Knowledge - RISC

Knowledge Resilience

Resilience

มาส่องต่างประเทศใช้ "เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ" รับมือกับน้ำท่วมกัน

โดย RISC | 1 เดือนที่แล้ว

ก่อนหน้านี้โลกของเราได้อยู่ในสภาวะเป็นกลาง (ENSO-neutral) ของปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Niño) และลานีญา (La Niña) แต่ตั้งแต่ช่วงพฤษภาคมที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน โลกได้เข้าสู่สภาวะลานีญา (La Niña) อย่างเต็มตัวแล้ว ทำให้มีปริมาณฝนเพิ่มสูงขึ้น และมีความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมสูงตามมา​น้ำท่วมเป็นภัยพิบัติที่สร้างความเสียหายทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยในทางตรง น้ำท่วมสร้างความเสียหายต่อสิ่งปลูกสร้าง อาคารบ้านเรือน เส้นทางคมนาคมขนส่ง และระบบสาธารณูปโภค รวมถึงพื้นที่เกษตรกรรมและปศุสัตว์ ส่วนในทางอ้อม ก็ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ความปลอดภัยต่อชีวิต และสุขภาพจิตของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นๆ​แต่ละประเทศทั่วโลกก็มีวิธีในการรับมือน้ำท่วมที่แตกต่างกัน งั้นวันนี้เราลองมาดูกันว่า ในต่างประเทศเค้ามีวิธีจัดการและรับมือกันอย่างไร?​ปัจจุบัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการเมืองทั่วโลกล้วนมีการนำเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ หรือ Geo-informatics มาใช้สนับสนุนการวางแผนบริหารจัดการพื้นที่ในการลดผลกระทบและบรรเทาความเสียหายจากน้ำท่วม อย่าง "ประเทศสหรัฐอเมริกา" ภายใต้ Federal Emergency Management Agency (FEMA) มีการจัดทำ FEMA Flood Map Service Center แหล่งข้อมูลเชิงพื้นที่ที่แสดงแผนที่น้ำท่วม แผนที่ความเสี่ยงน้ำท่วม และแผนที่แสดงอัตราการประกันภัยน้ำท่วม สนับสนุน National Flood Insurance Program (NFIP) เพื่อเป็นแนวทางให้กับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องใช้ดำเนินการบรรเทาผลกระทบอย่างมีประสิทธิภาพ​ขยับมาที่ประเทศใกล้บ้านเราหน่อย "ประเทศสิงคโปร์" ก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ประสบปัญหาน้ำท่วม ได้มีการนำเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการน้ำท่วม อย่างเช่น ระบบตรวจวัดระดับน้ำผ่านเซนเซอร์และกล้อง CCTV แสดงผลบนแผนที่แบบ Real-time ที่จะมีการแจ้งเตือนเมื่อน้ำขึ้นสูงถึงระดับความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วม การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่เพื่อหาจุดเสี่ยงน้ำท่วม และระบบตรวจสอบปริมาณน้ำฝนและการคาดการณ์ที่ใช้ในการแจ้งเตือนฝนตกล่วงหน้าจากการตรวจสอบปริมาณน้ำฝนด้วยเรดาร์​คราวนี้มาดูที่บ้านเรากันบ้าง "กรุงเทพมหานคร" มีการนำเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ด้วยเช่นกัน อย่างเช่น การใช้ข้อมูลจากเรดาร์ตรวจอากาศ ที่จะแสดงภาพการเคลื่อนที่และปริมาณความรุนแรงของกลุ่มฝน โดยการสำรวจระยะไกลผ่านการส่งคลื่นวิทยุออกไปกระทบกับเม็ดฝน ทำให้ช่วยวางแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้ ซึ่งประชาชนทั่วไปก็สามารถติดตามสถานการณ์การเคลื่อนที่ของกลุ่มฝนได้ จากเว็บไซต์ของสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร https://weather.bangkok.go.th/radar/​กรุงเทพมหานคร ยังได้มีการพัฒนาฐานข้อมูลดิจิทัลพื้นที่จุดเสี่ยงความปลอดภัย (Bangkok Risk Map) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในเครื่องมือที่ใช้ในการบริหารจัดการความเสี่ยงภัยของกรุงเทพมหานคร ที่เราสามารถเข้าไปดูพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมขังและพื้นที่น้ำท่วมในอดีตได้จากเว็บไซต์นี้ https://cpudapp.bangkok.go.th/riskbkk/index.html​นอกจากนี้ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ก็ได้ทำการพัฒนาระบบสนับสนุนการตัดสินใจเพื่อการบริหารจัดการพื้นที่ภัยพิบัติ ระบบให้บริการข้อมูลเชิงพื้นที่ด้านน้ำท่วม รวมถึงไฟป่าและภัยแล้ง โดยจะแสดงให้เห็นถึงภาพรวมสถานการณ์ล่าสุดของประเทศไทย เพื่อช่วยคาดการณ์ความรุนแรงหรือความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต ซึ่งเราทุกคนก็สามารถติดตามสถานการณ์ได้เช่นกัน ผ่านทางเว็บไซต์ https://disaster.gistda.or.th/#4.87/13.16/101.49​ช่วงนี้ฝนก็เริ่มตกหนักและถี่ขึ้นทุกวัน หากสนใจหรืออยากวางแผนรับมือน้ำท่วมด้วยตัวเองลองเข้าไปดูข้อมูลที่เผยแพร่อยู่บนเว็บไซต์สาธารณะเหล่านี้ ซึ่งมั่นใจได้เลยว่าข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลที่น่าเชื่อถือ และเป็นประโยชน์ในการวางแผนและช่วยลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากน้ำท่วมได้ไม่มากก็น้อย​เนื้อหาโดย คุณ ศิรพัชร มั่งคั่ง ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS), RISC​อ้างอิงข้อมูลจาก​https://msc.fema.gov/portal/home​https://www.pub.gov.sg/Public/KeyInitiatives/Flood-Management​https://pr-bangkok.com/?p=258971​https://weather.bangkok.go.th/radar/​https://disaster.gistda.or.th/#4.87/13.16/101.49​https://gistda.or.th/news_view.php?n_id=2883&lang=TH​

