Knowledge - RISC

Knowledge Happiness Science

Happiness Science

เสียงน้ำ สายฝน มีผลต่ออารมณ์ของเราอย่างไร?

โดย RISC | 1 เดือนที่แล้ว

สายฝนที่โปรยปรายกระทบหน้าต่าง เสียงหยดน้ำที่กระทบพื้นเป็นจังหวะ กลิ่นหอมสดชื่นของดินที่ลอยอยู่ในอากาศ สิ่งเหล่านี้เป็นความรู้สึกดีๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงหน้าฝน แต่...เราเคยสงสัยมั้ยว่าเพราะอะไร?​ประสบการณ์ทางประสาทสัมผัสเหล่านี้มีอิทธิพลอย่างมากต่ออารมณ์และความเป็นอยู่ของเรา แม้บางคนจะมองว่าฝนเป็นอุปสรรคต่อกิจวัตรประจำวัน ทำให้เกิดความล่าช้าและความไม่สะดวกสบาย หรือเชื่อมโยงกับความรู้สึกเศร้า ตามบทความก่อนหน้านี้ที่เน้นการพูดถึงประสาทสัมผัส "การมองเห็น" เป็นหลัก ฝนตกทำให้ท้องฟ้ามืดครึ้ม แสงแดดน้อย ส่งผลต่อสารเซโรโทนินไม่สมดุล รู้สึกเศร้าได้ (อ่านเพิ่มเติมที่ https://www.risc.in.th/knowledge/does-the-rain-make-you-lonely) แต่มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ระบุว่า จริงๆ แล้วฝนมีผลเชิงบวกมากมายต่อสุขภาพจิตและร่างกายของเรา​วันนี้เรามาสำรวจกันว่าฝนส่งผลต่อเราได้อย่างไร โดยเน้นไปที่ประสบการณ์ทางประสาทสัมผัสของกลิ่นและเสียง กันดูบ้าง รวมทั้งประโยชน์ที่ตามมา​เรามาเริ่มที่ "กลิ่น" กันก่อน...หลายคนคงคุ้นเคยกับกลิ่นสดชื่นของฝนหรือกลิ่นไอดินที่ลอยขึ้นมาจากผิวดิน กลิ่นนี้เราเรียกว่า "เพทริเคอร์" (Petrichor) ซึ่งค้นพบโดยนักวิทยาศาสตร์ชาวออสเตรเลียในปี ค.ศ. 1964 โดยเพทริเคอร์มีส่วนประกอบสำคัญ คือ โอโซน จีโอสมิน (Geosmin) และน้ำมันของพืชบางชนิด จีโอสมินเกิดจากจุลินทรีย์ในดินที่ชื่อว่า สเตรปโตมัยซีส (Streptomyces) เมื่อฝนตกลงมากระทบพื้นดิน สปอร์ของแบคทีเรียและโมเลกุลของจีโอสมินจะลอยขึ้นไปในอากาศ ทำให้เรารับรู้ถึงกลิ่นนี้ นอกจากนี้ น้ำมันของพืชที่ผลิตในช่วงฤดูแล้งก็จะถูกปลดปล่อยสู่อากาศด้วยเช่นกัน จากการศึกษาพบว่า กลิ่นฝนนี้สามารถกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกสงบ ลดความเครียด และส่งเสริมการผ่อนคลาย ทำให้เรารู้สึกเชื่อมโยงกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น​ในส่วนของ "เสียง" เสียงฝนมีผลดีต่อความเป็นอยู่ของเรา เนื่องจากเสียงฝนมักจะมีจังหวะ ท่วงทำนอง และความถี่ที่สม่ำเสมอ ซึ่งจัดอยู่ในประเภทเสียงรบกวนที่มีความถี่เฉพาะ เช่น เสียงสีชมพู (Pink Noise) หรือเสียงสีขาว (White Noise) เสียงเหล่านี้จะช่วยกลบเสียงรบกวนจากสิ่งแวดล้อม ทำให้เรามุ่งความสนใจไปที่ช่วงเวลาปัจจุบันได้ มีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่า การฟังเสียงธรรมชาติ เช่น เสียงฝน จะสามารถเพิ่มสมาธิ ลดความเครียด และความวิตกกังวลลงได้ และยังเสริมสร้างความสงบ ความผ่อนคลายที่เอื้อต่อการนอนหลับอีกด้วย​มีศิลปิน นักเขียน และนักดนตรีหลายคนค้นพบแรงบันดาลใจท่ามกลางสายฝน เนื่องจากเสียงฝนช่วยปลดล็อกความคิดสร้างสรรค์ และให้สมาธิ นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาพบว่า การฟังเสียงฝนขณะแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ จะช่วยลดเวลาในการคำนวณ และเพิ่มประสิทธิภาพการคำนวณได้ดีกว่าสภาพแวดล้อมที่เงียบ ซึ่งบ่งชี้ได้ว่าเสียงฝนช่วยขจัดสิ่งรบกวนจากภายนอก เพิ่มความจดจ่อ และส่งเสริมการทำงานของสมองอีกด้วย​ไม่เพียงแค่นั้น ฝนยังส่งผลต่อ "ประสาทสัมผัสทางผิวกาย" สร้าง "การรับรู้และประสิทธิภาพการทำงาน" เนื่องจากฝนมีแนวโน้มที่จะทำให้อุณหภูมิเย็นลง ซึ่งจากงานวิจัยพบว่า อุณหภูมิที่สูงเกินไป (มากกว่า 32.22 องศาเซลเซียส) หรือเย็นเกินไป (น้อยกว่า 10 องศาเซลเซียส) มีส่วนทำให้ประสิทธิภาพของสมองในการประมวลผลข้อมูลและการตัดสินใจลดลง อุณหภูมิเย็นๆ ถึงปานกลางที่เกิดจากฝนจึงเหมาะสมในการทำงาน สามารถเพิ่มความคิดสร้างสรรค์และความสามารถในการแก้ปัญหาได้​เราจะเห็นได้ว่า ทั้งหมดนั้นล้วนส่งผลกับร่างกายและความรู้สึกของเรา ฝนไม่ได้เป็นเพียงแค่ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ แต่ยังเป็นแหล่งที่มาของแรงบันดาลใจ และการผ่อนคลายอีกด้วย ช่วงหน้าฝนนี้จึงอยากเชิญให้ทุกคนลองสัมผัสถึงประสบการณ์ดีๆ และสิ่งดีๆ ที่เราจะได้รับจากฝนกันดูนะ​เนื้อหาโดย คุณ สิทธา ปรีดาภิรัตน์ นักวิจัยอาวุโส ปฏิบัติการเชื่อมต่อสมองกับคอมพิวเตอร์ Happiness Science Hub, RISC ​อ้างอิงข้อมูลจาก : ​1. https://www.bbc.com/news/science-environment-44904298​2. Amiri, M. J., Sadeghi, T., & Bonabi, T. N. (2017). The effect of natural sounds on the anxiety of patients undergoing coronary artery bypass graft surgery. Perioperative Medicine, 6(1). https://doi.org/10.1186/s13741-017-0074-3​3. Bentley, P. R., Fisher, J. C., Dallimer, M., Fish, R. D., Austen, G. E., Irvine, K. N., & Davies, Z. G. (2022). Nature, smells, and human wellbeing. Ambio, 52(1), 1–14. https://doi.org/10.1007/s13280-022-01760-w​4. Pilcher, J. J., Nadler, E., & Busch, C. (2002). Effects of hot and cold temperature exposure on performance: a meta-analytic review. Ergonomics, 45(10), 682–698. https://doi.org/10.1080/00140130210158419​5. Proverbio, A. M., De Benedetto, F., Ferrari, M. V., & Ferrarini, G. (2018). When listening to rain sounds boosts arithmetic ability. PloS One, 13(2), e0192296. https://doi.org/10.1371/journal.pone.0192296​6. Yoon, H., & Baek, H. J. (2022). External Auditory Stimulation as a Non-Pharmacological Sleep Aid. Sensors, 22(3), 1264. https://doi.org/10.3390/s22031264​

351 viewer

"ฝนตก" ทำให้คนเหงา จริงหรือคิดไปเอง?

