Knowledge - RISC

เชื้อเพลิงอากาศยานคาร์บอนต่ำ ทางเลือกใหม่เพื่ออนาคต

เขียนบทความโดย RISC | 2 ปีที่แล้ว

แก้ไขล่าสุด : 1 ปีที่แล้ว

3426 viewer

อย่างที่เราเริ่มเห็นๆ กัน ว่าในปัจจุบันทั่วโลกกำลังตื่นตัวกับการประกาศเป้าหมายในการลดคาร์บอน เพื่อที่จะควบคุมไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงเกิน 1.5 องศาเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม ซึ่งธุรกิจการบินก็เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ต้องปรับตัวด้วยเช่นกัน

แล้วทำไมธุรกิจการบินถึงต้องเริ่มปรับตัวในเรื่องนี้?

มีการศึกษาพบว่า เที่ยวบินระหว่างกรุงลอนดอนไปยังเมืองซานฟรานซิสโกปล่อยคาร์บอนเกือบ 1 ตันต่อผู้โดยสารชั้นประหยัดหนึ่งคน และเมื่อนับรวมกับทั้งโลกแล้ว อุตสาหกรรมการบินนั้นปล่อยคาร์บอนมากถึง 1,040 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ หรือคิดเป็น 2.5% ของปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยทั้งโลกในปี 2018 ถ้าดูจากตัวเลขหลายคนอาจจะคิดว่า ก็ไม่มากเท่าไหร่...แต่อย่าลืมว่า ผู้โดยสารที่ใช้เครื่องบินนั้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี และมีการคาดการณ์เอาไว้ว่า จำนวนผู้โดยสารเครื่องบินจะเพิ่มขึ้น 2 เท่า เป็น 8 พันล้านกว่าคนภายในปี 2050

จากเหตุผลที่ว่ามา คงมีน้ำหนักมากพอที่จะทำให้ทั่วโลกต้องหาทางลดการปล่อยคาร์บอนจากธุรกิจการบิน

น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน (Jet Fuel) ที่ใช้กับเครื่องบินไอพ่น ทั้งเครื่องบินโดยสาร เครื่องบินพาณิชย์ และเครื่องบินไอพ่นทหาร โดยปกติแล้วจะผลิตจาก "เชื้อเพลิงฟอสซิล" เลยทำให้มีคาร์บอนฟุตพรินต์ที่สูง ซึ่งในปัจจุบันจึงมีความพยายามในการพัฒนา "น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานที่ยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel: SAF)" ที่มีคาร์บอนฟุตพรินต์น้อยกว่าน้ำมันอากาศยานที่ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิล

SAF จะมีคุณสมบัติทางเคมีคล้ายคลึงกับน้ำมันที่ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิล แต่ต่างกันตรงที่ SAF จะผลิตจากวัตถุดิบที่มาจากธรรมชาติเท่านั้น ซึ่งชีวมวลที่สามารถใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตก็มีตั้งแต่ พืชที่มีน้ำมัน สาหร่าย น้ำมันทำอาหารใช้แล้ว ไขมันจากสัตว์ ของเสียจากการเกษตร โดย SAF สามารถช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้ถึง 80% ตลอดวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์เมื่อเทียบกับน้ำมันอากาศยานแบบเดิม

ปัจจุบันหลายประเทศ โดยเฉพาะสหภาพยุโรป ได้ให้ความสนใจและพัฒนา SAF กันมากขึ้น ซึ่งได้มีการประกาศวิสัยทัศน์ Destination 2050 เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 และยังประเมินว่า การใช้ SAF จะช่วยลดคาร์บอนได้ถึง 34% เมื่อนำมาร่วมใช้กับมาตรการอื่น เช่น การปรับปรุงเทคโนโลยีอากาศยานและเครื่องยนต์ การใช้มาตรการทางเศรษฐกิจและการปรับปรุงการจัดการจราจรทางอากาศ ก็จะช่วยให้ธุรกิจการบินของยุโรปบรรลุเป้าหมายคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ได้สำเร็จ​

เนื้อหาโดย คุณ วรพร ปุณยกนก วิศวกรวิจัยอาวุโส RISC​

อ้างอิงข้อมูลจาก ​
What is sustainable aviation fuel (SAF)?: https://www.bp.com/en/global/air-bp/news-and-views/views/what-is-sustainable-aviation-fuel-saf-and-why-is-it-important.html ​
Climate change and flying: what share of global CO₂ emissions come from aviation?: https://ourworldindata.org/co2-emissions-from-aviation ​
ผลิตภัณฑ์และบริการ: https://www.thaioilgroup.com/home/content.aspx?id=83 ​
รายงานฉบับสุดท้าย โครงการศึกษาแนวทางการส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพอากาศยานอย่างยั่งยืน: http://e-lib.dede.go.th/mm-data/BibA11646_%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%89%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%94%E0%B8%97%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A2.pdf ​
ยุโรปออกแผน ‘Destination 2050’ ให้การบินยุโรปปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2593: https://www.sdgmove.com/2021/02/19/eu-aviation-destination-2050-net-zero-sdg13/

© 2024 Magnolia Quality Development Corporation Limited - A DTGO Company
ผลลัพธ์
การยืนยัน
การยืนยัน