Knowledge - RISC

Knowledge Air Quality

Air Quality

การจัดการคุณภาพอากาศในช่วงหน้าฝนตาม WELL Building Standard Version 2

โดย RISC | 2 เดือนที่แล้ว

หน้าฝนแบบนี้ สิ่งที่เราต้องเจอก็คือเรื่องความชื้นที่เพิ่มขึ้น ซึ่งความชื้นที่ว่าอาจนำไปสู่ปัญหาด้านสุขภาพ หากไม่มีการจัดการที่เหมาะสม​มาตรฐาน WELL Building Standard Version 2 (WELL V2) เป็นมาตรฐานระดับโลกที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้ใช้อาคาร โดยมีแนวทางที่ครอบคลุมถึงการจัดการความชื้นอย่างมีประสิทธิภาพ ​ผลกระทบของความชื้นสูงในอาคาร ความชื้นสูงในอาคารสามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของผู้ใช้อาคารได้หลายประการ:​o การเจริญเติบโตของเชื้อรา: ความชื้นสูงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมการเติบโตของเชื้อรา ซึ่งสามารถก่อให้เกิดปัญหาระบบทางเดินหายใจและภูมิแพ้​o คุณภาพอากาศที่แย่ลง: การสะสมของฝุ่นละอองและสารก่อภูมิแพ้ ทำให้คุณภาพอากาศภายในอาคารแย่ลง​o ความไม่สบายตัว: ระดับความชื้นที่สูงเกินไปทำให้เรารู้สึกอึดอัด เหนียวตัว และไม่สบาย​o การเสื่อมสภาพของวัสดุ: ความชื้นสูงสะสมในวัสดุอาคารต่างๆ สามารถทำลายเฟอร์นิเจอร์ วัสดุก่อสร้าง และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้​เพื่อให้ทุกคนที่ใช้อาคารได้รับอากาศที่ดีและปลอดภัย โดย WELL Building Standard Version 2 มีแนวทางเฉพาะสำหรับการจัดการความชื้นในอาคาร โดยเน้นที่​การควบคุมความชื้น (Thermal Comfort Concept - T07 Humidity Control) WELL V2 แนะนำให้ระบบระบายอากาศเครื่องกล (Mechanical Ventilation) จะต้องสามารถให้รักษาระดับความชื้นสัมพัทธ์ในอาคารให้อยู่ระหว่าง 30% ถึง 60% โดยระบบต่างกันตามขนาดอาคาร เช่น​o บ้านพักอาศัย ควรเลือกเครื่อปรับอากาศที่มีโหมดควบคุมความชื้น (Dry) หรือเลือกติดตั้งระบบ เครื่องแลกเปลี่ยนอากาศ Energy Recovery Ventilator (ERV) เพื่อแลกเปลี่ยนความร้อนและความชื้นระหว่างอากาศภายในและภายนอก ซึ่งช่วยประหยัดพลังงานและรักษาสมดุลความชื้น รวมทั้งสามารถติดตั้งเครื่องดูดความชื้น (Dehumidifier) ร่วมกับระบบระบายอากาศ​o อาคารขนาดใหญ่ หรืออาคารสาธารณะ การใช้ระบบ DOAS (Dedicated Outdoor Air System) สามารถช่วยในการปรับคุณภาพอากาศจากภายนอกก่อนนำเข้าสู่อาคาร ซึ่งรวมถึงการควบคุมความชื้นได้ด้วย​นอกจากนี้ WELL V2 แนะนำให้มีการตรวจวัดคุณภาพอากาศอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในช่วงหน้าฝนที่มีความเสี่ยงจากการเพิ่มขึ้นของความชื้น โดยแสดงค่าคุณภาพอากาศผ่านหน้าจอแท็บเล็ต หรือแอปพลิเคชันอย่างน้อยทุก 15 นาที​การจัดการความชื้น (Moisture Management - W07 Water Concept) มุ่งเน้นที่การลดการรั่วซึม และสะสมความชื้น​o  ลดการรั่วซึม และสะสมความชื้นบริเวณเปลือกอาคาร (Buidling Envelope) เช่น ออกแบบพื้นที่ให้สามารถระบายน้ำได้ดี ตรวจสอบระบบระบายน้ำฝนเป็นประจำ เลือกใช้วัสดุที่ไม่ดูดซับน้ำ แผ่นกันซึม โลหะ โฟมแบบ Closed-cell​o  ลดการรั่วซึม และสะสมความชื้นภายในอาคาร เช่น ในพื้นที่ หรือห้องที่มีแนวโน้มเจอความชื้นสูง ห้องครัว ห้องน้ำ ควรเลือกใช้วัสดุตกแต่งที่ทนทานต่อความชื้น และสัมผัสน้ำได้ เป็นต้น รวมทั้งตรวจสอบอุปกรณ์ระบบท่อทั้งหมดว่าไม่มีรอยรั่ว ซึ่งจะส่งผลให้มีความชื้นสะสมในพื้นที่ได้ เช่น โถส้วม เครื่องซักผ้า เครื่องล้างจาน เป็นต้น นอกจากนี้อุปกรณ์บำบัดน้ำเสีย ท่อน้ำทิ้ง ท่อน้ำเสียควรติดตั้งระบบป้องกันการไหลย้อน ​o  สำหรับอาคารขนาดใหญ่ และอาคารสาธารณะ ควรจัดทำแผนการควบคุมความชื้น เช่น กำหนดตารางการตรวจสอบจุดที่เกิดน้ำหมด น้ำรั่ว เชื้อราบริเวณผนัง พื้น อุปกรณ์ HVAC, การตรวจสอบเพื่อประเมินการรั่วไหวของทอน้ำเป็นระยะ ระบบสำหรับผู้ใช้งานอาคาร สามารถแจ้งน้ำรั่ว น้ำหยด หรือการพบเจอเชื้อราในอาคาร นอกจากนี้ทาง WELL มีการกำหนดให้ต้องส่งรายงานการตรวจการรั่วซึม และตรวจสอบเชื้อราไปยังระบบ WELL digital platform อีกด้วย​หากเราสามารถควบคุม และจัดการความชื้นในหน้าฝนได้ จะช่วยให้เราได้รับประโยชน์มากมาย เช่น​o สุขภาพที่ดีขึ้นของผู้ใช้อาคาร: ลดความเสี่ยงของโรคภูมิแพ้และปัญหาระบบทางเดินหายใจ​o เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน: สภาพแวดล้อมที่สบายช่วยให้ผู้ใช้งานอาคาร มีสุขภาวะที่ดี ​o ประหยัดค่าใช้จ่าย: ลดค่าซ่อมแซมจากความเสียหายที่เกิดจากความชื้น และลดการใช้พลังงานในระบบปรับอากาศ​o ยืดอายุการใช้งานของอาคาร: ป้องกันการเสื่อมสภาพของโครงสร้างและวัสดุอาคาร​o สร้างภาพลักษณ์ที่ดี: แสดงถึงความใส่ใจในสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้ใช้อาคาร​การนำ WELL Building Standard V2 มาปรับใช้ในการจัดการความชื้นช่วงฤดูฝนไม่เพียงแต่ช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ยังเป็นการลงทุนระยะยาวเพื่อสุขภาพและความยั่งยืนของอาคารและผู้ใช้งาน​ในฐานะที่ปรึกษาด้าน WELL Building Standard เรามีความเชี่ยวชาญในการวิเคราะห์ปัญหาความชื้นในอาคารและออกแบบระบบจัดการที่เหมาะสมตามมาตรฐาน WELL V2 เราพร้อมให้คำแนะนำและสนับสนุนองค์กรของคุณในการยกระดับการจัดการความชื้นเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพและมีประสิทธิภาพสูงสุด​ร่วมกันสร้างอาคารที่ปลอดภัยจากปัญหาความชื้น เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของทุกคนในองค์กร ไม่ว่าจะเป็นฤดูกาลใดก็ตาม​เนื้อหาโดย คุณ เพชรรินทร์ พงษ์เพ็ชรกูล สถาปนิกวิจัยอาวุโส และผู้เชี่ยวชาญระดับ LEED AP BD+C, WELL AP, Fitwel Ambassador, TREES-A NC, ActiveScore AP, RISC​อ้างอิงข้อมูลจาก​การควบคุมความชื้น (Thermal Comfort Concept - T07 Humidity Control) https://v2.wellcertified.com/en/wellv2/thermal%20comfort/feature/7​การจัดการความชื้น (Moisture Management - W07 Water Concept) ​https://v2.wellcertified.com/en/wellv2/water/feature/7​การควบคุมความชื้น T07 Humidity Control Option 2: Humidity modeling https://v2.wellcertified.com/en/wellv2/thermal%20comfort/feature/7​การออกแบบการระบายอากาศ A03 Ventilation Design https://v2.wellcertified.com/en/wellv2/air/feature/3A04 Enhanced Ventilation Design https://v2.wellcertified.com/en/wellv2/air/feature/6 ​การกรองอากาศ A12 Air Filtration https://v2.wellcertified.com/en/wellv2/air/feature/12​คุณภาพอากาศ A01 Air Quality https://v2.wellcertified.com/en/wellv2/air/feature/การตรวจวัดอากาศ และสร้างความตระหนักรู้ Air Quality Monitoring and Awareness https://v2.wellcertified.com/en/wellv2/air/feature/8​

