับสามารถกักเก็บไว้ในชั้นหินทางธรณีวิทยาใต้ดิน (Geological Formation) เพื่อกักเก็บไว้ไม่ให้สร้างปัญหาภาวะโลกรวน (Climate Change)  จากความตั้งใจเพื่อลดผลกระทบจากภาวะโลกรวน อุตสาหกรรมก่อสร้างเริ่มมีบทบาทและนำแนวคิดใหม่ๆ มา ด้วยการใช้เทคโนโลยีการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์รูปแบบใหม่เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือทำให้คาร์บอนสุทธิเป็นลบ ด้วยการเพิ่มการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในวัสดุก่อสร้าง การก่อสร้างสามารถเปลี่ยนจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นการกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์แทนได้วันนี้เรามาดูวัสดุและวิธีการที่ช่วยดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการก่อสร้าง เพื่อเห็นแนวทางการรับมือของภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างต่อภาวะโลกรวนอย่างมีประสิทธิภาพ การอัดฉีดคาร์บอนไดออกไซด์ในคอนกรีต (Carbon-Cured Concrete)อีกหนึ่งวิธีการที่น่าจับตามองคือ การอัดฉีดคาร์บอนไดออกไซด์ในคอนกรีต (Carbon-Cured Concrete) จากการนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เหลือทิ้งมาอัดฉีดในคอนกรีต คาร์บอนไดออกไซด์จะทำปฏิกิริยากับซีเมนต์เพื่อสร้างวัสดุนาโนแคลเซียมคาร์บอเนต และฝังอยู่ในเนื้อคอนกรีตอย่างถาวรเพื่อกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์[1] กระบวนการนี้สามารถลดน้ำหนักของคอนกรีตได้ 5-20% จากการอัดคาร์บอนไดออกไซด์ และเพิ่มกำลังรับแรงอัดอีกด้วย[2] โดยวิธีการนี้ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ตรงจากแหล่งอุตสาหกรรม เช่น โรงไฟฟ้า หรือเตาเผาปูนซีเมนต์ และขนส่งไปยังโรงงานผสมคอนกรีตเพื่อนำไปใช้ประโยชน์[3] [4] ผลที่ได้คือคอนกรีตที่บ่มด้วยคาร์บอนไดออกไซด์จะแข็งแกร่งขึ้นและลดปริมาณรวมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (carbon footprint)ผลิตภัณฑ์จากกระบวนการทำให้เป็นแร่ (Carbon Mineralization Products)นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มนักวิจัยที่ได้พัฒนาแนวทางการทำให้คาร์บอนไดออกไซด์ที่ดักจับมาแปรรูปให้เป็นแร่ในรูปคาร์บอเนตที่เป็นของแข็ง (solid carbonates) เพื่อใช้เป็นวัสดุก่อสร้าง โดยมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส (UCLA) ได้นำคาร์บอนไดออกไซด์มาแปรรูปโดยใช้การแช่น้ำเกลือเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมให้เป็นแคลเซียมและแมกนีเซียมคาร์บอเนต เพื่อทดแทนส่วนผสมของซีเมนต์หรือมวลรวม (Aggregates)[5]  โดยผลิตภัณฑ์จากกระบวนการทำให้เป็นแร่ดังกล่าวสามารถนำมาใช้เป็นวัสดุประสาน (Binder) หรือมวลรวม (Aggregates) ในอุตสาหกรรมก่อสร้างได้อย่างมีประสิทธิภาพระบบการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์แบบบูรณาการ (Integrated Carbon Capture Systems)นักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology: MIT) ได้ออกแบบระบบไฟฟ้าเคมีเพื่อดักจับคาร์บอนไดออกไซด์จากโรงซีเมนต์ และแปรรูปเป็นแคลเซียมคาร์บอเนต (CaCO₃) ที่สามารถนำกลับไปผสมในกระบวนการผลิตคอนกรีตที่โรงงานได้[6]ชีวมวลและไบโอชาร์ (Biomass and Biochar)ชีวมวลจากพืชสามารถช่วยดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์จากการก่อสร้างได้ผ่านการใช้ไบโอชาร์ โดยไบโอชาร์เป็นวัสดุที่ประกอบไปด้วยคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งได้จากการเผาชีวมวล เช่น เศษไม้ ในสภาวะที่มีออกซิเจนต่ำ นอกจากนี้ จากงานวิจัยพบว่าการนำไบโอชาร์มาผสมในคอนกรีตสามารถเพิ่มความแข็งแรงให้คอนกรีตและในขณะเดียวกันช่วยกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์จากชีวมวลได้อย่างถาวร[7]วัสดุไม้ประกอบโครงสร้างอาคาร (Timber Construction)การใช้วัสดุไม้ประกอบอาคารเป็นอีกหนึ่งวิธีการลดคาร์บอนให้เป็นลบจากการก่อสร้างโดยตรง ต้นไม้ที่โตขึ้นจะช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศผ่านการสังเคราะห์แสง และเก็บไว้ในเนื้อไม้ การใช้วัสดุไม้ประกอบอาคารจะช่วยกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ไว้ได้นานหลายสิบปี นอกจากนี้ จากการประเมินวัฏจักรชีวิตยังพบว่าอาคารไม้สามารถลดคาร์บอนไดออกไซด์ที่มาจากวัสดุก่อสร้าง (Embodied Carbon) ได้ดีกว่าโครงสร้างเหล็กหรือคอนกรีต[8] และในปัจจุบันเทคนิคการใช้ไม้ประกอบอาคารแบบใหม่ยังสามารถสร้างอาคารไม้ได้ถึง 18 ชั้นอีกด้วย[9]ในปัจจุบัน การเอาชนะความท้าทายในการใช้การดักจับคาร์บอนในอุตสาหกรรมก่อสร้างเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ตั้งแต่ปริมาณรวมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (carbon footprint) ในภาคอุตสาหกรรม ค่าใช้จ่าย และการใช้พลังงานที่สูง รวมถึงการตรวจสอบการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์แบบถาวรเพื่อสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยให้กับผู้ใช้อาคาร แม้ว่าวัสดุจากเทคโนโลยี CCUS เช่น การใช้วัสดุไม้ประกอบโครงสร้างอาคาร (Timber Construction) และไบโอชาร์จะเป็นวัสดุที่มีประสิทธิภาพ แต่คุณสมบัติในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ของตัววัสดุเองก็ยังมีข้อจำกัด รวมถึงวัสดุที่มาจากเคมีภัณฑ์ เช่น การอัดฉีดคาร์บอนไดออกไซด์ในคอนกรีต (Carbon-Cured Concrete) ยังจำเป็นต้องมีการประเมินมูลค่าด้านสิ่งแวดล้อมอย่างถี่ถ้วน ดังนั้น ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องร่วมมือกันเพื่อพัฒนาการประยุกต์ใช้ CCUS ให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ในพื้นที่เมือง รวมถึงการวิจัยอย่างต่อเนื่อง การส่งเสริมด้านการเงิน การผลักดันให้ประชาชนมีส่วนร่วม และการวางแผนการประยุกต์ใช้อย่างเป็นระบบ การเอาชนะอุปสรรคความท้าทายนี้จะช่วยเปิดโอกาสสำหรับเทคโนโลยีการดักจับคาร์บอน ให้มีบทบาทสำคัญในการลดคาร์บอน์ในพื้นที่เมือง นำไปสู่ระบบสินทรัพย์จากการลดคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นลบ (Net Negative Emission Asset) ต่อไปเนื้อหาโดย ดิเฟย์ มิยาโอะ ที่ปรึกษาโครงการวิจัยเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS), ผู้เชี่ยวชาญด้านนาโนเทคโนโลยี, RISC อ้างอิงข้อมูลจาก 1. Ravikumar, D., Zhang, D., Keoleian, G. et al. Carbon dioxide utilization in concrete curing or mixing might not produce a net climate benefit. Nat Commun 12, 855 (2021). (https://doi.org/10.1038/s41467-021-21148-w)2. Reuters. "Concrete traps CO2 from soaked air in climate-friendly test." Reuters, February 3, 2023. (https://www.reuters.com/business/sustainable-business/concrete-traps-co2-soaked-air-climate-friendly-test-2023-02-03/)3. American Chemical Society. "New Way to Capture and Recycle Carbon Dioxide from Industrial Emissions." ACS PressPac, August 2023. (https://www.acs.org/pressroom/presspacs/2023/august/new-way-to-capture-and-recycle-carbon-dioxide-from-industrial-emissions.html)4. Kulasuriya, C.; Vimonsatit, V.; Dias, W.P.S. Performance based energy, ecological and financial costs of a sustainable alternative cement. Journal of Cleaner Production 2021, Volume 287.5. La Plante, E.C.; et al. ACS Sustainable Chemistry & Engineering 2021, 9 (32), 10727-10739. 6. MIT News (2022). Cracking the carbon removal challenge. (https://news.mit.edu/2022/cracking-carbon-removal-challenge-verdox-0915)7. Mensah, R.A.; et al. Biochar-Added Cementitious Materials—A Review on Mechanical, Thermal, and Environmental Properties. Sustainability 2021, 13, 9336. (https://doi.org/10.3390/su13169336)8. Andersen, C.E.; et al. Embodied GHG Emissions of Wooden Buildings—Challenges of Biogenic Carbon Accounting in Current LCA Methods. Frontiers in Built Environment 2021, 7.9. Autodesk. "Mass Timber Construction." https://www.autodesk.com/design-make/articles/mass-timber-construction

