Knowledge - RISC

สัตว์ (ป่า) ก็ต้องการพื้นที่อยู่อาศัยของตัวเอง

เขียนบทความโดย RISC | 2 ปีที่แล้ว

แก้ไขล่าสุด : 1 ปีที่แล้ว

3890 viewer

อย่างที่เรารู้กัน คนเราเป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องการพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเป็นส่วนตัว หรือแม้แต่ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็ไม่ต่างอะไรจากสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นเลย โดยเฉพาะ “สัตว์ป่า”

ก่อนอื่นเลย เรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่า “สัตว์ป่า” จริงๆ แล้ว ไม่ได้หมายถึงสัตว์ที่อยู่ในป่าเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่สัตว์ที่เราเห็นอยู่ในเมือง อย่างเช่น นก หรืองูต่างๆ ก็ถือว่าเป็นสัตว์ป่าด้วยเช่นกัน ซึ่งสัตว์ป่าเหล่านี้ต่างก็ต้องการพื้นที่ในการดำรงชีวิตไม่ต่างอะไรจากเรา

อย่างเช่น นกในเมืองก็ต้องการพื้นที่ปลอดภัยของตัวเองจากคน โดยจากงานวิจัยที่เมืองมาดริด ประเทศสเปน พบว่านกกระจอกบ้าน (House Sparrow) นกกางเขน (Magpie) นกพิราบ (Woodpigeon) และนกเดินดงสีดำ (Blackbird) ต้องการอยู่ห่างจากคน (Alert Distance) ประมาณ 12-20 เมตร เพื่อให้ตัวเองรู้สึกปลอดภัย แต่หากเป็นพื้นที่รกๆ มีที่พรางตาได้ ระยะห่างจากคนที่จะทำให้นกรู้สึกปลอดภัยก็จะลดลง หรือพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ จากระยะ 12-20 เมตรก็จะเหลือน้อยลงกว่านั้น นั่นก็เพราะนกจะมีที่หลบภัย จึงรู้สึกปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ดังนั้นการสร้างพื้นที่สีเขียวที่มีโครงสร้างต้นไม้หลายชั้น เช่น ไม้ต้น (Tree) ไม้พุ่ม (Shrub) ไม้เลื้อย (Climber) ไม้คลุมดิน (Herb) ก็จะเป็นผลดีต่อนกและสัตว์อื่นๆ เช่นกัน

นอกจากสัตว์ป่าที่เราพบได้ในเมือง หากพูดถึงสัตว์ที่อยู่ในป่าจริงๆ ล่ะ เค้าต้องการอะไร?

โดยทั่วไปสัตว์ป่าที่มีขนาดใหญ่ย่อมมีความต้องการพื้นที่ในการดำรงชีวิตที่ใหญ่ขึ้น เมื่อพูดถึงสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในป่า เราก็คงนึกถึงช้าง สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่สามารถชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของป่าได้อีกชนิดหนึ่ง ช้างเป็นสัตว์ที่กินพืชเป็นอาหาร โดยจะกินประมาณวันละ 150-170 กิโลกรัม และใช้เวลากินมากถึง 16 ชั่วโมงต่อวัน ดังนั้นช้างจึงต้องการพื้นที่ขนาดใหญ่ในการดำรงชีวิต เคยมีงานวิจัยพบว่าช้างเอเชีย (Elephants maximus) ที่พบได้ในประเทศไทย ใช้พื้นที่เพื่อดำรงชีวิตมากกว่า 150 ตารางกิโลเมตร หรือราวๆ 21,000 สนามฟุตบอล หรือมีขนาดใกล้เคียงกับเกาะกูดในอ่าวไทย ซึ่งถ้าเราใช้ช้างเป็นเกณฑ์กำหนดขนาดที่อยู่อาศัย เราก็จะสามารถครอบคลุมที่อยู่อาศัยให้สัตว์เล็กอื่นๆ ได้เช่นกัน

ในแง่ของการอนุรักษ์ สัตว์ป่าไม่ว่าจะอาศัยอยู่ในเมืองหรือในป่า จำเป็นจะต้องมีขนาดพื้นที่ที่เหมาะสม ที่มีอาหารที่เพียงพอ หรือทำให้รู้สึกปลอดภัยในการดำรงชีวิต นอกจากนี้เรายังต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย เช่น ชนิดพันธุ์และโครงสร้างของพืช ระบบนิเวศของพื้นที่ ลักษณะภูมิอากาศ รวมทั้งภูมิประเทศ ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าทุกสิ่งล้วนสอดคล้องเชื่อมโยงกันหมด

เมื่อเราเข้าใจถึงเรื่องเหล่านี้แล้ว เราเองในฐานะมนุษย์ก็ไม่ควรที่จะเข้าไปรุกล้ำพื้นที่ของสัตว์ป่าต่างๆ ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม เพราะเราเองก็คงไม่ชอบ หากมีใครมาละเมิดในพื้นที่ของเรา ถูกมั้ยครับ?

เนื้อหาโดย คุณ ธนวัฒน์ จินจารักษ์ นักวิจัยอาวุโส ฝ่ายสิ่งแวดล้อม RISC

อ้างอิงข้อมูลจาก

Esteban Fernández-Juricic and Jimenez M.D. 2001. Alert distance as an alternative measure of bird tolerance to human disturbance: Implications for park design. Environmental Conservation 28 (3): 263–269.
Williams, A. C. 2002. Elephants (Elephas maximus), their habitats in Rajaji-Corbett National Parks. PhD thesis. Rajkot: Saurashtra University.
คู่มือความรู้เรื่องช้างและข้อควรปฏิบัติตนเมื่อพบช้างป่า. กลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช. 2557

รับข่าวสาร

ลงทะเบียนเพื่อรับข่าวสารกับเรา

© 2024 Magnolia Quality Development Corporation Limited - A DTGO Company
ผลลัพธ์
การยืนยัน
การยืนยัน