โดย RISC | 1 เดือนที่แล้ว

เคยสงสัยกันมั้ย? ว่าทำไมพอเข้าหน้าฝนแล้ว เรามักจะรู้สึกเหงากว่าช่วงหน้าร้อน​สาเหตุเป็นเพราะอะไร...มาหาคำตอบไปพร้อมๆ กัน...!!​หากใครที่รู้สึกเหงาและเศร้าเวลาฝนตก หรือรู้สึกขี้เกียจกว่าปกติ ขอบอกเลยว่าไม่ได้คิดไปเองแน่นอน เพราะสภาพอากาศนั้นส่งผลต่ออารมณ์ของเราได้จริง แต่ความรู้สึกนี้อาจไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน และอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นทุกครั้งที่ฝนตก บางคนก็อาจส่งผลให้เกิดภาวะซึมเศร้าที่เรียกว่า ภาวะซึมเศร้าตามฤดูกาล หรือ (Seasonal Affective Disorder: SAD) ได้เลย​ปัจจุบันมีงานวิจัยที่เกี่ยวกับผลกระทบของสภาพอากาศที่ส่งผลต่ออารมณ์ของมนุษย์ออกมามากมาย ซึ่งได้มีการระบุเอาไว้ว่า ปัจจัยของแสงอาทิตย์นั้นส่งผลต่อการผลิตฮอร์โมนเซโรโทนิน (Serotonin) โดย "ฮอร์โมนเซโรโทนิน" จะหลั่งออกมามากขึ้นเมื่อมนุษย์ได้รับแสงแดด หรือคาร์โบไฮเดรต และจะลดลงเมื่อท้องฟ้ามืดครึ้ม แสงแดดน้อย หรืออยู่ในช่วงฤดูหนาว​ซึ่งเจ้าเซโรโทนิน นั่นคือ สารเคมีที่มีอยู่ในร่างกายของเราทุกคน มีบทบาทสำคัญที่ส่งผลต่ออารมณ์ ความรู้สึก และพฤติกรรมที่แสดงออกมาของเรา โดยในสภาวะปกติเมื่อสารเซโรโทนินอยู่ในระดับสมดุล จะส่งผลให้เรามีความรู้สึกและอารมณ์ที่เป็นไปในทางบวก เช่น ความสุข ความสงบ มีสมาธิ และอารมณ์มั่นคงไม่อ่อนไหวง่าย แต่เมื่อระดับเซโรโทนินต่ำกว่าปกติก็จะส่งผลให้อารมณ์อ่อนไหว เป็นกังวล เศร้าง่าย โมโหง่าย ไม่มีสมาธิ และยังส่งผลให้การตัดสินใจการจดจำแย่ลงอีกด้วย หากเราปล่อยให้ระดับของเซโรโทนินอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน จะเพิ่มความเสี่ยงของปัญหาในด้านอารมณ์และความรู้สึก อย่างเช่น ภาวะซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคเครียด โรคสมาธิสั้น โรคกลัว และรวมถึงพฤติกรรมของเราอีกด้วย​หากใครมองฝนแล้วเกิดเหงา ลองหากิจกรรมที่ช่วยให้ร่างกายได้เคลื่อนไหว อย่างเช่น เก็บกวาดบ้าน ออกกำลังกาย ออกไปรับแสงธรรมชาติ หรือแสงแดดอ่อนๆ บ้าง รวมถึงหาของอร่อยที่มีประโยชน์กิน อย่างอาหารที่มีทริปโตเฟน (Tryptophan) สูง เช่น เนื้อสัตว์ นม ไข่ ถั่วเหลือง ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ดาร์กช็อกโกแลต จะช่วยเพิ่มระดับเซโรโทนินในร่างกายได้ และหวังว่าหน้าฝนปีนี้หรือไม่ว่าจะฤดูไหน จะมีคนเหงาน้อยลงนะ​เนื้อหาโดย คุณ กชกร รัตนมา นักวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ RISC​อ้างอิงข้อมูลจาก​(1) คลังความรู้สุขภาพจิต (Mental Health Knowledge Base) กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข​(2)  Baylor Scott,(2019), Rainy day blues? "8 ways to boost your mood when the sun is away. Retrieved 9 July 2024, from https://www.bswhealth.com/blog/rainy-day-blues-ways-to-boost-your-mood-when-the-sun-is-away