325 viewer

"โอโซน" มิตรร้ายกับภาวะโลกร้อน

โดย RISC | 2 เดือนที่แล้ว

นับเป็นระยะเวลานานที่ปัญหาโลกร้อนได้เป็นประเด็นสำคัญระดับโลก ที่ก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงต่อสภาพแวดล้อม และสังคมมนุษย์ ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศโลก ส่งผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่รุนแรง อย่างคลื่นความร้อน พายุ และไฟป่า และยังส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและใช้ชีวิตของเรา​ในบรรดาก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด นอกจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นตัวการสำคัญแล้ว อีกก๊าซเรือนกระจกที่ไม่ควรมองข้าม นั่นก็คือ “ก๊าซโอโซน”​โอโซน (O₃) เกิดจากการรวมตัวกันของก๊าซออกซิเจน (O₂) ที่มีอยู่มากมายในอากาศหนึ่งโมเลกุลและอะตอมออกซิเจนอิสระ (O₂₋) ที่แตกตัว เนื่องจากรังสีอัลตราไวโอเลต (Ultraviolet: UV) ของโมเลกุลออกซิเจนนั่นเอง แต่เมื่อโอโซนได้รับพลังงานจากรังสีอัลตราไวโอเลตจากดวงอาทิตย์ จะเกิดการสลายตัวเช่นเดียวกัน กลายเป็นอะตอมออกซิเจนอิสระและโมเลกุลของก๊าซออกซิเจน ​รู้หรือไม่ว่า โอโซน (O₃) เป็นก๊าซที่มีบทบาทสองด้านต่อปัญหาภาวะโลกร้อน?​ในชั้นบรรยากาศชั้นกลางหรือสตราโตสเฟียร์ (Stratosphere) โอโซนจะทำหน้าที่ป้องกันรังสีอันตรายจากดวงอาทิตย์ ช่วยลดการดูดกลืนความร้อนของพื้นโลก แต่สำหรับในชั้นบรรยากาศชั้นล่างหรือโทรโพสเฟียร์ (Troposphere) โอโซนกลับเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะเรือนกระจกซะเอง​ถึงตรงนี้หลายคนคงเริ่มสงสัยแล้วว่าทำไมเป็นเช่นนั้น งั้นเรามาดูคำตอบนี้กัน...​โอโซนภาคพื้นดิน (Ground Level Ozone) ก็คือโอโซนที่ระดับความสูง 0 ถึงประมาณ 2 กิโลเมตรในชั้นบรรยากาศโทรโพสเฟียร์ (Troposphere) ซึ่งในธรรมชาติโอโซนที่เกิดขึ้นบนภาคพื้นดินมีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น แต่ในปัจจุบัน แหล่งกำเนิดโอโซนส่วนใหญ่เกิดจากปฏิกิริยาเคมีที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น จากไอเสียของรถยนต์หรือไอเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งจะมีไนโตรเจนออกไซด์(NOₓ) เป็นองค์ประกอบหลัก หรือเกิดจากปฏิกิริยาเคมีแสง (Photochemical Reaction) รังสีอัลตราไวโอเลตของสารอินทรีย์ระเหย (Volatile Organic Compound: VOC) จากสีทาบ้าน ควันบุหรี่ น้ำยาฟอกสี หรือยาฆ่าแมลงต่างๆ โดยโอโซนบนภาคพื้นดินถือเป็นหนึ่งในมลพิษทางอากาศที่ส่งผลเสียต่อร่างกายเป็นอย่างมาก และยังเป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจกที่ดูดกลืนและกักเก็บรังสีความร้อนจากพื้นผิวโลก ไม่ให้คายออกสู่บรรยากาศ ส่งผลให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น และยังมีประสิทธิภาพในการดูดกลืนความร้อนสูงกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 3 เท่า​ปัจจุบัน มีการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ช่วยลดการปล่อยมลพิษที่เป็น "ต้นเหตุของการเกิดโอโซน" ในชั้นบรรยากาศโทรโพสเฟียร์ (Troposphere) ด้วยเทคโนโลยีควบคุมการปล่อยมลพิษทางอากาศ เช่น ระบบกำจัดก๊าซไนโตรเจนออกไซด์, ระบบดักจับอนุภาคละอองขนาดเล็ก เพื่อลดการปล่อยสารที่ก่อให้เกิดโอโซนจากโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงยานยนต์ไฟฟ้า และยานยนต์ไฮบริด ที่ช่วยลดการปล่อยมลพิษจากเครื่องยนต์สันดาปภายใน ซึ่งนวัตกรรมและเทคโนโลยีเหล่านี้ถือเป็นหนึ่งในแนวทางสำคัญที่จะช่วยลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ควบคู่ไปกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ และมีเทน เพื่อคงสมดุลของระบบนิเวศ และรักษาสภาพอากาศของโลกให้เอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิตต่อไป​เนื้อหาโดย คุณ ชนินทร์ กุลสุรกิจ สถาปนิกวิจัยอาวุโสและผู้เชี่ยวชาญระดับ WELL AP, DGNB international, TREES-A และ DGNB consultant, RISC​