1563 viewer

เลือกใช้ฉนวนกันความร้อนแบบไหนถึง Well-being?

โดย RISC | 7 เดือนที่แล้ว

  จากบทความก่อน (https://bit.ly/49Perie) หลายคนคงได้เห็นแล้วว่า การติดตั้งฉนวนกันความร้อนสามารถช่วยลดอุณหภูมิอากาศภายในบ้าน รวมไปถึงลดภาระการทำงานของเครื่องปรับอากาศ ทำให้ประหยัดค่าไฟฟ้าได้​มาถึงบทความนี้ เราจะมาดูตำแหน่งการติดตั้งฉนวนกันความร้อนกัน ว่าติดตรงไหนดี ติดตรงไหนเหมาะ? รวมทั้งการเลือกใช้ฉนวนกันความร้อนแบบไหนจึงจะเกิดประสิทธิภาพสูงสุด?​มาเริ่มที่ตำแหน่งที่ควรติดตั้งฉนวนกันความร้อนกันก่อน โดยตำแหน่งที่เหมาะสมจะเป็นตำแหน่งที่ได้รับความร้อนโดยตรง อย่างเช่น ความร้อนจากหลังคาร้อนที่สุด ควรติดตั้งฉนวนกันความร้อนบริเวณใต้หลังคา ฝ้าเพดาน ซึ่งการเลือกควรเลือกใช้ฉนวนที่สามารถสกัดกั้นความร้อนได้ดี มีค่าการสัมประสิทธิ์การนำความร้อน (K-Value) ต่ำๆ รวมทั้งสามารถสะท้อนความร้อนออกไปได้ เช่น ฉนวนกันความร้อนที่ปิดผิวด้วยแผ่นอลูมิเนียมฟอยส์ มีน้ำหนักเบา กันความชื้นได้ดี กันไฟลาม ไม่ยุบตัว และประสิทธิภาพยาวนาน รวมถึงทนต่อการกัดแทะของหนูและแมลงต่างๆ ได้ อีกจุดที่ต้องใส่ใจก็คือ บริเวณรอยต่อหรือช่องว่างของบ้านที่อากาศร้อนภายนอกสามารถไหลเข้ามาภายในบ้านได้ อย่างเช่น ระหว่างผนัง ช่องว่างของประตูหน้าต่าง โดยควรเลือกฉนวนกันความร้อนชนิดที่สามารถกรุในช่วงว่างระหว่างผนังได้ เช่น โฟมเซลล์ปิด เส้นใยสังเคราะห์ เส้นใยธรรมชาติ หรือยางสังเคราะห์ ซึ่งค่าการสัมประสิทธิ์การนำความร้อนและความหนาจะส่งผลต่อประสิทธิภาพของฉนวนเป็นอย่างมาก ยิ่งหนาก็ยิ่งต้านทานความร้อนได้ดี กันความร้อนได้ดีไปด้วย นอกจากนี้ฉนวนนอกจากจะมีคุณสมบัติการกันความร้อนแล้ว ยังมีคุณสมบัติยังมีในการกันและดูดซับเสียง สามารถกันและลดความดังของเสียง ทะลุผ่านจากห้องหนึ่งไปอีกห้องหนึ่งได้ด้วย​สำหรับการเลือกใช้ฉนวนกันความร้อน ควรเลือกฉนวนที่ผลิตจากวัสดุที่ปลอดภัยต่อสุขภาพด้วย ไม่มีส่วนผสมของแร่ใยหิน (Asbestos) หรือการปนเปื้อนสารพิษอันตรายอื่นๆ เช่น ตะกั่ว ปรอท หรือแคดเมียม และยังต้องทนต่อความชื้น ไม่เกิดเชื้อรา ปล่อยสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) ในระดับต่ำ ซึ่งสังเกตได้จากฉลากที่ระบุคำว่า Low VOCs หรือ Zero VOCs นอกจากนี้ต้องไม่ลามไฟหรือดับไฟได้เอง รวมทั้งไม่ปล่อยสารอันตรายจากการเผาไหม้ และที่สำคัญสุดต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย เช่น ผลิตจากวัสดุจากธรรมชาติหรือวัสดุรีไซเคิล สามารถรีไซเคิลหรือหลังจากหมดอายุการใช้งาน รวมไปถึงมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน​เนื้อหาโดย คุณ สุพรรณภางค์ รักษาวงค์ นักวิจัยวัสดุ Sustainable Building Material​