390 viewer

ความเครียด ภัยอันตรายที่ต้องใส่ใจ

โดย RISC | 2 เดือนที่แล้ว

ในยุคที่ทุกอย่างเร่งรีบ และกดดันไปหมด ทำให้ยากที่เราจะหลีกหนี “ความเครียด” ตัวการสำคัญที่นำมาสู่โรคต่างๆ ตามมา​“ความเครียด” เป็นคำที่แสดงถึงภาวะการตอบสนองของอารมณ์ที่มีต่อสถานการณ์รอบตัว โดยเป็นการตอบสนองอัตโนมัติของร่างกาย เพื่อปรับตัวให้สามารถเข้ากับสถานการณ์ในขณะนั้นๆ อย่างเช่น ช่วงอ่านหนังสือสอบ ทำโปรเจกต์ หรือนำเสนอแผนงานต่อหัวหน้า เป็นต้น ซึ่งปกติแล้วการเกิดความเครียดเพื่อปรับร่างกายให้เข้ากับการทำงานในขณะนั้น (Acute Stress) จะทำให้ร่างกายเราสามารถทำงาน ขบคิด แก้ปัญหา และรับมือกับสถานการณ์ที่กำลังพบเจอได้ดีขึ้น​แต่...จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเราเกิดเครียดซ้ำไปซ้ำมา จนเราร่างกายเริ่มมีปัญหา?​ความเครียดที่เกิดซ้ำๆ จนกลายเป็น "ความเครียดเรื้อรัง" ที่ร่างกายไม่สามารถขจัดออกไปได้ (Chronic Stress) จะส่งปัญหาต่อร่างกายในระยะยาว เมื่อเรากำลังทำงาน เราจะเกิดความเครียด แล้วร่างกายของเราก็จะตอบสนองโดยการเตรียมความพร้อมต่างๆ ดึงพลังงานจากทั่วร่างกาย มาเสริมประสิทธิภาพของอวัยวะบางส่วน เพื่อให้เราทำงานได้ดีขึ้น เช่น มีสมาธิมากขึ้น สมองทำงานได้ไวมากขึ้น เร็วมากขึ้น แต่ถ้าเราทำงานต่อไปเรื่อยๆ อวัยวะที่มีความเครียดนั้น จะถูกใช้งานอย่างต่อเนื่องจนพังในที่สุด ให้เราลองคิดภาพเปรียบเทียบง่ายๆ ว่าเหมือนกับเราเปิดโน้ตบุ๊คโดยไม่เคยปิดให้มันพักเลย สุดท้ายโน้ตบุ๊คก็พัง ซึ่งปัญหาร่างกายพังจาก Chronic Stress นั้น ไม่ได้ส่งผลแค่บางอวัยวะเท่านั้น แต่ยังส่งผลไปถึงทุกๆ ส่วนในร่างกายของเราด้วย​ด้านสภาพร่างกายนั้น ปัญหาของความเครียดสะสม มักจะสะท้อนออกมาในสภาพความเสียหายของอวัยวะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ระบบหลอดเลือดและหัวใจ การขับถ่าย การหายใจ ระบบภูมิคุ้มกัน ระบบเผาผลาญของร่างกาย และด้านอื่นๆ ซึ่งพบข้อมูลจากงานวิจัยโดย Yuli Huang และคณะ [1] พบว่า ความเครียดจากการทำงานที่เรื้อรังสะสมในร่างกาย เพิ่มโอกาสการเป็นโรคหลอดเลือดสมองกว่า 22% หรือ Tanya M. Spruill [2] พบว่า ความเครียดเรื้อรัง เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้ และเพิ่มโอกาสการเป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจมากกว่าคนปกติที่ไม่มีภาวะเครียดเรื้อรังกว่า 50% เช่นกัน หรือแม้แต่ปัญหาการนอนก็สามารถเกิดจากความเครียดเรื้อรังได้ พบข้อมูลจากงานวิจัยของ David A. Kalmbach และคณะ [3] ได้อธิบายถึงกลไกปัญหาการนอนที่เกิดจากความเครียดเรื้อรัง โดยร่างกายขณะที่มีความเครียด จะเหมือนถูกกระตุ้นให้พร้อมทำงานต่างๆ ตลอดเวลา ทำให้นอนหลับได้ไม่สนิท หรือนอนไม่หลับ ส่งผลต่อการเกิดปัญหาในระยะยาวนั่นเอง​นอกจากความเสียหายทางกายแล้ว ทางจิตใจเองก็ได้รับผลกระทบเหมือนกัน โดยความเครียดเรื้อรังนั้น เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคทางจิตตามมา ไม่ว่าจะเป็นโรคซึมเศร้า หรือโรควิตกกังวลก็ตาม พบอ้างอิงจากงานวิจัยของ Paula Cristóbal-Narváez และคณะ [4] พบความเชื่อมโยงระหว่างการเกิดของโรคซึมเศร้าและโรคเครียดเรื้อรัง ซึ่งความเครียดเรื้อรังนั้น เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้คนเป็นโรคซึมเศร้าได้ หรือจากงานวิจัยของ Nuria Daviu และคณะ [5] ได้อธิบายความเชื่องโยงของโรควิตกกังวล (Anxiety) ที่เกิดจากความเครียดเรื้อรัง​เราเห็นได้ชัดเลยว่า "ความเครียดเรื้อรัง" เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้ร่างกายมีปัญหาตามมา ไม่ว่าจะทางร่างกายและทางจิตใจ ซึ่งในครั้งหน้า เราจะมาดูกันว่า เราจะพักจากความเครียดอย่างไรได้บ้าง​เนื้อหาโดย คุณ ณัฐภัทร ตันจริยภรณ์ นักวิจัยอาวุโส ปฏิบัติการเชื่อมต่อสมองกับคอมพิวเตอร์ RISC​อ้างอิงข้อมูลจาก​[1] Association Between Job Strain and Risk of Incident Stroke​[2] Association Between High Perceived Stress Over Time and Incident Hypertension in Black Adults: Findings From the Jackson Heart Study​[3] The Impact of Stress on Sleep: Pathogenic Sleep Reactivity as a vulnerability to Insomnia and Circadian Disorders​[4] Perceived stress and depression in 45 low- and middle-income countries​[5] Neurological Links Between Stress and Anxiety​

367 viewer

อากาศร้อน ไม่ได้แค่ทำให้หัวร้อน แต่ยังส่งผลต่ออาชญากรรม

โดย RISC | 6 เดือนที่แล้ว

ช่วงที่อากาศร้อนแบบนี้ หลายคนคงหนีเข้าที่ร่ม หรือไม่ก็เปิดแอร์ เปิดพัดลมเพื่อคลายร้อนกัน แน่นอนว่าความร้อน นอกจากจะทำให้คนหงุดหงิด อารมณ์เสีย หรือหัวร้อนมากขึ้นแล้ว ก็ยังส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานอีกด้วย​แต่รู้หรือไม่ว่า จริงๆ แล้วยังมีอีกด้านที่เราคาดไม่ถึงว่าความร้อนจะส่งผลให้เกิดขึ้นได้ นั่นก็คือ “การก่ออาชญากรรม”​จากงานวิจัย The Impact of Temperature on Productivity and Labor Supply: Evidence from Indian Manufacturing ในปี 2015 ประเทศอินเดีย ได้นำสถิติยอดการผลิตในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเหล็กกว่า 70,000 โรงงาน ในช่วงปี ค.ศ.1998–2013 (15 ปี) และอุณหภูมิอากาศเฉลี่ยในช่วงปีมาเปรียบเทียบกัน พบว่าประสิทธิภาพในการทำงานของลูกจ้างจะลดลง 4% ต่ออุณหภูมิอากาศที่สูงขึ้นทุกๆ 1 °C โดยประสิทธิภาพการทำงานจะลดลงที่อุณหภูมิอากาศ ตั้งแต่ 27 °C ขึ้นไป นอกจากนี้ยังพบว่า ทุกๆ 1 °C ที่เพิ่มขึ้น อัตราการขาดงานจะเพิ่มขึ้น 5% ในกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ และเพิ่มขึ้น 1% ในกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กอีกด้วย เราจะเห็นได้ว่า อากาศร้อนส่งผลต่อการทำงานจริงๆ​ นอกจากอากาศร้อนจะส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานแล้ว ก็ยังส่งผลกับเรื่องของอารมณ์ให้คนหงุดหงิด หรือหัวร้อนมากขึ้น จนนำไปสู่การก่ออาชญากรรมได้ง่าย​จากงานวิจัย The Association of Ambient Temperature and Violent Crime ในปี 2017 ประเทศฟินแลนด์ ได้นำสถิติการก่อเหตุอาชญากรรมและอุณหภูมิเฉลี่ยในช่วงปี ค.ศ.1996–2013 (17 ปี) และศึกษาจากตัวอย่างเกล็ดเลือดจากกลุ่มผู้ก่อเหตุอาชญากรรมเพศชายจำนวน 33 คน ที่เก็บข้อมูล ระหว่างปี ค.ศ.1996-1997 พบว่าทุกๆ 2 °C ที่เพิ่มขึ้น ทำให้อัตราการก่อเหตุอาชญากรรมเพิ่มสูงขึ้น 3% โดยช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม (ฤดูร้อน) มีอัตราการก่อเหตุสูงที่สุดเมื่อเทียบกับเดือนอื่นๆ โดยผลการตรวจเกล็ดเลือด พบว่า ระดับเซโรโทนิน หรือสารเคมีในร่างกายที่ช่วยเรื่องความรู้สึกสุขสงบ และระงับความโกรธหรือความก้าวร้าวจะลดลงในช่วงที่มีอากาศร้อนหรืออุณหภูมิอากาศสูง หากสรุปให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ อุณหภูมิอากาศในพื้นที่โดยรอบ (Ambient Temperature) เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรมและการใช้ความรุนแรงของคนเรานั่นเอง​เราต้องยอมรับว่า ทุกวันนี้อากาศร้อนขึ้นมาก หนึ่งสาเหตุนั้นก็มาจาก “ภาวะโลกรวน (Climate Change)” ที่เกิดขึ้นจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่งทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นในทุกๆ ปี และหากเรายังคงใช้ชีวิตแบบเดิม ก็อาจส่งผลต่อสภาพแวดล้อมที่เราอยู่ จนทำให้เราไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างสุขกายสุขใจได้อีกต่อไป หน้าร้อนนี้หากเป็นไปได้ นอกจากการเปิดพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศ อาจลองเริ่มจากการปรับสภาพแวดล้อมรอบบ้านให้มีการสะสมความร้อนน้อยลง ด้วยการปลูกต้นไม้รอบๆ บ้าน เพื่อสร้างร่มเงา ลดอุณหภูมิพื้นผิวโดยรอบ และสร้างคุณภาพอากาศที่ดี เพราะนอกจากต้นไม้จะช่วยลดความร้อนได้แล้ว การใช้ชีวิตใกล้ชิดธรรมชาติ ยังช่วยลดอาการหัวร้อน และสร้างความผ่อนคลายได้ดีอีกด้วย​เนื้อหาโดย คุณจิราภา หอบรรลือกิจ นักวิจัยและการสื่อสาร RISC ​อ้างอิงข้อมูลจาก​Somanathan, E. & Somanathan, Rohini & Sudarshan, Anant & Tewari, Meenu. (2015). The Impact of Temperature on Productivity and Labor Supply: Evidence from Indian Manufacturing. Journal of Political Economy. 129. 10.1086/713733.​Tiihonen, J., Halonen, P., Tiihonen, L. et al. The Association of Ambient Temperature and Violent Crime. Sci Rep 7, 6543 (2017). https://doi.org/10.1038/s41598-017-06720-z