272 viewer

เข้าหน้าฝนแล้ว...อากาศเย็นสบายจริงหรือ

โดย RISC | 3 เดือนที่แล้ว

“ช่วงนี้อากาศดีไหม?”...คำถามนี้เราคงได้ยินบ่อย แต่เราจะวัดจากอะไร หากยึดจากความรู้สึกสบาย?​ก่อนอื่นเลยเรามารื้อฟื้น สภาวะน่าสบาย หรือ Thermal Comfort กันก่อน​สภาวะน่าสบาย หรือ Thermal Comfort ก็คือ สภาวะของจิตใจที่แสดงความพึงพอใจต่อสภาพแวดล้อม หรือเป็นสภาวะที่เกิดสมดุลทางอุณหภูมิหรือสมดุลระหว่างความร้อนของร่างกายกับสภาพแวดล้อม โดยจะขึ้นอยู่กับปัจจัยสองด้าน ได้แก่ 1) ปัจจัยทางกายภาพของสภาพแวดล้อม และ 2) ปัจจัยด้านบุคคล ซึ่งการออกแบบสภาพแวดล้อมจึงต้องคำนึงถึงการสร้างสภาพแวดล้อมให้ผู้ใช้งานอยู่ในช่วง Comfort Zone ที่ไม่ใช่ในแง่มุมของจิตใจ แต่เป็นความสบายทางร่างกายที่ผู้ใช้งานไม่รู้สึกร้อนเกินไปหรือเย็นเกินไปนั่นเอง​ที่นี้เรามาดูกันว่าปัจจัยทางกายภาพของสภาพแวดล้อมที่ต้องนำมาพิจารณาสภาวะน่าสบายมีอะไรบ้าง?​"ปัจจัยทางกายภาพของสภาพแวดล้อม" ที่ต้องนำมาพิจารณาสภาวะน่าสบายจะประกอบด้วย 4 ประเด็น​1. อุณหภูมิอากาศ (Air Temperature)​2. ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ (Relative Humidity)​3. ความเร็วลม (Air Velocity)​4. อุณหภูมิการแผ่รังสีความร้อนเฉลี่ยจากพื้นผิวโดยรอบ (Mean Radiant Temperature, MRT)​ในช่วงฤดูฝนที่อุณหภูมิอากาศลดลง เราอาจจะยังไม่รู้สึกสบาย นั่นเป็นเพราะมีความชื้นในอากาศสูงมาก (อ่านเพิ่มเติมที่ https://bit.ly/3VjQysW) แต่บางครั้งก็อาจรู้สึกสบายขึ้นได้ถ้ามีลมพัดผ่าน แต่ก็ขึ้นอยู่กับพื้นที่โดยรอบตัวเราด้วย อย่างเช่น ถ้าเราอยู่ในสวนที่เป็นสนามหญ้า อยู่ท่ามกลางต้นไม้และพุ่มไม้โดยรอบ ในบริเวณนี้จะมีค่า MRT ต่ำ เรามักจะรู้สึกเย็นสบายกว่าการอยู่ในพื้นที่บริเวณที่เป็นคอนกรีตโดยรอบ เพราะค่า MRT จะสูงกว่า ถึงแม้ว่าในขณะนั้นอุณหภูมิจะเท่ากัน​นอกจากนั้นแล้ว สภาวะน่าสบายประเมินด้วย "ปัจจัยด้านบุคคล" ได้อีกด้วย หากพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ แต่ละคนรู้สึกหนาวรู้สึกร้อนแตกต่างกันนั่งเอง ถึงแม้ว่าจะอยู่ในพื้นที่เดียวกันก็ตาม โดยปัจจัยด้านบุคคลที่ต้องนำมาพิจารณาก็มี 2 ประเด็น​1. เสื้อผ้าที่สวมใส่​2. อัตราการเผาผลาญของร่างกาย​สำหรับประเทศร้อนชื้นอย่างบ้านเรา การสวมเสื้อยืดกางเกงขาสั้นย่อมรู้สึกเย็นสบายมากกว่าการใส่เสื้อแขนยาวกางเกงขายาว เพราะเสื้อผ้าก็ทำหน้าที่เหมือนเป็นฉนวนป้องกันการถ่ายเทความร้อนของร่างกายเรากับสภาพแวดล้อม ซึ่งในการประเมินสภาวะน่าสบายจะมีการคำนึงถึงค่าสัมประสิทธิ์การต้านทานความร้อนของเสื้อผ้าหรือ Clo Value ด้วย ส่วนอัตราการเผาผลาญของร่างกาย ขึ้นอยู่กับกิจกรรมของมนุษย์ที่ทำอยู่ในพื้นที่นั้น โดยร่างกายก็จะผลิตความร้อนออกมาแตกต่างกัน ส่งผลต่อระดับความพึงพอใจหรือความสบายของบุคคลนั้นด้วยเช่นกัน​ในการออกแบบสภาพแวดล้อมทางภูมิทัศน์หรือภายนอกอาคาร จะมีการพูดถึงการประเมินค่า Universal Thermal Climate Index (UTCI) ซึ่งเป็นค่าดัชนีที่พัฒนาขึ้นมา เพื่อประเมินความสบายและความเครียดทางความร้อนของมนุษย์ในสภาพแวดล้อมต่างๆ โดยการคำนวณจะใช้ปัจจัยทั้ง 4 ประเด็นทางกายภาพของสภาพแวดล้อม ทั้งอุณหภูมิอากาศ ความชื้นสัมพัทธ์ ความเร็วลม และ MRT แล้วจะทำการแบ่งระดับความเครียดทางอุณหภูมิออกเป็น 10 ระดับ โดยระดับกลางคือ No Thermal Stress จะอยู่ที่อุณหภูมิ 9-26 องศาเซลเซียส​นับว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจสำหรับการศึกษาเรื่องสภาวะน่าสบายในสภาพแวดล้อมสำหรับประเทศไทย (อ่านเพิ่มเติมที่ https://bit.ly/3VjQysW) และมีหลายงานวิจัยที่พยายามศึกษาเกี่ยวกับ Comfort Zone ของคนไทย เนื่องจากคนไทยมีความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมแบบร้อนชื้นนี้แล้ว จึงอาจมีช่วงของสภาวะน่าสบายที่แตกต่างไปจากประเทศอื่นๆ ที่มีสภาพภูมิอากาศที่ต่างกัน​เนื้อหาโดย คุณ พันธ์พิสุ จุลพันธ์วัฒนา สถาปนิกวิจัยอาวุโสและผู้เชี่ยวชาญอาคารเขียว TREES-A, RISC​อ้างอิงข้อมูลจาก​Stein, B., & Reynolds, J. S. (1992). Mechanical and electrical equipment for buildings. New York: John Wiley & Sons​

