Knowledge - RISC

ลดเสี่ยง "ซึมเศร้า" ลองนอนเร็วขึ้นหนึ่งชั่วโมง

เขียนบทความโดย RISC | 9 เดือนที่แล้ว

แก้ไขล่าสุด : 9 เดือนที่แล้ว

798 viewer

“โรคซึมเศร้า” อีกหนึ่งโรคที่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมากในปัจจุบัน เนื่องจากมีผู้คนที่เป็นโรคนี้มากขึ้นๆ ในแต่ละปี ไม่เว้นแม้แต่ในแวดวงงานวิจัย ก็มีการศึกษาเกี่ยวกับโรคซึมเศร้ามาอย่างต่อเนื่อง​

หนึ่งในตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ (Biomarker) ที่มีความเกี่ยวข้องกับอาการซึมเศร้าที่นักวิจัยศึกษากันมาอย่างยาวนาน นั่นคือ “การนอนหลับ” โดยที่ผ่านมาได้ศึกษาเจาะลึกลงไปในลักษณะความแตกต่างของวงจรนาฬิกาชีวิต (Circadian Rhythm) ซึ่งได้จำแนกคนออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ ผ่านกิจวัตรในชีวิตประจำวัน คือ กลุ่มคนที่เหมาะกับทำงานตอนเช้า และกลุ่มคนที่เหมาะกับทำงานในตอนค่ำ​

มีงานวิจัยจำนวนมาก ได้พบความสัมพันธ์ของกลุ่มคนที่ตื่นสายหรือทำงานในตอนค่ำว่า มีความเสี่ยงที่จะเกิดซึมเศร้าเพิ่มขึ้นมากกว่ากลุ่มคนที่ตื่นเช้า อีกทั้งในงานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสาร JAMA Psychiatry ได้นำข้อมูลจากตัวอย่างประมาณ 840,000 คน ที่ใช้เครื่องมือติดตามการนอนหลับเป็นเวลา 7 คืน นำมาวิเคราะห์และได้ผลสรุปว่า ทุก 1 ชั่วโมงที่เร็วขึ้นของช่วงกึ่งกลางการนอน (Midpoint of Sleep – ช่วงกึ่งกลางระหว่างเวลาเข้านอนและตื่นนอน) จะมีความเสี่ยงของการเกิดโรคซึมเศร้าลดลงไปถึง 23% เลยทีเดียว​

ขอตัวอย่างให้เข้าใจง่ายๆ เช่น หากช่วงเวลาเข้านอนปกติของคุณคือเวลาตีหนึ่ง และลองปรับตารางเวลานอนมาเป็นเที่ยงคืนแทน จะลดความความเสี่ยงลง 23% หรือหากเปลี่ยนเวลานอนมาเป็นห้าทุ่มแทนนั้น ก็จะลดความเสี่ยงลงไปประมาณ 40%​

จากงานวิจัยนี้ อาจช่วยให้เราเริ่มเล็งเห็นถึงความสำคัญของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการนอน ที่แม้เพียงเล็กน้อย แต่ก็สามารถช่วยเพิ่มสุขภาวะทางอารมณ์ที่ดีขึ้น และลดความเสี่ยงจากการเป็นซึมเศร้าได้อีกด้วย แม้ว่าวงจรนาฬิกาชีวิตดังที่กล่าวมา ส่วนหนึ่งได้รับอิทธิพลจากพันธุกรรมที่มีมาแต่กำเนิด แต่รูปแบบการใช้ชีวิตและสิ่งแวดล้อมรอบตัว ก็ยังส่งผลโดยตรงกับนาฬิกาชีวิต และวงจรการนอนหลับได้เช่นเดียวกัน ดังนั้น พฤติกรรมที่เราเคยชินบางอย่าง เช่น การดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนในช่วงเย็น การใช้มือถือในช่วงเวลาก่อนเข้านอน การอยู่ในอาคารที่ได้รับแสงแดดไม่เพียงพอ ซึ่งทั้งหมดล้วนส่งผลเกี่ยวกับเวลาเข้านอนที่ยืดออกไป​

หากปีใหม่นี้คุณอยากเริ่มต้นเป้าหมายอะไรใหม่ๆ ก็ลองเริ่มจากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมง่ายๆ เหล่านี้ดู บางทีอาจส่งผลให้คุณมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและนำไปสู่การทำสิ่งที่คุณตั้งเป้าหมายไว้ให้สำเร็จได้ง่ายขึ้นก็เป็นได้​

เนื้อหาโดย คุณ รุ่งรวี รสชื่น นักวิจัยอาวุโส ด้านพฤติกรรมและประสาทวิทยา, RISC​

อ้างอิงข้อมูลจาก​
https://neurosciencenews.com/depression-wake-early-18513/​
https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S2352250X19301599?via%3Dihub​
https://www.psy.chula.ac.th/th/feature-articles/circadian-rhythm

รับข่าวสาร

ลงทะเบียนเพื่อรับข่าวสารกับเรา

© 2024 Magnolia Quality Development Corporation Limited - A DTGO Company
ผลลัพธ์
การยืนยัน
การยืนยัน