1192 viewer

ฤดูร้อนนี้ไม่ต้องยืนมองฟ้า แค่หา "ฉนวนกันความร้อน" มาใช้

โดย RISC | 8 เดือนที่แล้ว

ต้องยอมรับว่า อากาศช่วงนี้ร้อนทะลุปรอทจริงๆ นี่เพียงแค่เดือนมีนาคม ยังไม่เข้าเดือนเมษายนเลยด้วยซ้ำ หลายคนคงเริ่มคิด พอถึงตอนนั้นเราจะอยู่กันอย่างไร?​ปัญหาสำคัญในช่วงหน้าร้อนไม่ได้มีแค่เรื่องของอุณหภูมิอากาศ เพราะผลจากอากาศที่มีอุณหภูมิร้อนขึ้นภายในบ้าน ทำให้ค่าไฟฟ้าพุ่งขึ้นตามมาด้วย ทั้งจากการเปิดพัดลม เครื่องปรับอากาศ หรือตู้เย็นเวลาที่เราหาของเย็นๆ มาคลายร้อน แต่ในความเป็นจริง อากาศที่ร้อนภายในบ้านเราสามารถบรรเทาลงได้ด้วยการติดตั้ง “ฉนวนกันความร้อน” นั่นเอง​ฉนวนกันความร้อน (Thermal Insulation) เป็นวัสดุที่ช่วยลด หรือชะลอ หรือสกัดกั้นการเคลื่อนที่ของความร้อนจากด้านหนึ่งไปสู่อีกด้านหนึ่ง ส่วนใหญ่มักทำมาจากวัสดุที่มีความสามารถในการนำความร้อนต่ำ มีโครงสร้างเป็นรูพรุน ด้านในเต็มไปด้วยฟองอากาศมากมาย ซึ่งจะช่วยลดการเคลื่อนที่ของความร้อนทั้งจากการนำความร้อนและการพาความร้อน ทำให้ความร้อนไม่สามารถเคลื่อนที่ไปยังอีกด้านหนึ่งได้ นอกจากนี้ ฉนวนกันความร้อนบางชนิดยังสามารถสะท้อนความร้อนกลับได้ด้วย ส่วนการติดตั้งฉนวนกันความร้อน จะติดตั้งบริเวณใต้หลังคา บนฝ้าเพดาน ระหว่างผนัง หรือช่องว่างของประตูหน้าต่าง​ฉนวนกันความร้อน มีประโยชน์อย่างมากในการลดการเคลื่อนที่ของความร้อนจากภายนอกเข้าสู่ภายในบ้าน โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อน เมื่ออากาศร้อนเคลื่อนที่เข้าสู่ภายในบ้านจะทำให้เครื่องปรับอากาศทำงานหนัก ส่งผลให้เพิ่มปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้าสูงตามไปด้วย การติดตั้งฉนวนจะช่วยลดการเคลื่อนที่ของอากาศร้อนเข้าสู่ภายในบ้าน ทำให้อากาศภายในบ้านมีอุณหภูมิไม่สูงขึ้นตามอากาศภายนอก นอกจากนี้ ในต่างประเทศในช่วงฤดูหนาว ยังช่วยลดการเคลื่อนที่ของความร้อนภายในบ้านออกสู่ภายนอก ช่วยคงและรักษาอุณหภูมิภายในห้องไว้ ทำให้ภายในบ้านยังคงมีอุณหภูมิอากาศที่อบอุ่นฉนวนกันความร้อนมีมากมายหลายชนิด ทั้งที่ทำจากยางสังเคราะห์ เส้นใยสังเคราะห์ เส้นใยหิน โฟมพอลิเมอร์ หรืออลูมิเนียมฟอยส์ แต่อย่างไรก็ตาม ควรเลือกฉนวนกันความร้อนที่มีค่าการนำความร้อน (Thermal Conductivity; K value) ต่ำ หรือค่าการต้านทานความร้อน (Thermal Resistance ; R value) สูง เพื่อลดการเคลื่อนที่ของความร้อนที่เข้าสู่ภายในบ้านให้ได้มากที่สุด ที่สำคัญต้องเป็นวัสดุที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ ทนต่อความชื้น และการเกิดเชื้อรา รวมทั้งไม่ลามไฟหรือปล่อยสารอันตรายจากการเผาไหม้​ปัจจุบันกระแส Eco ยังคงมาแรง ทำให้มีการให้ความสำคัญกับเลือกใช้ฉนวนกันความร้อนจากวัสดุธรรมชาติมากยิ่งขึ้น เช่น ฉนวนจากเซลลูโลส ฟางข้าว กัญชง ไม้โอ๊ค หรือจากเห็ดรา (ไมซีเลียม) เนื่องจากมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำหรือติดลบ ซึ่งเป็นจำเป็นอย่างมากสำหรับการเลือกใช้วัสดุก่อสร้างเพื่อการเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ​เนื้อหาโดย คุณ สุพรรณภางค์ รักษาวงค์ นักวิจัยวัสดุ Sustainable Building Materialอ้างอิงข้อมูลจาก​https://www.energy.gov/energysaver/insulation