541 viewer

ติด Wallpaper อย่างไร? ให้ปลอดเชื้อรา ลดภูมิแพ้

โดย RISC | 5 เดือนที่แล้ว

บ้านของใครติดวอลเปเปอร์บ้าง? ยกมือขึ้น!​ภายใต้การปกปิดด้วยสีสันและลวดลายที่สวยงาม อาจมีอันตรายซ่อนอยู่!! เพราะด้วยสภาพภูมิอากาศแบบร้อนชื้น (Hot-Humid Climate) ของบ้านเรา ที่มีทั้งความร้อนและความชื้นสูง จึงทำให้เกิดการสะสมความชื้นในผนังบ้านได้เป็นอย่างดี อีกทั้งการรั่วซึมน้ำฝนที่ผนังหรือหลังคา รวมถึงระบบท่อน้ำที่เสียหายชำรุด ก็ยิ่งทำให้ปัญหานั้นรุนแรงขึ้น​ไม่เพียงแค่นั้น การเปิดเครื่องปรับอากาศเพื่อทำความเย็นภายในห้องพักหรือบ้านเรือน ที่อุณหภูมิประมาณ 25-27 °C ภายใต้อุณหภูมิอากาศภายนอกอาคารที่สูงมากกว่า 36 °C และความชื้นสัมพัทธ์ที่สูงมากกว่า 60%RH โดยเฉพาะในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา อาจส่งผลให้เกิดการควบแน่นและกลั่นตัวเป็นหยดน้ำ (Condensation) ที่ภายในเนื้อวัสดุผนัง หรือที่ผิวผนังด้านใดด้านหนึ่งได้ ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เกิดอุณหภูมิจุดน้ำค้าง (Dew Point Temperature) เนื่องจากความร้อนปะทะกับความเย็น ซึ่งเป็นปรากฏการณ์เช่นเดียวกับการมีฝ้าไอน้ำเกาะตามผิวกระจก หรือการที่มีหยดน้ำเกาะด้านข้างของแก้วน้ำเย็นนั่นเอง​แผนภูมิที่ 1 Psychrometric Chart แสดงอุณหภูมิจุดน้ำค้างที่ 28 °C เมื่ออุณหภูมิอากาศภายนอก 36 °C และความชื้นสัมพัทธ์ 60%RH​ซึ่งปัญหาต่างๆ เหล่านี้ ทำให้มีความชื้นสะสมอยู่ในผนังบ้าน เราจึงไม่ควรใช้วัสดุอื่นปิดกั้น หรือควรเลือกใช้วัสดุที่ยอมให้ความชื้นระบายออกจากผนังได้เร็วที่สุด​แต่หากมีการตกแต่งผิวผนังหรือมีวัสดุอื่นปิดกั้นการระบายความชื้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการติดตั้งวอลเปเปอร์ ที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย เพราะสวยงามและยังช่วยปกปิดปัญหาความไม่เรียบร้อยของผนังก่ออิฐหรือผนังคอนกรีตได้เป็นอย่างดีนั้น อาจกลายเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของฝุ่นและสิ่งสกปรก ที่จะก่อให้เกิดเชื้อราตามมา และกลายเป็นมลพิษทางอากาศและเป็นสาเหตุหนึ่งของอาการภูมิแพ้โดยที่เราอาจไม่รู้ตัว​รูปที่ 1 การเกิดการควบแน่นที่ผนังอาคาร​รูปที่ 2 การเกิดเชื้อราที่ผนังอาคาร เนื่องจากวัสดุปิดผิวไม่สามารถระบายความชื้นออกได้​รูปที่ 3 แสดงวิธีการติดตั้งวอลเปเปอร์ เพื่อลดปัญหาการเกิดเชื้อราที่ผนังอาคาร​แต่หากมีความจำเป็นจริงๆ ที่ต้องตกแต่งบ้านด้วยวอลเปเปอร์ RISC มีข้อแนะนำวิธีการเลือกใช้วัสดุและแนวทางการติดตั้งตามนี้...​• ตรวจสอบและแก้ไขปัญหารอยร้าวหรือการรั่วซึมให้เรียบร้อย และรอให้ผิวผนังแห้งสนิท ป้องกันความชื้นสะสม​• ทาน้ำยารองพื้นป้องกันความชื้นที่มีส่วนผสมป้องกันเชื้อรา​• เลือกใช้กาวที่ไม่มีสารพิษ ไม่มีส่วนผสมที่เป็นอาหารของเชื้อรา และมีปริมาณสารระเหยต่ำ (Low VOCs)​• เลือกวอลเปเปอร์ชนิดที่สามารถระบายความชื้นได้ (Breathable Wallpaper) และเลือกหมึกพิมพ์ที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ ไม่มีสารพิษ​วอลเปเปอร์ไม่ใช่ผู้ร้าย ถ้าเราสามารถควบคุมปัจจัยทางสภาพแวดล้อมภายในบ้านของเราได้อย่างดี แต่หากประเมินแล้วว่า การควบคุมสภาพแวดล้อมเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ก็ควรหลีกเลี่ยงการติดวอลเปเปอร์สำหรับห้องพักอาศัย โดยเฉพาะห้องนอน เพื่อลดความเสี่ยงของการอยู่ร่วมกับเชื้อรา​แล้วครั้งสุดท้ายที่คุณสังเกตความเปลี่ยนแปลงของผนังบ้าน...คือเมื่อไหร่?​เนื้อหาโดย คุณ สริธร อมรจารุชิต ผู้ช่วยผู้อำนวยการ RISC​

697 viewer

เราได้เรียนรู้อะไร? จากเหตุไฟไหม้ถังบรรจุสารเคมีที่ระยอง

โดย RISC | 5 เดือนที่แล้ว

จากเหตุการณ์ไฟไหม้ถังบรรจุสารเคมีที่จังหวัดระยองเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่าน เราคงได้เห็นผลกระทบที่ตามมาในวงกว้างทั้งในเรื่องของความเสียหายด้านทรัพย์สิน ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม ซึ่งวันนี้เราจะมาดูกันว่าเราได้เรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อจะได้รู้จักและเข้าใจถึงสารเคมีที่เป็นอันตรายกับเรา รวมถึงพร้อมรับมือหากมีเหตุการณ์เกิดขึ้นอีกในอนาคต​ก่อนอื่นเลยเรามาทำความรู้จักสารเคมีที่มีชื่อว่า “ไพโรไลซิส แก๊สโซลีน” (Pyrolysis Gasoline) ที่อยู่ภายในถังบรรจุสารเคมีกันก่อน โดยทั่วไปในกระบวนการย่อยสลายแนฟทา (Naphtha Cracking) โดยใช้ความร้อนสูง จะได้ผลิตภัณฑ์หลักเป็นสารโอเลฟินส์ เช่น เอทิลีน พรอพิลีน ซึ่งใช้เป็นสารตั้งต้นในการบวนการผลิตพอลิเมอร์และพลาสติกต่างๆ อย่างไรก็ตามกระบวนการดังกล่าวยังได้ผลพลอยได้ที่เกิดขึ้น คือ ไพโรไลซิส แก๊สโซลีน หรือที่เรียกว่า ไพแก๊ส (Pygas)​มีผลกระทบต่อสุขภาพหรือไม่? ​ไพแก๊สเป็นสารไฮโดรคาร์บอนที่มีหลายองค์ประกอบรวมกัน ส่วนใหญ่เป็นสารอะโรเมติกส์และมีค่าออกเทนสูง จึงมักนำไปใช้ประโยชน์ในการเพิ่มค่าออกเทนในน้ำมันเบนซิน และใช้เป็นสารตั้งต้นในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ลักษณะของไพแก๊สนั้น เป็นของเหลวระเหยง่าย และจัดเป็นสารไวไฟ สามารถลุกติดไฟได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากไอของไพแก๊สมีความหนาแน่นมากกว่าอากาศ ทำให้สามารถสะสมในที่ต่ำบริเวณพื้น ไม่ลอยสู่บรรยากาศ หากไอของไพแก๊สกระจายไปในอากาศ จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพต่อผู้คนที่สัมผัสได้ ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อดวงตา ผิวหนัง ระบบทางเดินหายใจ มีอาการปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน หากได้รับปริมาณสูงอาจทำให้หมดสติได้​เมื่อไพแก๊สลุกติดไฟ จะเกิดเขม่าและคาร์บอนมอนอกไซด์ (Carbon Monoxide, CO) หากหายใจเข้าไปจะส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ นอกจากนี้ร่างกายที่ได้รับ CO มากเกินไป จะส่งผลให้ร่างกายขาดออกซิเจน มีอาการเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง เจ็บแน่นหน้าอก หอบเหนื่อย หากได้รับในปริมาณสูงแบบเฉียบพลัน อาจหมดสติ และเสียชีวิตได้​เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ ต้องทำอย่างไร? ​ส่วนการดับไฟจากการลุกไหม้ของไพแก๊ส ควรใช้สารเคมีแห้ง ทราย หรือโฟม และหลีกเลี่ยงการใช้น้ำ เนื่องจากไอของไพแก๊สสามารถลุกติดไฟลอยเหนือผิวน้ำได้ ทำให้ไฟลุกลามขยายเป็นวงกว้างมากขึ้น และเพื่อป้องกันอันตรายที่เกิดขึ้นจึงควรหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีการแพร่กระจายของไพแก๊ส รวมถึงเขม่าและควันที่เกิดขึ้นจากการเผาไหม้ ควรอยู่ในบริเวณที่มีอากาศถ่ายเทดี และควรสวมหน้ากากเพื่อป้องกันการหายใจเอาเขม่า รวมถึง PM 2.5 เข้าสู่ร่างกาย​เนื้อหาโดย คุณ สุพรรณภางค์ รักษาวงค์ นักวิจัยวัสดุ Sustainable Building Material ​อ้างอิงข้อมูลจาก​Safety Data Sheet: Pyrolysis Gasoline, https://www.vitol.com/wp-content/uploads/2023/01/25.-Pygas_SDS_US_V3.0.pdf​