882 viewer

"ตรุษจีน" เทศกาลของการพบกันของครอบครัว RISC ขอชวนทำแบบสอบถามประเมินสมองเสื่อม เพื่อคนที่คุณรัก

โดย RISC | 7 เดือนที่แล้ว

ช่วงเวลาแห่งความสุข และการเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีนใกล้เข้ามาถึงแล้ว ชาวจีนทั่วโลกและชาวไทยเชื้อสายจีนก็ต่างรอคอยช่วงเวลานี้เพื่อพบปะครอบครัวและญาติพี่น้อง เฉลิมฉลอง ไหว้เทพเจ้า และไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับ​ช่วงเวลาที่ทุกคนมีโอกาสมาพบกันแบบนี้ การสังเกตและพูดคุยเกี่ยวกับสุขภาพผู้สูงวัยที่เราห่วงใยในครอบครัว จะช่วยให้ทุกคนมีความเข้าใจและเห็นถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพ เนื่องจากผู้สูงวัยเป็นวัยที่มีสภาพร่างกายเสื่อมถอยลง การเปลี่ยนแปลงบางอย่างเมื่อเสื่อมแล้วไม่สามารถทดแทนให้ดีได้ดังเดิม ซึ่งความเสื่อมถอยในร่างกายนี้อาจส่งผลต่อความรู้สึก อารมณ์ สภาพจิตใจ และอาจเป็นสาเหตุให้เกิดความเจ็บป่วยอื่นๆ ตามมา หรือหากรอให้มีอาการผิดปกติหรือเจ็บป่วยแล้วค่อยไปพบแพทย์ อาจเป็นช่วงเวลาที่ทำให้การรักษายุ่งยากและสิ้นเปลืองค่ารักษาพยาบาลมากขึ้น หรือเกิดอาการรุนแรงจนไม่สามารถรักษาได้ การดูแลผู้สูงวัยในครอบครัวอย่างสม่ำเสมอ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรละเลย โดยเฉพาะเรื่องของสมอง​ทำไมเราต้องให้ความสำคัญของการประเมินภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงวัย?​จากรายงานสถานการณ์ผู้สูงวัยในประเทศไทย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าหนึ่งในโรคที่พบบ่อย และเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญของผู้สูงวัย คือ โรคสมองเสื่อม โดยสถิติในปี 2565 มีผู้สูงวัยที่มีภาวะสมองเสื่อมกว่า 770,000 คน หรือประมาณร้อยละ 6 ของจำนวนผู้สูงวัยทั้งประเทศ และที่น่าห่วงคือ ทิศทางผู้ป่วยนั้นมีจำนวนสูงขึ้นในทุกๆ ปี เฉลี่ยปีละหนึ่งแสนคน ​​ภาวะสมองเสื่อม คือ ภาวะที่มีการสูญเสียความสามารถทางสมอง เช่น ความจำ การรับรู้ ความเข้าใจ การใช้ภาษา ทิศทาง การใช้เหตุผลและการแก้ปัญหา มีการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมและบุคลิกภาพ โดยมีผลกระทบเกิดขึ้นทั้งด้านร่างกาย ด้านจิตใจ ความสามารถในการดำเนินชีวิตประจำวัน รวมไปถึงภาระในการดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมของครอบครัวอีกด้วย​การประเมินภาวะสมองเสื่อมเบื้องต้นจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะช่วยคัดกรองผู้ที่มีแนวโน้มหรือมีความเสี่ยงที่จะมีภาวะสมองเสื่อม โดยสามารถประเมินได้ด้วยตนเองอย่างง่ายและใช้เวลาน้อย ได้จากแบบประเมินภาวะสมองเสื่อมที่ถูกพัฒนาและออกแบบโดยกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข​ผู้ที่สนใจสามารถทำแบบประเมินภาวะสมองเสื่อม 14 ข้อคำถาม โดยกรมการแพทย์ ได้ที่ https://www.healthcheckup.in.th/self-test/8​นอกจากนี้ ยังมีแบบประเมินภาวะสมองเสื่อมที่ได้มาตรฐาน และได้รับความนิยมอื่นๆ อีก แต่ต้องอาศัยผู้ทำการประเมินร่วมด้วย ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 15-20 นาที ได้แก่ แบบประเมิน MoCA (Montreal Cognitive Assessment) และแบบประเมิน TMSE (Thai Mental State Examination) ที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ เพื่อประเมินของการทำงานของสมองด้านต่างๆ ทั้งเรื่องความตั้งใจ (Attention), สมาธิ (Concentration), การบริหารจัดการ (Executive function), ความจำ (Memory), ทักษะสัมพันธ์ของสายตากับการสร้างรูปแบบมิติสัมพันธ์ (Visuoconstruction), ความคิดรวบยอด (Conceptual Thinking), การคิดคำนวณ (Calculation) และการรับรู้สภาวะรอบตัว (Orientation) เป็นต้น ​ผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปศึกษาเพิ่มเติม และทำแบบประเมิน MOCA ได้ที่ http://www.rbpho.moph.go.th/upload-file/doc/files/12012023-110708-6436.pdf, www.mocatest.org ​และทำแบบประเมิน TMSE ได้ที่ https://www.thainurse.org/wordpress/?p=12039​การทำแบบประเมินภาวะสมองเสื่อม เป็นการคัดกรองเบื้องต้นว่า เริ่มเข้าสู่ภาวะสมองเสื่อมระยะแรกหรือไม่ เพื่อสามารถเข้าสู่การตรวจและรักษาได้เนิ่นๆ ชะลอการดำเนินของโรคได้ และอาจช่วยบอกได้ว่าสูญเสียการทำงานของสมองด้านใด เช่น ความจำ หรือการใช้ภาษา แต่ไม่สามารถวินิจฉัยสาเหตุของภาวะสมองเสื่อมได้ทั้งหมด ซึ่งต้องมีการตรวจเพิ่มเติมอื่นๆ เช่น การตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการ และการตรวจเอกซเรย์สมอง เพื่อหาสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อม  ​การดูแลสุขภาพและประเมินสมองให้กับผู้สูงอายุภายในครอบครัว ไม่เพียงแต่เป็นการคัดกรองโรคสภาวะสมองเสื่อม แต่ยังสามารถเสริมสร้างความสัมพันธ์และความรักในครอบครัวได้อีกด้วย โดยเฉพาะเทศกาลตรุษจีนนี้ นับเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้ดูแลสมาชิกครอบครัวได้อย่างใกล้ชิด​เนื้อหาโดย คุณ สิทธา ปรีดาภิรัตน์ นักวิจัยอาวุโส ปฏิบัติการเชื่อมต่อสมองกับคอมพิวเตอร์ Happiness Science Hub, RISC​อ้างอิงข้อมูลจาก​https://pr.moph.go.th/?url=pr%2Fdetail%2F2%2F02%2F204159%2F