1314 viewer

ส่อง 5 เทรนด์วัสดุรักษ์โลก 2024

โดย RISC | 9 เดือนที่แล้ว

RISC ชวนเพื่อนๆ ส่อง 5 เทรนด์วัสดุรักษ์โลก อย่างที่เราทราบกัน ไม่ว่าจะในวงการแฟชั่น รถยนต์ หรือเทคโนโลยี ต่างก็มีเทรนด์ใหม่ๆ เกิดขึ้นมาในทุกๆ ปี ซึ่งไม่ต่างอะไรกับในฝั่งของสถาปัตยกรรมและการก่อสร้าง ก็จะมีเทรนด์ใหม่ๆ หมุนเวียนมาโดยตลอดเช่นกัน โดยเฉพาะกระแสรักษ์โลก ลดโลกร้อน รักสุขภาพที่กำลังมาแรงในช่วงนี้ ทำให้การเลือกใช้วัสดุในการก่อสร้างมีมุมมองที่เปลี่ยนไป​งั้นวันนี้ชวนเพื่อนๆ มาส่อง 5 เทรนด์วัสดุรักษ์โลกสำหรับการออกแบบสถาปัตยกรรมและการก่อสร้างในในปี 2024 กัน ว่ามีแนวไหนบ้าง...​• วัสดุที่มาจากท้องถิ่น (Locally Sourced Material) การใช้วัสดุท้องถิ่นที่ผลิตได้ในประเทศ เป็นหัวใจสำคัญในการช่วยลดการปล่อยมลพิษ Carbon Footprint จากการขนส่งจากต่างประเทศได้อย่างมหาศาล อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนเศรษฐกิจในท้องถิ่นได้อีกด้วย​• วัสดุรีไซเคิล (Recycled Material) การนำเศษวัสดุก่อสร้างหรือขยะจากการก่อสร้าง นำกลับมาใช้ใหม่ หรือนำมาเป็นส่วนผสมในกระบวนการผลิต รวมทั้งการใส่ไอเดียและนวัตกรรมต่อยอดแปลงเป็น Upcycled Material ก็สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าได้เช่นกัน นอกจากจะช่วยลดขยะที่จะไปยังหลุมฝังกลบ ก็ยังเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดตลอดช่วงอายุของผลิตภัณฑ์อีกด้วย​• วัสดุชีวภาพ (Bio-base Material) วัสดุที่มาจากธรรมชาตินี้เริ่มเป็นที่นิยมและมีการวิจัยและพัฒนาให้สามารถนำมาใช้ในอุตสาหกรรมการก่อสร้างมากขึ้น เช่น ไม้ ไม้ไผ่ อิฐไมซีเลียมที่ทำมาจากเชื้อรา หรือแม้แต่กัญชง (Hemp) เพราะวัสดุที่ผลิตมาจากชีวภาพนั้น เป็นวัสดุที่สามารถปลูกขึ้นมาทดแทนใหม่ได้เรื่อยๆ มีความยั่งยืนกว่าพวกคอนกรีต ที่ไม่สามารถสร้างภูเขาขึ้นมาทดแทนได้ และวัสดุที่ทำมาจากธรรมชาตินี้ยังส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของผู้อยู่อาศัยด้าน Mental Health อีกด้วย​• วัสดุอัจฉริยะ (Smart Material) เป็นการพัฒนาวัสดุให้มีคุณสมบัติดีขึ้น อย่างเช่น คอนกรีตที่ซ่อมแซมตัวเองได้ ผนังอาคารที่ปรับเปลี่ยนได้ตามอุณหภูมิและแสง และกระเบื้องมุงหลังคาที่ประหยัดพลังงาน ทั้งหมดนี้กำลังกลายเป็นทางเลือกที่เป็นไปได้มากขึ้นในอนาคต• วัสดุที่ดีต่อสุขภาพ (Health Material) วัสดุล้วนมีผลกระทบต่อผู้อยู่ภายในอาคาร หากเข้าใจจะเลือกคุณสมบัติที่ส่งผลดีต่อสุขภาพ ได้แก่ วัสดุ Non-Toxic สารพิษต่ำ, วัสดุ Low VOC , วัสดุลดการสะสมของฝุ่น เชื้อรา และแบคทีเรีย หรือจะเป็นวัสดุที่ช่วยทำให้คุณภาพอากาศและสภาพแวดล้อมภายในอาคารมีคุณภาพที่ดี อย่างสีฟอกอากาศ กระเบื้องต้านไวรัส ผ้าม่านลดการสะสมของฝุ่น ซึ่งเทรนด์วัสดุด้านสุขภาพนี้เป็นเทรนด์ที่ยังคงได้รับความสนใจและมีวัสดุใหม่ๆ ในท้องตลาดที่เน้นเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง  ​แน่นอนว่า วัสดุแต่ละชนิดมีคุณสมบัติที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับประเภทการใช้งาน งบประมาณ เทคโนโลยีการก่อสร้าง และวิสัยทัศน์ของเจ้าของโครงการและนักออกแบบ อย่างไรก็ตาม เทรนด์วัสดุแนวรักษ์โลกนี้แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มของโลกในการใช้วัสดุที่มีความยั่งยืน สร้างสรรค์ และมุ่งเน้นเรื่องสุขภาพ For All Well-Being ในการออกแบบสถาปัตยกรรมและการก่อสร้าง ที่ทุกคนต่างให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพกันมากขึ้นนั่นเองเนื้อหาโดย คุณ ทิพทับทิม สรรเพชุดาศิลป์ สถาปนิกวิจัยอาวุโส, Sustainable Building Materials, RISC​