838 viewer

ยิ่งสูงยิ่งหนาว แล้วเกี่ยวกับ PM2.5 ได้อย่างไร?

โดย RISC | 8 เดือนที่แล้ว

หลายคนคงคิดว่า ยิ่งอยู่สูงจะยิ่งหนาวขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้วมันไม่ใช่แบบนั้นทั้งหมด เพราะอะไรวันนี้ RISC มาช่วยไขข้อสงสัยนี้ให้​“ยิ่งสูงยิ่งหนาว” เราคงเคยมีประสบการณ์โดยตรงเวลาที่ขึ้นบนภูเขาหรือดอยสูงๆ กันมาบ้าง นั่นก็เพราะอุณหภูมิอากาศจากพื้นดินจะลดลงตามความสูงที่เพิ่มขึ้น ตามหลักการ Lapse rate โดยอุณหภูมิจะลดลงประมาณ 9.8 °C ต่อความสูงทุก 1 กิโลเมตร และเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้นเราจะขอเรียกชั้นนี้ว่า "ชั้นที่ 1" หรือ "Urban Boundary Layer" ​แต่พอความสูงถึงจุดๆ นึง ความหนาวจะค่อยๆ หายไป เนื่องจากเมื่อสูงถึงระดับหนึ่งในชั้นบรรยากาศ อุณหภูมิจะเปลี่ยนเป็นเพิ่มสูงขึ้นตามระดับความสูง ขอเรียกชั้นนี้ว่า "ชั้นที่ 2" หรือ “Inversion Layer” ซึ่งโดยทั่วไปชั้นนี้จะอยู่ที่ความสูงประมาณ 1-2 กิโลเมตร หรือในบางช่วงเวลาอาจอยู่ต่ำกว่านี้ และเมื่อพ้นชั้นนี้ไป อุณหภูมิก็จะเปลี่ยนกลับมาเป็นลดลงตามความสูงที่เพิ่มขึ้นจนพ้นชั้นบรรยากาศโลก ซึ่ง “Inversion Layer” ที่ว่านี้ ก็เปรียบเสมือน “ฝาชี” ที่ครอบพื้นที่และกีดขวางการกระจายตัวของอนุภาคต่างๆ ออกไปจาก "Urban Boundary Layer" นั่นเอง​นั่นหมายความว่า ควันไอเสียจากรถ ฝุ่นจากแหล่งกำเนิดต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่จะสามารถลอยตัวขึ้นได้สูงและมีโอกาสเจือจางกับอากาศได้มาก ก็ขึ้นอยู่กับระดับความสูงจากระดับพื้นดินของ “Inversion Layer” ถ้ายิ่งสูงก็ส่งผลให้อากาศระบายได้ดี ทำให้มลพิษที่ปนเปื้อนในชั้นบรรยากาศมีความเข้มข้นต่ำ แต่ในทางกลับกัน ถ้า “Inversion Layer” อยู่ต่ำ มลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นมีความเข้มข้นสูง ไม่สามารถลอยตัวขึ้นได้ หรือเจือจางกับอากาศได้น้อยลง ส่งผลให้อากาศระบายได้ไม่ดี​“Inversion Layer” จะอยู่สูงหรือต่ำจากระดับพื้นดิน ขึ้นอยู่กับช่วงเวลากลางวัน-กลางคืน และฤดูกาล โดยในช่วงเวลากลางวันเมื่อชั้นบรรยากาศได้รับความร้อนของแสงอาทิตย์ ทำให้อากาศขยายตัวและลอยขึ้น แต่ในช่วงเวลากลางคืน อากาศเย็นลง ส่งผลให้มีความหนาแน่นสูง ชั้นของ “Inversion Layer” จึงกดลงมาและอยู่ในระดับต่ำลง ส่วนในช่วงฤดูหนาวมีแรงกดอากาศเพิ่มขึ้น ความหนาของ "Urban Boundary Layer" จึงน้อยกว่าในช่วงฤดูฝนและร้อน ทั้งกลางวันและกลางคืน ทำให้หลายๆ พื้นที่มักเกิดปัญหา PM2.5 เข้มข้นสูงในช่วงฤดูหนาวมากกว่าฤดูอื่นๆ​ปัญหาฝุ่นในหลายๆ พื้นที่ โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ เกิดทั้งจากปัจจัยมนุษย์ที่สร้างแหล่งกำเนิด บวกกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติในบางช่วงเวลาที่มีการระบายอากาศต่ำ ดังนั้น การศึกษาเพื่อเข้าใจธรรมชาติ การพัฒนาเทคโนโลยีป้องกันฝุ่นและการควบคุมกิจกรรมบางอย่างของมนุษย์ในช่วงที่ธรรมชาติมีการระบายอากาศต่ำ จึงเป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่ช่วยให้เราทุกคนนำมาหาวิธีและปรับตัวอยู่กับสถานการณ์คุณภาพอากาศไม่ดีได้​เนื้อหาโดย อ.ดร.ภาคิน มาสกุลรัตน์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ คุณ ธนวัฒน์ จินจารักษ์ นักวิจัยอาวุโส ฝ่ายสิ่งแวดล้อม Urban Environmental & Biodiversity Engineer, RISC​