700 viewer

อากาศร้อนแบบนี้ระวังเสี่ยง Heatstroke

โดย RISC | 5 เดือนที่แล้ว

ตั้งแต่กุมภาพันธ์มาจนถึงเดือนนี้ คงไม่มีใครที่ไม่บ่นเรื่องอากาศร้อน แต่ที่หนักกว่าคือสถานการณ์ในตอนนี้เป็นเพียงแค่สัญญาณเริ่มต้นเท่านั้นเอง​อย่างที่เรารู้กันว่าในปีนี้ ปรากฏการณ์เอลนีโญรวมกับผลกระทบจากภาวะโลกรวน จะทำให้เกิดสภาพอากาศร้อนสุดขั้วได้มากขึ้น จนอาจส่งผลให้คนเกิดภาวะโรคลมแดดได้ง่ายขึ้น​โรคลมแดดหรือฮีทสโตรก (Heatstroke) เกิดจากการที่ร่างกายคนเราไม่สามารถรักษาอุณหภูมิของร่างกายให้คงที่ได้ ซึ่งแบ่งเป็น 2 ประเภทตามสาเหตุ คือ...​• โรคลมแดดที่เกิดจากการออกกำลัง เกิดจากการออกกำลังกายอย่างหนักหรือหักโหมเกินไปในสภาพอากาศร้อนจัดและความชื้นสูง​• โรคลมแดดที่ไม่ได้เกิดจากการใช้กำลังกายหนัก เกิดจากการอยู่ในสภาพอากาศร้อนชื้นเป็นเวลานาน มักพบในผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีโรคเรื้อรังบางประการ​โดยอาการของโรคลมแดด เมื่ออุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้น จะทำให้ความร้อนในร่างกายสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งอาการอื่นที่พบได้ ก็มีตั้งแต่หายใจถี่ ชีพจรเต้นแรง ปวดศีรษะ หน้ามืด อ่อนแรงและคลื่นไส้​หากพบผู้มีอาการของโรคลมแดด ให้รีบลดอุณหภูมิร่างกายของผู้ป่วย โดยให้รีบพาเข้าที่ร่มที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก แล้วใช้น้ำแข็งประคบตามหน้าผาก คอ รักแร้ ขาหนีบ ก่อนนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว​สำหรับแนวทางป้องกันโรคลมแดด หากจำเป็นต้องอยู่ในที่อุณหภูมิสูง ให้ดื่มน้ำบ่อยๆ สวมเสื้อผ้าที่เนื้อผ้าเบาบาง ระบายอากาศได้ดี ใช้ครีมกันแดด รวมทั้งงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เนื้อหาโดย คุณ วรพร ปุณยกนก วิศวกรวิจัยอาวุโส Acting Head of Resilience Hub, RISC​อ้างอิงข้อมูลจาก​https://www.bangkokbiznews.com/environment/1116005​https://www.cdc.gov/niosh/topics/heatstress/heatrelillness.html#stroke

712 viewer

GIS ช่วยเราคาดการณ์และป้องกันน้ำท่วมได้อย่างไร?