2636 viewer

ส่งท้ายปีนี้ ด้วยการมอบของขวัญแนวรักษ์โลก

โดย RISC | 11 เดือนที่แล้ว

นับถอยหลังเข้าสู่เทศกาลปีใหม่ หากใครกำลังมองหาของขวัญอยู่ ลองมาเปลี่ยนเป็นของขวัญแนวรักษ์โลกมากขึ้นกันดีมั้ย?​เทรนด์เรื่อง Climate Change หรือภาวะโลกเดือดนั้นเป็นเรื่องที่ทุกๆ คนให้ความสำคัญ การจะเลือกซื้อของขวัญสักอย่างนึงนั้น จึงอาจต้องหันมานึกถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อไม่ให้ของขวัญนั้น กลายเป็นขยะและภาระให้กับโลกของเรา​ไอเดียของขวัญปีใหม่ประเภทเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านแนวรักษ์โลก จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ ซึ่งปัจจุบันพวกเฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้านแนวรักษ์โลกนั้น กำลังได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะนอกจากจะเป็นของที่มีประโยชน์ สามารถใช้งานได้ยาวนาน สร้างความสวยงามและบรรยากาศที่อบอุ่นให้กับบ้านแล้ว แนวคิดในการออกแบบเฟอร์นิเจอร์แนวรักษ์โลกแต่ละชิ้นนั้น นักออกแบบต้องให้ความสำคัญและพิถีพิถันกับทุกๆ ส่วน ตั้งแต่กระบวนการออกแบบ, การเลือกใช้วัสดุ กระบวนการผลิต ไปจนถึงวิธีการกำจัดหลังใช้งานไม่ได้แล้วอีกด้วย โดยอาจจะออกแบบให้สามารถนำไปรีไซเคิลต่อ หรือผลิตให้ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ เพื่อสร้างภาระต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุดการเลือกควรจะเลือกเฟอร์นิเจอร์ที่มีดีไซน์เรียบง่าย เน้นการใช้งานเป็นหลัก และผลิตจากวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้การแต่งบ้านออกมายั่งยืนมากที่สุด อย่างเช่น ​- วัสดุที่ทำมาจากธรรมชาติ เช่น ไม้ เพราะเฟอร์นิเจอร์ไม้เป็นวัสดุธรรมชาติที่แข็งแรงทนทาน มีอายุการใช้งานยาวนาน สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ แต่ควรเลือกแหล่งที่มาของเฟอร์นิเจอร์ที่ผลิตจากไม้ป่าปลูก (FSC) ซึ่งเป็นไม้ปลูกขึ้นสำหรับการใช้งานโดยเฉพาะ หรือเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่ทำมาจากไม้รีไซเคิล  ​- วัสดุรีไซเคิล หรือของตกแต่งบ้านที่มาจากการรีไซเคิล เพื่อลดการใช้ทรัพยากรใหม่ ลดขยะพลาสติก เช่น Upcycling Carpet พรมที่ผลิตมากจากขยะขวดพลาสติก หรือเลือกพลาสติกที่มีส่วนผสมของวัสดุธรรมชาติที่ทำให้ย่อยสลายได้ หรือ Upcycling Product ของแต่งบ้านต่างๆ ก็เป็นอีกหนึ่งไอเดียที่น่าสนใจเช่นกัน ​- วัสดุท้องถิ่น เช่น หวาย ไม้ไผ่ หรือเครื่องสานต่างๆ เพราะนอกจากจะช่วยลด Carbon Footprint เรื่องของการขนส่ง (Transportation) และกระบวนการผลิตแล้ว ยังช่วยสนับสนุนการสร้างงานสร้างอาชีพให้กับคนในชุมชนอีกด้วย ​- วัสดุที่มีสารพิษต่ำ สารเคมีบางชนิดที่ใช้ในการผลิตเฟอร์นิเจอร์ อย่างกาว แลคเกอร์ หรือสีย้อมไม้ มักจะมีองค์ประกอบของสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) และยูเรียฟอมาลดีไฮล์ (Urea Formaldehyde) ซึ่งนอกจากจะส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมในกระบวนการผลิตแล้ว ยังเป็นอันตรายต่อสุขภาพของเราอีกด้วย การเลือกเฟอร์นิเจอร์ที่มีสารพิษต่ำ หรือผ่านเกณฑ์ European formaldehyde emission standards : Low formaldehyde furniture รับรอง จึงเป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม​นอกจากนี้ ยังมีวัสดุแต่งบ้านที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอื่นๆ อีกมากมาย อย่างเครื่องใช้ในครัวเรือนที่ทำมาจากไม้ยางพารา ที่เป็นไม้เศรษฐกิจของไทย ผ้าปูที่นอนจากผ้าฝ้ายออร์แกนิก หมอนจากใยฝ้ายรีไซเคิล หรือผ้าม่านจากผ้าลินินธรรมชาติ ซึ่งปัจจุบันมีสินค้า และผลิตภัณฑ์แนวออร์แกนิกและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมออกมาให้เราเลือกมากมาย​RISC หวังว่าคอนเทนต์นี้จะเป็นไอเดียในการเลือกซื้อของขวัญปีใหม่ ประเภทเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านแนวรักษ์โลก เพื่อให้ของขวัญชิ้นนี้ใช้งานได้อย่างคุ้มค่า ยาวนานและยั่งยืนที่สุด ไม่รีบกลายเป็นขยะและสร้างภาระให้กับสิ่งแวดล้อม สุขใจทั้งผู้ให้ ผู้รับ และโลกของเราไปด้วยกันเนื้อหาโดย คุณ ทิพทับทิม สรรเพชุดาศิลป์ สถาปนิกวิจัยอาวุโส, Sustainable Building Materials, RISC​