712 viewer

ทำไมเราถึงจำ “กลิ่น” ได้ดีกว่าประสาทสัมผัสอื่นๆ

โดย RISC | 7 เดือนที่แล้ว

รู้หรือไม่ "กลิ่น" สร้างการรับรู้และสร้างการจดจำได้ดี​จากบทความครั้งที่แล้ว (อ่านได้ที่ https://bit.ly/3RhepaN) จะเห็นได้ว่ากลิ่นมีผลต่อการรับรู้และสามารถสร้างอารมณ์เชิงบวกและความผ่อนคลายได้ แต่นอกจากเรื่องของอารมณ์แล้ว สมองของคนเราจดจำสิ่งต่างๆ จาก “กลิ่น” ได้ดีกว่าประสาทสัมผัสอื่นๆ​หลายคนอาจจะสงสัย เพราะเราใช้สายตามองและจดจำสิ่งต่างๆ เป็นหลักมาโดยตลอด แต่ทำไมคนเราถึงจำกลิ่นได้ดีกว่าล่ะ?​นั่นก็เพราะประสาทการรับรู้กลิ่นของคนเราส่งตรงกับสมองโดยตรงนั่นเอง โดยเมื่อเราได้กลิ่น ประสาทส่วนรับกลิ่น (Olfactory bulb) ซึ่งอยู่บริเวณสมองส่วนหน้า จะส่งข้อมูลกลิ่นตรงไประบบลิมบิก (Limbic system) หรือส่วนของสมองที่ทำงานเกี่ยวกับการรับรู้เกี่ยวกับอารมณ์และพฤติกรรม และไปยังสมองส่วนอะมิกดาลา (Amygdala) เพื่อประมวลผลอารมณ์ทั้งด้านบวกและด้านลบจากการได้กลิ่นนั้นๆ ประสาทสัมผัสเกี่ยวกับกลิ่นจึงเป็นประสาทสัมผัสที่มนุษย์รับรู้ได้เร็วที่สุดเมื่อเทียบกับประสาทสัมผัสอื่นๆนอกจากนี้ กลิ่นยังมีความสัมพันธ์กับ "ความทรงจำระยะยาว (Long-term memory)" ของคนเราอีกด้วย โดยประสาทสัมผัสการดมกลิ่นจะส่งข้อมูลต่อไปยังส่วนฮิบโปแคมปัส (Hippocampus) ที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการสร้างความทรงจำระยะยาว เพื่อแปลผลการรับรู้กลิ่นจากความทรงจำของเรา และกระตุ้นความทรงจำที่เกี่ยวข้องกับกลิ่นนั้นๆ ทุกครั้งที่เราได้กลิ่นจึงทำให้ความทรงจำที่มีความเชื่อมโยงกับกลิ่นแล่นเข้ามาในสมองของเรา เช่น กลิ่นดินช่วงฝนใกล้ตก หรือกลิ่นอาหารมื้อเย็นที่คุณแม่ทำให้เมื่อตอนกลับถึงบ้าน​คราวนี้เราลองมาดูการประยุกต์ใช้เรื่องกลิ่นในการทำเรื่องอื่นๆ กัน​โครงการอสังหาริมทรัพย์ของ MQDC ได้ประยุกต์องค์ความรู้เรื่องกลิ่นมาใช้ในการออกแบบ อย่างในโครงการ The Aspen Tree ที่ The Forestias ได้มีการออกแบบพื้นที่ป่าไม้หอม (Fragrant Forest) บริเวณทางเข้าโครงการ เพื่อให้ผู้สูงอายุจดจำได้ และใช้กลิ่นหอมที่คุ้นเคยนี้นำทางกลับบ้านได้ เพราะการรับรู้กลิ่นของคนเรา จะถูกนำไปเก็บในส่วนของความทรงจำระยะยาว (Long-term memory) แม้ผู้สูงวัยจะจำภาพ หรือทิวทัศน์ไม่ได้ แต่ก็ยังสามารถจำสถานที่จากกลิ่นได้ นับเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ทาง MQDC ได้ใส่ใจในรายละเอียดเรื่องการรับรู้ควบคู่ไปกับการสร้างความปลอดภัยให้ผู้อยู่อาศัยในโครงการ​นอกจากนี้ เรื่องกลิ่นยังถูกนำมาใช้ในการทำน้ำหอมสำหรับใช้ในโอกาสต่างๆ หรือเพื่อการสร้างแบรนด์กระตุ้นให้คนจดจำ การสร้างกลิ่นเฉพาะให้กับสถานที่ ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ร้านค้า หรือห้างสรรพสินค้า เพื่อสร้างการจดจำกลิ่นเชื่อมโยงกับบรรยากาศของสถานที่นั้นๆ และเชิญชวนให้คนมาใช้สถานที่มากขึ้น รวมถึงการนำไปใช้ประโยชน์เพื่อสร้างสุขภาวะที่ดี​จากที่กล่าวมา เราคงไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไมกลิ่นถึงถูกนำมาใช้ในบริบทต่างๆ มากมาย นั่นก็เพราะคนเราจดจำ “กลิ่น” ได้ดีที่สุดนั่นเอง​เนื้อหาโดย คุณจิราภา หอบรรลือกิจ นักวิจัยและการสื่อสาร RISC ​อ้างอิงข้อมูลจาก​https://news.harvard.edu/gazette/story/2020/02/how-scent-emotion-and-memory-are-intertwined-and-exploited/​Herz RS. The Role of Odor-Evoked Memory in Psychological and Physiological Health. Brain Sci. 2016 Jul 19;6(3):22. doi: 10.3390/brainsci6030022. PMID: 27447673; PMCID: PMC5039451.​