โดย RISC | 6 เดือนที่แล้ว

"โลกของเราเข้าสู่ปรากฎการณ์เอลนีโญ (El Niño)" องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ประกาศไว้เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2023 จนกระทั่งวันนี้เอลนีโญก็ยังคงอยู่​ประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งในหลายๆ ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากปรากฎการณ์เอลนีโญอย่างรุนแรง ส่งผลให้เกิดความแห้งแล้งและมีอุณหภูมิอากาศสูงผิดปกติ แต่จากรายงานการคาดการณ์การเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญและลานีญาขององค์การบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (NOAA) ประจำเดือนมกราคมที่ผ่านมาระบุว่า เอลนีโญที่มีความรุนแรงนี้จะอ่อนกำลังลงอย่างต่อเนื่องในช่วงเดือนมีนาคมไปจนถึงพฤษภาคม 2024 และเข้าสู่สภาวะเป็นกลาง (ENSO-neutral) จากนั้นจะเข้าสู่ปรากฎการณ์ลานีญา (La Niña) ในช่วงเดือนกรกฏาคมเป็นต้นไป ทำให้ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2024 ประเทศไทยเราไม่ต้องกังวลกับปัญหาภัยแล้ง เหมือนปี 2023 ที่ผ่านมา แต่ในทางตรงข้าม ในหลายๆ พื้นที่ของเราอาจต้องเผชิญกับภัยน้ำท่วมสูงมากขึ้น​เมื่อเรารู้แล้วว่าภัยน้ำท่วมอาจจะเกิดขึ้น แต่เราจะรู้ได้อย่างไร? ว่าบริเวณพื้นที่ไหนบ้างที่มีโอกาสหรือความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วม​หนึ่งในเทคโนโลยีที่ได้รับการยอมรับจากหลากหลายหน่วยงานทั่วโลก ด้วยการวิเคราะห์และการคาดการณ์เชิงพื้นที่ นั่นคือ ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System) หรือที่เราเรียกว่า GIS นั่นเอง​แล้ว GIS คืออะไร?​GIS คือ เทคโนโลยีที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล จัดการ วิเคราะห์ และนำเสนอข้อมูลในรูปแบบข้อมูลเชิงพื้นที่ สามารถช่วยให้เราเข้าใจความสัมพันธ์และรู้ถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่นั้นๆ ได้ ก่อนนำไปสู่การบริหารจัดการพื้นที่ รับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ​เราสามารถรู้ได้ว่า พื้นที่ใดเป็นพื้นที่เสี่ยงในการเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม จากการนำข้อมูลปัจจัยต่างๆ ที่สำคัญมาวิเคราะห์ เช่น ข้อมูลปริมาณน้ำฝน, แบบจำลองระดับสูงเชิงเลข (DEM), โครงข่ายลำน้ำ, สิ่งกีดขวางลำน้ำ และพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากจากภาพถ่ายดาวเทียม โดยใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) ร่วมกับทฤษฎีการวิเคราะห์เชิงพื้นที่ โดยแสดงผลลัพธ์ในรูปแบบแผนที่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือประชาชนทั่วไปสามารถนำผลลัพธ์นี้ไปใช้สนับสนุนการตัดสินใจ การเฝ้าระวัง หรือการทำงานเชิงรุก เพื่อเตรียมการวางแผนรับมือก่อนการเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมได้ ​อีกไม่นานก็จะเข้าสู่ฤดูฝนกันแล้ว ตัวแปรสำคัญของปีนี้ คือ "ปรากฎการณ์ลานีญา" ที่อาจจะส่งผลกระทบมากกว่าที่เราคิด หากเราเตรียมความพร้อมหาข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่าเราอยู่ในพื้นที่เสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมหรือไม่ เพื่อช่วยในการวางแผนและตั้งรับได้ทัน และช่วยลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ไม่มากก็น้อย​เนื้อหาโดย คุณ ศิรพัชร มั่งคั่ง ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS), RISC ​อ้างอิงข้อมูลจาก​https://www.cpc.ncep.noaa.gov/products/analysis_monitoring/lanina/enso_evolution-status-fcsts-web.pdf​https://gistda.or.th/news_view.php?n_id=2883

1187 viewer

จับตาความเสี่ยงโลก​ Global Risks Report 2024​

โดย RISC | 7 เดือนที่แล้ว

ในทุกๆ ปี สภาเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Forum จะมีการประกาศรายงานความเสี่ยงโลกประจำปี (Global Risks Report) RISC ขอสรุปประเด็นเสี่ยงที่น่าสนใจที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ มาดูกัน...!!​รายงานความเสี่ยงโลกประจำปี 2567 (Global Risks Report 2024) ได้นำเสนอความเสี่ยงโลกระยะสั้น 2 ปี และความเสี่ยงระยะยาว 10 ปี โดยวิเคราะห์ความเสี่ยงใน 5 มิติ ได้แก่ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ภูมิรัฐศาสตร์ สังคมและเทคโนโลยี​ความเสี่ยงระยะสั้น 2 ปี ลำดับแรกคือ ความเสี่ยงจากการสร้างข้อมูลเท็จโดยมีเจตนาทำให้เข้าใจผิด ซึ่งเป็นความเสี่ยงในมิติเทคโนโลยี ถัดมาในลำดับที่ 2 เป็นเหตุการณ์สภาพภูมิอากาศสุดขั้ว และลำดับที่ 3 เป็นการแบ่งขั้วทางสังคม เราจะสังเกตเห็นได้ว่า ความเสี่ยงระยะสั้น 2 ปีส่วนใหญ่จะเป็นมิติด้านสังคม ไม่ว่าจะเป็นลำดับที่ 3 การแบ่งขั้วทางสังคม ลำดับที่ 6 การขาดโอกาสทางเศรษฐกิจ และลำดับที่ 8 การย้ายถิ่นฐานแบบไม่สมัครใจ ส่วนความเสี่ยงในมิติสิ่งแวดล้อมติดเพียง 2 ลำดับ คือ ลำดับที่ 2 เหตุการณ์สภาพภูมิอากาศสุดขั้ว และลำดับที่ 10 ปัญหามลภาวะ​คราวนี้เราจะมาดูในส่วนของความเสี่ยงระยะยาว 10 ปีกันบ้าง​ความเสี่ยงระยะยาว 10 ปีจะมีมิติสิ่งแวดล้อมติดถึง 6 อันดับเลยทีเดียว ตั้งแต่ลำดับที่ 1 เหตุการณ์สภาพภูมิอากาศสุดขั้ว ลำดับที่ 2 การเปลี่ยนแปลงระบบของโลกในระดับวิกฤต ลำดับที่ 3 การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและการล่มสลายของระบบนิเวศ ลำดับที่ 4 การขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ และลำดับที่ 10 ปัญหามลภาวะ​เมื่อดูในระยะยาว 10 ปี ภาพรวมของโลกจะเผชิญความเสี่ยงในระดับแปรปรวน (Turbulent) สูงถึง 46% ซึ่งความเสี่ยงมิติต่าง ๆ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ภูมิรัฐศาสตร์ สังคมและเทคโนโลยี ล้วนเชื่อมโยงกันหมด จึงจำเป็นจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนตั้งแต่ในระดับโลกไปจนถึงท้องถิ่น เพื่อแก้ปัญหาให้โลกกลับมายั่งยืนอีกครั้ง​หากเพื่อนๆ คนไหนสนใจรายงานความเสี่ยงโลกประจำปี 2024 แบบฉบับเต็ม สามารถเข้าติดตามเพิ่มเติมได้ที่ https://www.weforum.org/publications/global-risks-report-2024/เนื้อหาโดย คุณ วรพร ปุณยกนก วิศวกรวิจัยอาวุโส Acting Head of Resilience Hub, RISCอ้างอิงข้อมูลจาก​World Economic Forum​