1450 viewer

ฝุ่นมาจากไหน? ช่วงเวลาใด? เราจะได้ตั้งหลัก (หนี) ทัน

โดย RISC | 8 เดือนที่แล้ว

ปัญหาฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯ เป็นปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นในทุกๆ ปี แต่มีใครรู้บ้างว่าฝุ่นเหล่านี้มาจากไหนกันบ้าง?​แหล่งกำเนิดฝุ่นละออง PM2.5 ในกรุงเทพฯ กว่า 57% มาจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงรถยนต์ (แบ่งเป็นรถยนต์ดีเซล 46% และรถยนต์เบนซินอีก 11%) 22% มาจากการเผาไหม้ชีวมวล ทั้งในอุตสาหกรรมก่อสร้าง โรงงานอุตสาหกรรม และการเผาในที่โล่งที่มาจากพื้นที่อื่นร่วมด้วย ส่วนที่เหลืออีก 21% จะเป็นฝุ่นทุติยภูมิ หรือก็คือ ฝุ่นละอองที่เกิดจากองค์ประกอบทางเคมีของก๊าซในบรรยากาศ เช่น ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO₂) และไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO₂) เมื่อโดนแสงแดดและความร้อนจะทำให้เกิดปฏิกิริยาสร้าง PM2.5 ขึ้นมาเพิ่มเติม​เราจะเห็นว่า กิจกรรมและปัจจัยแวดล้อมที่ก่อให้เกิด PM2.5 นั้น จะเกิดในช่วงเวลากลางวันไปจนถึงเวลาเย็นเป็นส่วนใหญ่ แต่ทำไมค่า PM2.5 กลับมาเข้มข้นมากจนเกินมาตรฐานในช่วงเวลากลางคืนไปจนถึงรุ่งเช้า? เราลองมาดูคำตอบนี้กัน​จากการศึกษาเรื่องความเข้มข้นกับการเปลี่ยนแปลงภายในวันของ PM2.5 โดยอ้างอิงจากวันที่ไม่มีความแปรปรวนของอากาศ พบว่า ความเข้มข้นของฝุ่นละอองในช่วงกลางคืนตั้งแต่ 19:00 - 06:00 น.มีมากที่สุด และช่วงเช้าตั้งแต่ 06:00 - 12:00 น.จะมีความเข้มข้นมากกว่าช่วงเวลากลางวันตั้งแต่ 12:00 - 19:00 น.เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพมหานคร หรือ พื้นที่ต่างจังหวัดก็ตาม​สภาพอุตุนิยมวิทยาสามารถอ้างอิงจากค่าอัตราการระบายอากาศ (Ventilation flow rate; m²/s) ซึ่งค่าอัตราการระบายอากาศนี้ เป็นผลร่วมของความเร็วลม (Wind speed, m/s) และค่าความสูงชั้นบรรยากาศ (Planetary Boundary Layer (PBL); meter) ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ โดยค่า PBL นั้น เป็นชั้นบรรยากาศที่อยู่ใกล้พื้นผิวโลกที่มีความปั่นป่วน (Turbulence) จากปฏิสัมพันธ์ระหว่างพื้นดินและบรรยากาศชั้นล่างที่มีผลต่อการแพร่กระจายมลพิษอากาศ หรือก็คือ สภาพอากาศที่มีระดับ PBL สูง จะทำให้อากาศมีโอกาสที่จะแพร่กระจายในแนวดิ่งได้มากขึ้น และทำให้ความเข้มข้นมลพิษอากาศระดับล่างลดลง หากสภาพอากาศที่มีค่า PBL ต่ำก็จะมีผลตรงข้ามกัน​หากสรุปให้เข้าใจง่ายๆ ความหนาแน่นของ PM2.5 ที่มีมากในช่วงเวลากลางคืน ก็คือ ผลของกิจกรรมการสร้าง PM2.5 ในเวลากลางวัน แต่ไม่สามารถระบายอากาศออกได้ทัน เนื่องจากอัตราการระบายอากาศที่ลดลงอย่างรวดเร็วนั่นเอง ​เมื่อเรารู้ว่าความหนาแน่นของ PM2.5 มักเกิดในช่วงกลางคืนไปจนถึงช่วงเช้า การออกกำลังกายยามเช้าหรือตอนดึกมากๆ ในช่วงฤดูฝุ่นไม่เป็นผลดี ควรหลีกเลี่ยง และที่สำคัญก่อนออกจากบ้านทุกครั้ง เราควรตรวจสอบค่าอัตราการระบายอากาศเบื้องต้น จากกรมอุตุนิยมวิทยาที่มีการพยากรณ์ล่วงหน้า 7 วัน เราจะได้สามารถตั้งหลักและพร้อมรับมือกับฝุ่นได้ทันท่วงที ​สามารถตรวจสอบค่าอัตราการระบายอากาศได้จาก http://ozone.tmd.go.th/Daily_VR.htmlเนื้อหาโดย คุณ ณพล เกียรติก้องมณี สถาปนิกวิจัยอาวุโส และผู้เชี่ยวชาญระดับ TREES-A, Building Technology, Intelligent Systems, Innovative Solutions, RISC​อ้างอิงข้อมูลจาก​กรมอุตุนิยมวิทยา http://ozone.tmd.go.th/Daily_VR.html​การเปลี่ยนแปลงภายในวันของ PM10 และความสัมพันธ์กับ พารามิเตอร์อุตุนิยมวิทยาในภาคเหนือของประเทศไทย http://164.115.28.46/thaiexen/file_upload/submitter/file_doc/108864782a2b951d956f1a72ffcf0dfeb22b1.pdf​สถานีตรวจวัดอุตุนิยมวิทยาใกล้ผิวดินและมลสารทางอากาศ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์​