877 viewer

SAND CRISIS วิกฤติทรายกำลังจะหมดโลก

โดย RISC | 1 ปีที่แล้ว

เราเคยจินตนาการกันหรือมั้ย?...ถ้าวันหนึ่ง “ทราย” หมดไปจากโลกนี้จะเป็นอย่างไร?​เมื่อปีที่แล้ว UNEP ได้ออกมาประกาศเตือนว่า เราจะกำลังจะเผชิญกับ “วิกฤติทรายกำลังจะหมดโลก ซึ่งเป็นหายนะใหม่ที่มนุษย์ต้องเตรียมรับมือ” คำถามที่ตามมาคือ ทรายกำลังจะหมดจริงๆ เหรอ แล้ววิกฤตินี้จะส่งผลกระทบต่อเราอย่างไร?​“ทราย” เป็นแร่ที่ถูกขุดมากกว่าแร่ใดๆ ในโลก เพราะเป็นวัตถุดิบสำคัญที่ใช้ในทุกๆ อุตสาหกรรม ทั้งอุตสาหกรรมการผลิต ไม่ว่าจะเป็นกระจก ขวดแก้ว อิเล็กทรอนิกส์ ชิป สมาร์ทโฟน รวมทั้งเครื่องสำอาง อย่างในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ทรายถือเป็นวัตถุดิบหลักในการผสมคอนกรีตและซีเมนต์ หรือแม้แต่การทำถนนยางมะตอย (Asphalt) ด้วย​วิกฤตินี้จึงส่งผลกระทบ และเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของอุตสาหกรรมก่อสร้าง นั่นก็เพราะ...​ในแต่ละปี จะมีการนำทรายไปใช้เฉพาะในอุตสาหกรรมการก่อสร้างมากถึง 40-50 พันล้านเมตริกตัน ซึ่งนับว่าเพิ่มขึ้นถึง 300% ในเวลาเพียง 20 ปี และมีแนวโน้มที่ความต้องการจะเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากการขยายตัวของเมือง การเติบโตของประชากร และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน​หากเรายังคงใช้ทรายแบบไม่ระวัง ถ้าโลกนี้ขาดแคลนทรายจะเกิดอะไรขึ้น?​อย่างแรกเลยคือ ระบบนิเวศเสียสมดุล เพราะในเม็ดทรายมีสารอาหารสำคัญต่อการเติบโตของสิ่งมีชีวิต ทั้งนกและปลาทะเลหลายชนิด ที่ก่อให้เกิดห่วงโซ่อาหารและระบบนิเวศ นอกจากนี้ ทรายยังสำคัญต่อการรักษาสมดุลของน้ำด้วย หากถูกขุดออกไปมากเกินไป พื้นที่รองรับน้ำจะเสียสมดุล ส่งผลให้น้ำท่วมถี่ขึ้น และรุนแรงมากกว่าเดิม​อย่างที่สองคือ ส่งผลต่ออุตสาหกรรมหลายชนิดที่ใช้ทรายเป็นองค์ประกอบ โดยเฉพาะการก่อสร้าง อาคารส่วนใหญ่สร้างมาจากคอนกรีตที่มีทรายเป็นวัตถุดิบหลัก ถ้าเรายังสร้างอาคารแบบเดิมในอนาคตอาจจะไม่มีทรัพยากรหลงเหลือให้ใช้สร้างอาคารแล้ว​แล้วเราจะปรับตัวเพื่อรับมือกับวิกฤตการณ์นี้ได้อย่างไร?​เพื่อชะลอวิกฤตินี้ เราต้องปรับวิธีการก่อสร้างแบบเดิมๆ เป็นเปลี่ยนกระบวนการใหม่ พัฒนาเทคโนโลยี เพื่อให้เราสามารถลดการใช้ทรายให้น้อยลง อย่างเช่น การนำคอนกรีตเก่าที่ถูกทุบทิ้งกลับมาใช้ใหม่ โดยบดย่อยให้เป็นมวลรวมขนาดเล็กทดแทนทราย รวมถึงมองหาวัสดุทางเลือกและเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการก่อสร้าง เพื่อลดการใช้คอนกรีตให้น้อยลง อย่างเช่น อาคารโครงสร้างไม้ (Timber Construction) ก็เป็นอีกหนึ่งทางออกที่อาจจะกลายเป็นเทรนด์ใหม่ในการก่อสร้างในอนาคต ท่ามกลางทรัพยการธรรมชาติที่กำลังจะหมดไป นั่นก็เพราะว่าเราปลูกทรายขึ้นมาใหม่ไม่ได้ แต่เราสามารถปลูกป่าขึ้นมาใหม่ได้​เนื้อหาโดย คุณ ทิพทับทิม สรรเพชุดาศิลป์ สถาปนิกวิจัยอาวุโส, Sustainable Building Materials, RISC​