1946 viewer

ปีใหม่นี้เรามาตั้งเป้าลดคาร์บอนกันเถอะ

โดย RISC | 8 เดือนที่แล้ว

ใกล้ปีใหม่แล้ว หลายคนอาจตั้งหน้าตั้งตารอคอยเทศกาลรื่นเริงที่จะได้ใช้เวลาแสนพิเศษกับครอบครัวและคนสำคัญ หรืออาจจะนั่งทบทวนตัวเองในช่วงปีที่ผ่านมา เพื่อที่จะตั้งเป้าหมายใหม่สำหรับปีหน้าที่จะมาถึง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องธุรกิจ การงาน การเรียน หรือความรัก​หากเราตั้งเป้าลดคาร์บอน.....จะดีกว่ามั้ย?​เป้าหมายปีใหม่ที่เราตั้ง จะเป็นเรื่องของช่วยโลกของเรามากขึ้น บรรเทาภาวะโลกรวน ลดการปล่อยคาร์บอน เพื่อป้องกันไม่ให้อุณหภูมิของโลกเราสูงไปมากกว่านี้ งั้นเราลองมาดูกันว่ามีอะไรบ้างที่เราสามารถทำได้​• "ลดหรือประหยัดพลังงาน" เพราะคาร์บอนฟุตพรินท์ส่วนบุคคล ส่วนหนึ่งมาจากการใช้พลังงานภายในบ้าน ดังนั้นจึงควรเลือกใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพ และเปิดเฉพาะเวลาที่จำเป็น ​• "ลดหรือเปลี่ยนรูปแบบการเดินทาง" ลดการเดินทางที่ไม่จำเป็น การเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชน หรือเปลี่ยนมาเดินทางด้วยยานพาหนะที่ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก ​• "จัดบ้านใหม่" ช่วงวันหยุดยาวนี้ลองดูว่ามีของอะไรในบ้านที่เราไม่ค่อยได้ใช้ แต่ยังสภาพดีอยู่ ของที่ยังใช้ได้อาจลองนำไปบริจาค หรือขายเป็นสินค้ามือสอง นอกจากจะได้ช่วยโลกแล้ว อาจจะได้เงินเล็กๆ น้อยๆ กลับมาด้วย​• "ลดปริมาณขยะอาหาร" เพราะอาหารที่เหลือทิ้งก็เป็นสาเหตุของการปล่อยคาร์บอนสูงอย่างไม่น่าเชื่อเช่นกัน ซึ่งการปล่อยคาร์บอนจะเกิดตั้งแต่ต้นทางการผลิต ไม่ว่าจะเป็นการเพาะปลูกหรือปศุสัตว์ โรงงานผลิตและโรงงานแปรรูป และหลังจากมาถึงมือเราแล้ว หากไม่ถูกบริโภคก็จะกลายเป็นขยะอาหารที่ถูกทิ้งอย่างเปล่าประโยชน์ และปล่อยก๊าซเรือนกระจกในที่สุด ​• "ซื้อของอย่างไรให้ยั่งยืน" หลายคนอาจนึกภาพการซื้อต้นไม้มาปลูกเพื่อช่วยดูดซับคาร์บอนจากอากาศ หรือการเปลี่ยนรถยนต์น้ำมันเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยลดคาร์บอนในระยะยาวได้ แต่ต้องยอมรับว่า สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด คือ การไม่ซื้ออะไรเลย เพราะสิ่งของต่างๆ ล้วนมีต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมทั้งนั้น อาจจะเป็นเรื่องยากสำหรับหลายคนที่จะไม่ให้ซื้ออะไร ดังนั้นก่อนซื้อ ให้ลองถามตัวเองก่อนว่า ของชิ้นนี้จำเป็นจริงๆ หรือไม่​ จะเห็นได้ว่ามีหลายอย่างเลย ที่เราสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง มันไม่ใช่เรื่องยาก และเกินเป้าหมายที่เราตั้งไว้ หากเราคิดถึงการส่งต่อโลกที่น่าอยู่สำหรับลูกหลานของเราในอนาคต RISC เชื่อว่า...เราทุกคนทำได้!!​เนื้อหาโดย คุณ วรพร ปุณยกนก วิศวกรวิจัยอาวุโส Acting Head of Resilience Hub, RISC​

1126 viewer

แต่ละองศาที่เพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบกับเราอย่างไร?