1772 viewer

Love is in the Air อากาศดี สร้างสุขภาพดี เพื่อคนที่เรารัก

โดย RISC | 9 เดือนที่แล้ว

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์มาถึง บรรยากาศแห่งความรักก็เริ่มอบอวนไปทั่ว หลายคนเลือกจะมอบดอกไม้หรือให้ช็อกโกแลตที่หวานชื่นกับคนรัก แต่อีกหนึ่งสิ่งที่มองข้ามไม่ได้ ก็คือ การได้ดูแลรักษาสุขภาพของเราและคนที่เรารักให้ดีที่สุด โดยเฉพาะคุณภาพของอากาศภายในบ้าน ที่ส่วนใหญ่เรามักจะมองข้ามเรื่องนี้กันรู้หรือไม่ว่าจริงๆ แล้วอากาศที่เราหายใจเข้าไป ภายในอาคารกลับมีมลพิษมากกว่าอากาศภายนอกถึง 2-5 เท่ามลพิษทางอากาศเป็นภัยคุกคามที่เงียบงัน มองไม่เห็น และแฝงตัวอยู่ในบ้านของเราตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นฝุ่นละออง PM2.5, สารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (VOC) และสารก่อภูมิแพ้ต่างๆ จากการศึกษางานวิจัยหลายชิ้นได้เผยให้เห็นว่า คุณภาพอากาศที่ไม่ดี สามารถนำไปสู่ปัญหาสุขภาพมากมาย ตั้งแต่การไอ จาม คัดจมูก ระคายเคืองระบบทางเดินหายใจ และผิวหนัง ส่งผลให้เกิดความไม่สบาย ใช้ชีวิตได้ไม่เต็มที่ นอนหลับยาก นอกจากนี้ยังเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคร้ายตามมา อย่างเช่น ฝุ่นละออง PM2.5 ที่มีงานวิจัยบ่งชี้ว่า เป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) และโรคมะเร็งปอด (Lung cancer) ได้คุณภาพอากาศภายในอาคารไม่เพียงส่งผลต่อสุขภาพร่างกายของเราเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อสุขภาพจิตของเราได้อีกด้วย โดยมีงานวิจัยนึงที่ระบุว่า คุณภาพอากาศที่ไม่ดีสามารถส่งผลต่อความเหนื่อยล้า ปวดศีรษะ ไปจนถึงเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าได้เช่นกันเราคงเห็นกันแล้วว่า คุณภาพอากาศที่ไม่ดีนั้นส่งผลอย่างไรกับเรากันบ้าง การให้ความสำคัญกับการปรับปรุงคุณภาพอากาศ จึงเป็นสิ่งที่ต้องทำและไม่ยุ่งยากหรือต้องใช้เทคโนโลยีแพงๆ เสมอไป เช่น...​• เปิดหน้าต่างเพื่อให้อากาศถ่ายเท: แม้จะเป็นช่วงที่มีฝุ่นละออง PM2.5 การเปิดหน้าต่างระบายอากาศเป็นสิ่งที่จำเป็นเช่นกัน เพื่อลดการสะสมมลพิษอากาศในอาคาร แต่ต้องดูเรื่องระยะเวลาที่เหมาะสม และเพียงพอต่อการระบายอากาศมลพิษในอาคาร ไม่ควรเปิดหน้าต่างทิ้งไว้นานเกินไป การเปิดหน้าต่างควรเปิดหน้าต่างอย่างน้อย 2 บานที่อยู่ในตำแหน่งตรงข้ามหรือทะแยงกัน เพื่อให้อากาศมีทางเข้าและออก รวมทั้งการระบายอากาศด้วยการใช้พัดลม ก็จะช่วยเพิ่มการเคลื่อนไหวของอากาศภายในห้องให้มากขึ้น หรือถ้าจะลงทุนหน่อย ก็สามารถติดตั้งระบบเติมอากาศ ระบบแลกเปลี่ยนอากาศ (Energy Recovery Ventilator: ERV)  พร้อมกับการติดแผ่นกรองฝุ่นก็ยิ่งทำให้ได้อากาศจากภายนอกที่ดีขึ้นเช่นกัน​• ทำความสะอาดเพื่อลดการสะสมของมลพิษที่อยู่ในบ้าน: กิจกรรมและสิ่งของที่อยู่ในบ้านสามารถก่อให้เกิดและสะสมของมลพิษในอากาศได้ ซึ่งนอกจากการระบายอากาศแล้ว การทำความสะอาดเป็นประจำก็เป็นสิ่งที่ควรทำควบคู่กันไปด้วย รวมทั้งการใช้สารทำความสะอาด ก็ควรเลือกสารทำความสะอาดที่ไม่มีสารเคมีรุนแรง นอกจากนี้ยังต้องหมั่นทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศตามรอบ ล้างฟิลเตอร์เป็นประจำ หากมีเครื่องฟอกอากาศ ก็ควรเปลี่ยนฟิลเตอร์เครื่องฟอกอากาศตามรอบด้วยเช่นกัน ​• เลือกเครื่องฟอกอากาศที่เหมาะสม: เครื่องฟอกอากาศถือเป็นหนึ่งในผู้ช่วยในการจัดการมลพิษต่างๆ ในบ้าน โดยเฉพาะฤดูที่มีฝุ่น PM2.5 ปริมาณสูง โดยการเลือกเครื่องฟอกอากาศให้เหมาะสม ต้องคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ตั้งแต่ขนาดห้อง, อัตราการสร้างอากาศบริสุทธิ์ (CADR: Clean Air Delivery Rate), เทคโนโลยีการกรองอากาศ รวมทั้งประสิทธิภาพแผ่นกรองอากาศ ที่ควรเป็นแผ่นกรอง HEPA H13 ขึ้นไป เพื่อช่วยกรองฝุ่น PM2.5 และควรมีแผ่นกรอง Activated Carbon เพื่อกรอง VOC กลิ่นต่างๆ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ควรนำมาพิจารณาเช่นกัน เช่น เรื่องเสียงดัง, การเชื่อมต่อ Smart Home, การมีเซนเซอร์แสดงค่าคุณภาพ, การกินไฟ, การรับประกัน และการซ่อมแซม สำหรับคนที่เป็นภูมิแพ้ควรพิจารณาเครื่องฟอกอากาศที่ได้รับการรับรองจาก Certified asthma & allergy friendly® โดยสามารถดูรายชื่อได้ที่นี่ https://www.asthmaandallergyfriendly.com/USA/products_categories/air-cleaners/​• ปลูกต้นไม้ที่ช่วยฟอกอากาศ: แม้ต้นไม้จะไม่มีประสิทธิภาพในการฟอกอากศเทียบเท่าเครื่องฟอกอากาศ แต่ต้นไม้ถือเป็นตัวช่วยฟอกอากาศอีกทางแบบธรรมชาติ และยังให้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ กับเราได้ ทั้งทำให้ผ่อนคลาย เพิ่มความสวยงาม โดยสามารถดูรายชื่อฐานข้อมูลต้นไม้ฟอกอากาศได้ที่ https://risc.in.th/plants​• ตรวจเช็กค่าคุณภาพอากาศนอกบ้านและในบ้าน: การตรวจเช็กค่าคุณภาพอากาศจะช่วยให้เราเลือกตัดสินใจในการใช้ชีวิตได้ดีขึ้น ตามสภาพคุณภาพอากาศ ณ ช่วงเวลานั้นๆ เช่น ตอนนี้ควรเปิดหน้าต่างหรือไม่, สามารถออกกำลังกายนอกบ้านได้หรือเปล่า หรือควรออกกำลังกายในบ้าน เราสามารถตรวจเช็กค่าคุณภาพอากาศภายนอกได้ จากหลายเว็บไซต์ รวมทั้งแอปพลิเคชัน เช่น https://www.iqair.com/th-en/thailand/bangkok, https://aqicn.org/city/bangkokส่วนการตรวจเช็กคุณภาพอากาศภายในอาคาร หากเครื่องฟอกอากาศมีเซนเซอร์ตรวจวัดอยู่แล้ว สามารถดูค่าคุณภาพอากาศได้จากแถบสี หน้าจอ หรือแอปพลิเคชันของเครื่องฟอกอากาศได้ หรือซื้อเซนเซอร์วัดคุณภาพอากาศในอาคารมาตรวจวัดโดยเฉพาะก็ได้ โดยค่าคุณภาพอากาศในอาคารที่ควรตรวจวัด ได้แก่ ฝุ่น PM2.5, PM10, TVOC และ CO₂​เมื่อเราปรับปรุงคุณภาพอากาศภายในบ้านของเรา เราจะเริ่มเห็นผลลัพธ์ที่น่าประทับใจ นอกเหนือจากการลดลงของปัญหาระบบทางเดินหายใจแล้ว เราอาจสังเกตเห็นว่า ตัวเรามีพลังงานมากขึ้น นอนหลับได้ดีขึ้น และรู้สึกสดชื่นเมื่อตื่นนอนในตอนเช้า ไม่ต้องรู้สึกระคายเคืองจมูก หรือระบบทางเดินหายใจอากาศที่สดชื่นสามารถช่วยลดความเครียดและเพิ่มความสุขให้กับทุกคนในบ้านได้ การให้ความสำคัญกับอากาศที่สะอาดภายในบ้าน ก็เป็นอีกทางในการสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมความรัก ความสุข และความเป็นอยู่ที่ดี ให้ทุกวันเปี่ยมไปด้วยพลังและความสุขเนื้อหาโดย คุณ เพชรรินทร์ พงษ์เพ็ชรกูล สถาปนิกวิจัยอาวุโส และผู้เชี่ยวชาญระดับ LEED AP BD+C, WELL AP, Fitwel Ambassador, TREES-A NC, ActiveScore AP, RISCอ้างอิงข้อมูลจาก​World Health Organization. (2021). Global Air Quality Guidelines: Particulate Matter (PM2.5 and PM10), Ozone, Nitrogen Dioxide, Sulfur Dioxide and Carbon Monoxide. https://www.who.int/publications/i/item/9789240034228 ​World Health Organization. (n.d.). Household air pollution and health. Retrieved from https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/household-air-pollution-and-health?gclid=CjwKCAiAiP2tBhBXEiwACslfnsFOiv6qpy221c2deEtZKBJxcV7wYg0HuCAtETa_lJq7tKkAhp6NRxoC4DkQAvD_BwE ​Allergy Standards Limited. (n.d.). Portable air cleaners. Retrieved from https://www.asthmaandallergyfriendly.com/USA/products_categories/air-cleaners/portable-air-cleaners/ ​IQAir. (n.d.). Air quality in Bangkok. Retrieved from https://www.iqair.com/th-en/thailand/bangkok ​World Air Quality Index Project. (n.d.). Air quality information for Bangkok. Retrieved from https://aqicn.org/city/bangkok