1325 viewer

มาทำความรู้จักอารมณ์ของเรา ในช่วงวันหยุดเทศกาลกันเถอะ

โดย RISC | 8 เดือนที่แล้ว

เทศกาลเฉลิมฉลองปีใหม่ 2024 ผ่านพ้นไปแล้ว หลายคนรวมตัวพบปะและสังสรรค์ บางคนก็ใช้เวลาส่วนตัวในการพักผ่อน ทำกิจกรรมที่อยากทำมานาน หากมองแบบผิวเผิน ในช่วงเวลาแบบนี้ดูเหมือนจะเป็นช่วงเวลาแห่งความสุข แต่จริงๆ แล้ว ก็เป็นช่วงเวลาที่มีทั้งความทุกข์และวิตกกังวล จากปัจจัยภายนอกและภายในจิตใจ​งั้นเรามาทำความรู้จักกับความหลากหลายและซับซ้อนของอารมณ์ ที่สามารถเกิดขึ้นในช่วงวันหยุดเทศกาล และวิธีรับมือกับอารมณ์นั้นๆ กัน​มีการศึกษาพบว่า คนเรามีประสบการณ์ทางอารมณ์ที่หลากหลายได้ถึง 27 แบบ เมื่อตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่แตกต่างกัน โดยกลุ่มของอารมณ์ส่วนใหญ่นั้นมีความเกี่ยวข้องและสามารถเปลี่ยนแปลงไปตามประสบการณ์ของผู้คน อย่างเช่น กลุ่มของความวิตก ความกลัว ความสยองขวัญ และความรังเกียจ กลุ่มของความสงบกับความซาบซึ้งในสุนทรียภาพ และกลุ่มของความสุขกับความบันเทิง ในขณะที่บางอารมณ์ก็ยังสามารถแบ่งแยกได้ชัดเจน เช่น ความปรารถนา ความรักโรแมนติก และการหวนรำลึกถึงความหลัง หรือความทรงจำในอดีต ​ช่วงเวลาวันหยุดเทศกาลถือเป็นโอกาสที่ดี ที่ทำให้ผู้คนได้มาใช้เวลากับครอบครัว เพื่อน คนรัก หรือแม้แต่สัตว์เลี้ยง ซึ่งเป็นประโยชน์ในการพัฒนาและเสริมสร้างความสัมพันธ์และมิตรภาพ สร้างความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง และลดความรู้สึกเหงาและโดดเดี่ยวได้ นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบในเชิงบวกต่อบุคคลอื่นทั้งพฤติกรรมและกลุ่มของอารมณ์ด้วย เช่น ความยินดี ความสุข ความตื่นเต้น ทั้งหมดนี้จะส่งผลต่อความคิด และความเป็นอยู่ของเราในระยะสั้นและระยะยาวได้​ส่วนในการเฉลิมฉลองบางเทศกาลที่เกี่ยวข้องกับประเพณีและค่านิยม อย่างวันสงกรานต์ หรือวันหยุดทางศาสนา ก็สามารถทำให้เรามีความรู้สึกสงบ หรือเกิดความเคารพนับถือ ซึ่งมีความเชื่อมโยงและเอื้อต่อความรู้สึกที่ดีทางจิตใจของเรา​นอกจากความสุขจากการสังสรรค์แล้ว ความสุขยังมาจากการได้เป็นผู้ให้ ตั้งแต่การเลือก การคิดถึงบุคคล จนไปถึงการมอบให้ หรือแม้แต่การออกไปตามสถานที่ต่างๆ ที่ทำให้รู้สึกบันเทิงหรือประหลาดใจ ด้วยบรรยากาศของเทศกาล การประดับไฟ เสียงเพลง หรือการไปท่องเที่ยวที่ได้ซึมซับบรรยากาศของธรรมชาติ ก็สามารถนำความสุขมาได้เช่นกัน​นับเป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาที่ทำให้หวนนึกถึงเรื่องราวต่างๆ ทั้งบรรยากาศ เสียงเพลงที่เคยฟังกับใครสักคน สถานที่ที่เคยได้ไป หรือแม้แต่ร้านอาหารร้านโปรดที่เคยได้ทาน แม้ว่าการคิดและหวนคำนึงถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต และความปรารถนาจะเป็นอารมณ์ที่สามารถแบ่งแยกได้อย่างชัดเจน แต่ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ผู้คนเกิดความรู้สึกคิดถึง เหงา และเกิดความเศร้าขึ้นได้ โดยความรู้สึกเหล่านี้อาจมาจากหลายๆ ปัจจัย ทั้งความห่างไกลบ้าน ภาระงาน เรื่องปากท้อง การสูญเสีย ซึ่งบางคนอาจกำลังรับมือกับความวิตกกังวล และความรู้สึกที่สูญเสียคนที่รักไป อีกทั้งการเฉลิมฉลองย่อมเกี่ยวข้องกับการวางแผน และความคาดหวังมากมาย สิ่งเหล่านี้อาจทำให้บางคนรู้สึกกดดันที่จะต้องปฏิบัติตามความคาดหวังของสังคม จนเกิดการเปรียบเทียบกับคนอื่นๆ โดยเฉพาะในยุคของสังคมออนไลน์ที่ทุกคนต่างแบ่งปันช่วงเวลาที่ดีที่สุดของตนเอง การที่ได้เห็นคนอื่นได้ไปท่องเที่ยวกับครอบครัว หรือกินเลี้ยงสังสรรค์ อาจส่งผลให้เกิดอารมณ์ด้านลบที่ทำให้รู้สึกด้อยค่า และลดความภาคภูมิใจในตัวเองลง​การให้ความสำคัญกับการดูแลและเพิ่มคุณค่าให้ตนเอง จึงเป็นสิ่งสำคัญในการรับมือกับอารมณ์และความรู้สึกด้านลบ โดยอาจปล่อยให้ตนเองมีอิสระในการทำกิจกรรมหรือความสนใจส่วนตัว การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รวมทั้งการใช้เวลาว่างเพื่อผ่อนคลายก็เป็นสิ่งสำคัญ การมีส่วนร่วมกับคนที่รักไม่ว่าจะผ่านทางการพบปะหรือทางโทรศัพท์ เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์และการมีปฏิสัมพันธ์เชิงบวก การเรียนรู้ที่จะปฏิเสธคำเชิญที่จะส่งผลถึงความกดดันต่างๆ ซึ่งคำแนะนำเหล่านี้เป็นเพียงบางส่วนที่สามารถช่วยจัดการกับอารมณ์ ความรู้สึกจากด้านลบไปสู่ด้านบวกได้​สิ่งที่น่าสนใจจากการศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่า ขอบเขตระหว่างประเภทของอารมณ์ไม่ได้แบ่งแยกจากกันอย่างสิ้นเชิง แต่มักจะผสมผสานและมีความเชื่อมโยงถึงกันเสมอ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญของธรรมชาติของมนุษย์ การรับรู้ถึงอารมณ์ที่เราอาจเผชิญด้วยการเข้าใจอารมณ์ที่สลับซับซ้อน สามารถช่วยให้ประสบการณ์ในช่วงวันหยุดเทศกาลของทั้งตัวเราและคนรอบข้าง มีความหมายและความสำคัญมากยิ่งขึ้น​เนื้อหาโดย คุณ สิทธา ปรีดาภิรัตน์ นักวิจัยอาวุโส ปฏิบัติการเชื่อมต่อสมองกับคอมพิวเตอร์ Happiness Science Hub, RISCอ้างอิงข้อมูลจาก​Cowen, A. S., & Keltner, D. (2017). Self-report captures 27 distinct categories of emotion bridged by continuous gradients. Proceedings of the National Academy of Sciences, 114(38).https://doi.org/10.1073/pnas.1702247114​https://www.linkedin.com/pulse/celebrations-holidays-psychological-wellbeing-paoula-saoud/​https://centerstone.org/our-resources/health-wellness/how-holiday-celebrations-can-bring-you-happiness/​https://elle.in/how-to-cope-with-festive-blues-this-season/