โดย RISC | 9 เดือนที่แล้ว

“มนุษย์ต้องพยายามหยุดยั้งไม่ให้โลกของเรามีอุณหภูมิสูงขึ้นมากกว่า 1.5 องศาเซลเซียสหรือ 2 องศาเซลเซียสเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม” ประโยคนี้น่าจะมีใครหลายคนเคยได้ยิน และสงสัยว่าอุณหภูมิขึ้นเพียงแค่นี้จะส่งผลร้ายแรงอะไรขนาดนั้น​เราอาจจะรู้สึกว่า เวลาที่ปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศขึ้นหรือลงเพียงครึ่งองศาเซลเซียส ก็ไม่เห็นรู้สึกถึงความแตกต่างเลย แต่สำหรับโลกของเราแล้ว อุณหภูมิที่ต่างกันเพียงครึ่งองศา อาจหมายถึงการที่ผู้คนหลายล้านคนจะประสบความยากลำบากมากขึ้น​งั้นเพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้นลองมาดูรายงานนี้กัน​ทาง Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC) หรือคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้ออกรายงานเกี่ยวกับการที่โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส เป็นการชี้ให้เห็นถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเกิดอะไรขึ้นเมื่ออุณหูมิเฉลี่ยสูงขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส และ 2 องศาเซลเซียส?​ถ้าหากอุณหภูมิเฉลี่ยโลกเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม ภูมิภาคอาร์กติกหรือขั้วโลกเหนือซึ่งมีน้ำแข็งปกคลุมตลอดทั้งปี เมื่อถึงฤดูร้อนจะมีโอกาสที่น้ำแข็งขั้วโลกละลายหมดเพียง 1 ครั้งใน 100 ปี แต่หากอุณหภูมิเฉลี่ยโลกสูงขึ้น 2 องศาเซลเซียส น้ำแข็งในเขตอาร์กติกอาจละลายหมดในฤดูร้อนทุกๆ 10 ปีขณะที่สภาสภาพภูมิอากาศออสเตรเลีย (Australia Climate Council) ได้เปรียบเทียบให้เห็นผลกระทบด้านอื่นๆ หากอุณหภูมิเฉลี่ยโลกสูงขึ้น เช่น หากอุณหภูมิโลกสูงขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส ปะการังทั่วโลกจะลดลง 70 - 90% แต่หากปล่อยให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น 2 องศาเซลเซียส ปะการังทั่วโลกอาจลดลงถึง 99% ซึ่งอย่างที่เรารู้กันว่า แนวปะการังเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตเล็กๆ จำนวนมาก หากปะการังหายไปจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศชายฝั่งอย่างมหาศาล และนั่นก็หมายถึงแหล่งอาหารของเราก็หายไปด้วย​ประชากรราว 14% ของทั้งโลกจะประสบภัยจากสภาพอากาศร้อนจัดหรือ Extreme Heat ทุกๆ 5 ปี หากอุณหภูมิเฉลี่ยโลกสูงขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส แต่ตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 37% ของประชากรทั้งโลก หากอุณหภูมิเฉลี่ยโลกสูงขึ้น 2 องศาเซลเซียส​จากผลกระทบที่แตกต่างกันอย่างมากนี้ ทำให้นานาชาติให้ความตกลงปารีส (Paris Agreement) เพื่อควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส และพยายามควบคุมให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป​เนื้อหาโดย คุณ วรพร ปุณยกนก วิศวกรวิจัยอาวุโส Acting Head of Resilience Hub, RISC​อ้างอิงข้อมูลจาก​1. https://www.weforum.org/agenda/2021/07/2c-global-warming-difference-explained/​2. https://www.ipcc.ch/site/assets/uploads/sites/2/2022/06/SR15_Full_Report_HR.pdf​3. https://www.climatecouncil.org.au/resources/infographic-the-difference-between-1-5-and-2-degrees-warming/

1491 viewer

ภาวะโลกเดือดจะส่งผลอะไรในอนาคตบ้าง?