1121 viewer

ตรุษจีน เราเปลี่ยนการจุดธูปให้รักษ์โลกกันเถอะ

โดย RISC | 9 เดือนที่แล้ว

เทศกาลตรุษจีนปีนี้ หลายครอบครัวคงกำลังเตรียมสิ่งของเพื่อกราบไหว้เทพจ้า บรรพบุรุษ รวมถึงญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว เพื่อความเป็นสิริมงคล ความโชคดี และความมั่งมี ซึ่งนอกจากอาหารคาวหวาน ผลไม้ ที่ต้องจัดเตรียมแล้ว สิ่งที่ใช้ในพิธีไหว้ที่ขาดไม่ได้อีกอย่างนึงก็คือ “ธูป”​ธูปเป็นสิ่งสำคัญที่ใช้ในการสักการะบูชาสิ่งที่เคารพนับถือ ทั้งพิธีทางศาสนา หรือความเชื่อต่างๆ ธูปเปรียบเสมือนสื่อกลางที่เราใช้สื่อสารกับสิ่งที่เราศรัทธา นับถือ จำนวนธูปที่ใช้จึงมีความหมายต่างกัน เช่น ธูป 1 ดอกสำหรับไหว้ผีบ้านผีเรือน ธูป 2 ดอกสำหรับไหว้เจ้าที่ วิญญาณ หรือใช้ปักบนอาหารเครื่องเซ่น ธูป 3 ดอกสำหรับใช้ไหว้พระรัตนตรัย หรือธูป 9 ดอกสำหรับบูชาเทพารักษ์​เมื่อเราจุดธูป ควันธูปที่ลอยขึ้นไปทำให้เรารู้สึกว่า คำขอหรือข้อความที่เราจะสื่อสารถูกส่งไปยังผู้รับ แต่รู้หรือไม่ว่า เราก็กำลังสูดดมสารอันตรายเข้าสู่ร่างกายโดยไม่รู้ตัว ไม่ว่าจะเป็นฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM) ซึ่งมีปริมาณสูงกว่าควันจากบุหรี่ถึง 4.5 เท่า และยังมีคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) คาร์บอนไดออกไซด์ (CO₂) ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO₂) ไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO₂) สารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) รวมถึงสารพอลิไซคลิกอะโรมาติกไฮโรคาร์บอน (PAHs) ซึ่งเป็นมลพิษทางอากาศและอันตรายต่อร่างกายของเรา อาจก่อให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจ โรคภูมิแพ้ ผิวหนังอักเสบ หรือโรคมะเร็งตามมาได้​นอกจากนี้ควันธูปยังก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วย เนื่องจากคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาพร้อมควันธูป จัดเป็นก๊าซเรือนกระจกที่เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาภาวะโลกร้อน โดยธูปทุก 1 ตันจะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา 1 ใน 3 ของน้ำหนักธูป ยิ่งมีปริมาณการใช้ธูปมากเท่าไหร่ ก็ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเท่านั้น​เทศกาลตรุษจีนปีนี้ เรามาลองเปลี่ยนวิธีกันใหม่ โดยจุดธูปแล้วดับธูปก่อนจะปักลงในกระถาง ไม่ปล่อยให้ธูปเผาไหม้จนมอดดับไปเอง หรือจะลองเปลี่ยนไปใช้ธูปไฟฟ้า ซึ่งไม่มีการเผาไหม้เกิดขึ้นเลย ทั้งนี้ก็เพื่อสุขภาพที่ดีของตัวเรา ครอบครัว และคนรอบข้าง รวมไปถึงเพื่อต่ออายุให้โลกใบนี้อีกทางนึงด้วย​เนื้อหาโดย คุณ สุพรรณภางค์ รักษาวงค์ นักวิจัยวัสดุ Sustainable Building Material ​อ้างอิงข้อมูลจาก​1. Krishnaswamy G, Chi DS. Incense smoke: clinical, structural and molecular effects on airway disease. Clin Mol Allergy. 2008 Apr 25;6:3.​2. วิมลรัตน์ ถิ่นวงษ์ยอด.หยุดจุดธูป ลดคาร์บอน ช่วยโลกร้อน หย่อนควันพิษ ทอนฤทธิ์มะเร็ง, https://www.mnre.go.th/attachment/iu/download.php?WP=rUIjnJ0jqmMZZJ1CM5O0hJatrTgjWz0kqmMZAJ1CM5O0hJatrTDo7o3Q

1379 viewer

PM2.5 สูงแบบนี้ แค่เครื่องฟอกอากาศในบ้านอาจไม่พอ

โดย RISC | 10 เดือนที่แล้ว

รู้หรือไม่ ในช่วงที่มลพิษทางอากาศสูง เราคิดว่าการหลบอยู่ในอาคารและเปิดเครื่องฟอกอากาศจะช่วยลดผลกระทบได้ แต่....อาจจะไม่เพียงพอ!!!​นั่นก็เพราะในอาคารหรือที่อยู่อาศัยของเรา ไม่สามารถป้องกัน ฝุ่น PM2.5 หรืออนุภาคที่มีขนาดเล็กกว่านั้นได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งอนุภาคเหล่านั้นสามารถเคลื่อนตัวผ่านช่องประตูหรือหน้าต่างได้สบาย แม้ว่าจะมีการปิดสนิทแล้วก็ตาม จริงอยู่ที่เครื่องฟอกอากาศนั้นสามารถดักจับ PM2.5 ได้ในระดับหนึ่ง แต่ต้องยอมรับว่าคงไม่เพียงพอ เพราะอนุภาคเหล่านั้นยังคงสามารถไหลเข้ามาในอาคารผ่านช่องต่างๆ ได้อยู่เรื่อยๆเจอปัญหาแบบนี้ แล้วเราจะแก้อย่างไร?​วิธีหนึ่งที่น่าสนใจ คือ การทำให้อาคารหรือบ้านที่เราอาศัยอยู่ มีความดันอากาศมากกว่าความดันอากาศภายนอก หรืออยู่ในสภาวะความดันบวก หรือ “แรงดันเป็นบวก” (Positive Pressure Environment) โดยตามหลักการแล้ว ความดันอากาศที่มากกว่า จะมีแรงดันเคลื่อนอากาศไปยังพื้นที่ที่มีความดันอากาศน้อยกว่า ซึ่ง PM2.5 และอนุภาคเชื้อโรคอื่นๆ ที่มีอากาศเป็นตัวกลางในการเคลื่อนที่จะถูกดันออก ไม่สามารถเข้ามาในอาคารได้นั่นเอง​ในทางทฤษฎีนั้น ระบบความดันบวกหรือระบบแรงดันบวก จะใช้ควบคู่ไปกับระบบเติมอากาศจากภายนอกเข้ามา (Fresh air) และผ่านไส้กรองอากาศ (Filter) HEPA H13 ที่สามารถกรองอนุภาคขนาดเล็กได้  ซึ่งเงื่อนไขในการสร้างสภาวะอากาศที่มีแรงดันบวกมีตามนี้...​• ปริมาณอากาศเข้า (Supply air) แยกตามประเภทของพื้นที่ใช้สอยตามมาตรฐานการระบายอากาศ​*ข้อกำหนดยึดตามมาตรฐานการระบายอากาศ Minimum Ventilation Rates in Breathing Zone เพื่อคุณภาพอากาศภายในอาคารที่ยอมรับได้ ยกตัวอย่าง อาคารอยู่อาศัยทั่วไปกำหนดให้มีอัตราการหมุนเวียนอากาศ (Air Change Rate)  0.35-1 ACH และไม่น้อยกว่า 15 cfm/person โดยในห้องนอนแนะนำ 2-4 ACH และห้องนั่งเล่นแนะนำ 3-6 ACH กรณีป้องกันการติดเชื้อโรคร่วมด้วย เป็นต้น ​• ปริมาณอากาศออก (Exhaust air) ให้มีปริมาณของอากาศน้อยกว่าปริมาณอากาศเข้า 10-15% ​• ความแตกต่างของความดันอากาศในอาคารมากกว่าภายนอก 2.5 Pa ขึ้นไป (หากเพิ่มความแตกต่างถึง 8 Pa ถือว่าเป็นความดันอากาศบวกอย่างสมบูรณ์ที่สามารถป้องกันอนุภาคต่างๆ ได้)​การเติมอากาศและการเพิ่มความดันอากาศภายในห้องให้เป็นบวกนั้น จะไม่ส่งผลกระทบกับตัวเราแล้ว ยังช่วยลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากเราหายใจตลอดเวลาให้เจือจางลงอีกด้วย ทำให้คุณภาพอากาศภายในห้องดีขึ้นในวันนี้ เราอาจไม่สามารถหลีกเลี่ยงการมาของ "ฤดูฝุ่น" ได้ ซึ่งด่านป้องกันสุดท้ายของเราก็คือ "บ้าน" หากมีการออกแบบระบบระบายอากาศอย่างเข้าใจและถูกวิธี จะทำให้เราอยู่บ้านได้อย่างปลอดภัย และสุขภาพดี ส่วนเวลาที่ออกนอกบ้านเมื่อไร ก็อย่าลืมใส่หน้ากากป้องกัน PM2.5 กันด้วยนะ​เนื้อหาโดย คุณ ณพล เกียรติก้องมณี สถาปนิกวิจัยอาวุโส และผู้เชี่ยวชาญระดับ TREES-A, Building Technology, Intelligent Systems, Innovative Solutions, RISCอ้างอิงข้อมูลจาก​https://acat.or.th/download/acat_or_th/V26-(2).pdf​https://commercialairfiltration.co.uk/blogs/news/positive-and-negative-pressure-rooms#:~:text=Air%20pressure%20in%20the%20room,ideally%20should%20be%208%20Pa.​https://www.tmn.co.th/download/tmn_co_th/CL_Cooling_Load_Calc/Calculations-of-Ventilation-Rate-According-to-ASHRAE-Standard-62-1.pdf​