1276 viewer

Biochar นวัตกรรมกักเก็บคาร์บอนที่น่าจับตามอง

โดย RISC | 1 ปีที่แล้ว

คงไม่มีใครไม่รู้จัก “ถ่าน” แท่งไม้ก้อนดำๆ ที่เรานำมาใช้เชื้อเพลิงหุงต้ม ปิ้งย่าง ทำอาหารต่างต่างนานา ส่งควันฟุ้งไปทั่ว แต่...รู้หรือไม่? ยังมีถ่านอีกชนิด ที่กลายเป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่น่าจับตามอง ว่าจะสามารถช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศได้​อ่านถึงตรงนี้แล้วอาจจะงง งั้นเรามารู้จักถ่านที่ว่านั้นกัน​“ไบโอชาร์” (Biochar) เป็นถ่านชีวภาพที่ประกอบไปด้วยคาร์บอน โดยได้จากการนำชีวมวล เศษวัสดุเหลือทิ้งจากการเกษตร เช่น กิ่งไม้ เปลือกไม้ ฟางข้าว หรือซังข้าวโพด มาผ่านกระบวนการไพโรไลซิส (Pyrolysis) ซึ่งเป็นการเผาที่อุณหภูมิสูงตั้งแต่ 500-1000 องศาเซลเซียส ในสภาวะที่ไม่มีออกซิเจน ทำให้ได้ถ่านชีวภาพที่มีคาร์บอนเป็นองค์ประกอบสูง มีโครงสร้างเป็นรูพรุน และมีเสถียรภาพ เนื่องจากชีวมวลดังกล่าว ทั้งกิ่งไม้ เปลือกไม้ ฟางข้าว สามารถกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ได้จากปฏิกิริยาการสังเคราะห์แสง เพื่อใช้ในการเจริญเติบโตของพืช และเมื่อล้มตาย เกิดการเน่าเปื่อย ย่อยสลาย ก็จะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศอีกครั้ง การที่เปลี่ยนชีวมวลให้อยู่ในรูปไบโอชาร์ จึงเหมือนเป็นการตรึงคาร์บอนไดออกไซด์เอาไว้ ไม่ให้ปล่อยออกสู่บรรยากาศได้อีกนั่นเอง​ไบโอชาร์ มีความสามารถในการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึงประมาณ 2 tonCO₂/ton จึงทำให้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง เนื่องจากซีเมนต์เป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตคอนกรีต ซึ่งมีการใช้พลังงานและการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในระหว่างกระบวนการผลิตสูงมาก อีกทั้งคอนกรีตยังเป็นวัสดุหลักที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารอีกด้วย จึงได้มีการใช้ไบโอชาร์ที่เป็นวัสดุที่มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เป็นลบ มาเป็นส่วนผสมในการผลิตคอนกรีต ไม่ว่าจะเป็นการทดแทนการใช้ปูนซีเมนต์ หรือใช้ทดแทนส่วนเสริมแรง จำพวกหิน ทราย ทำให้คอนกรีตที่ได้มีค่าการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ลดน้อยลง หรือทำให้มีค่าการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เป็นลบ เมื่อใส่ไบโอชาร์ในปริมาณที่มากพอ นอกจากนี้ ยังช่วยปรับปรุงสมบัติบางอย่างให้ดีขึ้น เช่น ความแข็งแรงเชิงกล การป้องกันคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า รวมทั้งความเป็นฉนวนกันเสียง​ไม่เพียงแค่นี้ ไบโอชาร์ ยังถูกนำมาใช้เป็นวัสดุดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์อีกด้วย เนื่องจากโครงสร้างที่เป็นรูพรุน และมีพื้นที่ผิวสูง ทำให้สามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์เก็บไว้ในโครงสร้างที่มีรูพรุนได้ นอกจากนี้ การปรับปรุงพื้นผิวของไบโอชาร์ด้วยสารเคมีจำพวกไฮดรอกไซด์ (Hydroxide) หรือเอมีน (Amine) ก็ยังทำให้เพิ่มความสามารถในการดูดซับบริเวณพื้นผิว ให้มีความจำเพาะมากขึ้น ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าเดิม ​วัสดุชีวมวล เศษเหลือจากอุตสาหกรรมเกษตร ที่ถูกมองว่าเป็นขยะไร้ค่า หากนำมาวิจัยและพัฒนาให้เกิดประโยชน์ ก็อาจกลายเป็นฮีโร่ที่ช่วยกอบกู้โลกใบนี้ให้กับเราได้​เนื้อหาโดย คุณ สุพรรณภางค์ รักษาวงค์ นักวิจัยวัสดุ Sustainable Building Material​อ้างอิงข้อมูลจาก​Zhang, Y., He, M., Wang, L. et al. Biochar as construction materials for achieving carbon neutrality. Biochar 4, 59 (2022).​Biochar as a building material: Sequestering carbon and strengthening concrete, https://www.nrel.gov/docs/fy22osti/82445.pdf​Shifang Guo, Yuqing Li, Yaru Wang, Linna Wang, Yifei Sun, Lina Liu, Recent advances in biochar-based adsorbents for CO2 capture. Carbon Capture Science & Technology, 4 (2022).​

5209 viewer

รับข่าวสาร

ลงทะเบียนเพื่อรับข่าวสารกับเรา

© 2024 Magnolia Quality Development Corporation Limited - A DTGO Company
ผลลัพธ์
การยืนยัน
การยืนยัน