โดย RISC | 10 เดือนที่แล้ว

คงไม่มีใครไม่รู้จักคำว่า “โลกร้อน” หรือ “โลกรวน” หรือถ้าอธิบายแบบให้เข้าใจก็คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้เกิดอากาศสุดขั้ว ภัยธรรมชาติที่รุนแรงและบ่อยครั้งขึ้น​ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดจากปรากฏการณ์นี้ เมื่อช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคมที่ผ่านมา เช่น การเกิดไฟไหม้ป่าครั้งใหญ่บนเกาะโรดส์ ประเทศกรีซ หรือบนเกาะเมาวี ในรัฐฮาวายของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งทั้ง 2 เหตุการณ์ทำให้ต้องอพยพประชาชนจำนวนมาก และยังมีผู้เสียชีวิตอีกด้วย​แต่ทุกสิ่งเหมือนจะดูเลวร้ายลงไปอีก เมื่อเลขาธิการสหประชาชาติได้ออกแถลงเตือนว่า ยุคโลกร้อนสิ้นสุดลง แต่ "ยุคโลกเดือด" ได้มาถึงแล้ว เนื่องจากรายงานของหน่วยวิจัยของสหภาพยุโรป (Copernicus Earth Observation Programme) ชี้ให้เห็นว่า อุณหภูมิอากาศพื้นผิวเฉลี่ยรายวันทั่วโลกในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เป็นวันที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ผลที่อาจจะตามมา คือ สภาพอากาศสุดขั้ว เช่น คลื่นความร้อนถล่ม น้ำท่วม ภัยแล้ง ไฟไหม้ป่าที่เกิดง่าย และลุกลามเป็นวงกว้าง พายุที่มีความรุนแรงมากขึ้น น้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงจนส่งผลต่อสิ่งมีชีวิต น้ำทะเลเป็นกรดจนเป็นอันตรายต่อสัตว์ทะเลหลายชนิด สำหรับผลกระทบที่ใกล้ตัวคนเมือง อย่างเช่น การที่ฝนฟ้าไม่ตกตามฤดูกาล ส่งผลต่อการเพาะปลูก การประมงและปศุสัตว์ ซึ่งในระยะยาวอาจทำให้เกิดภาวะขาดแคลนอาหาร และมีราคาสูงขึ้นด้วยการแก้ปัญหาเรื่องนี้ จึงไม่ใช่เรื่องเล่นๆ อีกต่อไป ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือร่วมใจ และร่วมกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Carbon) ภายในปี ค.ศ. 2050 เพื่อจำกัดภาวะโลกร้อนไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม และยังเป็นการช่วยกันรักษาสมดุลของระบบนิเวศของโลกเราให้อยู่อย่างยาวนานอีกด้วย นอกจากนี้การช่วยกันคนละไม้ละมือในการร่วมกันแก้ไขปัญหา น่าจะเป็นแนวทางที่ดีที่สุด​MQDC ตั้งเป้า Nature Positive & Carbon Negative 2050 คลิกอ่านต่อที่ https://bit.ly/3s35Fwe    ​เนื้อหาโดย คุณ วรพร ปุณยกนก วิศวกรวิจัยอาวุโส Acting Head of Resilience Hub, RISCอ้างอิงข้อมูลจาก​https://www.theguardian.com/science/2023/jul/27/scientists-july-world-hottest-month-record-climate-temperatures​https://www.bot.or.th/th/research-and-publications/article/chaengsibia/article-2023sep05.html

6731 viewer

"Marine Heatwave" ภัยความร้อนในมหาสมุทรที่เกิดจากฝีมือเราเอง

โดย RISC | 11 เดือนที่แล้ว

ปีนี้เป็นอีกปีที่เรารับรู้ได้ถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของโลกอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นอากาศที่ร้อนจัดผิดปกติ ฤดูฝนมาช้าและตกน้อยกว่าที่ควรจะเป็น แต่รู้หรือไม่?...ยังมีอีก 1 สัญญาณเตือนที่สำคัญถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกที่เราอาจจะไม่ได้รับรู้โดยตรง​นั่นคือ การเกิด "คลื่นความร้อนในมหาสมุทร” หรือที่เรียกว่า Marine Heatwave นั่นเอง​เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา อุณหภูมิเฉลี่ยผิวน้ำทั่วโลกสูงขึ้นผิดปกติ ทำลายสถิติเดิมในปี 2016 ขึ้นเป็นอันดับ 1 ของทุกๆ เดือนนับตั้งแต่ปี 1991 ทำให้ในตอนนี้โลกกำลังประสบปัญหาคลื่นความร้อนในมหาสมุทรครอบคลุมถึง 48% ของมหาสมุทรทั่วโลก ทั้งในบริเวณแถบเส้นศูนย์สูตรของมหาสมุทรแปซิฟิก, แปซิฟิกตะวันออกเฉียงเหนือ, แปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือ, แปซิฟิกตะวันตกเฉียงใต้ใกล้ประเทศนิวซีแลนด์, ทะเลญี่ปุ่น, ทะเลโอค็อตสค์, ทะเลแคริบเบียน, อ่าวเม็กซิโก และตะวันตกเฉียงเหนือของมหาสมุทรแอตแลนติก ซึ่ง Marine Heatwave Forecast Monthly Report ขององค์การบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (NOAA) คาดการณ์ว่า คลื่นความร้อนในมหาสมุทรจะครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 50% ของมหาสมุทรทั่วโลกไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า​แล้ว...คลื่นความร้อนในมหาสมุทรคืออะไร แล้วส่งผลอะไรกับเรา?​คลื่นความร้อนในมหาสมุทร คือ ปรากฎการณ์อุณหภูมิผิวน้ำของมหาสมุทรเพิ่มสูงขึ้นมากผิดปกติเป็นระยะเวลานาน อาจจะเป็นสัปดาห์ เดือน หรือหลายปี และสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ในมหาสมุทร โดยมีสาเหตุมาจากการดูดซับความร้อนจากพื้นผิวโลกที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มากักเก็บไว้ในมหาสมุทรหรือทะเลมากเกินไป ทำให้อุณหภูมิผิวน้ำสูงกว่าค่าเฉลี่ย ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในมหาสมุทรและชุมชนชายฝั่ง สายใยอาหาร (Food Web) ในทะเลถูกทำลาย เกิดปะการังฟอกขาว สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเล และนกทะเลจำนวนมากต้องตายเป็นจำนวนมหาศาล และสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ นอกจากนี้ คลื่นความร้อนในมหาสมุทรยังมีความสัมพันธ์กับโอกาสที่จะเกิด "สภาพอากาศสุดขั้ว" (Extreme Weather) ทำให้ฝนตกหนัก เกิดพายุที่รุนแรงมากกว่าปกติ และยังส่งผลต่อน้ำแข็งในทะเล เกิดความเสี่ยงที่จะละลายตัวอย่างรวดเร็ว จนทำให้โลกมีระดับน้ำทะเลสูงขึ้นอีกด้วย​"มหาสมุทรเป็นระบบนิเวศที่ใหญ่ที่สุดของโลก การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในมหาสมุทรนั้น ย่อมส่งผลให้เกิดภัยอันตรายที่สร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อโลก" โดยต้นตอของปัญหาที่ทำให้เกิดคลื่นความร้อนในมหาสมุทร ก็มาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มาจากฝีมือของพวกเรากันเอง ซึ่งการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำกิจกรรมของเรา และของทุกภาคส่วน จึงเป็นความร่วมมือที่สำคัญที่สุด ที่จะช่วยให้สิ่งมีชีวิตทุกชีวิตสามารถอาศัยอยู่บนโลกต่อไปได้ในอนาคต​เนื้อหาโดย คุณ ศิรพัชร มั่งคั่ง ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS), RISC ​อ้างอิงข้อมูลจาก ​https://psl.noaa.gov/marine-heatwaves/#report​https://marine.copernicus.eu/explainers/phenomena-threats/heatwaves​