1008 viewer

ลดเสี่ยง "ซึมเศร้า" ลองนอนเร็วขึ้นหนึ่งชั่วโมง

โดย RISC | 9 เดือนที่แล้ว

“โรคซึมเศร้า” อีกหนึ่งโรคที่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมากในปัจจุบัน เนื่องจากมีผู้คนที่เป็นโรคนี้มากขึ้นๆ ในแต่ละปี ไม่เว้นแม้แต่ในแวดวงงานวิจัย ก็มีการศึกษาเกี่ยวกับโรคซึมเศร้ามาอย่างต่อเนื่อง​หนึ่งในตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ (Biomarker) ที่มีความเกี่ยวข้องกับอาการซึมเศร้าที่นักวิจัยศึกษากันมาอย่างยาวนาน นั่นคือ “การนอนหลับ” โดยที่ผ่านมาได้ศึกษาเจาะลึกลงไปในลักษณะความแตกต่างของวงจรนาฬิกาชีวิต (Circadian Rhythm) ซึ่งได้จำแนกคนออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ ผ่านกิจวัตรในชีวิตประจำวัน คือ กลุ่มคนที่เหมาะกับทำงานตอนเช้า และกลุ่มคนที่เหมาะกับทำงานในตอนค่ำ​มีงานวิจัยจำนวนมาก ได้พบความสัมพันธ์ของกลุ่มคนที่ตื่นสายหรือทำงานในตอนค่ำว่า มีความเสี่ยงที่จะเกิดซึมเศร้าเพิ่มขึ้นมากกว่ากลุ่มคนที่ตื่นเช้า อีกทั้งในงานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสาร JAMA Psychiatry ได้นำข้อมูลจากตัวอย่างประมาณ 840,000 คน ที่ใช้เครื่องมือติดตามการนอนหลับเป็นเวลา 7 คืน นำมาวิเคราะห์และได้ผลสรุปว่า ทุก 1 ชั่วโมงที่เร็วขึ้นของช่วงกึ่งกลางการนอน (Midpoint of Sleep – ช่วงกึ่งกลางระหว่างเวลาเข้านอนและตื่นนอน) จะมีความเสี่ยงของการเกิดโรคซึมเศร้าลดลงไปถึง 23% เลยทีเดียว​ขอตัวอย่างให้เข้าใจง่ายๆ เช่น หากช่วงเวลาเข้านอนปกติของคุณคือเวลาตีหนึ่ง และลองปรับตารางเวลานอนมาเป็นเที่ยงคืนแทน จะลดความความเสี่ยงลง 23% หรือหากเปลี่ยนเวลานอนมาเป็นห้าทุ่มแทนนั้น ก็จะลดความเสี่ยงลงไปประมาณ 40%​จากงานวิจัยนี้ อาจช่วยให้เราเริ่มเล็งเห็นถึงความสำคัญของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการนอน ที่แม้เพียงเล็กน้อย แต่ก็สามารถช่วยเพิ่มสุขภาวะทางอารมณ์ที่ดีขึ้น และลดความเสี่ยงจากการเป็นซึมเศร้าได้อีกด้วย แม้ว่าวงจรนาฬิกาชีวิตดังที่กล่าวมา ส่วนหนึ่งได้รับอิทธิพลจากพันธุกรรมที่มีมาแต่กำเนิด แต่รูปแบบการใช้ชีวิตและสิ่งแวดล้อมรอบตัว ก็ยังส่งผลโดยตรงกับนาฬิกาชีวิต และวงจรการนอนหลับได้เช่นเดียวกัน ดังนั้น พฤติกรรมที่เราเคยชินบางอย่าง เช่น การดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนในช่วงเย็น การใช้มือถือในช่วงเวลาก่อนเข้านอน การอยู่ในอาคารที่ได้รับแสงแดดไม่เพียงพอ ซึ่งทั้งหมดล้วนส่งผลเกี่ยวกับเวลาเข้านอนที่ยืดออกไป​หากปีใหม่นี้คุณอยากเริ่มต้นเป้าหมายอะไรใหม่ๆ ก็ลองเริ่มจากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมง่ายๆ เหล่านี้ดู บางทีอาจส่งผลให้คุณมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและนำไปสู่การทำสิ่งที่คุณตั้งเป้าหมายไว้ให้สำเร็จได้ง่ายขึ้นก็เป็นได้​เนื้อหาโดย คุณ รุ่งรวี รสชื่น นักวิจัยอาวุโส ด้านพฤติกรรมและประสาทวิทยา, RISC​อ้างอิงข้อมูลจาก​https://neurosciencenews.com/depression-wake-early-18513/​https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S2352250X19301599?via%3Dihub​https://www.psy.chula.ac.th/th/feature-articles/circadian-rhythm