1316 viewer

ฝุ่นเยอะแบบนี้ เลือกความละเอียดของไส้กรองอากาศอย่างไรดี?

โดย RISC | 1 ปีที่แล้ว

ปัญหาฝุ่น PM2.5 ยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังด้านมลพิษทางอากาศที่จะเวียนมาให้พบปะเป็นประจำทุกปี นั่นก็เพราะปัจจัยที่ก่อให้เกิดฝุ่นนั้นยังไม่ได้รับการแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไอเสียจากการจราจรและอุตสาหกรรม การเผาวัสดุทางการเกษตร รวมถึงฝุ่นควันที่พัดมาจากประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ในช่วงที่สภาพอากาศนิ่ง ลมสงบ หรือช่วงฤดูหนาว ปริมาณฝุ่นละอองในอากาศจึงสูงขึ้นมากจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพ​ในช่วงฤดูฝุ่น PM2.5 แบบนี้ หากจำเป็นต้องออกไปทำกิจกรรมภายนอก จึงควรสวมหน้ากากอนามัยอยู่เสมอ ซึ่งหน้ากากอนามัยนั้นต้องมีคุณสมบัติที่ป้องกันฝุ่น PM2.5 หรือฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนได้ อย่างหน้ากากที่ได้มาตรฐาน N95 อ้างอิงจากมาตรฐาน The National Institute for Occupational Safety and Health (NIOSH) ของสหรัฐอเมริกา โดยตัว N ย่อมาจาก Non-resistant to Oil เป็นแผ่นกรองที่ไม่ทนต่อน้ำมัน มีคุณสมบัติกรองอนุภาค 0.3 ไมครอน ได้ไม่ต่ำกว่า 95%​มีคำถามตามมาว่า ถ้าเวลาที่เราอยู่ในอาคารที่ปิดประตูหน้าต่างมิดชิดและเปิดใช้งานเครื่องปรับอากาศ เราปลอดภัยต่อ PM2.5 แล้วหรือยัง?​จริงๆ แล้วขึ้นอยู่กับรอยต่อรอยรั่วซึมของอาคารนั้นๆ แต่...ยิ่งมิดชิดมากเท่าไหร่ ก็มีโอกาสเกิดการสะสมของมลพิษอื่นๆ ที่เกิดจากในอาคารเองมากขึ้นเช่นกัน หากไม่มีการระบายอากาศที่ดี เช่น CO2 ที่มาจากการหายใจของมนุษย์ หรือแม้แต่สารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) ที่อาจปลดปล่อยออกมาจากผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดบ้าน น้ำหอม เฟอร์นิเจอร์ หรือวัสดุอาคาร มลพิษเหล่านี้หากสะสมจนสูงเกินมาตรฐานก็ส่งผลต่อสุขภาพผู้อยู่อาศัยได้อีกเช่นกัน​สำหรับแนวทางที่เหมาะสมในการรับมือกับ PM2.5 หากเราใช้ชีวิตอยู่ในอาคาร ก็คือ การใช้ระบบ Fresh Air Unit (FAU) บางครั้งถูกเรียกว่า Outdoor Air Unit (OAU) หรือระบบแลกเปลี่ยนอากาศที่มีประสิทธิภาพด้านพลังงาน Energy Recovery Ventilator (ERV) เป็นการถ่ายเทนำอากาศภายนอกเข้ามาระบายมลพิษภายในอาคาร แต่ต้องมีการใช้แผ่นกรอง (Filter) เพื่อกรองไม่ให้ PM2.5 เข้ามาในอาคารด้วย ​สำหรับการเลือก Filter หรือแผ่นกรองอากาศมีหลายชนิดตามความต้องการว่าจะกรองมลพิษชนิดใด ซึ่งแผ่นกรองฝุ่นก็มีมาตรฐานแตกต่างกันไปตามคุณลักษณะและประสิทธิภาพการกรองต่อขนาดของฝุ่น โดยบางผู้ผลิตก็อ้างอิงตามมาตรฐาน ASHRAE 52.2-1999 โดย ASHRAE (American Society of Heating, Refrigerating and Air-Conditioning Engineers) เป็นสมาคมด้านวิศวกรรมปรับอากาศและทำความเย็นของสหรัฐอเมริกา จะแบ่งระดับการกรองเป็น MERV (Minimum Efficiency Reporting Value) มีระดับตั้งแต่ MERV1- MERV16​จากข้อมูลในตารางด้านล่างจะเห็นว่า หากจะเลือก Filter สำหรับกรองฝุ่น PM2.5 หรือฝุ่นที่ขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอนให้มีประสิทธิภาพนั้นก็ควรเลือก Filter ระดับ MERV 13 ขึ้นไป ซึ่งความสามารถในการกรองจะเพิ่มขึ้นตามลำดับ MERV ที่สูงขึ้น​บางผู้ผลิตก็อ้างอิงตามมาตรฐาน EN779:2012 หรือก็คือ European Standard ซึ่งเป็นฉบับปรับปรุงใหม่ในปี 2012 มาตรฐานยุโรปจะจัดประเภทแผ่นกรองอากาศออกเป็นชนิดกรองหยาบและกรองละเอียด โดยฟิลเตอร์เกรด G1-G4 หรือกรองหยาบจะใช้ค่าน้ำหนักของฝุ่นที่แผ่นกรองอากาศสามารถกักเก็บไว้ได้เป็นตัวจำแนก และแผ่นกรองละเอียดในเกรด M5-F9 จะวัดจากประสิทธิภาพในการกรองฝุ่นที่ขนาด 0.4 ไมครอน หากเปรียบเทียบกับแผ่นกรองที่ค่า MERV 13 ขึ้นไปเพื่อใช้ในการกรอง PM2.5 ให้ได้ประสิทธิภาพที่ดี ควรเลือกใช้แผ่นกรองในระดับ F7 ขึ้นไปดังตารางด้านล่าง​พอเรารู้ระดับการกรองฝุ่นแล้ว เวลาไปเลือกซื้อเราก็เลือกตามความเหมาะสมที่เราต้องการกรอง เพื่อที่จะได้เกิดสุขภาวะที่ดีแก่ผู้ใช้งานอาคารต่อไป​เนื้อหาโดย คุณ พันธ์พิสุ จุลพันธ์วัฒนา สถาปนิกวิจัยอาวุโสและผู้เชี่ยวชาญอาคารเขียว TREES-A, RISC

2034 viewer

รับข่าวสาร

ลงทะเบียนเพื่อรับข่าวสารกับเรา

© 2024 Magnolia Quality Development Corporation Limited - A DTGO Company
ผลลัพธ์
การยืนยัน
การยืนยัน