1448 viewer

ฉลากด้านสิ่งแวดล้อมสำคัญอย่างไร และมีอะไรบ้าง?

โดย RISC | 1 ปีที่แล้ว

ต้องยอมรับว่า กระแสความตื่นตัวเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อม กำลังเป็นสิ่งที่คนเริ่มให้ความสนใจมากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่การเลือกสินค้าบริโภคที่จะต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม​แต่...เราจะรู้ได้อย่างไร? ว่าผลิตภัณฑ์ในมือเราที่เราซื้อมานั้น ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากน้อยแค่ไหน​ISO หรือ International Standardization and Organization องค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน ได้มีมาตรฐานที่เกี่ยวกับฉลากด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเราสามารถใช้มาตรฐานนี้มาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ได้ ดังนี้​ประเภทที่ 1 ISO 14024:1999 เป็นการรับรองผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการประเมินด้านคุณภาพและสิ่งแวดล้อม โดยองค์กรที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย (Third Party) ซึ่งเป็นการใช้วิธีพิจารณาแบบตลอดวัฏจักรชีวิต (Life Cycle Consideration) เช่น ฉลากเขียว จากสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย​ประเภทที่ 2 ISO 14021: 2001 ผู้ผลิตเป็นผู้แสดงค่าทางสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ตนเอง ฉลากประเภทนี้จะไม่มีองค์กรกลางในการดูแลและประเภทที่ 3 ISO 14025: 2006 เป็นมาตรฐานของฉลากที่บ่งบอกผลกระทบของผลิตภัณฑ์ต่อสิ่งแวดล้อม โดยประเมินผลกระทบตลอดวัฏจักรชีวิต (Life Cycle Assessment) ซึ่งฉลากนี้จะมีหน่วยงานอิสระ หรือองค์กรกลางตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล เช่น Environmental Product Declaration (EPD)​หากเปรียบเทียบให้เข้าใจได้ง่าย EPD ก็เปรียบเหมือนฉลากที่บอกส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ วิธีการผลิต พลังงานที่ใช้ ตลอดจนการจัดการของเสียหลังการใช้งานของผลิตภัณฑ์ ทำให้ทราบผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นตลอดอายุขัยของผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ประโยชน์สำหรับผู้บริโภคอีกด้านหนึ่ง คือ ผู้บริโภคสามารถเปรียบเทียบข้อมูลจาก EPD เพื่อประกอบการตัดสินใจ ทำให้มั่นใจได้ว่าเลือกผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลง​เนื้อหาโดย คุณ วรพร ปุณยกนก วิศวกรวิจัยอาวุโส Acting Head of Resilience Hub, RISC ​อ้างอิงข้อมูลจาก​https://packaging.oie.go.th/new/admin_control_new/html-demo/file/2305416789.pdf​https://www.wazzadu.com/article/6665​

1733 viewer

รับข่าวสาร

ลงทะเบียนเพื่อรับข่าวสารกับเรา

© 2024 Magnolia Quality Development Corporation Limited - A DTGO Company
ผลลัพธ์
การยืนยัน
การยืนยัน