798 viewer

“กลิ่นหอม” ดีต่อใจ ดีต่อสมอง

โดย RISC | 9 เดือนที่แล้ว

เชื่อว่าใครหลายคนคงมีกลิ่นหอมที่ชื่นชอบเป็นการส่วนตัว ที่ไม่ว่าเมื่อไรก็ตามที่ได้กลิ่น ก็จะรู้สึกอารมณ์ดีและมีความสุข แต่...รู้หรือไม่ว่า ความลับของกลิ่นหอมไม่ได้มีดีแค่นั้น เพราะยังช่วยในเรื่องของการทำงานของสมองอีกด้วย​มีงานวิจัยปี 2008 หัวข้อ Olfactory Influences on Mood and Autonomic, Endocrine, and Immune Function โดยใช้อาสาสมัครวิจัย 56 คน ทดลองดมกลิ่น 3 ประเภท ได้แก่ กลิ่นน้ำมันหอมระเหยลาเวนเดอร์ (Lavandula Angustifolia) กลิ่นน้ำมันหอมระเหยเลมอน (Citrus Limonum) และกลิ่นน้ำกลั่น (Distilled Water) แทนสภาวะไร้กลิ่น แล้วแบ่งกลุ่มทดลองเป็น 2 กลุ่ม เป็นกลุ่มที่ได้รับข้อมูลของกลิ่นก่อนการทดลอง (Primed Group) และกลุ่มที่ไม่ได้รับข้อมูล (Blind Group)​ผลจากการวิจัยนี้พบว่า กลิ่นเลมอนส่งผลต่ออารมณ์เชิงบวกมากที่สุด จากผลการทำแบบทดสอบประเมินอารมณ์ความรู้สึก (Positive And Negative Affect Schedule: PANAS) ผลจากแบบทดสอบอ่านออกเสียงสีของตัวอักษรที่เห็นในภาพ (Stroop) จำนวนคำบรรยายที่มีความหมายเชิงบวกจากผู้ทดลองหลังจากการดมกลิ่น (Thought-Listing) และผลจากแบบทดสอบภาพวัดอารมณ์ความรู้สึกและความสนใจ (International Affective Picture System: IAPS) โดยกลิ่นเลมอนส่งผลต่ออารมณ์เชิงบวกและการตื่นตัว จากการวัดระดับสารเคมีในสมองที่ชื่อ “นอร์อิพิเนฟริน” (Norepinephrine) ซึ่งสารนี้ส่งผลให้สมองมีการตื่นตัว ถูกกระตุ้น และเพิ่มความเร็วในการตอบสนอง และผลของอัตราการเต้นของหัวใจ (Heart Rate) ที่เพิ่มขึ้นจากการสูดดม ในขณะที่กลิ่นลาเวนเดอร์ จะส่งผลต่ออารมณ์เชิงบวกและการผ่อนคลาย จากระดับนอร์อิพิเนฟรินและผลของอัตราการเต้นของหัวใจที่ลดลง โดยกลุ่มที่ได้รับข้อมูลของกลิ่นก่อนการทดลองจะมีอัตราการเต้นของหัวใจสูงกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับข้อมูล​จากงานวิจัยนี้จะเห็นได้ว่า กลิ่นหอมส่งผลต่ออารมณ์และการตอบสนองของเราแตกต่างกัน โดยสามารถช่วยให้รู้สึกตื่นตัวหรือผ่อนคลายได้ทั้งนั้น และสำหรับในช่วงปีใหม่นี้ ถ้าใครกำลังหาของขวัญให้คนพิเศษ ผลิตภัณฑ์ที่มีกลิ่นหอมก็นับเป็นตัวเลือกที่ดีเช่นกัน แต่ก็อย่าลืมเช็กก่อน ว่าคนที่ได้รับแพ้น้ำหอมด้วยหรือเปล่า?​เนื้อหาโดย คุณจิราภา หอบรรลือกิจ นักวิจัยและการสื่อสาร RISC​ที่มา: Kiecolt-Glaser JK, Graham JE, Malarkey WB, Porter K, Lemeshow S, Glaser R. Olfactory influences on mood and autonomic, endocrine, and immune function. Psychoneuroendocrinology. 2008 Apr;33(3):328-39. doi: 10.1016/j.psyneuen.2007.11.015. PMID: 18178322; PMCID: PMC2278291.​

2247 viewer

ผิวสัมผัสมีผลต่อความรู้สึกของเราอย่างไร?​

โดย RISC | 10 เดือนที่แล้ว

เคยสงสัยมั้ย? ว่าทำไมเวลาที่เราได้สัมผัสสัตว์เลี้ยงที่มีขนนุ่มฟู หรือสัมผัสตุ๊กตาผ้าที่มีขน เราถึงรู้สึกอารมณ์ดีมีความสุขจนไม่อยากปล่อยมือ ในทางกลับกัน เวลาจับของด้านๆ เราถึงรู้สึกไม่ค่อยดี​จากทั้งสองเหตุการณ์ เลยทำให้เห็นว่า “ผิวสัมผัส” นั้นมีผลต่ออารมณ์ความรู้สึกของเรากว่าที่คิด​มีงานวิจัยปี 2019 หัวข้อ “Emotions associated with different textures during touch” ประเทศรัสเซีย ได้ทดลองกับอาสาสมัคร 108 คน โดยให้ปิดตาและสัมผัสตัวอย่างวัสดุที่มีผิวสัมผัสแตกต่างกัน 21 แบบ เช่น ขนกระต่าย ผ้าไหม กำมะหยี่ ฟองน้ำ ยาง หนังสัตว์ กระดาษทราย ลูกแก้ว หินอ่อน แกรนิต ฯลฯ และให้ระบุอารมณ์ความรู้สึก 6 อารมณ์เมื่อสัมผัสตัวอย่างวัสดุ เช่น ความสุข (Happiness), ความกลัว (Fear), ความรู้สึกขยะแขยง (Disgust), ความโกรธ (Anger), ความเศร้า (Sadness) และความประหลาดใจ (Surprise)​ผลจากการทดลองพบว่า ขนกระต่าย กำมะหยี่ ยาง หนังสัตว์ หรือผ้าไหม เป็นวัสดุที่มีความสัมพันธ์กับความสุขอย่างชัดเจน ขณะเดียวกัน หินอ่อน หินแกรนิต กระดาษทราย และฟองน้ำ เป็นวัสดุที่สัมพันธ์กับอารมณ์เชิงลบ อย่างเช่น หินอ่อนสัมพันธ์กับความเศร้า หินแกรนิตสัมพันธ์กับความกลัว กระดาษทรายและฟองน้ำสัมพันธ์กับทั้งความกลัว ความรู้สึกขยะแขยง และความโกรธ นอกจากนี้ตัวอย่างวัสดุทั้ง 21 แบบล้วนมีความสัมพันธ์กับความประหลาดใจ ​แต่วัสดุที่มีความอ่อนนุ่มทุกชนิด ก็ไม่ได้สร้างอารมณ์เชิงบวกเสมอไป เพราะมีผลงงานวิจัยนึงระบุว่า วัสดุอ่อนนุ่มที่เป็นวัสดุหนืดๆ ยืดๆ หรือที่เรียกว่า ของเล่นสไลม์ (Toy slime) แม้จะสัมพันธ์กับความสุข แต่ก็ยังสัมพันธ์กับอารมณ์เชิงลบด้วย เช่น ความกลัว ความรู้สึกขยะแขยง และความโกรธ ขณะเดียวกันวัสดุแข็งอย่างลูกแก้ว (Glass pebble) ก็ยังสัมพันธ์กับอารมณ์เชิงบวกด้วยเช่นกัน ซึ่งอาจสรุปได้ว่า วัสดุอ่อนนุ่มและมีพื้นผิวเรียบส่วนใหญ่มีความสัมพันธ์กับอารมณ์เชิงบวก มากกว่าวัสดุที่มีความแข็ง หรือผิวขรุขระ​จะเห็นได้ว่า เพียงแค่ผิวสัมผัสที่แตกต่างกัน ก็ส่งผลต่อความรู้สึกของเราแล้ว ดังนั้นการเลือกใช้ผิวสัมผัสที่เหมาะสมจึงเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ผู้ออกแบบควรให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบอาคาร หรือบรรจุภัณฑ์ เพราะจะช่วยสร้างประสบการณ์และความรู้สึกที่ดีกับผู้ใช้งานได้​เนื้อหาโดย คุณจิราภา หอบรรลือกิจ นักวิจัยและการสื่อสาร RISC​อ้างอิงข้อมูลจาก ​Iosifyan, Marina & Korolkova, Olga. (2019). Emotions associated with different textures during touch. Consciousness and Cognition. 71. 79-85. 10.1016/j.concog.2019.03.012.​

1713 viewer

รับข่าวสาร

ลงทะเบียนเพื่อรับข่าวสารกับเรา

© 2024 Magnolia Quality Development Corporation Limited - A DTGO Company
ผลลัพธ์
การยืนยัน
การยืนยัน